Skip to main content
sharethis

หน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้สื่อ ABS-CBN ระงับการออกอากาศ ส่งผลให้ผู้คนตกงาน 11,000 ตำแหน่ง ในช่วงที่วิกฤตโรคระบาดทำพิษต่อชาวฟิลิปปินส์อยู่แล้ว องค์กรด้านสื่อเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นการจงใจกลั่นแกล้งและคุกคามจากรัฐบาลรอดริโก ดูเตอร์เต ที่ไม่พอใจสื่อ ABS-CBN อยู่ก่อนแล้ว เนื่องด้วยรัฐสภาที่เป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดีดองคำขอต่อใบอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2562

โลโก้ ABS-CBN (ที่มา: Philippines News Agency)

7 พ.ค. 2563 ABS-CBN เป็นสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ได้รับคำสั่งให้หยุดทำการ หลังจากที่คนในรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายเดียวกับประธานาธิบดีรอดริโก ดูเตอร์เต ไม่ยอมต่อใบอนุญาตอายุ 25 ปีให้กับสถานีโทรทัศน์แห่งนี้

มีการออกคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา จากหน่วยงานของรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการต่อใบอนุญาตในการแพร่ภาพกระจายเสียง โดยฝ่ายรัฐบาลดูเตอร์เตอ้างว่าสถานีโทรทัศน์ ABS-CBN "ไม่มีสัมปทานจากรัฐสภาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย" จึงสั่งให้ทางสถานีหยุดแพร่ภาพกระจายเสียงทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ

ทาง ABS-CBN ได้ยื่นเอกสารขอต่ออายุใบอนุญาตต่อสภามาหลายครั้งแล้ว แต่เอกสารขอต่อใบอนุญาตเหล่านี้ก็ยังคงค้างอยู่ในรัฐสภาฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ปี 2562 โดยที่ฝ่ายสภาอ้างว่าได้มีการจัดลำดับความสำคัญจึงไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้

คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NTC) ระบุว่าใบอนุญาตของ ABS-CBN หมดอายุมาตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา และระบุว่าให้เวลา 10 วันในการตอบรับกลับในเรื่องนี้ โดยที่หนึ่งในกรรมการระบุว่าคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยทันที

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาซึ่งตรงกับวันเสรีภาพสื่อโลก รองอธิบดีกรมอัยการของฟิลิปปินส์ โฮเซ คาลิดา กลับกระทำในสิ่งที่ขัดขวางเสรีภาพสื่อด้วยการขู่จะมีมาตรการต่อ NTC ถ้าหากพวกเขาไม่ดำเนินการสั่งปิด และห้ามไม่ให้ NTC ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับสถานีโทรทัศน์ตามที่เคยตกลงว่าจะมีการหารือกับสภาเมื่อ มี.ค. 2563 กลายเป็นการบีบให้ NTC ต้องสั่ง ABS-CBN หยุดออกอากาศ

การที่สื่อใหญ่แห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ถูกระงับการแพร่ภาพกระจายเสียงในครั้งนี้ส่งผลให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 11,000 ตำแหน่ง ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อด้านการงานของชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ABS-CBN ก็แถลงการณ์ในเรื่องนี้ว่าถึงแม้พวกเขาจะบอมทำตามกฎหมายในการระงับการออกอากาศแต่ในเชิงปฏฺิบัติแล้วพวกเขาไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ แต่กรณีเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามลิดรอนเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยการทำให้ชาวฟิลิปปินส์ไม่สามารถเข้าถึงรับชม ABS-CBN ได้

ทั้งนี้นักการเมืองในสภาทั้งสองพรรครวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ก็โต้แย้งคำสั่งของคาลิดาว่า ไม่ควรจะมีการปิดกั้นการออกใบอนุญาตจาก NTC และทางสภาฟิลิปปินส์ที่มีอำนาจในการให้อนุญาตในเรื่องนี้ก็เปิดทางให้กับ NTC ในการออกคำสั่งให้ ABS-CBN แพร่ภาพต่อไปได้มาก่อนหน้านี้แล้ว

ฟิลสตาร์ระบุว่าประธานาธิบดีสายอำนาจนิยมดูเตอร์เตข่มขู่ว่าจะปิดกั้นการต่อสัญญา ABS-CBN มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ดูเตอร์เตกล่าวหาว่าช่องโทรทัศน์นี้ไม่ยอมคืนเงินค่าโฆษณาชวนเชื่อหาเสียงของเขาที่ทางสถานีไม่ยอมออกอากาศในการเลือกตั้งปี 2559 นอกจากนี้หลังจากที่ดูเตอร์เตได้เป็นประธานาธิบดีเขากล่าวหาว่า ABS-CBN รายงานในทำนองอคติต่อรัฐบาลของเขา นอกจากนี้การที่ ABS-CBN ทำการรายงานข่าวเรื่องสงครามยาเสพติดที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตหลายพันคนก็ทำให้ดูเตอร์เตไม่พอใจ

สหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ในวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมาประณามการไม่ต่อสัญญาให้ ABS-CBN ว่าเป็น "การกระทำที่ขี้ขลาดต่ำทราม" ของรัฐบาลดูเตอร์เต โดยเชื่อว่ามาจากการที่ดูเตอร์เตมัความแค้นส่วนตัวกับสื่อแห่งนี้ นอกจากนี้ยังวิจารณ์ด้วยว่าเป็นการจงใจปิดปากสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองและข่มขวัญให้คนสยบยอม

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำฟิลิปปินส์ (FOCAP) ยังได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้อีกว่าการปิดสื่อโดยรัฐบาลดูเตอร์เตถือเป็น "กรณีการข่มขู่คุกคามทางการเมืองอย่างชัดเจนต่อเสาหลักของประชาธิปไตยฟิลิปปินส์"

เรียบเรียงจาก

Philippines largest TV network ABS-CBN ordered shut, Aljazeera, May 5, 2020

ABS-CBN ordered to go off air as franchise lapses, Philstar, May 5, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net