Skip to main content
sharethis

'พะเยาว์-พันธ์ศักดิ์' เข้ายื่นสอบถามความคืบหน้าของคดีสลายชุมนุมปี 53 ก่อนครบ 10 ปี รองอธิบดีดีเอสไอ รับเรื่องและรับปากจะแจ้งความคืบหน้าดคีสลายชุมนุมแดงภายใน 7 วัน ยันดีเอสไอดำเนินการตามกฎหมาย และบางเรื่องก็เป็นอำนาจของศาล

8 พ.ค.2563 วันนี้ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่วัดปทุมวนาราม 19 พ.ค.53 พร้อมด้วย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาสมาพันธ์ ศรีเทพผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ถนนราชปรารภจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมือง เดินทางมายื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าของคดี โดยมี พ.ต.อ.อัครพล บุญโยปัษฎัมภ์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

พะเยาว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้คดีการเสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมืองของ กมลเกดและสมาพันธ์ เมื่อปี 2553 ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 10 ปีแล้ว แต่หลังจากดีเอสไอส่งสำนวนคดีให้อัยการคดีพิเศษ และถูกตีกลับเพื่อให้ดีเอสไอหาหลักฐานเพิ่มเติมยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ตนต้องเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม เพราะยังมี 2 ประเด็นที่คลางแคลงใจ โดยเฉพาะกรณีดีเอสไอได้มีหนังสือแจ้งตนว่าอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนทั้งที่ก่อนหน้านี้ตนได้ขึ้นศาลพลเรือนมาตลอด และประเด็นการสอบปากคำเพิ่มเติมก็ยังไม่มีการเรียกทหารที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีการเรียกเจ้าหน้าที่ทหารมาสอบปากคำหรือไม่ เพราะไม่มีการแจ้งให้ตนเองรับทราบ จึงขอให้ดีเอสไอให้คำตอบภายใน 7 วัน

พ.ต.อ.อัครพล กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้ดีเอสไอจะรับไปดำเนินการและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำหนังสือชี้แจงความคืบหน้าของคดีส่งให้ภายใน 7 วันตามที่ร้องขอ ทั้งนี้ การทำคดีอาจจะมีข้อบกพร่องและล่าช้าบ้าง แต่ยืนยันว่าดีเอสไอดำเนินการตามกฎหมาย และบางเรื่องก็เป็นอำนาจของศาล

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์และแนวหน้า

สำหรับ กมนเกด เป็น 1 ใน 6 ศพ ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยกระบวนการไต่สวนการเสียชีวิตนั้น เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 ศาลมีคำสั่งว่าทั้ง 6 คน เสียชีวิตจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ ขณะเกิดเหตุ และจากกระสุน .223 จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนของมือทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา 

ขณะที่ความไม่คืบหน้าของคดีแม้เวลาจะผ่านมา 10 ปี นั้น ในกลุ่มคดีไต่สวนการเสียชีวิตศาลชี้ 18 ศพกระสุนมาจากฝั่งทหาร แต่เห็นได้ชัดว่าคดีสะดุดหลังรัฐประหาร ส่วนคดีฟ้องเอาผิดอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ.และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่ามีความผิด “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 นั้น ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องสำนวนคดีที่อัยการฟ้อง อภิสิทธิ์-สุเทพ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาลเห็นว่า ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ตอนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโดยระบุว่าอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.58 ป.ป.ช. ได้มีมติให้คำร้องตกไป  แต่ก็ระบุว่าได้มีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ให้ดีเอสไอดำเนินการต่อ การกล่าวหา อภิสิทธิ์ สุเทพ และพลเอกอนุพงษ์กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามกับพวกได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

หรือแม้แต่ พะเยาว์ เองได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันนั้น (19 พ.ค.2553)ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น วันที่ 3 พ.ค.2562 พะเยาว์เปิดเผยว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยอัยการให้เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคลที่ระบุว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net