Skip to main content
sharethis

กรณีคุกคามทางเพศออนไลน์ต่อนักกิจกรรมจุฬาฯ ล่าสุดกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรมทางเพศ ได้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์เรียกร้องต่อ สังคม สื่อ ภาครัฐ นักสิทธิมนุษยชน ให้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ ยุติการคุกคามทางเพศ และยุติการเพิกเฉยโดยทันที

ที่มา: Facebook/Thaiconsent

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ทำงานด้านความยุติธรรมทางเพศ รวม 231 รายชื่อบุคคลและองค์กร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อเรียกร้องต่อ สังคม สื่อ ภาครัฐ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ ยุติการคุกคามทางเพศ และยุติการเพิกเฉยโดยทันที

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. มีการเผยแพร่แถลงการณ์ในเพจ Thaiconsent เพื่อเชิญชวนให้นักสิทธิมนุษยชน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาครัฐ พร้อมทั้งสังคมโดยรวม ร่วมกันตระหนักไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศออนไลน์ และชวนกันร่วมกันหากลไกในการคุ้มครองนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต โดยสามารถอ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

แถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการคุกคามทางเพศต่อนักกิจกรรมและสร้างการตระหนักรู้ต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ

สืบเนื่องจากกรณีที่ คุณ สิรินทร์ มุ่งเจริญ นักกิจกรรมหญิงที่เป็นเยาวชนและนักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิทางการเมือง โดยเธอได้ผลิตเนื้อหาออนไลน์บนสื่อสังคมทั้งทางช่อง Youtube, Facebook และ Twitter ว่าด้วยเรื่องแนวคิดเฟมินิสต์และความเท่าเทียมทางเพศ 

ต่อมาได้มีการนำรูปภาพของเธอไปโพสต์ตามกลุ่มสาธารณะในเฟซบุคหรือทวิตเตอร์ และเปิดให้มีการแสดงความเห็นจากบุคคลทั่วไป ซึ่งปรากฎเนื้อหาในลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศและกลั่นแกล้งออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลอันกระทบต่อความปลอดภัยและสภาพจิตใจของนักกิจกรรม แม้ว่าจะมีการรายงานไปยังผู้ให้บริการเฟซบุคแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธว่าความคิดเห็นที่คุกคามความปลอดภัยดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎของผู้ให้บริการ

โดยกลุ่มบุคคลที่กระทำอ้างหลักการ Free Speech เพื่อสนับสนุนการแสดงความเห็นในลักษณะคุกคามทางเพศ ล้อเลียนกลั่นแกล้งในพื้นที่ออนไลน์ ทั้งที่ Freedom of Speech ไม่ได้ครอบคลุมการกระทำที่ ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางเพศ การสร้างความเกลียดชัง รวมถึงการกระทำใดๆ ที่นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรม และสร้างความไม่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม

เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมที่ออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้วหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น กรณีการคุกคามออนไลน์ต่อนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ เช่น คุณ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ที่ถูกนำภาพไปโพสต์ตามเฟซบุคและมีการใช้คำพูดที่มีลักษณะคุกคามทางเพศ ล้อเลียนวิถีทางเพศ ข่มขู่และทำให้อับอาย หรือกรณีห้องเรียนเพศวิถีร้านหนังสือบูคู ที่ถูกกระทำในลักษณะเดียวกัน 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ คือการสร้างความหวาดกลัว และกดดันไม่ให้นักกิจกรรมมีพื้นที่ปลอดภัยในการส่งเสียงพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยใช้วิธีโจมตีไปที่ตัวบุคคล สร้างความอับอายและความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้แก่นักกิจกรรมโดยเฉพาะนักกิจกรรมเพศหญิงและเพศหลากหลาย

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว มักถูกเพิกเฉยหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ไม่ใช่เรื่องที่อาจมองข้าม เพราะการคุกคามเหล่านี้ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ ถือว่าเป็นอาชญากรรม

ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้

1. นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ภาครัฐ สื่อ และสังคมโดยรวม ตระหนักและไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการคุกคามทางเพศออนไลน์ และร่วมกันหากลไกในการปกป้องคุ้มครองนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว

2. รณรงค์และสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในการถกเถียงประเด็นความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศ โดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ส่งเสริมการผลิตซ้ำความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ ไม่โจมตีตัวบุคคลและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยอ้างหลักการฟรีสปีช

3. ยุติการกระทำที่เป็นการคุกคามทางเพศหรือการกลั่นแกล้งออนไลน์ ที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังและเกิดอันตรายต่อนักกิจกรรมโดยทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net