Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมที่สนับสนุนสังคมแบบภราดรภาพนิยม (Anusorn T. New Economic Social and Political Model for Humanity)  การพัฒนาทางทฤษฎีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างใหม่นี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการสร้าง Model ที่ทำให้ผู้คนสามารถอยู่ได้ภายใต้ Disruptive Technology และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ รวมทั้งปัญหาภาวะโรคร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนา model ต้นแบบในระดับชุมชนก่อน แต่ต้องการพัฒนา Model ที่ตอบโจทย์ในระดับประเทศและระดับโลก และไม่ได้ต้องการให้ต้นแบบนี้สามารถทำได้เฉพาะใน Scale ขนาดเล็ก แต่ต้องการให้สามารถประยุกต์ใช้ในระดับประเทศหรือระดับโลกได้ เป็นการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์สังคม โดยแรงบันดาลใจในการพัฒนา Model นี้มาจากครอบครัวของผู้ทำการศึกษาวิจัยเอง ทั้งคุณแม่และคุณลูก และคำแนะนำจาก ดร. โอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อาวุโส เพื่อนๆและบุคคลอีกหลายท่านที่ได้เสียสละเพื่อให้ประเทศนี้มี “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” และ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพื่อสังคมสันติธรรม   

พัฒนาชุมชนต้นแบบในทุกอำเภอของจังหวัดแพร่ภายในสามปี โดยเริ่มต้นทำโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบแห่งแรกที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ มอบที่ดินประมาณ 13 ไร่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรและเกษตรเชิงท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 3 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมเช่าเพิ่มเติมให้มีพื้นที่ประมาณ 50-1,000 ไร่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันเพื่อนำมาพัฒนาภายใต้โครงการชุมชนหมู่บ้านประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรม ซึ่งจะพัฒนาไปสู่พื้นที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวแบบผจญภัย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย (ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือจากกระทรวง พม) และสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้านานาชาติขนาดใหญ่ (ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือของยูนิเซฟ องค์การสหประชาชาติ)  สถานที่ปฏิบัติธรรมและการฝึกฝนการทำสมาธิของทุกความเชื่อทางศาสนา (ทำงานร่วมกับสมาคมและมูลนิธิขององค์กรทางศาสนาอันหลากหลาย)  

กลุ่มเป้าหมายสำหรับโครงการต้นแบบ ประชาชนจังหวัดแพร่ที่ว่างงานและมีความประสงค์ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรและไม่ประสงค์จะออกไปหางานทำนอกพื้นที่จังหวัดแพร่ นักศึกษาจังหวัดแพร่ และ ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพ ผู้สูงวัย เด็กกำพร้าในจังหวัดแพร่  

กลุ่มเป้าหมายในระยะต่อไป ประชาชนชาวไทยผู้ว่างงานและประสงค์จะทำอาชีพทางด้านการเกษตร ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพและกิจการดูแลผู้สูงวัยและเด็กกำพร้าจากทั่วประเทศและประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสามแหล่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของรัฐบาลและงบประมาณของรัฐบาล โครงการช่วยเหลือการมีงานทำบัณฑิตจบใหม่ เป็นต้น ต่อมาต้องพัฒนาให้โครงการในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้สามารถมีงบประมาณและความยั่งยืนทางการเงินผ่านการบริหารงานภายใต้แนวคิด Social Enterprise และ เงินบริจาคจากผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ ส่วนโครงการหรือกิจกรรมที่มีกำไรในเชิงพาณิชย์ให้บริหารแบบธุรกิจและมีแผนงานที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 10 ปี และ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ภายใน 15 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ 

ปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากพลังของประชาธิปไตยในระดับพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็งและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงอุปมาได้กับการก่อสร้างอาคารสูงโดยไม่ได้วางเสาเข็มรองรับให้แข็งแรงประกอบกับมีกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการสร้างอาคารสูงเพื่อให้เป็นที่พักพิงของประชาชนสูญเสียผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ต่างๆจึงช่วยกันบ่อนเซาะให้ฐานแรกอ่อนแอและทรุดตัวลง  เมื่อลมพายุพัดกระหน่ำอย่างผลกระทบจากโรค Covid-19 และมาตรการเข้มงวดเหวี่ยงแห่ในการควบคุมการแพร่ระบาด อาคารก็พังครืนลงมา แต่พอออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ก็ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการวางเสาเข็มเพื่อรองรับฐานอาคารให้มั่นคงอีก  เมื่อลมพายุพัดมากระหน่ำ อาคารหลังนั้นก็พังครืนลงอีกครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้ฉันใด ประชาธิปไตยของไทยก็มีลักษณะดุจเดียวกันฉันนั้น  เพราะเมื่อไม่ได้สร้างรากฐานของ ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขั้นหมู่บ้านและเศรษฐกิจดุลยธรรม’ จะเพื่อเป็นเสาเข็มมารองรับ ‘ประชาธิปไตยขั้นประเทศ’ และทำให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติจากโรค Covid-19 ได้ เมื่อสังคมเผชิญกับวิกฤติปัญหาต่างๆ โดยรัฐบาลที่อ่อนแอและมีลักษณะกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆของประเทศได้ โดยเฉพาะความทุกข์ยากและวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติการเลิกจ้างอันนำมาสู่การทำอัตนิวิบาตรกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากปัญหาความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ การว่างงาน ปัญหาสังคมและความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ตลอดจนความด้อยประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยของระบบราชการและระบบการเมือง (อันเกิดจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ก่อการรัฐประหารผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไปได้) ไม่สามารถจะแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองที่เผชิญอยู่นั้นได้  ก็เป็นสาเหตุนำไปสู่การทำรัฐประหาร แล้วเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ด้วยวงจรแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดระยะเวลากว่า ๘๖ ปีที่ผ่านมา 

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้  ก็เปรียบเหมือนกับสถาปนิกทางการเมืองที่ต้องออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างด้วยการเสริมรากฐานของอาคารให้แข็งแรง  เพื่อรองรับและเชื่อมต่อ (connect) โครงสร้างส่วนต่างๆ ของอาคารให้มีความแข็งแรงมั่นคงฉันใด  การสร้าง ‘ประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้าน’ เพื่อให้เป็นฐานรากรองรับ ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์[2]ขั้นประเทศ’ ก็มีลักษณะดุจเดียวกันฉันนั้น  โดยมีแนวทางปฏิบัติคือ

สร้างประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้าน[3]

ให้จำลองรูปแบบการถ่วงดุลอำนาจอธิปไตยใน ‘ประชาธิปไตยขั้นประเทศ’ มาไว้ที่ ‘ประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้าน’  ด้วยการให้มี ‘สภาหมู่บ้านชุมชน’   ทำหน้าที่ใช้อำนาจ ‘ฝ่ายนิติบัญญัติ’  โดยให้ผู้คนทุกคนในหมู่บ้านชุมชนเข้าร่วมการประชุม ซักถาม และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้เต็มที่  เว้นแต่ในตอนลงมติที่ให้แต่ละบ้านส่งตัวแทนลงคะแนนได้บ้านละหนึ่งเสียงเสมือน ‘สส.ของแต่ละบ้าน’  เพื่อจะสามารถกำหนดองค์ประชุมของสภาหมู่บ้านชุมชนได้ชัดเจน

จากนั้นให้ที่ประชุมสภาหมู่บ้านชุมชนเลือกประธานและรองประธานสภาหมู่บ้านชุมชนเพื่อทำหน้าที่เป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติ  จะได้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร  โดยถ้าหากฝ่ายบริหารมีการทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบประการใด  ก็สามารถจะให้ตัวแทนแต่ละบ้านจำนวนหนึ่งเข้าชื่อขอให้ประธานสภาหมู่บ้านชุมชนเรียกประชุมเพื่ออภิปรายตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารได้  เหมือนเช่น สส.จำนวนหนึ่งสามารถเข้าชื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมเพื่อให้ฝ่ายบริหารมาตอบกระทู้  หรือแม้แต่ขออภิปรายไม่ไว้วางใจ  เป็นต้น

ให้สภาหมู่บ้านชุมชนทำหน้าที่กำหนดกฎกติกาต่างๆ ที่จะให้ผู้คนในหมู่บ้านชุมชนนั้นๆ ปฏิบัติ   โดยถ้าออกเป็นกฎกติกาของหมู่บ้านชุมชนแล้วมีใครไม่ปฏิบัติตาม  ก็ให้ตัดสิทธิบางอย่างตามกติกาที่คนในหมู่บ้านชุมชนนั้นๆ ร่วมกันกำหนด  รวมถึงพิจารณาอนุมัติรายละเอียดการใช้เงินอุดหนุนที่รัฐบาลส่งมาช่วยตามนโยบายต่างๆ เช่น งบโครงการ SML ที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยดำเนินการมาก่อน  เป็นต้น

ให้สภาหมู่บ้านชุมชนตั้ง ‘คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านชุมชนประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรม’ เพื่อใช้อำนาจ ‘ฝ่ายบริหาร’ ในการดำเนินงานต่างๆ  โดยให้สภาหมู่บ้านชุมชนเลือกประธานคณะกรรมการกลางฯอันเปรียบเสมือนกับการให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก ‘นายกรัฐมนตรี’ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร[4]  

ให้คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านชุมชนประกอบด้วยประธานคณะกรรมการย่อยชุดต่างๆ  โดยต่อยอดจากคณะกรรมการที่แต่ละที่ส่วนราชการมาช่วยจัดตั้งให้อยู่ก่อนแล้ว เช่น คณะกรรมการหมู่บ้านของกระทรวงมหาดไทย  อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข  อาสาสมัครเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ฯลฯ  เพื่อให้เกิดบูรณาการในการทำงานของคณะกรรมการชุดย่อยเหล่านี้ภายในหมู่บ้านชุมชนแต่ละแห่ง เหมือนเป็น ‘คณะรัฐมนตรีของหมู่บ้านชุมชน’ ให้รัฐบาลวางกฎกติกาเกี่ยวกับสภาของหมู่บ้านชุมชนในลักษณะเป็นหลักการกว้างๆ  เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านชุมชน มีความยืดหยุ่นที่จะจัดทำ ‘ธรรมนูญของชาวบ้าน’ ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขแต่ละพื้นที่  โดยถ้าหากมีปัญหาการตีความเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ที่ทางราชการกำหนด ก็ส่งเรื่องให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเหมือนใช้อำนาจ ‘ฝ่ายตุลาการ’  ตลอดจนพัฒนาตัวชี้วัดหลัก (KPIs) โดยแต่ละหมู่บ้านชุมชนอาจกำหนดตัวชี้วัดรองเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนแต่ละแห่ง  และสร้างระบบติดตามประเมินความเข้มแข็งของหมู่บ้านชุมชนต่างๆ ตามตัวชี้วัดดังกล่าว  ทั้งนี้อาจแบ่งระดับความเข้มแข็งของหมู่บ้านชุมชนเป็น ๓ ระดับ เช่น A, B, C เป็นต้น

หมู่บ้านชุมชนที่มีความเข้มแข็งระดับ A  ก็กระจายอำนาจการบริหารจัดการตัวเองด้านต่างๆ รวมถึงงบประมาณไปให้มากหน่อย  เปรียบเสมือนกับเมื่อประเมินแล้วเห็นว่าผืนดินในพื้นที่ไหนมีความอุดมสมบูรณ์ดี  ก็ช่วยเหลือด้วยการแจกพันธุ์พืชที่ดีต่างๆ ไปให้เพาะปลูก

ขณะที่หมู่บ้านชุมชนซึ่งเข้มแข็งน้อยกว่า  ก็กระจายอำนาจและงบประมาณให้ลดหลั่นลงมา  ควบคู่กับการสร้างกระบวนการเรียนรู้โดยให้หมู่บ้านชุมชนที่มีความเข้มแข็งน้อย มีโอกาสได้ไปเรียนรู้แบบอย่างจากหมู่บ้านชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากกว่าเพื่อยกระดับการพัฒนาตัวเอง  อันเปรียบเหมือนกับเมื่อประเมินแล้วเห็นว่าผืนดินในที่นั้นๆ ยังไม่ได้ปรับสภาพให้ดี  ถึงแจกพันธุ์พืชที่ดีราคาแพงไปให้ปลูก ก็คงเสียงบประมาณเปล่าโดยไม่เกิดผลคุ้มค่า  แต่ต้องช่วยเหลือด้วยการสอนให้คนในพื้นที่นั้นรู้จักวิธีบำรุงดินให้ดีก่อน  แล้วค่อยแจกพันธุ์พืชที่ดีไปให้เพาะปลูกในภายหลัง

ขณะเดียวกันสำหรับตำบลที่มีสัดส่วนของหมู่บ้านชุมชนที่เข้มแข็งมากตามตัวชี้วัด (KPIs) ที่กำหนด ก็จัดให้เป็นตำบลเข้มแข็ง และกระจายอำนาจการบริหารจัดการตัวเองไปให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับตำบลนั้นๆ เพิ่มมากขึ้น  และหากจังหวัดไหนมีสัดส่วนจำนวนตำบลเข้มแข็งตามหลักเกณฑ์ (KPIs) ที่กำหนด  ก็ให้ถือเป็นจังหวัดเข้มแข็งและกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปให้กับจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’  โดยอาจให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น  รวมถึงให้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ในลักษณะเป็นกลุ่มเครือข่าย (cluster) ที่มีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกันในเชิงภูมินิเวศและภูมิสังคม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น  ดังนี้ก็จะเป็นวิธีสร้าง ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมหมู่บ้าน’ เพื่อเป็นฐานรองรับ ‘ประชาธิปไตยขั้นประเทศ’ อันทำให้ประเทศก้าวข้ามพ้นปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

โครงการ โรงทาน และ โครงการที่พักพิง สำหรับคนว่างงาน

สนับสนุนให้วัดทุกแห่งที่มีความพร้อมในจังหวัดแพร่จัดตั้ง “โรงทาน” และ เปิดพื้นที่ในวัดให้ผู้ที่ว่างงานได้พักอาศัยหากบุคคลเหล่านี้ไม่มีที่พักพิง โดยให้บุคคลาเหล่านี้ช่วยงานในการพัฒนาวัดทางด้านต่างๆทั้งทางกายภาพและการเผยแพร่พุทธศาสนา

สนับสนุนศาสนสถานในพื้นที่จังหวัดแพร่ทำอย่างเดียวกับกับวัดในพุทธศาสนา  

 

อ้างอิง

[1] พัฒนาต่อยอดจากแนวคิด ประชาธิปไตยหมู่บ้าน ฐานรากประชาธิปไตยระดับประเทศ ของ อาจารย์สุนัย เศรษฐบุญสร้าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และทีมงานสถาบันสร้างอนาคตไทย/กรอบความคิดเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์พัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดของ ท่านปรีดี พนมยงค์/ผู้เขียนได้พัฒนากรอบความคิดเศรษฐกิจดุลยธรรมพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พุทธเศรษฐศาสตร์ แนวคิดของท่านพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ไม่ปฏิเสธข้อดีของระบบทุนนิยม ผสมผสานแนวคิด Neo-Keynesian แนวคิดเสรีนิยมใหม่ Neo-Liberalism แนวคิดทางเศรษฐกิจของ ดร. โอฬาร ไชยประวัติ ดร. สุชาติ ธาดาธำรงเวช และ แนวคิดธรรมาธิปไตยของ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์/บุญนิยมของ สันติอโศก/แนวคิดโรงเรียนผู้นำ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง การผสมผสานแนวความคิดเหล่านี้นำมาสู่การพัฒนา Model ต้นแบบสำหรับ แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมที่สนับสนุนสังคมแบบภราดรภาพนิยม (Anusorn T. Model) การพัฒนาทางทฤษฎีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างใหม่นี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการสร้าง Model และต้องมีการทดลองในระดับต่างๆตามหลักวิทยาศาสตร์สังคม  

[2] พัฒนาแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ต่อยอดจากแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ของ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์อันประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

[3] คณะทำงานคลังความคิด สถาบันสร้างอนาคตไทย สร้างประชาธิปไตยขั้นหมู่บ้านเพื่อรองรับประชาธิปไตยขั้นประเทศ ธันวาคม 2561

[4] พัฒนาต่อยอดจาก แนวคิดประชาธิไตยหมู่บ้าน โดย สุนัย เศรษฐบุญสร้าง/สถาบันสร้างอนาคตไทย/คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์และ ทีมงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net