สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3-9 พ.ค. 2563

ประกาศกระทรวงแรงงานห้าม 'นายจ้างปิดงาน-ลูกจ้างนัดหยุดงาน' ช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

9 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 และเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้นายจ้างกับลูกจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเคร่งครัด ถ้าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเกิดขึ้นในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรหรือกิจการประเภทใดประเภทหนึ่งให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้น ได้รับการชี้ขาดจากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

ข้อ 3 ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 4 ในกรณีที่มีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน อยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทางานตามปกติ

ประกาศ ณ วันที่ 6 พ.ค. 2563

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 9/5/2563

ก.แรงงานออก 11 มาตรการสกัดโควิดกลุ่มแรงงานต่างชาติ เร่งสร้างความเข้าใจนายจ้าง-ลูกจ้างคัดกรองเข้ม

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวดังนี้ 1.การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2.การผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พ.ย. 2563

3.ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันนำร่องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 การดำเนินการ ประกอบด้วย จัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาลดผลกระทบ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ถุงยังชีพ เป็นต้น รวมทั้งกระบวนการการเข้ารับการตรวจรักษาพยาบาลกรณีมีประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนขั้นตอนการคัดกรอง การกักตัวเอง 14 วัน ตามกระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เสริมสร้างสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

4.สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด5.แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการมีการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 6.ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) 7.การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ โดยดำเนินการขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด - 19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 8.การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19

9.การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 10.ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน 11.รวบรวมรายชื่อสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและจำนวนแรงงานต่างด้าว ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และแจ้งข้อมูลให้ ศบค.ทราบ เพื่อใช้ในการวางแผนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันเชิงรุก

ที่มา: สยามรัฐ, 8/5/2563 

บอร์ดประกันสังคม ปัดตกแนวคิดจ่าย 75% ให้ผู้ว่างงาน 9.9 แสนคน

จากกรณีที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็นร้อยละ 75 แต่ไม่เกินเพดาน 15,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 9.9 แสนคนเศษ

พร้อมปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง/สถานประกอบการจากเดิมที่ลดเหลือร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการและลูกจ้างผู้ประกันตน แต่เรื่องนี้ก่อนจะเสนอ ครม.จะต้องให้ผ่านมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 มติของการประชุมบอร์ดประกันสังคม ที่มี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ซึ่งประชุมในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ให้สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 60 วัน

“ด้วยเหตุผลว่าหากจ่ายให้ร้อยละ 75 อาจจะกระทบต่อกองทุนประกันว่างงานและไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่มีทั้งสิ้น 16 ล้านคนเศษ โดยขณะนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดของทุกฝ่ายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน”

นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ในฐานะกรรมการบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมได้หารือถึงการเพิ่มเงินว่างงานร้อยละ 75 มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง “ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นห่วงสถานภาพของกองทุน เกรงว่าในอนาคตอาจจะเกิดวิกฤตอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินอีก หากนำเงินส่วนนี้มาดูแลผู้ประกันตนจำนวนหนึ่ง อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่ไม่ได้ใช้สิทธิในคราวนี้ ที่สำคัญการจ่ายในลักษณะดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขและเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม”

“ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มการจ่ายเงินว่างงาน 75% เพราะเป็นห่วงอนาคต หากเกิดวิกฤตว่างงานอีกในปี 2564-2565 จะหาเงินจากไหน ส่วนเรื่องการยืดจ่ายเงินออกไปถึงสิ้นปี ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน ยังยืนยันว่าเบื้องต้นควรจ่ายร้อยละ 50 เป็นเวลา 60 วัน ตามมติที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563” นางอรุณี กล่าว

ส่วนกรณีการลดเงินสมทบของนายจ้าง/สถานประกอบการเหลือร้อยละ 1 นั้น นางอรุณี กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้มีการหารือเรื่องนี้ แต่จากการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา บอร์ดประกันสังคมได้เสนอให้ลดการจ่ายเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่ากัน เหลือร้อยละ 4 แต่ที่ผ่านมา ครม.ก็อนุมัติให้ลูกจ้างจ่ายร้อยละ 1 ส่วนนายจ้างให้จ่ายร้อยละ 4

“เข้าใจเจตนาดีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจะช่วยเหลือลูกจ้างและสถานประกอบการ แต่ประเด็นสำคัญโดยหลักการจะต้องมีการพูดคุยกันที่บอร์ดประกันสังคมด้วยระบบไตรภาคี นอกจากนี้ เรามีความไม่สบายใจตั้งแต่บอร์ดประกันสังคมมีมติให้การจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้อำนาจเพิ่มให้เป็นร้อยละ 62 ถ้ารัฐบาลสั่งให้หยุดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เราไม่ขัดข้องที่จะจ่ายเงินชดเชย แต่ที่กังวลคือ ผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสเนื่องจากขายของไม่ดีจึงหยุดด้วย เรื่องดังกล่าวนี้มีการมาผสมโรงกันเพื่อได้รับเงินชดเชยร้อยละ 62 แทนที่ลูกจ้างจะได้รับร้อยละ 75 ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” นางอรุณี กล่าวและว่า เรื่องนี้ต้องฟังเสียงของผู้ประกันตน

นางอรุณี กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนว่างงานมี 160,000 ล้านบาท เงินในส่วนนี้ควรจะนำไปช่วยให้คนที่ทำงานมาชั่วชีวิตได้รับเงินบำนาญเพิ่มมากขึ้นจะดีกว่า และในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตนและเป็นลูกจ้างเหมือนกันเชื่อว่าผู้ประกันตนส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกัน ซึ่งหากมีการนำเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง มั่นใจว่าจะมีคนออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองเช่นกัน ทั้งนี้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต้องการให้มีการเพิ่มเงินชดเชยเป็นร้อยละ 75 ควรจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยในส่วนนี้แทน อย่าผลักภาระให้ประกันสังคม

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าบอร์ดประกันสังคมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตน ขณะนี้รอเพียงให้ปลัดกระทรวงแรงงานทำเอกสารสรุปผลจากการประชุมบอร์ดเสนอเข้าให้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากหนังสือดังกล่าวสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จะยังมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น และอย่าเพิ่งจินตนาการ ขอให้ดูรายละเอียดในเอกสารก่อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/5/2563

สหภาพแรงงานการบินไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอมีส่วนร่วมแผนฟื้นฟู

8 พ.ค. 2563 นายนเรศ ผึ้งยิ้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ค. 2563เวลา 13.00 น. สหภาพฯ การบินไทย จะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงข้อคิดเห็น และแสดงจุดยืนของสหภาพฯต่อแผนฟื้นฟูปฏิรูปการบินไทยของรัฐบาล สืบเนื่องจากกระแสข่าวต่างๆ ในระยะวลา 1 อาทิตย์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับบริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน)
ที่ปรากฎตามสื่อต่างๆในเรื่องของ กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสหกิจ (คนร.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563

อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ขอแสดงจุดยืนในการดูแลปกป้อง บริษัทการบินไทยโดยเน้นในเรื่องของสถานะคงสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์รวมถึงสวัสดิการของพนักงานบริษัทฯ ทุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานฯการบินไทย มีความเห็นด้วยกับการปรัปรุงแก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท การลดค่าใช้จ่าย การกำจัดอิทธิพลทางการเมืองต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบและจะส่งข้อมูลการทุจริตผ่านช่องทางที่รัฐบาลนำเสนอ รวมถึงการลดขนาดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และด้วยความสมัครใจของพนักงานตามแผนพื้นฟู บริษัท การบินไทยจำกัด (หาชน) ที่จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัทการบินไทยฯ

“สหภาพแรงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และพนักฯยินดีให้ความร่ามมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูบริษัทฯโดยขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจของบริษัทออกจากกันและหรือ มีผลให้บริษัท การบินไทย พ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวท่านั้น”

ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์ของแผนฟื้นฟูในการทำให้บริษัทฯ ดำเนินไปตามแผนฯ สหภาพฯ ขอทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และหรือมีส่วนร่วมรับรู้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการปฏิบัติ เพื่อให้แผนฟื้นฟูนี้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์จึงเรียนมาเพื่อแสดงจุดยืนของสหภาพฯ

ที่มา: ไทยโพสต์, 8/5/2563

กลุ่มแรงงานก่อสร้าง 7 คน รวบรวมหลักฐานสู้คดีถูกนายจ้างแจ้งความลักทรัพย์ ซ้ำยังถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับค่าแรงกว่า 60,000 บาท

8 พ.ค. 2563 ที่ สภ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มแรงงานก่อสร้าง 7 คน รวบรวมหลักฐานเอกสารและภาพถ่าย เดินทางเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก หลังถูกนายชนทัช สโมสร เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นนายจ้าง แจ้งความดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา

นายบุญลังค์ พูนแสง อายุ 42 ปี ชาว จ.สุรินทร์ ที่ถูกนายจ้างแจ้งความดำเนินคดี บอกว่า ตนพร้อมพวกรวม 7 คน ทำงานก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงพยาบาลในตัวเมืองโคราช ต่อมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นายจ้างบอกเลิกจ้างกะทันหัน แถมไม่จ่ายค่าแรงรวมกันกว่า 60,000 บาท ก่อนพากันเก็บข้าวของสัมภาระแยกย้ายกันกลับบ้าน จ.กาฬสินธุ์ และ จ.สุรินทร์ ต่อมามีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานลักทรัพย์ โดยนายจ้างเป็นคนแจ้งความดำเนินคดี กล่าวหาว่าพวกตนขโมยเครื่องมือมูลค่า 55,000 บาท หลบหนี

ทั้งนี้ พวกตนนำหลักฐานมายืนยันความบริสุทธ์ พร้อมให้การปฏิเสธขโมย และนำหลักฐานการว่าจ้างงาน ค่าแรงวันละ 400 บาท มาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าแรงจากนายจ้างอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตำรวจได้สอบปากคำ พร้อมปล่อยตัวทั้ง 7 คน เนื่องจากเดินทางมามอบตัวตามหมายเรียก จากนั้นจะรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อทำสำนวนส่งฟ้องศาลตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/5/2563 

สหภาพแรงงานการบินไทยแถลงการณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัท แยกหน่วยธุรกิจออกจากกัน จี้จัดการกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่ครอบงำ และต้องไม่กระทบการจ้างพนักงาน

7 เม.ย. 2563 เพจเฟสบุ๊ค TG UNION เพจของสหภาพแรงงานรัฐวิสหกิจการบินไทย โพสต์ข้อความระบุว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสหกิจการบินไทย ขอแสดงจุดยืนในการดูแล บริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) โดยเน้นในเรื่องของสถานะสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์รวมถึงสวัสดิการของสมาชิก และพนักงานบริษัทฯ ทุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ขอแสดงความเห็นด้วยกับการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้ การลดค่าใช้จ่าย การกำจัดอิทธิพลทางการเมือง ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงการลดขนาดขององค์กรอย่างถูกต้องตามกฎหมายและด้วยความสมัครใจของพนักงาน ตามแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัทฯ

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจ ของบริษัทฯออกจากกัน และ/หรือ มีผลให้บริษัท การบินไทย ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น

สหภาพฯ การบินไทย
7 พ.ค. 2563

ที่มา: ข่าวสด, 7/5/2563

ได้หยุดงาน 15 วัน กลับมาบริษัทปิดตัว แรงงาน 80 คนโดนลอยแพ

6 พ.ค. 2563 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร พร้อมด้วย นายบรรพต จันทรวงษ์ นายอำเภอกระทุ่มแบน, นายเย ยัน อ่าว ทูตแรงงานเมียนมา, ผู้แทนของกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบด้วย แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด, ประกันสังคมจังหวัด, จัดหางานจังหวัด และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจแรงงาน,ปกครองอำเภอกระทุ่มแบน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่พบกับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวรวม 75 ครัวเรือน หรือประมาณ 80 ชีวิต

เป็นแรงงานเมียนมาราวๆ 67 คน และแรงงานไทย 13 คน ซึ่งเป็นพนักงานและพักอาศัยอยู่ในหอพักของบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 5 ถนนเศรษฐกิจ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยทั้งหมดถูกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม (ลอยแพ) เนื่องจากบริษัทปิดตัวลงอย่างกะทันหันโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เหตุผลเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริหารงานของทางบริษัท ก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะโควิด-19 แต่ได้พยายามที่จะพยุงมาจนสิ้นสุดการจ้างงาน ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยทั้งบริษัทและหอพักที่พนักงานพักอยู่ก็โดนตัดน้ำ ตัดไฟ ทำให้ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้และจุดเทียนไขแทนไฟฟ้า ส่วนเรื่องของอาหารก็ยังเป็นโชคดีที่พอจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ในท้องที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผลัดเปลี่ยนกันนำอาหารมาแจกให้บ้าง ซึ่งก็พอจะใช้ประทังชีวิตไปได้ในช่วงที่ยังพอมีความหวังว่าจะได้เงินชดเชยจากทางบริษัท

น.ส.กุสุมา ตั้งศรีทรัพย์ อายุ 34 ปี อดีตพนักงานบริษัทฯ เล่าว่า ตนและสามีเป็นพนักงานของโรงงานแห่งนี้ทำงานกันมานานเกือบ 10 ปี แต่ตนลาออกมาก่อนที่จะเกิดเรื่องขึ้น เพราะต้องมาเลี้ยงลูกแต่ก็ยังคงขอเช่าพักอาศัยอยู่ที่หอพักของโรงงาน ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะทำเกี่ยวกับการประกอบรถประเภทต่างๆ ที่ใช้ในราชการ

โดยสัญญาณเตือนนั้นมีมาตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. เริ่มจากที่ทางบริษัทเอาเครื่องสแกนนิ้วออก ให้ใช้การเซ็นชื่อ แต่บางครั้งก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มารับเซ็นชื่อ และก็มีการสั่งยุบแผนกทำสี พอหลังจากนั้นก็มีการสั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-15 เม.ย. เพราะไม่มีงานสั่งเข้ามา เมื่อเปิดงานวันที่ 16 เม.ย. พนักงานที่เข้ามาทำงานก็พบว่าที่บริษัทตัดน้ำ ตัดไฟหมดแล้ว และไม่มีการทำงานใดๆ หลายคนจึงทราบว่า พวกตนน่าจะโดนลอยแพแล้ว จึงได้มีการแจ้งไปยังหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเพื่อร้องเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้น

น.ส.กุสุมา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีการแจ้งว่าจะชดเชยเงินให้ โดยจะจ่ายให้กับพนักงานในช่วงเดือน มิ.ย. แต่ทุกคนก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินก้อนนี้จริง เพราะก่อนหน้านั้นบริษัทไม่ได้มีการส่งเงินประกันสังคมให้กับพนักงานมาตั้งแต่เดือน ม.ค. การจ่ายเงินเดือนก็ไม่ตรงเวลา จ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง และครึ่งเดือนหลังในเดือน มี.ค. ก็จ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าด้วย

จึงทำให้ทุกคนยังไม่ยอมไปไหน เฝ้ารอความคืบหน้าและอาศัยอยู่ที่หอพักแม้ว่าจะไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยหลายคนกลัวว่า หากเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดก็จะโดนกักตัวถึง 14 วัน แล้วถ้าหากที่นี่มีอะไรเกิดขึ้น หรือนายจ้างยอมจ่ายเงินให้ ก็จะไม่สามารถเดินทางมาได้ ทุกคนจึงขออยู่ตรงนี้เพื่อทราบความชัดเจนและรอเงินชดเชยเพื่อนำกลับไปเป็นทุนในการประกอบอาชีพใหม่ที่บ้านเกิด

ส่วนการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ ก็ต้องซื้อน้ำมาดื่ม รวมถึงน้ำที่ใช้อาบกับชำระล้างสิ่งสกปรกก็ได้รับความช่วยเหลือจากทางเทศบาลคลองมะเดื่อ โดยจะเอามาใส่บ่อพักแล้วคนงานในหอก็มาตักไปใช้กัน ขณะที่ไฟฟ้านั้นก็ต้องใช้เทียนไขแทน การหุงหาอาหารก็กินกันแบบพอมีพอกินเท่าที่มีอยู่ ใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สหุงข้าว–ทำกับข้าวแทน

ส่วนที่นอนก็ยกลงมาข้างล่างเพราะไม่สามารถนอนในห้องได้เนื่องจากอากาศร้อนจัด แต่ก็ต้องทนกับยุงกัดกันบ้างด้วยด้านหลังอาคารมีคลองที่น้ำเน่าเสีย จึงทำให้มียุงชุกชุม ซึ่งความยากลำบากนี้ทำให้บางครอบครัวต้องส่งลูกหลานกลับไปอยู่กับญาติที่บ้านเกิดก่อน ส่วนพ่อแม่ก็ปักหลักรอเงินชดเชยจากทางบริษัทฯต่อไป

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือจากทางจังหวัดสมุทรสาครและทูตแรงงานเมียนมาในเบื้องต้นนี้ นอกจากจะเข้ามารับทราบปัญหาเพื่อเร่งรัดให้การช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการหาสถานที่ทำงานใหม่ การแจ้งเปลี่ยนนายจ้างในแรงงานต่างด้าวและการให้ลูกจ้างได้เข้าถึงสิทธิการช่วยเหลือต่างๆ อย่างเป็นธรรมแล้วนั้น ทางกาชาดจังหวัดสมุทรสาครก็ยังได้จัดชุดถุงยังชีพเข้ามามอบให้อีกด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 6/5/2563

กรมบัญชีกลางอนุมัติ ก.แรงงาน ขยายเวลาจ้างงาน 90 วัน จากเดิมให้จ้างคนละไม่เกิน 10 วัน

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะแรกโดยเฉลี่ยระยะเวลา 90 วัน และกระทรวงแรงงานได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาการจ้างงานในโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมจ้างงาน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีรายได้ ให้สามารถยังชีพได้ต่อไป

กรมบัญชีกลาง จึงได้อนุมัติให้กระทรวงแรงงาน เบิกจ่ายค่าตอบแทนการทำงานของโครงการดังกล่าว ในอัตราคนละไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง โดยขยายระยะเวลาการจ้างงานให้เป็นคนละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจากเดิมระยะเวลาการจ้างงานคนละไม่เกิน 10 วัน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 ไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

รายละเอียดตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0408.5/19705 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/5/2563 

คาดแรงงานพม่ากว่า 65,613 คน เตรียมกลับเข้าไทย คาดเปิดด่าน มิ.ย. 2563

หลังประเทศไทยได้มีมาตรการผ่อนปรนให้สถานประกอบการบางชนิดสามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ทำให้แรงงานสัญชาติพม่าจำนวนหลายหมื่นคน ต้องการที่จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทำให้ทางจังหวัดต้องวางมาตรการในการเตรียมความพร้อมในการรองรับแรงงานสัญชาติพม่า หากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะมีแรงงานเดินทางเข้ามาประเทศไทย จำนวน 65,613 คน เฉลี่ย 2,500 คน/วัน

พล.ต.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ประธานการประชุมหารือแนวทางรองรับแรงงานสัญชาติพม่า เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติ ให้แรงงานพม่าเดินทางข้ามแดนผ่านด่านพรมแดน-แม่สอด เมียวดี 2 สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวดเพียงจุดเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม และคัดกรองโรค และต้องมีหนังสือรับรอง และใบรับรองแพทย์ ผ่านมาตรการคัดกรองด่านพรมแดนอย่างเคร่งครัด

สำหรับมาตรการกักตัวแรงงานสัญชาติพม่า (Home Quarantine) ทางจังหวัดตากจะประสานให้ผู้ประกอบการทุกแห่ง ดูแลเรื่องสถานที่ เพื่อรองรับแรงงานฯ ที่จะกลับเข้ามาทำงาน ส่วนแรงงานสัญชาติพม่าที่ทำงานนอกพื้นที่จังหวัดตาก นั้นทางจังหวัดจะประสานจังหวัดปลายทาง และผู้ประกอบการ ในเรื่องของการเดินทาง และมาตรการกักตัวแรงงานฯ ต่อไป ทั้งนี้การเปิดด่านชายแดนระหว่างประเทศคาดว่าจะเปิดได้ในเดือน มิ.ย. 2563 นี้

ที่มา: PPTV, 6/5/2563 

ก.แรงงาน ยอมรับจ่ายเงินชดเชยล่าช้าเพราะระบบคอมพิวเตอร์ เตรียมขยายระยะเวลาจ่ายเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจนถึงสิ้นปี

จากกรณี สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานของลูกจ้าง จากเหตุสุดวิสัยจากสถานการณ์โควิดล่าช้า ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจง โดยยอมรับว่าขั้นตอนที่ล่าช้า ส่วนหนึ่งมาจากระบบคอมพิวเตอร์ แต่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งอนุมัติงวดแรกให้โอนครบภายใน 15 พ.ค. นี้ นอกจากนี้ยังเตรียมขยายระยะเวลา การจ่ายเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จนถึงสิ้นปี

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ชี้แจงสาเหตุทำให้ สำนักงานประกันสังคมไม่สามารถสั่งจ่าย ลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุโควิด-19 ได้เร็วเท่ากัน สาเหตุหลักมาจาก มีนายจ้างจำนวนหนึ่งจาก 50,000 ราย ที่ยังไม่เข้ามารับรองสิทธิว่าได้รับผลกระทบจริง จึงส่งผลให้ลูกจ้างราว 280,000 คน ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ส่งหนังสือแจ้งเตือนให้นายจ้างเข้ามารับรองสิทธิการหยุดงาน ภายในวันที่ 8 พ.ค. นี้ หรือ ภายใน2 วันจากนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถโอนเงินงวดแรกให้โอนครบภายใน 15 พ.ค. นี้

ทั้งยังยอมรับว่ากระบวนการที่ล่าช้ายังมาจากระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงที่มีข้อจำกัด และยังสั่งให้เจ้าหน้าที่จัดลำดับความสำคัญทำงานเรื่องนี้ก่อน พร้อมส่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน มาช่วยประกันสังคมในการเร่งรัดเรื่องนี้ นอกจากนี้ในวันอังคารหน้านี้ กระทรวงแรงงาน ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ขยายเพดานจ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยเพราะโควิด จาก 62% เพิ่มเป็น 75% จาก 3 เดือน หรือ ช่วง มี.ค.-พ.ค. เพิ่มเป็น 10 เดือน หรือ ขยายจนถึงสิ้นปีนี้ พร้อมเสนอมาตรการดูแลนายจ้าง ลดเปอร์เซ็นต์เงินสมทบประกันสังคมจาก 4 % ให้เหลือ 1% โดยทุกมาตรการจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่ มีนาคม 2563 หาก ครม.อนุมัติ

นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม และโฆษกสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่าขณะนี้ มีผู้มาขอใช้สิทธิขอรับเงินว่างงานจากเหตุสุดวิสัยราว 1 ล้านคน อนุมัติไปแล้ว 490,000 คน จ่ายไปแล้วราว 2,500 ล้านบาท ส่วนวันที่ 7 พ.ค. จะมีลูกจ้างราว 200,000 คน ที่ได้เงินงวดแรกเพิ่ม นอกจากนี้ในเบื้องต้น จากการตรวจสอบลูกจ้าง 280,000 คน ที่นายจ้างยังไม่มารับรองสิทธิ์ จะมีลูกจ้างราว 100,000 คน ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการวินิจฉัย โดยสามารถขออุทธรณ์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของประกันสังคมภายใน 30 วัน

ที่มา: PPTV, 6/5/2563 

เม.ย. 2563 ตัวเลขประชาชนขึ้นทะเบียน ขอใช้สิทธิกรณีว่างงาน เกือบ 300,000 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย ผลการขึ้นทะเบียนใช้สิทธิกรณีว่างงานออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th กับกรมการจัดหางาน เดือน เม.ย. 2563 จำนวน 267,351 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.82 จากเดือนมีนาคม ที่มีผู้มาขึ้นทะเบียน จำนวน 144,861 คน โดยผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานโดยมีสาเหตุมาจากนายจ้าง/สถานประกอบการต้องปิดกิจการ เพราะผลกระทบจากการแพร่กระจายของโรค COVID-19 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างที่เคยได้รับ ระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 200 วัน หากเป็นการว่างงานจากการลาออกเอง จะได้รับเงิน ในอัตรา 45% ของค่าจ้างที่เคยได้รับและระยะเวลาที่จ่ายจะไม่เกิน 90 วัน

อย่างไรก็ดี สำหรับผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 พบว่า มีจำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.77 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือพร้อมที่จะทำงาน 38.21 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีงานทำ 37.33 ล้านคน และผู้ว่างงาน 3.92 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 18.56 ล้านคน เช่น แม่บ้าน นักเรียน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์แรงงานช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวนผู้มีงานทำลดลง 4.4 แสนคน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.6 หมื่นคนขณะที่ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 1.15 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งจากรายงานจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิกรณีว่างงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และความร่วมมือของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนที่ร่วมมือกับรัฐ ในการพยายามยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานมิได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญในการหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยจะเร่งหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน และวิเคราะห์ทิศทางของตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อส่งเสริมทักษะของแรงงานให้ตรงกับ ความต้องการของตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปหลังภาวะวิกฤตโควิด–19 เบาบางลง ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: RYT9, 5/5/2563

ครม. เห็นชอบแรงงานต่างชาติอยู่ไทยต่อได้ถึง 31 พ.ค. ช่วงสถานการณ์ COVID-19

5 พ.ค. 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนด ดังนี้

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MOU ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ

1. คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่วาระการจ้างงานครบสี่ปีและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19

2. คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดนตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19

ที่มา: ไทยรัฐ, 5/5/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท