COVID-19 : 8 พ.ค.63 ไทย 92.8% กลับบ้านได้ ค้นหาเชิงรุกพบติดใหม่ 8 ราย

  • กสทช. อนุมัติเงิน 200.2 ล้าน หนุน 19 รพ.รัฐ ต่อสู้โควิด-19 และยังเปิดรับคำขอรับการสนับสนุนจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 ซึ่งจะพิจารณาสนับสนุนจนกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ช่วยเหลือจะหมด
  • 12 องค์กรจับมือประสานแนวรบ ขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนสู้
  • ทีมวิจัยอังกฤษพบเอนไซม์สำคัญตัวช่วยไวรัสเข้าร่างกาย

8 พ.ค.2563 สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ถึงร้อยละ 92.80 ของผู้ป่วยทั้งหมด (กลับบ้าน 12 ราย รวมกลับบ้านสะสม 2,784 ราย) ทำให้ขณะนี้เหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 161 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.37 ของผู้ป่วยทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 55 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,000 ราย

ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้พบจากการค้นหาเชิงรุก (Active Case Finding) ที่จังหวัดยะลา 3 ราย และแรงงานต่างด้าวจากศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก ตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา 5 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังผู้สงสัยติดเชื้อโควิด19 (PUI) เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อได้มากที่สุด โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ ดังนี้ หากมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบหรือหายใจลำบาก ปอดอักเสบ จมูกไม่สามารถรับรู้กลิ่น และ/ หรือ มีประวัติไข้ อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีประวัติเดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดโรคโควิด 19 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด ติดต่อกับคนจำนวนมาก ไปในสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล ตลาด ใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือสัมผัสกับผู้ป่วย ขอให้ไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยตรวจหาเชื้อต่อไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หลังจากมีการปรับเกณฑ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1-7 พฤษภาคม 2563 ได้ทำการตรวจหาเชื้อแล้ว 16,439 ราย พบผู้ติดเชื้อ 38 ราย

กสทช. อนุมัติเงิน 200.2 ล้าน หนุน 19 รพ.รัฐ ต่อสู้

 
รายงานข่าวจาก กสทช. แจงว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (8 พ.ค. 2563) ที่ประชุม กสทช.วาระพิเศษได้อนุมัติสนับสนุนงบประมาณให้สถานพยาบาลของรัฐต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมเป็นล็อตที่ 2 อีก 19 โรงพยาบาล ( 21 โครงการ) วงเงินงบประมาณรวม 200,204,007 บาท จากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เนื่องจากโครงการมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์กองทุน กทปส. มาตรา 52 (1) และ 52 (2) ดังนี้
 

1.โครงการพัฒนาและขยายระบบบริหารรักษาพยาบาลเพื่อรองรับสถานการณ์ ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19) ของโรงพยาบาลชลบุรี วงเงิน 11,117,600 บาท
2.โครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการสุขภาพ เพื่อรองรับการระบาดโรคไวรัสโคนา (COVID-19) ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วงเงิน 13,840,750 บาท
3.โครงการ AIR-ICU/OR สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย ของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช วงเงิน 11,050,000 บาท

4.โครงการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 โรงบาลพระปกเกล้า ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วงเงิน 7,900,000 บาท

5.โครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบการส่งต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติรองรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช วงเงิน 9,657,907 บาท

6.โครงการจัดทำ Negative Room เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วย COVID19 ที่มีภาวะวิกฤต ของโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก วงเงิน 14,340,000 บาท

7.โครงการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ลำพูน ของโรงพยาบาลลำพูน วงเงิน 9,980,000 บาท

8.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ สู้ภัยโควิด-19 ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วงเงิน 22,755,000 บาท

9.โครงการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโรคไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โรงพยาบาลสมุทรสาคร ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร วงเงิน 9,600,000 บาท

10.โครงการพัฒนาศักยภาพห้องบำบัดผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา วงเงิน 5,518,800 บาท

11.โครงการพัฒนาระบบข้อมูลดูแลผู้ป่วยวิกฤตและฉุกเฉิน COVID-19 ของโรคพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วงเงิน 8,840,000 บาท

12.โครงการ No-touch COVID-19 in-patient Ward ของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 7,790,000 บาท

13.โครงการปรับปรุงห้องปฏิบัติการแรงดันลบสำหรับการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน วงเงิน 8,946,000 บาท

14.โครงการโรงพยาบาลภาคสนามของรัฐ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วงเงิน 4,445,000 บาท

15.โครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงโรค COVID-19 ด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์ชนิดที่ไม่ได้รุกล้ำเข้าในร่างกายร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ของคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณะสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วงเงิน 3,992,000 บาท

16.โครงการ Telemedical monitoring device for Covid-19 quarantine patient ของโรงพยาบาลตรัง วงเงิน 2,040,000 บาท

17.โครงการเพิ่มศักยภาพรับมือการแพร่ระบาดของโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 10,087,000 บาท

18.โครงการแชทบอร์ดปัญญาประดิษฐ์เพื่อการดูแลสุขภาพจิตและการช่วยเหลือด้านอารมณ์และสุขภาพจิตในภาวการณ์ระบาดของไวรัสโควิด 19 ของภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วงเงิน 6,605,000 บาท

19.โครงการพัฒนาต้นแบบระบบติดตามประชาชนเพื่อการบริหารจัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในเขตกรุงเทพมหานคร ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วงเงิน 6,200,000 บาท

20.โครงการพัฒนาการศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Corona virus disease 2019 (COVID-19)) ของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ วงเงิน 12,423,950 บาท

21.โครงการ การแพทย์ฉุกเฉินและแพทย์ทางไกล ช่วยเหลือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ของโรคพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วงเงิน 13,075,000 บาท

ฐากร กล่าวว่า การสนับสนุนเงินให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐในครั้งนี้เป็นการพิจารณาสนับสนุนโดยใช้เงินของกองทุน กทปส. ในล็อตที่ 2 ต่อเนื่องจากครั้งก่อน ซึ่งจนถึงขณะนี้พิจารณาคำขอสนับสนุนไปแล้ว 410 คำขอ อนุมัติเงินสนับสนุนให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐเพื่อดำเนินการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วเป็นเงิน 457 ล้านบาท ยังคงเหลือวงเงินที่จะให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อีกประมาณ 290 ล้านบาท เหลือคำขอที่จะต้องพิจาณาอีกประมาณ 600 คำขอ

“กสทช. ยังเปิดให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐส่งคำขอสนับสนุนการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการต่อสู้ไวรัสโคโรน่า 2019 เข้ามาได้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดย กสทช. จะเร่งพิจารณาคำขอและอนุมัติเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อใช้ในการดำเนินการต่อสู้กับภาวะวิกฤตในครั้งนี้” ฐากร กล่าว

12 องค์กรจับมือประสานแนวรบ ขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนสู้

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหัวหน้าศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19 (ศรค.) ให้สัมภาษณ์ผ่านคลื่นความคิด FM 96.5 เกี่ยวกับสถานการณ์ว่า มีทั้งในส่วนที่ดีใจและกังวลใจ โดยเฉพาะเรื่องการผ่อนคลายมาตรการด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้เห็นสัญญาณการ์ดตกของประชาชน ซึ่ง นพ.ปรีดา ห่วงว่าหากเรายังไม่ตระหนักและกลับมาระมัดระวังให้ดีอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ได้ จึงเรียกร้องให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ป้องกัน และรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป

“สถานการณ์การระบาดในภาพรวมดีขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการภาครัฐ การออกกฎระเบียบต่างๆ เช่น การประกาศเคอร์ฟิว กึ่ง Lockdown การร่วมมือที่ยอดเยี่ยมของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็งของบุคลากรทางการแพทย์ การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันของประชาชน สถานการณ์ ณ เวลานี้จึงถือว่าน่าจะไว้ใจได้” นพ.ปรีดากล่าว

 

นพ.ปรีดา ยังกล่าวในฐานะหัวหน้าศูนย์ประสานปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19 (ศรค.) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า แม้ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แต่ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า สช. ควรมีบทบาทประสานงานเพื่อให้กลไกและมาตรการต่างๆ มีความคล่องตัวขึ้น ศรค. จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานงานองค์กรภาคี 12 องค์กร ซึ่งล่าสุดมีพันธมิตรร่วมเป็น 26 องค์กร ทั้งในสายสุขภาพ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายหมออนามัย สายงานชุมชนอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สายสื่อมวลชนอย่างไทยพีบีเอส หน่วยงานจากกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายสงฆ์ และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันสนับสนุนและกำหนดทิศทางลงไปยังหน่วยต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบอย่างสอดประสานกัน

“ผมกับทีมงานและผู้ประสานงานจากทุกองค์กรร่วมมือกัน มอบทิศทาง ทำหน้าที่ประสานกิจกรรมให้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน อำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่ เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนสุขภาพของ สปสช.ที่ทำงานใกล้ชิดกับท้องถิ่น และเครือข่ายประชาชน เพื่อให้เกิดการสานพลังในระดับพื้นที่ ทำให้ระบบการช่วยเหลือ กักตัว การเกื้อกูลกันเกิดผลสำเร็จจนเป็นที่ชื่นชมของนานาชาติ” นพ.ปรีดากล่าว

นอกจากนี้ เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของ ศรค. คือ การสนับสนุนให้แต่ละชุมชนสร้างธรรมนูญสุขภาพขึ้นสำหรับเป็นกติกาการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนจากโควิด19 หัวหน้าศูนย์ ศรค. ยกตัวอย่างกิจกรรม ‘ภารกิจปิ่นโตตุ้มตุ้ย’ ของศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง จังหวัดสงขลาที่เปิดครัวชุมชนตั้งแต่ 6.00-12.00 น. และให้เจ้าของปิ่นโตโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะปางจำนวน 400 กว่าคน นำปิ่นโตมาวาง ณ จุดนัดหมายในช่วงเวลา 6.00-7.00 น. แล้วแม่ครัวบรรจุอาหารที่สะอาดและอร่อยพร้อมให้เจ้าของปิ่นโตมารับตั้งแต่ 10.00-12.00 น. โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด19 อย่างเคร่งครัด

“ชุมชนท้องถิ่น คนในชุมชนจะรู้ดีที่สุด การร่วมมือร่วมใจและสนับสนุนมาตรการของรัฐ แต่ละพื้นที่จึงคิดกันเองจนเกิดข้อตกลงชุมชน ธรรมนูญสุขภาพ เนื่องจากเรามีเครือข่ายของพี่น้องประชาชนเป็นกลุ่มก้อนในทุกชุมชน เราก็เสนอไปให้เกิดวงปรึกษาหารือ เขาก็จะคิดออกว่าจะทำอย่างไร แล้วก็ไปออกแบบกันเอง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการระดมทรัพยากรและออกแบบคิดกันในชุมชน บางที่ก็อาจมีวิธีการใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ หมุนเวียนมาใช้ใหม่ควบคู่กันไป นอกจากลดการระบาดยังคิดถึงความยั่งยืนของชุมชนในการลดขยะด้วย ปิ่นโตตุ้มตุ้ยจึงเป็นการผสมผสานการลดการแพร่ระบาด สิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกัน เกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพที่จะยั่งยืนต่อไป

“ในสถานการณ์ที่เราคิดว่าชีวิตเริ่มปลอดภัยมากขึ้น ขอให้อย่าชะล่าใจ ยิ่งมีความจำเป็นที่ทุกชุมชนต้องมีการพูดคุยกัน เป็นวงเล็กๆ ก็ได้ เพื่อออกแบบแนวทางร่วมกัน ให้เกิดการตระหนักและสำนึกพลเมืองรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันการระบาดระลอกสองได้อย่างยั่งยืน” นพ.ปรีดากล่าวย้ำ

ทีมวิจัยอังกฤษพบเอนไซม์สำคัญตัวช่วยไวรัสเข้าร่างกาย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวิตกรรม (สกสว.) ราายงานว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด - 19 (อาศัยระบบทางเดินหายใจของร่างกายของมนุษย์เป็นแหล่งเพาะเชื้อ เพื่อเพิ่มจำนวนและแพร่เข้าสู่ร่างกาย โดยกลไกการเข้าสู่เซลล์ภายในร่างกายอาศัยโปรตีนที่ชื่อ “เอส โปรตีน” (Spike protein) ที่แสดงออกที่ผิวของไวรัส จับเอนไซม์ที่อยู่บนผิวเซลล์ของอวัยวะต่างๆ เช่น เซลล์ปอด ลำไส้ และหลอดเลือด นอกจากนี้การเข้าสู่เซลล์ เชื้อไวรัสยังจะต้องอาศัยเอนไซม์อื่นๆ ในเซลล์มนุษย์ แม้ว่าระบบทางเดินหายใจถือว่าเป็นด่านหน้าสำคัญ และเป็นประตูบานแรกของเชื้อไวรัสในการเข้าสู่ร่างกาย แต่แท้จริงแล้วเซลล์เยื่อบุผิวที่พบตามบริเวณต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจมีความหลากหลาย ซับซ้อน และประกอบด้วยเซลล์หลายประเภท ภายในถุงลมประกอบไปด้วยเซลล์บุผิวที่มีรูปร่างแบบบาง  ซึ่งเหมาะกับแลกเปลี่ยนแก๊ส ในขณะที่เซลล์ที่พบตามเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนล่าง ประกอบด้วยเซลล์รูปร่างทรงกระบอกสูง เรียงตัวเบียดกันไปมา แต่มีเซลล์หลายประเภท เช่น เซลล์ที่มีส่วนยื่นออกมาในการดักจับสิ่งแปลกปลอม ส่วนในเยื่อบุโพรงจมูกประกอบได้ด้วยเซลล์ที่ทำหน้าที่หลั่งเมือกเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและเซลล์ที่มีขนขนาดเล็กดักจับสิ่งแปลกปลอม 

ดังนั้นหากต้องการที่จะทำลายเชื้อไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเข้าใจก่อนว่าเซลล์ประเภทใดที่ไวรัสใช้เป็นทางผ่านในการเข้าสู่ร่างกาย เพื่อตอบคำถามสำคัญนี้ โครงการ “สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” สกสว. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยและล่าสุดพบว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันเวลล์คัม แซงเกอร์ (Sanger Institute) ประเทศอังกฤษ ได้วิเคราะห์ข้อมูลการแสดงออกของยีนส์ที่สังเคราะห์โปรตีนชื่อ ACE2 และ TMRPSS2 รวมถึงโปรตีนอื่น ๆ ที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่ร่างกายในเซลล์เยื่อบุผิวแบบชนิดต่างๆ ในร่างกายของมนุษย์ โดยงานวิจัยชิ้นนี้มี ดร.วรดล สังข์นาค  นักวิจัยชาวไทยจากสถาบันเวลล์คัม แซงเกอร์ (Sanger Institute) ประเทศอังกฤษ เป็นหนึ่งในทีมวิจัย 

ผลการศึกษาระบุว่า ยีน ACE2 มีการแสดงออกในเซลล์เยื่อบุผิวหลายชนิดตลอดแนวทางเดินหายใจ รวมถึงเซลล์เยื่อบุถุงลม โดยมีการแสดงออกมากที่สุดในเซลล์เยื่อบุโพรงจมูก พบทั้งในเซลล์ที่ทำหน้าที่หลั่งเมือก (goblet cells) และเซลล์เยื่อบุที่มีซีเลีย (ciliated cells) ซึ่งมีการแสดงออกของยีน TMPRSS2 อยู่มาก และพบการแสดงออกร่วมกัน ของ ACE2 และ TMPRSS2 ที่โพรงจมูก ทั้งนี้ พบว่ายีนชื่อ cathepsin B/L มีการแสดงออก    ในเซลล์ที่มีการแสดงออก ACE2 ประมาณร้อยละ 70 - 90 แสดงให้เห็นว่า ไวรัสน่าจะอาศัยเอนไซม์ TMPRSS2 และ cathepsin B/L เป็นตัวช่วยสำคัญในการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส 

นอกจากนี้การศึกษานี้ยังพบว่า ยีน ACE2 มีการเเสดงออกร่วมกับยีนในระบบภูมิคุ้มกันในเซลล์เยื่อบุผิว  ในโพรงจมูก แสดงให้เห็นว่า เซลล์เหล่านี้มีความสำคัญและอาจจะส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกาย

สกสว. ระบุด้วยว่า การที่เรามีข้อมูลการแสดงออกของยีน ACE2 รวมถึงยีนอื่น ๆ ที่ไวรัสจำเป็นต้องใช้ในการเข้าสู่ร่ายกายมนุษย์ทำให้เราทราบว่า เชื้อไวรัสน่าจะสามารถเจริญได้ดีในเซลล์เยื่อบุโพรงจมูก และตามโครงสร้างอื่น ๆ ตลอดแนวระบบทางเดินหายใจ และนี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศได้ง่าย นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ยีน ACE2 และ TMRPSS2 เเสดงออกในเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น กระจกตา และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะส่งผลไม่เฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ แต่อวัยวะ อื่นๆ ในร่างกายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท