Skip to main content
sharethis

เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ ขอเยียวยาคืนเวลาราชการที่เสียไป กับกลุ่มอดีต “พนักงานของรัฐ” หลังระยะเวลาที่ปฏิบัติงานกว่า 4 ปี ก่อนบรรจุไม่ถูกนับรวมในอายุราชการด้วย พร้อมทั้งแก้ไขวิกฤตเงินเดือนเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรม ในระบบเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข 

6 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วานนี้ (5 พ.ค.63) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทําเนียบรัฐบาล เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นตัวแทนรับมอบ เพื่อเรียกร้องขอให้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมมากกว่า 24,000 คน ประกอบด้วยวิชาชีพและบุคลากรด้านต่างๆ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย เป็นต้น คืนเวลาราชการที่เสียไป  หลังได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่กลับไม่ถูกนับรวมเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรม แก้ไขวิกฤตเงินเดือนเหลื่อมล้ำ ในระบบเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข

ปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว HFocus ระบุถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า ประกอบด้วย ขอให้ 1. เยียวยาคืนเวลาราชการที่เสียไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ โดยขอคืนสิทธิ์ให้นับเวลาราชการตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงาน กับกลุ่มที่เป็นอดีต “พนักงานของรัฐ” ช่วงระหว่างปี 2543 - 2546 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยภายหลังในปี 2547 ได้มีการปรับแก้ระเบียบและบรรจุพนักงานกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ แต่กลับพบว่าระยะเวลาที่ปฏิบัติงานกว่า 4 ปี ก่อนการบรรจุไม่ถูกนับรวมในอายุราชการด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและกระทบต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

และ 2. แก้ไขวิกฤตเงินเดือนเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรม ในระบบเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข เนื่องบุคลากรจบใหม่หลังปี 2547 เป็นต้นมา ได้รับเงินเดือนสูงกว่าบุคลากรรุ่นพี่ที่ติดระเบียบให้เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งต่อมาตำแหน่งดังกล่าวได้ถูกยกเลิก และคนกลุ่มนี้บรรจุเป็นข้าราชการตามข้อมูลข้างต้น แต่พบว่าส่วนต่างเงินเดือนค่อนข้างสูง โดยในบางวิชาชีพนั้น ห่างกันถึง 7,000 - 8,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กลุ่มรุ่นพี่เหล่านี้ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ถ้าเป็นกลุ่มแพทย์ส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วนพยาบาลวิชาชีพ ส่วนใหญ่ต่างมีประสบการณ์การป้องกันโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในห้อง ICU ขณะที่วิชาชีพอื่นๆ ต่างก็เป็นผู้นำในการป้องกัน ดูแล สู้กับการระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้

“ทั้งสองประเด็นข้อเรียกร้อง ถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อขวัญกำลังใจอย่างมาก โดยประเด็นแรกเรื่องขอให้นับรวมอายุราชการ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงานนั้น เป็นสิ่งที่บุคลากรที่เรียนจบในช่วงปี 2543-2546 ต้องแบกรับความไม่เสมอภาค เนื่องจากกลุ่มนักเรียนทุนปกติแล้วเมื่อเรียนจบตามหลักสูตร จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่กลายเป็นว่าในสมัยนั้น มติ ครม. ให้เซ็นสัญญาเป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งแม้ในรายละเอียดบอกว่าจะได้รับเงินเดือนสูงกว่า แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ตามนั้น แต่ต่อมาภายหลังในปี 2547 มีการยกเลิกตำแหน่งนี้ แต่เมื่อได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ กลับพบว่าระยะเวลาทำงานก่อนหน้านี้ กลับไม่ถูกนับรวมเข้ามาด้วย และปัจจุบันแม้จะมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง แต่ยังก็ยังไม่เป็นผล”  ปุญญิศา กล่าวกับ สำนักข่าว HFocus 

ที่มา : สำนักข่าว HFocus 

เครือข่ายดังกล่าวยัง ประมวลปัญหาจากการที่อายุราชการที่ขาดหายไป จำนวน 4 ปี  ดังนี้

ทำไม “อายุราชการ” ที่ขาดหายไป  จำนวน 4 ปี จึงมีความสำคัญสำหรับพวกเรา

จำนวนเงินที่พึงได้รับใน “วัยชรา” เมื่อต้องเกษียณต่อชีวิตราชการไปออกไป.... จำนวนเงินที่ได้รับลดน้อยลง คำนวณคร่าวๆดังนี้

วิชาชีพแพทย์  จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน  ลดลงประมาณ   4,000  บาท/เดือน จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน  ลดลงประมาณ   48,000 บาท / ปี  คำนวณเฉลี่ยนคนไทยอายุ 80 ปี  คิดเป็นเงินที่หายไป  960,000  บาท (ตัวอย่างฐานเงินเดือน 65,000 บาท)

วิชาชีพพยาบาล จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ   2,148  บาท/เดือน จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ  25,776  บาท / ปี คำนวณเฉลี่ยนคนไทยอายุ 80 ปี  คิดเป็นเงินที่หายไป  515,520  บาท (ตัวอย่างฐานเงินเดือน 53,680 บาท)

แผนไทย จำนวนเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือน ลดลงประมาณ  1,000 บาท/เดือน

เหล่านี้คือ  ความมั่นคงในวัยชราภาพ  ไม่เป็นภาระแก่สังคม

แต่ที่สำคัญกว่า เม็ดเงินบำนาญที่หล่นหายไป นั่นคือ “ระหว่างการเดินทาง ” ไปให้ถึงวันที่เรียกว่า
“วันวานที่พากเพียร สู่  วันเกษียณที่ภาคภูมิ”

มีกี่คนที่จากต้องจากไปก่อนวัยอันสมควร พิการ ทุพพลภาพ ด้วยสาเหตุต่างๆมากมาย  หรือแม้แต่ในปัจจุบัน ใครจะบอกได้ว่า เชื้อ Covid-19  จะไม่ทำลายปอด บุคลากรเหล่านี้ จนต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถปฏิบัติราชการ จนถึงวันเกษียณได้   

“แล้วทำไมต้องให้เขาเหล่านี้ รับชะตากรรม รับผล ในสิ่งที่พวกเขา ไม่ได้กระทำขึ้นมาเลย ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net