เสนอย้ายผู้ต้องกัก ตม.สงขลาไปที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงติดโควิด-19 เพิ่ม

กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 18 รายจากห้องกักตรวจคนเข้าเมือง จ.สงขลา ทำให้มีผู้ต้องกักติดเชื้อรวม 60 รายนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แนะรัฐย้ายผู้ต้องกัก ตม.สงขลาไปสถานที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม พร้อมเรียกร้องภาครัฐต้องไม่มีเด็กในห้องกัก ตม. เพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้คำมั่นประชาคมโลกแล้วว่าจะไม่กักเด็กในห้องกัก

ศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา ภาพถ่ายเมื่อ 27 เมษายน 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

4 พ.ค. 63 กรณีโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ที่วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 18 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,987 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 18 ราย มาจากศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา อ.สะเดา จ.สงขลา 

โดยผู้ติดเชื้อทั้ง 18 ราย เป็นเพศหญิง 17 ราย อายุระหว่าง 13-22 ปี และเป็นเด็กเพศชาย อายุ 10 ปี 1 ราย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เด็กในห้องกัก ตม. ขัดคำมั่นต่อประชาคมโลก

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ใน สถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ระหว่างหัวหน้าส่วนราชการ 7 หน่วย มีองค์กรระหว่างประเทศเป็นสักขีพยาน เมื่อ 21 มกราคม 2562 (ที่มา: ข่าวสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ)

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า คำแถลงของ ศบค. ที่ระบุมีเด็กอยู่ในห้องกักตรวจคนเข้าเมืองนั้น ขัดกับถ้อยแถลงและมาตรการของรัฐบาลก่อนหน้านี้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นหลังร่วมประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Leaders’ Summit on Refugees) เมื่อ 20 กันยายน 2559 ที่นิวยอร์ก สหรัฐเมริกา โดยให้คำมั่นว่าจะไม่กักตัวเด็กในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) โดยย้ำถึงความสาคัญของการให้การคุ้มครองเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน 

และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ใน สถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ ระหว่างหัวหน้าส่วนราชการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงแรงงาน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สถิติล่าสุดผู้ต้องกัก ตม.สงขลา ติดเชื้อสะสมกว่า 60 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ระบาดในศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตม.สงขลา เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่เข้าเวรที่ศูนย์แห่งนี้เมื่อ 4 เม.ย. ติดเชื้อโควิด-19 และ ตม. ที่เข้าเวรร่วมกันทั้งหมด 5 คนก็ติดเชื้อหมด

และต่อมาเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ศบค. แถลงว่ามีผู้ติดเชื้อจากห้องกัก ตม.สงขลา 42 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อ 42 ราย มีผู้ต้องกัก 5 คน รักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และ 1 คน รักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่

จนกระทั่งในวันนี้ (4 พ.ค.) ศบค. แถลงเพิ่มว่ามีผู้ต้องกักติดเชื้อเพิ่มอีก 18 ราย รวมมีผู้ต้องกักที่ศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตม.สงขลา ติดเชื้อรวม 60 ราย จากจำนวนผู้ต้องกักทั้งหมด 115 ราย

แนะรัฐบาลทบทวนวิธีกักกันคนเข้าเมืองในพื้นที่แออัดเพื่อสกัดโควิด-19, 29 เม.ย. 2563

ไร้มาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ เซ่นเศรษฐกิจคุมโควิด-19 อาจเจ็บแต่ไม่จบ, 8 เม.ย. 2563

แนะรัฐทำตามคำมั่นประชาคมโลก ต้องไม่มีเด็กในห้องกัก ตม.

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าววันนี้ว่า ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัวผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา จำนวนมากเป็นผู้ที่อยู่ในห้องกักมาแล้วหลายปี เพื่อรอการส่งกลับ หรือเดินทางออกนอกประเทศ และหลายรายเป็นผู้แสวงหาสถานะลี้ภัย อย่างกรณีผู้ต้องกักชาวโรฮิงญา หรือชาวอุยกูร์ ซึ่งผู้ต้องกักกลุ่มนี้ไม่ใช่แรงงานข้ามชาติหรือคนที่เพิ่งเข้าเมืองแล้วถูกกักตัว

ส่วนกรณีที่พบเด็กอายุ 10 ปีในห้องกัก ตม.สงขลา เป็นผู้ติดเชื้อ ผู้ประสานงาน MWG ระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยรับปากกับประชาคมโลกว่าจะไม่กักเด็กในสถานที่กักของตรวจคนเข้าเมือง อย่างไรก็ตามจากรายงานข่าววันนี้ ทำให้เห็นว่าในยังมีการกักเด็กในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งไม่เหมาะสมทั้งในด้านสิทธิ และด้านสุขภาพ หน่วยงานภาครัฐต้องทบทวนจริงจัง และต้องออกมาตรการไม่ให้เด็กอยู่ในห้องกัก และอาจต้องตรวจสอบห้องกักตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งทั่วประเทศว่ายังมีเด็กอยู่ในห้องกักหรือไม่

ทั้งนี้มีประชากร 3 กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ หนึ่ง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สอง ผู้ป่วยและคนตั้งครรภ์ และสามกลุ่มเด็ก

เสนอกระจายผู้ต้องกักไปสถานที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงติดโควิด-19

อดิศรกล่าวด้วยว่า มาตรการกักตัวผู้ต้องกักในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เนื่องจากผู้ต้องกักมีสุขภาพและสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมและน่าห่วง นอกจากนี้ยังมีภาวะความเครียดของคนในห้องกัก เนื่องจากการกักอยู่ใกล้กับพื้นที่ๆ มีคนติดเชื้อ ก็อาจทำให้เครียดว่าจะติดเชื้อหรือไม่

"ทั้งนี้อยากให้ทบทวนนโยบายว่าการกักในห้องกัก ตม. จำเป็นหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่เป็นผู้ที่ได้รับโทษในคดีคนเข้าเมืองแล้วและอยู่ระหว่างรอการส่งกลับ แต่ยังส่งกลับไม่ได้ เพราะด่านปิด หรือไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ทำให้ส่งกลับไม่ได้ การกักตัวในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นทันที"

โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. มีอำนาจหน้าที่ ที่จะทำให้ห้องกักมีความผ่อนคลาย หรือปลอดภัยมากกว่านี้

อดิศรกล่าวต่อว่า ข้อเสนอคือต้องหามาตรการดูแลผู้ต้องกักที่เหลือที่ยังไม่ป่วย สภาพการอยู่ร่วมกันที่แออัด อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือหาทางเลือกใหม่ ตั้งแต่การกระจายผู้ต้องกัก ไปอยู่ในสถานที่ๆ กว้างขวางกว่านี้ หรือใช้มาตรการอื่น เช่น ประกันตัวชั่วคราวแล้วหาองค์กรมาดูแลเช่น องค์กรทางศาสนา องค์กรที่ดูแลเด็กและสตรี หรือมาตรการที่รัฐเคยใช้ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีผู้ต้องกักในพื้นที่หนาแน่น คือกระจายไปอยู่ในพื้นที่ของตำรวจตระเวนชายแดน หรือสถานีตำรวจภูธร ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท