ผลกระทบต่อความมั่นคงทางชีวภาพและอาหารธรรมชาติ หากไทยร่วมความตกลงการค้า CPTPP

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในที่สุด วาระการประชุมเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็น “ภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค ( Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pa Cifi C Partnership หรือ CPTPP)” ที่มีแผนนำเข้าที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นอันถูกถอดออกจากวาระการประชุมไปในที่สุด

ทั้งนี้ต้องขอบคุณทั้งพลังของประชาชนบนโลกโซเชี่ยลมีเดีย เสียงของนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงเสียงส่วนหนึ่งของนักการเมืองพรรคฝ่ายรัฐบาล ขอบคุณการรวมพลังอย่างแข็งขันขององค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรที่ออกมาแสดงพลังคัดค้านกันอย่างเข้มแข็ง รวมถึงองค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ที่ผู้เขียนเป็นกรรมการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) , ศูนย์กฎหมายกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , สถาบันสังคมประชาธิปไตย (So Cial Demo Cra Cy Think Tank) , เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย , กลุ่ม Non-Binary Thailand , มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ , มูลนิธิเอ็มพลัส , สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย , มูลนิธิสยามกตัญญู และวิสาหกิจเกษตรชุมชนอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์

 แต่ก่อนอื่น ขออนุญาตอธิบายกับท่านผู้อ่านบางท่านที่อาจไม่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ของผู้เขียน หรือไม่เคยทราบเรื่อง CPTPP มาก่อนว่า ความตกลงการค้า CPTPP เคยเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อความตกลง TPP ซึ่งภาคีสมาชิกประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจถอนตัวออกไปแล้ว เมื่อต้นปี 2560 ทำให้ปัจจุบันเหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม  ต่อมา ปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ “รายงานผลการประเมินผลกระทบ และสิ่งที่ต้องดำเนินการ หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP” เพื่อท้วงติงการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนฯ ของประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของประชาชนในการรับบริการสาธารณะสุข ความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์

รวมไปถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารธรรมชาติ การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนได้สัญญาไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่าจะนำมาขยายให้ท่านผู้อ่านรับทราบร่วมกัน

ทั้งนี้ เราคนไทยยังจำเป็นต้องพูดคุยและจับตาดูประเด็นนี้ต่อไป เพราะในภาวะอันไม่เป็นประชาธิปไตยในนาม “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”  วาระนี้ที่ถูกถอนออกไป ยังอาจถูกกลับมาบรรจุใหม่ได้ และที่สำคัญ CPTPPไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความพยายามที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆมาตลอด ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. กว่าจะได้มาเป็นวาระที่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

 ซึ่งที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่เคยมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดำเนินการโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย

กลับมาที่ประเด็นความมั่นคงทางอาหารธรรมชาติ การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ หากไทยร่วม CPTPP แน่นอนอย่างหนึ่งที่ต้องเผชิญแน่ๆอยู่แล้ว คือการที่สินค้าเกษตรจากประเทศภาคีสมาชิก CPTPPจะเข้ามาตีตลาดประเทศไทยโดยกระบวนการการค้าเสรี

 แต่คงยังไม่เลวร้ายเท่ากับการที่ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญา International Union for the Prote Ction of New Varieties of Plants หรือ UPOV ซึ่งปัจจุบันเป็นอนุสัญญา UPOV1991

UPOV หรือ สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นการตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีลักษณะแตกต่างจากกฎหมายสิทธิบัตร แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งจนในที่สุดจึงกลายมาเป็นอนุสัญญา UPOV1991 ที่มีความใกล้เคียงกับการผูกขาดโดยระบบสิทธิบัตร

ปัจจุบัน การคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย อาศัยความตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดทำขึ้นตามอนุสัญญาUPOV ฉบับปี ค.ศ. 1978 พร้อมทั้งผสมผสานกับหลักการสำคัญของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ( Convention on Biologi Cal Diversity - CBD)

แต่หากไทยเข้าร่วม CPTPP นั่นคือเราจะต้องปรับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของเราให้สอดคล้องกับอนุสัญญาUPOV1991

นั่นคือเราต้องแก้กฎหมายให้ขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อเอง ขยายสิทธิผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ออกไปรวมถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ขยายระยะเวลาการผูกขาด รวมทั้งลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ทั้งนี้เป็นไปตามอนุสัญญาUPOV1991

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆคือ เกษตรกรจะไม่มีสิทธิเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ ต้องไปซื้อจากบรรษัทเมล็ดพันธุ์ทุกครั้ง ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองให้แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรจะถูกดำเนินคดีได้

เราพร่ำเสมอ ว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหารของโลก  แต่หากเราเข้าร่วม CPTPP นั่นเป็นการผลักไสอธิปไตยทางชีวภาพของประเทศไทยเราเข้าไปอยู่ใต้อาณัติของสัญญาอัปยศในนาม UPOV1991ที่ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ลิดรอนอำนาจของเกษตรกร ซึ่งเป็นเสมือนฐานรากของประเทศเรา

นี่มันจะไม่ใช่แค่วิกฤตของประเทศไทย แต่มันคือการล่มสลาย ทำลายความมั่นคงทางอาหารของโลก อันเกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศไทย

การปกป้องรักษาสิทธิในเมล็ดพันธุ์พืชให้อยู่ในมือเกษตรกร นอกจากจะหมายถึง สิทธิของผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกบริโภคอาหารธรรมชาติ ปราศจากการเคมี หรือการตัดต่อพันธุกรรม(GMO)แล้ว

นี่คือการรักษาอธิปไตยของชาติไทย ชาติที่มีเกษตรกรเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย แม้ยามสงคราม หรือภาวะภัยพิบัติ การที่เกษตรกรรากหญ้ายังสามารถมีสิทธิในการเพาะพันธุ์พืชที่เป็นสายพันธุ์ธรรมชาติได้เอง จะเป็นการป้องกันการผูกขาดความมั่นคงทางอาหาร และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ดำรงอยู่ เป็นการเกษตรที่เป็นมิตรต่อโลก

 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน ต้องมั่นคงจากเกษตรกรฐานรากของประเทศ หาใช่กลุ่มทุนผูกขาด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท