ชวนดูหลายสมมติฐาน เหตุใดโควิด-19 ระบาดหนักหนาไม่เท่ากัน

คำถามที่มีถึงตอนนี้ คือทำไมโคโรนาไวรัสายพันธุ์ใหม่ Sars-CoV2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ถึงมีรายงานการระบาดในแบบที่ดูกระจายตัว ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง เช่นในบางพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกันแต่ทำไมบางประเทศมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงกว่ามาก นักวิทยาศาสตร์มีการตั้งสมมุติฐานไว้หลายข้อ

ประชาชนเดินผ่านหน้าสวนลุมพินี (แฟ้มภาพ)

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนเสียชีวิตในอิหร่านจำนวนมาก แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิรักกลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อแค่ไม่ถึงหลักร้อย โดมินิกันมีรายงานผู้ติดเชื้อเกือบ 7,600 ราย แต่ประเทศใกล้ๆ อย่างเฮติมีรายงานผู้ติดเชื้อแค่ราว 85 รายเท่านั้น ในอินโดนีเซียมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนมาก แต่มาเลเซียที่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมีจำนวนผู้เสียชีวิตราว 100 คน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากอะไร สมมติฐานเรื่องความแตกต่างระหว่างความเป็นเมืองดูจะตกไปเพราะเมืองใหญ่หลายแห่งก็มีผู้ติดเชื้อไม่เท่ากัน ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีการตั้งสมมุติฐานออกไปต่างๆ นานา มีการสำรวจไปตั้งแต่เรื่องประชากรศาสตร์ ระดับการตอบสนองในระดับพันธุกรรม รวมถึงเรื่องที่การมีภาวะโรคประจำตัวหรือการรับวัคซีนวัณโรคมีผลต่อความยากง่ายในการติดเชื้อด้วยหรือไม่ มีสมมุติฐานข้อหนึ่งที่ถูกนำเสนอกันมากคือ วิกฤตการระบาดใหญ่ๆ ไม่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่มีอากาศร้อนและมีประชากรจำนวนมากเป็นคนอายุไม่มาก แต่สมมุติฐานนี้ก็ใช้ไม่ได้กับประเทศอย่างเปรู บราซิล และอินโดนีเซีย ทำให้สมมติฐานนี้ยังไม่แข็งพอจะใช้อธิบาย

อีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องการบังคับใช้วิธีการ "วางระยะห่างทางสังคม" แบบเข้มงวด แต่ในบางประเทศที่ไม่ได้มีมาตรการนี้ก็มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อแค่ไม่กี่ราย ทำให้มีทฤษฎีว่าประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยเหล่านี้เป็นเพราะเชื้อยังคงเดินทางไปไม่ถึงเท่านั้น เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับรัสเซียและตุรกีซึ่งเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมาก่อนแต่ก็มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นในเวลาต่อมา นั่นทำให้เกิดการประเมินว่า "เวลา" อาจจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เช่น ในกรณีไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักเมื่อปี 2461 ในสหรัฐฯ ก็ทวีความรุนแรงกว่าในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่เป็นการระบาดรอบที่สองและในปีต่อไปที่จะมาถึง จากนั้นรอบที่สามก็การระบาดก็ลามไปถึงประเทศหมู่เกาะอย่างอลาสกาและแถบแปซิฟิกตอนใต้ด้วย

แอชชิช จา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ดโกลบอลเฮลท์กล่าวว่า โรคระบาดนี้ยังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้น ประเทศที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้ออาจจะได้รับเชื้อในเวลาต่อมาได้ แต่ทว่าแพทย์ที่ศึกษาเรื่องโรคติดต่อทั่วโลกระบุว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอจะชี้ชัดได้ว่าทิศทางจะเป็นไปในแบบที่จาพูดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามพวกเขาเสนอว่าปัจจัยที่น่าจะมีผลต่อเรื่องความชุกในการระบาดน่าจะอยู่ที่ 4 อย่างหลักๆ คือ ลักษณะประชากรโดยเฉพาะอายุ, วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ สภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการตอบสนองอย่างรวดเร็วของรัฐบาล

ประชากรอายุน้อยเสี่ยงกระขายเชื้อน้อยกว่าจริงหรือ

ในแง่สถิติแล้ว ประเทศที่รอดจากการระบาดหนักจำนวนมากเป็นประเทศที่มีกลุ่มประชากรค่อนไปทางอายุไม่มาก สำหรับโควิด-19 นี้ ถ้าหากคนติดเชื้อเป็นคนอายุน้อยก็มักจะแสดงอาการแบบเบาหรือไม่แสดงอาการและมีโอกาสแพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นได้น้อย มีกรณีผู้ติดเชื้อที่ได้รับรายงานในทวีปแอฟริกาแค่เพียง 45,000 กรณี จากทุกประเทศซึ่งมีอัตราส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคน ในแอฟริกาเป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรโดยเฉลี่ยอายุต่ำกว่า 25 ปี เทียบกับอิตาลีมีอายุเฉลี่ยของประชากรมากกว่า 45 ปี เผชิญกับวิกฤตนี้หนักมาก โดยอิตาลีมีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุเฉลี่ย 80 ปี

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประชากรศาสตร์และสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางกล่าวว่าเป็นเพราะคนอายุน้อยมักมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าจึงทำให้มีอาการเบากว่า เรื่องนี้เป็นจริงในสิงคโปร์และซาอุดิอาระเบียที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในสภาพแออัด และส่วนใหญ่ยังเป็นคนรุ่นเยาว์ที่มีพละกำลัง พวกเขาไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่ไมได้เป็นไปตามข้อสมมุติฐานนี้ เช่นในญี่ปุ่นที่มีประชากรสูงวัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีอัตราผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 520 ราย แต่ในประเทศเอกวาดอร์กลับมีผู้เสียชีวิตมากถึง 7,000 ราย ถึงแม้ว่าจะมีประชากรคนรุ่นเยาว์จำนวนมาก หมอจาจากฮาร์วาร์ดกล่าวว่ามีคนอายุน้อยบางส่วนที่ไม่ได้แสดงอาการแต่กลับแพร่เชื้อได้มากโดยที่ยังไม่มีใครหาเหตุผลได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

อีกปัจจัยต่อมาที่มีการตั้งสมมุติฐานถึงคือเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม การที่ไทยและอินเดียมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่าในหลายประเทศน่าจะเป็นเพราะว่าการที่มีวัฒนธรรมทักทายกันแบบไม่สัมผัสตัวหรือใกล้ชิดกันมากกว่าเกินไป แต่ใช้วิธีการไหว้ ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อน้อยกว่า ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีวัฒนธรรมการคำนับเพื่อทักทายและมีการนิยมสวมหน้ากากอนามัยกันเมื่อรู้สึกไม่สบายอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การที่ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศนิยมดูแลคนชราที่บ้านตัวเองแทนการให้อยู่ที่บ้านพักคนชราทำให้โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อน้อยกว่า ขณะที่โลกตะวันตกที่มีระบบบ้านพักคนชรามีการแพร่กระจายเชื้อมาก

แต่ทว่าทฤษฎีเรื่องความต่างทางวัฒนธรรมก็มีช่องโหว่ จากการที่ประเทศในตะวันออกกลางหลายประเทศเช่นอิรักซึ่งมักจะมีการทักทายด้วยการสวมกอดและจับมือกันระหว่างผู้ชายแต่ก็มีคนป่วยน้อย แต่เรื่องนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่ามาจากอีกสาเหตุหนึ่งคือการที่ประเทศอิรัก รวมถึงแแระเทศอื่นๆ ในแถบที่ห่างไกลมีคนเดินทางเข้าประเทศน้อย ทำให้มีความเสี่ยงที่จะรับการระบาดของโรคนี้น้อยไปด้วย นั่นรวมถึงประเทศอย่างเวเนซุเอลาที่คนเข้าถึงยากด้วยเหตุผลทางการเมือง ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่มีระบบขนส่งมวลชนน้อยกว่าอาจจะมีส่วนในการทำให้เชื้อแพร่กระจายไปได้ช้าลง

สภาพภูมิอากาศที่ต่างกัน

ข้อสมมุติฐานอีกเรื่องหนึ่งคือการที่ประเทศความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศที่ส่งผลให้มีความร้อนและปริมาณแสงอาทิตย์ต่างกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ประเทศแถบยุโรปยังคงเป็นฤดูหนาวจะมีการแพร่กระจายของไวรัสรวดเร็วมาก เทียบกับประเทศโซนอุ่นที่มีการแพร่กระจายช้ากว่า เพราะไวรัสสายพันธุ์โคโรนามักจะแพร่เชื้อได้น้อยกว่าในแถบร้อนชื้นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นักวิจัยก็เตือนว่านั่นไม่ได้หมายความว่าอากาศร้อนแต่เพียงอย่างเดียวจะทำลายเชื้อได้ เพราะมีกรณีตัวอย่างแบบบราซิลซึ่งที่พบว่าในพื้นที่ป่าฝนก็เกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างหนักเช่นกัน ทำให้แค่เรื่องสภาพภูมิอากาศอย่างเดียวไม่สามารถเป็นปัจจัยชี้ชัดในเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้ก็มีสมมติฐานว่าอากาศแบบอุ่นชื้นก็ทำให้โอกาสการแพร่กระจายเชื้อแบบวนซ้ำของไวรัสในบ้านลดลงเนื่องจากคนไม่ใช้เวลาอยู่ในบ้าน ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือคาร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง เขาบอกว่าการที่คนอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบปิดนานๆ เสี่ยงต่อการขลุกอยู่กับที่ๆ มีไวรัสและรับเอาไวรัสเข้าร่างกายซ้ำๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น

เคยมีงานวิจัยระบุว่ารังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดโดยตรงสามารถยับยั้งไวรัสได้ ดังนั้นแล้วพื้นผิวภายนอกของวัตถุหรือสถานที่ต่างๆ ที่มีแสงส่องจะมีโอกาสที่เชื้อจะยังคงอยู่น้อยกว่า แต่ทว่าการติดต่อกันระหว่างคนอาจจะยังเกิดขึ้นได้ และก็ไม่ได้หมายความว่าการเอาแสงอัลตราไวโอเลตส่องเข้าไปในตัวคนจะช่วยได้แบบที่โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวอ้าง ไม่มีนักวิทยาศาสตร์จากที่ใดเลยที่บอกว่าวิธีการนี้ได้ผล

การล็อกดาวน์แต่เนิ่นช่วยได้จริงหรือไม่

การล็อกดาวน์เข้มงวดมาตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นในเวียดนามหรือกรีซ ทำให้ไวรัสไม่แพร่กระจายถึงระดับควบคุมยาก ประเทศแอฟริกาที่เคยมีประสบการณ์จากการเผชิญโรคระบาดแย่ๆ หลายอย่าง ทำให้มีการตอบสนองต่อเรื่องนี้ได้เร็ว ถึงแม้ว่าจะต้องพึ่งพาด้านการเงิน บุคลากร และทรัพยากรทางการแพทย์จากต่างชาติก็ตาม

หลายประเทศในแอฟริกามีมาตรการตรวจวินิจฉัยโรคให้กับผู้คนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับคนที่สัญจรไปมาอย่างคนขับรถบรรทุกข้ามพรมแดนแอฟริกาหรือคนที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ

อีกประการหนึ่งคือคำสั่งล็อกดาวน์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการห้ามไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันทางศาสนาหรืองานแข่งขันกีฬาต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่าวิธีการนี้ "ได้ผล" สังเกตจากการที่ประเทศไทยและจอร์แดนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลง ในประเทศตะวันออกกลางหลายแห่งก็มีการระงับพิธีกรรมในศาสนสถานแต่เนิ่นๆ ทำให้ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อได้ ในขณะที่หลายประเทศที่มีการล็อกดาวน์ช้าและไม่จริงจังเช่นลาวกับกัมพูชากลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยและประปราย

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ก็มีข้อเสียสำหรับประเทศที่ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมรองรับการสูญเสียทางเศรษฐกิจของผู้คน ทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจการเงินในภาคส่วนผู้ประกอบการอิสระรายย่อยแบบไม่เป็นทางการจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ผู้คนเลือกที่จะหาเงินมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยความจำเป็นมากกว่าจะถูกล็อกดาวน์

ปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดบวกกับดวง

หรือสุดท้ายแล้ว ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นเรื่องของโชคช่วย และอาจจะรวมถึงปัจจัยหลายอย่างที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกันก็ได้ สาเหตุที่มีคนมองเรื่องการสุ่ม เป็นเพราะว่าในบางกรณีมีผู้ติดเชื้อรายเดียวแต่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่อเนื่องจำนวนมาก เช่น กรณีเกาหลีใต้ แต่ในบางกรณีเช่นในไทย ที่มีการตรวจพบคนติดเชื้อจากอู่ฮั่นครั้งแรกในเดือน ม.ค. แต่ก็ยังเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาอีกพักใหญ่ กลับไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายจำนวนมาก

เรียบเรียงจาก

The Covid-19 Riddle: Why Does the Virus Wallop Some Places and Spare Others?, New York Times, 03-05-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท