Skip to main content
sharethis

เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนให้ระวังเรื่องที่กรณีการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้จะทำให้เกิด "กระแสที่รุนแรงในเรื่องความเกลียดชังและการเกลียดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผล การหาแพะรับบาป และการสร้างความตื่นกลัว" รวมถึงเรียกร้องให้มีความพยายาม "หยุดยั้งวาจากระตุ้นความเกลียดชังทางอัตลักษณ์หรือเฮทสปีชทั่วโลก"

ในวันที่ 8 พ.ค. เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส แถลงเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีการระบาดหนักของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 โดยระบุว่ามีกระแสความเกลียดชังชาวต่างชาติเกิดขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และบนท้องถนน นอกจากนี้ยังย้ำว่ามีปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อความเชิงทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างความเกลียดชังต่อชาวยิว รวมถึงมีการกล่าวโจมตีชาวมุสลิมโดยอ้างเรื่อง COVID-19

ในขณะที่ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 รวมทั่วโลกเกิน 269,500 ราย แล้วในวันที่ 8 พ.ค. จีนก็ประกาศว่าพวกเขา "เปิดให้มีความร่วมมือมาโดยตลอด" ในเรื่องการสืบสวนหาสาเหตุต้นตอของไวรัสนี้โดย WHO ในขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอ้างซ้ำๆ ว่าการระาดในครั้งนี้มาจากห้องทดลองไวรัสในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่ทว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ต่อคำกล่าวอ้างนี้ อย่างไรก็ตามมันได้จุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจ สหรัฐฯ-จีน และทำให้การทำสัญญาการค้าที่สำคัญระหว่างสองประเทศนี้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง

องค์การอนามัยโลกยังเตือนอีกว่าในทวีปแอฟริกาอาจจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากถึง 190,000 รายได้ ในขณะที่เม็กซิโกมีตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งสูงที่สุดในวันเดียวอยู่ที่ 1,982 ราย

ทั้งนี้ยังมีการแสดงความกังวลจากเลขาฯ สหประชาชาติว่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยมักจะถูกใส่ร้ายว่าเป็นต้นตอของไวรัสและถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการรักษาพยาบาล

เฮทสปีชที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตไม่เพียงแค่เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติสีผิวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการเหยียดอายุด้วย เช่นการที่ในอินเทอร์เน็ตมีคนสร้างมีมในเชิงเกลียดชังผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงกับโรคนี้มากที่สุด รวมถึงมีความเกลียดชังต่อนักข่าว, ผู้เปิดโปง, คนทำงานสาธารณสุข, คนทำงานสังคมสงเคราะห์ และผู้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพียงเพราะคนเหล่านี้ทำงานของตัวเอง

กูเตอร์เรสยังเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้คน ขอให้สถาบันการศึกษาต่างๆ สร้างความตระหนักเท่าทันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารดิจิทัลในช่วงที่มีกลุ่มสุดโต่งพยายามฉวยโอกาสจากเหยื่อที่กำลังรู้สึกสิ้นหวัง ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้สื่อโดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียนำเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติสีผิว, เหยียดเพศ และเนื้อหาอันตรายอื่นๆ  ออก ขอให้ภาคประชาสังคมยื่นมือเข้าหาคนชายขอบ ขอให้ตัวแทนทางศาสนาเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพกันและกัน

"และผมก็ขอเรียกร้องให้ทักคน ทุกหนทุกแห่ง ยืนหยัดต่อต้านความเกลียดชัง ปฏิบัติต่อกันและกันด้วยการเคารพศักดิศรีความเป็นมนุษย์และใช้ทุกโอกาสที่เป็นไปได้ในการส่งต่อความเอื้ออารี" กูเตอร์เรสกล่าว

การเคลื่อนไหวอื่นๆ เกี่ยวกับ COVID-19

ในแง่ของการเคลื่อนไหวอื่นๆ นั้น โฆษกด้านการต่างประเทศของจีน หัวชุนหยิง กล่าวว่าจีนสนับสนุนให้ WHO เข้าไปตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับที่มาของไวรัสและพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ WHO ในเรื่องนี้ ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องจากหลายประเทศให้มีการสืบสวนอย่างอิสระในกรณีต้นตอของไวรัส หัวชุนหยิงกล่าวอีกว่าจีนพร้อมจะให้ข้อสรุปเกี่ยวกับต้นตอของไวรัส "ในเวลาที่เหมาะสม"

อย่างไรก็ตามการแถลงข่าวของจีนมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ WHO เปิดเผยว่าพวกเขาไม่ได้รับการตอบรับจากจีนหลายครั้งในเรื่องการขอให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องที่มาของไวรัส

นอกจากกรณีของจีนแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์แสดงท่าทีพร้อมจะอภิปรายขอให้ไต้หวันเข้าร่วมกับ WHO โดยบอกว่าไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการควบคุมโรค COVID-19 ทำให้พวกเขามีอะไรที่จะช่วยโลกได้

ประเทศออสเตรเลียเริ่มปลดล็อกโซเชียลล็อกดาวน์ทีละขั้นแบบอนุญาตให้คนรวมกลุ่มกัน 10 คนได้ กลับมาอนุญาตการเดินทางข้ามมลรัฐให้สนามเด็กเล่นกับร้านกาแฟเล็กๆ กลับมาเปิดได้ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ประกาศให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้เช่นกันแต่ทางทำเนียบขาวก็ไม่ยอมให้มีการเปิดเผยแนวทางการปลดล็อกจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ


เรียบเรียงจาก
Global report: virus has unleashed a 'tsunami of hate' across world, says UN chief, The Guardian, 08-05-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net