สถานการณ์ โควิด-19 ณ ปลายด้ามขวาน: พาคนไทยที่ติดอยู่ประเทศมาเลเซียกลับบ้าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากที่เรื่องคนไทยติดอยู่ที่ฝั่งชายแดนไทย-มาเลเซีย ถูกเผยแพร่ออกไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 บนเฟสบุ๊คส่วนตัว และกระจายข่าวกันตามเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม วันที่ 26 เมษายน 2563 สถานฑูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้กรุณาชี้แจงประเด็นต่างๆ กลับมา ดังนั้น บทความชิ้นนี้จึงมีข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งข้อมูลจากหลายคนที่ชี้แจ้งมาในคอมเม้นต์* ผู้เขียนได้ทำการปรับปรุงครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 63 ปรับปรุงครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ส่วนครั้งนี้ได้ปรับปรุงเพิ่มเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้เนื้อหาการนำเสนอมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยได้รับความกรุณาจากอาจารย์ Rosenun Chesof จาก University of Malaya ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากที่เข้มงวดในอดีต ณ ปัจจุบันนี้สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียมีการผ่อนปรนหลายอย่างแล้ว

เบื้องต้นผู้เขียนได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 2 แหล่ง เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจ ประกอบการพัฒนาโครงการวิจัย เรื่อง “มิติทางสังคมกับการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ผู้เขียนตั้งใจจะขอทุนการวิจัยจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นข้อมูลที่นำเสนอตั้งแต่ครั้ง

แรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563 รวมถึงการนำเสนอในประชาไทออนไลน์ครั้งนี้จึงไม่ใช่ผลการวิจัย แต่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจ รวมถึงสะเทือนใจที่ทราบเกี่ยวกับปัญหาของคนไทยที่ยังไม่สามารถข้ามมาประเทศไทยในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้ อย่างไรก็ตามเนื้อหาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อได้หลักฐานจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม

 

จำนวนผู้หญิงที่ยังตกค้าง

ผู้เขียนได้ข้อมูลจาก 4 แหล่ง ข้อมูล 2 แหล่งแรกเป็นการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์คาดการณ์จากจำนวนผู้ลงทะเบียนว่า จำนวนผู้หญิงอาจจะมีสูงถึงจำนวน 70-80% (จากจำนวนผู้ลงทะเบียนประมาณ 6,000 – 8,000 ราย* ข้อมูลที่ได้จาก 2 องค์กรที่มีการตรวจสอบรายชื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน) ข้อมูลแหล่งที่สองจากเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อ Thaweesak Pi กล่าวว่ามีผู้หญิงจำนวน 45.5% จากผู้ลงทะเบียน 2,780 คน (Thaweesak Pi, เฟสบุ๊ค, 30 เมษายน 2563) ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ อสม. ท่านหนึ่งในจังหวัดปัตตานีดูแล ศูนย์กักกันโรค (Local quarantine) ท้องถิ่นแห่งหนึ่ง สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย พบว่า จำนวนผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย

Chalita Bundhuwong (25 เมษายน 2563) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ตัวเลข 6,000-8,000 คน เป็นยอดคนที่ลงทะเบียนกับฝ่ายต่างๆ ที่เปิดให้มีการลงทะเบียน (รวมทั้งที่สถานทูตเองด้วย) ในจำนวนนี้ยังอยู่ตามที่พำนักในมาเลเซีย (ที่หมายถึงตามร้านต่างๆ ตามห้องพัก ตามสวนยาง ฯลฯ) อยู่มาก และลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับถุงยังชีพ ถ้า 6,000-8,000 คน นี้ติดที่ด่าน น่าจะโกลาหลนะคะ จะพักที่ไหน มาเลเซียอยุู่ในช่วง MCO ไม่ให้มารวมตัวข้ามคืนกันข้างถนนแน่นอน อย่างช่วง 2-3 เมษา ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเริ่มปิดด่านและประกาศเคอร์ฟิว คนไทยที่มาที่ด่านบูเก๊ะฮิตัม (ตรงข้ามด่านสะเดา) หลายกลุ่มที่เข้าประเทศไทยไม่ได้ ยังต้องรวมเงินกันเหมารถกลับไป KL ไปให้สถานทูตแจกข้าวกล่องกันทั้งหมด”

 

บริบทสถานการณ์ในประเทศมาเลเซีย:

ข้อมูลบริบทในประเทศมาเลเซียสรุปจากการสัมภาษณ์ของ อาจารย์โรส Rosenun Chesof จาก University of Malaya ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ FM96.5 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 กล่าวว่า

• ประเทศมาเลเซียเริ่มปิดประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 และมีการขยายมาตรการควบคุมสัญจรเคลื่อนย้าย หรือ MCO (Movement control order) แล้ว 4 ครั้ง

• ประเทศมาเลเซียไม่ใช้คำว่า "ปิดประเทศ" แต่จะใช้คำว่า การควบคุมสัญจรเคลื่อนย้าย คือ การให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร เดิมทีปิดทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้เปิดให้บริการบ้างแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกรัฐ

• ออกจากบ้านได้ แต่ห้ามกิน 10 กิโลเมตรต่อ 1 คน แต่ช่วงปลายเมษายน 2563 สถานการณ์ควบคุมโรคเริ่มดีขึ้น จึงมีการผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มออกมานอกบ้านบ้าง ตอนนี้รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้เดินทางได้ 2 คน ต่อ 1 หลังคาเรือน

• ต้องใช้หนังสือรับรองหากจะออกจากบ้านเกิน 10 กิโลเมตร เพื่อไปทำธุระที่จำเป็นต้องขอจากตำรวจ แต่ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปสามารถขอได้ผ่านแอพลิเคชั่น Gerak Malaysia หรือ Malaysia Movement กรอกข้อมูลจะเดินทางไปไหน แล้วจะมีบาร์โค้ดให้ตำรวจตรวจเวลาเจอด่านตรวจ

• Social distancing มีระยะห่างกัน 1 เมตรเมื่อเข้าไปในตลาด จำกัดการเข้าร้านครั้งละ 2-3 คน จำนวนเพิ่มขึ้นแล้วแต่ขนาดของร้าน วัด มัสยิด ศาสนสถานทุกศาสนาปิดทั้งหมด

• ผลกระทบจากการปิดประเทศ จะเป็นร้านอาหารเล็กๆ ร้านที่พออยู่ได้จะส่งผ่านฟู๊ดแพนด้าและแกรบ (ที่ปัตตานีมีแต่ฟู๊ดแพนด้า เเกรบยังไม่เข้ามา ภายหลังมีเดลิเวอรี่อีก 2-3 เจ้าเข้ามา) แต่ร้านอาหารใหญ่ๆ เช่น KFC ยังพอเปิดทำการอยู่ได้ การปิดประเทศส่งผลให้ร้านเล็กๆ ต้องปิดกิจการ ช่วงแรกเจ้าของยังพอดูแลลูกจ้างของตัวเองได้ แต่เมื่อรัฐบาลประเทศมาเลเซียปิดนานมากขึ้น ทำให้ลูกจ้างต้องตกงาน

• ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อไม่มีงานและไม่มีเงิน รวมทั้งเข้าถึงความช่วยเหลือลำบาก สำหรับคนไทยที่อยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น มาม่า 1 ซอง / 2 คน ต้องขอข้าวจากเพื่อนบ้านรับประทานให้พอประทังชีวิต

• การลงทะเบียนผ่านสถานฑูตช่วงแรกมีความยากลำบาก ชาวบ้านที่อยู่ห่างจากสถานฑูตเกิน 10 กิโลเมตรขึ้นไปยากจะเข้าถึง และมีข้อจำกัดสำหรับชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ และไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ณ เวลา การลงทะเบียนทำได้ง่ายกว่าเดิมมากกว่าในช่วงแรกๆ มีการปรับปรุงระบบ และทำให้คนเริ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศไทย หลายคนรอที่จะเปิดร้านขายของได้ตามปกติ เปิดให้ลูกค้ามานั่งกินในร้านได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ยกเว้น 7 รัฐ ที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดภาคธุรกิจ ได้แก่ Kedah, Sarawak, Sabah, Selangor, Negeri Sembilan, Pahang และ Kelantan (Rosenun Chesof, เฟสบุ๊ค ช่วยพี่น้องในมาเลย์, 2563)

• รถขนส่งสาธารณะมีข้อจำกัดในการให้บริการและจำกัดจำนวนคน ณ ปัจจุบันนี้ (5 พฤษภาคม 2563) รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้รถแกรบสามารถรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 1 คน เป็น 2 คน

• ชาวบ้านไม่ทราบว่ามีคลินิกไหนบ้างที่เปิดให้บริการ เฟสบุ๊คชื่อ “ช่วยพี่น้องในมาเลย์” เริ่มมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับคลินิกที่สามารถออก Fit to travel ได้

• หมอไม่กล้าออกใบรับรองแพทย์

 

ปัญหาการขอใบรับรองแพทย์ Fit to travel

กฎหมายประเทศมาเลเซียช่วงแรก ห้ามประชาชนเดินทางไกลบ้านเกินกว่า 10 กิโลเมตร สร้างเงื่อนไขและเป็นข้อจำกัดในการเดินทางไปรับใบรับรองแพทย์ เนื่องจากรถขนส่งสาธารณะ ไม่เปิดให้บริการ รถไฟใต้ติดเปิดให้บริการบ้างแต่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ ชาวบ้านไม่ทราบว่ามีคลินิกเปิดให้บริการที่ไหนบ้าง แพทย์ในประเทศมาเลยเซียไม่กล้าออกใบรับรองแพทย์ และใบรับรองแพทย์ที่ได้เป็นใบรับรองแพทย์ทั่วไป (รายการวิทยุ FM96.5, สัมภาษณ์ Rosenun Chesof, 28 เมษายน 2563) ปัจจุบันใบรับรองแพทย์ Fit to travel สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น เช่น รันตู แต่ประชาชนไม่มีเงินเพื่อจ่ายค่าใบรับรองแพทย์ประมาณ 30-80 ริงกิต หรือ (300 – 800 บาท ราคานี้ยังไม่รวมค่าเดินทางไปตรวจที่คลินิก) เพราะขาดรายได้มา 2 เดือน ส่วนเงินที่สะสมไว้ร่อยหรอลง และเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางกลับ เช่น หากชาวบ้านลงทะเบียนวันนี้ จะได้กลับวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สภาพของชาวบ้านในช่วงระหว่างที่อยู่ในประเทศมาเลเซียในภาวะที่เงินใกล้หมด เงินไม่พอจะขอใบรับรองแพทย์ ยากที่จะตอบได้ว่าชะตาชีวิตเช่นนี้จะอยู่กันในสภาพอย่างไร? (สนทนากับอาจารย์ Rosenun Chesof ผ่านทางอินบ๊อคเฟสบุ๊ค, 5 พฤษภาคม 2563)

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและอุปสรรคในการพาคนไทยกลับบ้าน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและเป็นกังวลมาก คือ กลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ท้องแก่และใกล้คลอด ผู้พิการ และเด็กที่เดินทางไปกับผู้ปกครองที่ทำงานในประเทศมาเลเซีย ผู้สูงอายุที่เดินทางไปประกอบอาชีพกรีดยางหรือชาวประมง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์

ช่วงแรกที่มีการปิดประเทศใหม่ๆ คนไทยที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซียไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ไม่มีแม้กระทั่งถุงยังชีพ ตั้งแต่มีการโพสต์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียช่วย สถานทูตไทยในประเทศมาเลเซียเริ่มเปิดให้มีอาสาสมัครเข้ามาช่วยเรื่องการลงทะเบียนคนไทยเพื่อรับถุงยังชีพ แต่ช่วยได้เพียง 10% ไม่ทั่วถึง ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 5 พฤษภาคม 2563) กลุ่มจันทร์เสี้ยวได้รับงบประมาณเพิ่ม 100,000 บาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ต้องการ

คนที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซีย และยังไม่ได้ลงทะเบียน รวมถึงยังไม่กล้าแสดงตัวยังมีอีกจำนวนมาก ด้วยสาเหตุหลายประการ อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต จำนวนหนึ่งเคยตกเป็นผู้ต้องหาจากคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลบหนีเข้าประเทศมาเลเซียจากการถูกกวาดล้อมในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ประเด็นการพาคนไทยที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซียกลับประเทศมีความซับซ้อนและมีท้าทายมากยิ่งขึ้น คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถดูแลคนกลุ่มนี้ภายใต้สถานการณ์ COVID-19

ชาวบ้านที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย กับลูกอายุ 2-3 ขวบ ต้องแสดงสูจิบัตรของลูกเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย แต่สูจิบัตรอยู่ที่ประเทศไทย ไม่มีใครสามารถนำไปให้ได้หรือถ่ายรูปให้ได้ เนื่องจากที่บ้านไม่มีใคร และมีฐานะยากจน ทำให้ผู้ปกครองถึงแม้ว่าจะได้โอกาสในการเดินทางกลับประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเนื่องจากลูกไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านด่านเข้าประเทศ ประเด็นนี้ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียมีหลายช่องทาง คือ ช่องทางอย่างเป็นทางการ เช่น ด่าน และช่องทางอย่างไม่เป็นทางการ คือ ใช้บริการเรือข้ามฟากข้ามแม่น้ำตามเส้นทางธรรมชาติ อีกทั้งวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ผู้คนเดินทางสัญจรไปมาโดยไม่จำเป็นต้องมีพาสปอร์ต หรือแม้แต่บัตรประชาชน ผู้เขียนเองเคยเดินทางไปเยี่ยมญาติ และไปช้อปปิ้ง ในประเทศมาเลเซีย ผ่านช่องทางธรรมชาติบ่อยครั้ง จึงไม่แปลกใจที่จะพบกรณีเด็กที่ไม่มีพาสปอร์ต

คนที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซีย จำนวนหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เช่น ยากจน การศึกษาน้อย อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ประกอบอาชีพ กรีดยาง ประมง แรงงานในร้านอาหารต้มยำกุ้ง ทำสวน และกลุ่มผู้หญิงทำงานพิเศษ เพราะจากข้อมูลจำนวนแรงงานไทยที่ลงทะเบียนกับกระทรวงแรงงานอย่างถูกต้องพบว่า มีจำนวนประมาณ 38,487 ราย แต่คาดว่าน่าจะมีแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนตามกฎหมายอีกจำนวน 100,000 คน กลุ่มคนเหล่านี้น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษเนื่องไม่กล้าแสดงตัวและไม่กล้าติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะความความหวาดกลัวต่อการถูกลงโทษเนื่องจากตนเองไปทำงานแบบไม่ถูกกฎหมาย

การตรวจ DNA คนไทยที่เดินทางกลับมาจำนวนประมาณ 300 คน อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือพาคนไทยกลับบ้านกลายเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีบริบทของสถานการณ์ความไม่สงบ Chalita Bundhuwong (25 เมษายน 2563) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ส่วนในเรื่องการตรวจ DNA ทราบมาว่าทางการเน้นตรวจคนที่ข้ามแดนมาทางช่องทางธรรมชาติ (แบบที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับสถานทูตและไม่มีใบรอบรองแพทย์) ด้วยค่ะ ซึ่งสำหรับด่านโกลก มีจำนวนมากกว่าคนที่ลงทะเบียนอีกค่ะในแต่ละวัน”

คนไทยจำนวนไม่น้อยที่เดินทางกลับประเทศไทยโดยผ่านเส้นทางธรรมชาติ เช่น ข้ามแม่น้ำ แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับและปรับเป็นเงินจำนวน 800 บาท อาจารย์มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ (25 เมษายน 2563) ขอร่วมแบ่งปันข้อมูลว่า “ผู้ข้ามแดนที่ต้องจ่ายค่าปรับ 800 บาท ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ผ่านช่องทาง ตม.ครับ หากแต่ไม่มีเอกสารใบรับรองจากทางสถานฑูตและ/หรือ Fit to travel ครับ วันที่ 19 ผมได้ไปสังเกตการณ์ด้วยตัวเองทั้งวัน พบว่าส่วนใหญ่ที่ข้ามสะพานมา ต้องจ่ายค่าปรับกันทุกคนครับ (ยกเว้นที่ผ่านการลงทะเบียนและมีใบรับรองแพทย์)”

ขณะนี้มีกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 40 คน เพื่อช่วยคนไทยลงทะเบียน เนื่องจากใน 1 วัน คนไทยที่สามารถลงทะเบียนเพื่อเดินทางกลับมาได้เพียง 100 คน อาจเป็นปัญหาและอุปสรรค ต่อกลุ่มคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนเหล่านี้ การลงทะเบียนแต่ละครั้งจะเต็มอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีผู้แจ้งความประสงค์จำนวนมาก

 

การลงทะเบียน

ข้อจำกัดในการลงทะเบียน คือ ต้องมีมือถือ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เข้าใจการใช้อินเตอร์เนต อ่านออกเขียนได้ ทำให้อาจจะมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้

คนที่ติดอยู่ในประเทศมาเลเซีย และยังไม่ได้ลงทะเบียน และยังไม่กล้าแสดงตัวยังมีอีกจำนวนมาก ด้วยสาเหตุหลายประการ อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ จำนวนหนึ่งเคยตกเป็นผู้ต้องหาจากคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกกวาดล้อมจากช่วงสถานการณ์ความไม่สงบและหนีไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นความท้าทายในการดูแลคนกลุ่มนี้ภายใต้สถานการณ์ COVID-19

คนไทยที่ติดอยู่มาเลย์มี 2 กลุ่ม 1) กลุ่มที่ต้องการกลับบ้าน 2) กลุ่มที่ไม่ต้องการกลับไทยแต่ต้องการรับความช่วยเหลือ

การลงทะเบียนเพื่อผ่านด่านได้ไม่เกินจำนวน 350 คน ในแต่ละวัน (รวมกันทุกด่าน) มีเพียง 2 ด่าน ที่ผ่านได้ 100 คน ต่อวัน คือที่ด่านโกลกและที่ด่านนอก (สะเดา) ส่วนด่านแห่งอื่นเปิดรับเพียง 50 คน (Rosenum Chesof, 2563) จากข้อมูลการลงทะเบียนหากด่านยังรับคนได้จำนวนเท่านี้อีกหลายคนจะติดอยู่ที่ด่านอีกหลายเดือน เฉพาะผู้ลงทะเบียนจะได้เดินทางกลับ

ชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกปอกลอก โดยกลุ่มมิจฉาชีพ ฉกฉวยผลประโยชน์จากความยากลำบากและบนความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ อ้างว่าสามารถเดินทางข้ามด่านมาประเทศไทยได้ สุดท้ายทำให้ชาวบ้านหมดตัวและถูกทิ้ง รถบัสที่พามากลับไม่ได้ บัตรหมดอายุทำให้ลงทะเบียนใหม่ไม่ได้ เนื่องจากยังมือชื่อค้างอยู่ในระบบ ต้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูต

สถานการณ์ปัจจุบัน (Fatin Jamjuree, 2 พฤษภาคม 2563) ใบรับรองแพทย์ Fit to travel ขึ้นราคาจาก 50 ริงกิต เป็น 150 ริงกิต

 

ผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

• เห็นด้วยกับ ศาตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ควรยกเลิก Fit to travel และใช้การตรวจตามมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก

• พาคนไทยทุกคนกลับประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

• รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม เพราะคนที่เคยหนีไปเนื่องจากคดีความมั่นคง ควรใช้โมเดล "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ที่เคยใช้สำเร็จมาแล้วในอดีต

• ใช้โรงเรียนเป็นที่กักตัวและให้คนไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ทุกคน

• ให้แพทย์ไทยเดินทางไปตรวจและออกใบรับรองแพทย์ให้คนไทยที่ติดอยู่ที่ด่าน

• ปลดล๊อคเพิ่มเป็น 200-300 คน จาก 100 คน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้ลดลง

• ให้รัฐบาลไทยส่งรถไปรับคนไทยทุกคนที่ยังติดอยู่ในประเทศมาเลยเซีย โดยประสานงานกับองค์กรที่รับลงทะเบียนเก็บข้อมูลคนไทยในมาเลย์

• รัฐบาลออกจดหมาย/บันทึกข้อความ ที่มีผลทางกฎหมาย ว่าจะไม่ลงโทษเอาผิดทั้งคดีเพ่งและคดีอาญา หากพบว่าเป็นคนไทยที่เขาไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เพื่อให้แรงงานที่ผิดกฎหมายหลบซ่อนตัวได้ปรากฎออกมา เพื่อรับความช่วยเหลือบากรัฐ

• เมื่อรัฐบาลออกบันทึกข้อความแล้ว ให้ประสานงานกับคนในสามจังหวัด ให้สื่อสารกับญาติพี่น้องฝั่งมาเลยเซีย เพื่อให้คนเหล่านี้ปรากฎตัวออกมา เพื่อรับความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น การเดินทางมายังด่านชายแดนไทย-มาเลย์, ถุงยังชีพ ฯลฯ

• แรงงานจากภาคอีสานที่รอความหวังว่าจะได้กลับเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ต้องขอความร่วมมือจาก NGOs สื่อสาร ปรึกษาหารือว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร? หากการปิดประเทศยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ และอาจมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น เช่น ส่งเสริมอาชีพแนวตะเข็บพรมแดน สนับสนุนการเดินทางกลับบ้านฟรีและสัญญาว่าจะพากลับมาหากเหตุการณ์ดีขึ้น

• หน่วยงานภาครัฐต้องปลดล็อคข้อจำกัดของตัวเองเนื่องจากงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่น้อย และอนุญาตให้รับการบริจาคจากประชาชนทั่วไป เพื่อส่งความช่วยไปยังคนไทยที่ติดอยู่ในประเทศมาเลยเซีย

 

ข้อเสนอเพิ่มเติมจาก Chalita Bundhuwong

"ฝากข้อเสนอเรื่องการเรียกร้องให้รัฐบาล/ ศบค.ยกเลิกการช้ใบรับรองแพทย์ fit to travel ด้วยเถอะค่ะ สงสารคนที่หาใบได้ลำบาก และใบนี้ไม่มีผลต่อการคัดกรองคนป่วยโควิด 19 เลย รวมทั้งอยากให้ ศบค.ช่วยแยกแยะการมองแรงงานไทยในมาเลเซียออกจากกลุ่มดาวะห์ในฐานะกลุ่มเสี่ยงด้วย เพราะทั้งสองกลุ่มมีวิถีชีวิตและความเสี่ยงที่แตกต่างกันมากค่ะ และฝากทวงเงินเยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซียที่ รมช. มหาดไทย และพรรค พปชร. สัญญาไว้กับชาวบ้านเมื่อต้นเดือนนี้ด้วยค่ะ"

ข้อมูลจากสถานทูตไทย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ (26 เมษายน 2563) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานเอกอัครราชฑูตและสถานกงสุลใหญ่ได้ประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย และพร้อมที่จะส่งถุงยังชีพไปยังผู้ที่ต้องการหากยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ทั้งหมด ที่ผ่านมา ในแต่ละวัน มีกลุ่มที่ไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อเดินทางกลับเข้าไทยและไม่มีหนังสือรับรองจากสถานทูตฯ ประมาณวันละไม่เกิน 100 คน เดินทางไปยังบริเวณด่านรันเตาปันยัง-สุไหงโกลก แต่ไม่พบว่ามีคนไทยตกค้างอยู่บริเวณหน้าด่านในแต่ละวัน เพราะหากไม่เดินทางกลับที่พักในมาเลเซีย ก็จะพยายามลักลอบกลับเข้าไทยโดยผ่านช่องทางธรรมชาติ ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ให้การช่วยเหลือด้วยการประสานงานกับหน่วยงานฝั่งไทยเพื่อรับกลุ่มเปราะบางและมีความจำเป็นแต่ไม่มีหนังสือรับรองจากสถานทูต เช่น ผู้เจ็บป่วย หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ผู้เดินทางที่มีลูกเล็ก กลับเข้าไทยด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมมาโดยตลอด หากพบกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านการลงทะเบียน ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไป สำหรับการออกใบรับรองแพทย์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู พยายามอำนวยความสะดวกเรื่องใบรับรองแพทย์ด้วยการจัดหาคลินิกออกใบรับรองแพทย์ให้ที่บริเวณหน้าด่าน อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับระหว่างหน้าด่านและคลินิก และคลินิกมีขนาดเล็ก ให้บริการได้ไม่เกินวันละ 10-15 คน จึงขอแนะน าให้ทุกคนพยายามหาใบรับรองแพทย์ไปจากต้นทางก่อน เมื่อไปถึงด่านแล้ว จะได้เดินทางกลับเข้าไทยได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปด าเนินการเรื่องใบรับรองแพทย์ และอาจกลับมาที่ด่านไม่ทันด่านปิ ดเวลา 12.00 น. (เที่ยงวัน) ดังนั้น การไปทำใบรับรองแพทย์ที่หน้าด่าน ขอให้ทุกท่านใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเฉพาะกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ส่วนการลงทะเบียนผ่านสถานทูตฯ แล้วจะถูกจับตรวจ DNA สถานทูตฯ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะภารกิจเพียงประการเดียวของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ในขณะนี้คือการอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในการเดินทางกลับไทยและการกระจายความช่วยเหลือแก่คนไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้ทั้งนี้การตรวจ DNA มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้บริการจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีบริการดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่สามารถดำาเนินการเองได้ ส่วนการแจกจ่ายถุงยังชีพ สถานทูตเริ่มแจกจ่ายถุงยังชีพมาตั้งแต่รัฐบาลมาเลเซียประกาศใช้มาตรการ MCO เมื่อวันที่ 18 มี.ค. และยังคงแจกจ่ายอย่างต่อเนื่องและพยายามให้ทั่วถึงที่สุด ทั้งด้วยการออกไปแจกจ่ายเอง ผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร และการส่งทางไปรษณีย์ ณ วันที่ 24 เม.ย. สถานทูตได้แจกจ่ายถุงยังชีพให้คนไทยทั่วมาเลเซียผ่านช่องทางต่าง ๆ รวม 22,150 คน เฉพาะกรุงกัวลาลัมเปอร์ 3,874 คน ผู้ขอรับถุงยังชีพสามารถติดต่อขอรับถุงยังชีพจากสถานทูตได้โดยตรงที่ โทร 011 1160 8379 ทั้งน้ำเป็นต้องมีที่อยู่เพื่อสถานทูตจะได้จัดส่งถุงยังชีพได้อย่างถูกต้อง

กลุ่มสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขได้รับ 100,000 บาท จาก ศอ.บต. และได้มอบเงินให้ NGOs ประเทศมาเลเซีย BBNGO MALAYSIA เนื่องจากว่าในบางพื้นที่ อสม ไทยในมาเลเซียไปไม่ถึงเพราะข้อจำกัดบางอย่าง ดังนั้นเราจึงทำงานร่วมกับเอ็นจิโอมาเลเซียเพื่อช่วยเหลือกระจายถุงยังชีพจากสถานทูตและกงสุลไทยในมาเลเซีย และจาก ศอ.บต ไปในเขตพื้นที่สีแดงและห่างไกล จันทร์เสี้ยวคือเป็นคนกลางนการประสานและช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และภูมิลำเนา และจันทร์เสี้ยวยังได้ประสานกับ RELA ในตรังกานูเพื่อแจกถุงยังชีพในพื้นที่ตรังกานูอีกด้วย (ข้อมูลจาก Tuwaedaniya Meringing, 26 เมษายน 2563) อาจารย์มูฮัมหมัดรอฟีอี มูซอ กล่าวเสริมว่า “ส่วนกรณี NGOs พวกเราอาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันพอสมควร อย่างการให้ความช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนต่างๆ พวกเรามักจะอาศัยเพื่อน Activists/NGOs เป็นหลักในการกระจายความช่วยเหลือโดยพวกเขาก็ทำงานร่วมประสานกับทางตำรวจของมาเลเซียค่อนข้างดีครับ”

ณ ปัจจุบัน สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ทำงานประสานกับ ศอ.บต. โดยได้รับงบประมาณจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ได้ทำงานกับกลุ่ม NGOs ในประเทศมาเลเซีย และได้แจกถุงยังชีพไปแล้ว แต่แจกได้เพียง 250 คน ในรัฐกลันตัน ตรังกานู ในขณะที่มีคนลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเรื่องถุงยังชีพจำนวน 3,000 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายชื่อได้แจ้งให้สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์รับทราบเพื่อแจกถุงยังชีพเมื่อมีมาตรการ MCO ใหม่ๆ แต่ยังไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง เพราะคนไทยอยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาเลเซีย ต่อมาสถานทูตฯ จัดส่งทางไปรษณีย์เพิ่มขึ้นอีก 1 ช่องทางเพื่อให้คนไทยได้รับความช่วยเหลือให้มากที่สุด ณ ปัจจุบันนี้คณะกรรมการเฉพาะกิจของสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ฯ ได้รับเงินบริจาคอีกจำนวน 100,000 บาท และได้โอนให้ NGOs ที่เคยทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อแจกถุงยังชีพเพิ่มเติมในรัฐเปรัค เกอดะห์ เปอร์ลิส เนื่องจากมีผู้จำนวนลงทะเบียนกับสมาคมมากที่สุดเกือบ 1,000 คน แต่ยังไม่เพียงพอแจกจ่ายให้กับคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซีย (สนทนากับอาจารย์ Rosenun Chesof ผ่านทางอินบ๊อคเฟสบุ๊ค, 5 พฤษภาคม 2563; )

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานประสานให้ความช่วยเหลือเพื่อพาคนไทยกลับบ้าน ช่องทางในการช่วยเหลือและติดตามข่าวสาร ให้ดูจาก Facebook ชื่อ "ช่วยพี่น้องในมาเลย์" หรือ คลิ๊กที่

https://www.facebook.com/groups/904009123369627

มาตรการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คชื่อ “ช่วยพี่น้องในมาเลย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท