Skip to main content
sharethis

9 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 4 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,004 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 56 คน รักษาหาย 3 คน รวมรักษาหายสะสม 2,787 คน | จับกุมคนไทย 29 คน ลักลอบข้ามพรมแดนจากมาเลเซีย | สถานทูตฯ อำนวยความสะดวก 35 คนไทยจากเวียดนามกลับประเทศ | ศธ.ยืนยันเปิดภาคเรียน 1 ก.ค.นี้

8 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 4 คน สะสม 3,004 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมสะสม 56 คน หายดีแล้ว 2,787 คน

สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยอายุ 68 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ยืนยันผลติดเชื้อ 22 มี.ค. ต่อมาอาการแย่ลงพบติดเชื้อในกระแสเลือดและไตวาย เสียชีวิต 9 พ.ค.

ขณะนี้มี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ จ.ชัยนาท ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร น่าน พิจิตร บึงกาฬ ระนอง ส่วน 44 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วัน เช่น เพชรบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ตรัง สุราษฎร์ธานี 

ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสมแตะ 4 ล้านคน

สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสม 4,012,848 คน เสียชีวิต 276,216 คน สหรัฐฯ มากที่สุด ติดเชื้อเพิ่ม 29,162 คน สะสม 1,321,785 คน บราซิลติดเชื้อเพิ่ม 11,121 คน และรัสเซียติดเชื้อเพิ่ม 10,699 คน

ขณะที่สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากที่สุด 1,687 คน บราซิล 827 คน อังกฤษ 626 คน อิตาลี 243 คน ฝรั่งเศส 243 คน สเปน 229 คน เม็กซิโก 199 คน แคนาดา 161 คน เยอรมนี 118 คน เบลเยียม 106 คน

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในวันที่ 10 พ.ค. จะมีคนไทยเดินทางกลับประเทศ 3 เที่ยวบิน โดยมีคนไทยจากไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ส่วนวันที่ 11 พ.ค. มี 2 เที่ยวบิน เป็นคนไทยจากอินเดีย ญี่ปุ่น วันที่ 12 พ.ค. เป็นคนไทยจาก สหรัฐฯ รัสเซีย ภูฏาน วันที่ 13 พ.ค. เป็นคนไทยจาก ฟิลิปปินส์ อินเดีย วันที่ 14 พ.ค. มี 2 เทียวบิน เป็นคนไหทยจาก เยอรมนี บังกลาเทศ และวันที่ 15 พ.ค. มี 2 เที่ยวบิน เป็นคนไทยจาก สิงคโปร์ บาห์เรน 

ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.-8 พ.ค.2563 มีผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดแล้ว 15,069 คน กลับบ้านแล้ว 5,661 คน ในจำนวนนี้พบติดเชื้อสะสม 87 คน 

และเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 พบการมั่วสุมชุมนุมลดลงเหลือ 58 คน ส่วนใหญ่เล่นการพนัน และยาเสพติด ส่วนการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 603 คน ตักเตือน 27 คน ดำเนินคดี 576 คน

ขณะที่การตรวจสอบกิจการที่ได้รับการผ่อนคลาย เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.) 16,024 แห่ง พบไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 392 คน หรือ 2.45% ลดลงจากเมื่อวันที่ 7 พ.ค.

จ่อทดลองเปิดห้างสรรพสินค้า

โฆษก ศบค. กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมปลดล็อกระยะที่ 2 ว่าได้กำหนดวันที่ 8-12 พ.ค. จะเป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น และประเมินผลระยะที่ 1 ในวันที่ 13 พ.ค. ส่วนในวันที่ 14-15 พ.ค. จะยกร่างข้อกำหนดใหม่สู่ระยะที่ 2 โดยการประชุมเบื้องต้นจะหากลุ่มตัวอย่างพื้นที่ทดลองเปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า และประเมินผลวันที่ 16 พ.ค. ก่อนประกาศใช้ 17 พ.ค. โดยต้องประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

สำหรับการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกทำแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ กทม.ตรวจแล้ว 3,581 คน พบติดเชื้อ 1 คน ยะลา ตรวจแล้ว 3,277 คน พบติดเชื้อ 20 คน ภูเก็ต ตรวจแล้ว 2,552 คน ติดเชื้อ 26 คน กระบี่ตรวจแล้ว 477 คน ติดเชื้อ 3 คน

โฆษก ศบค. กล่าวถึงการเปิดให้บริการของตลาดจัตุจักร ว่า ยังขอให้ผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งรัฐจะเข้าไปกำกับดูแล ตรวจสอบมาตรการหลัก เช่น ทำความสะอาด ล้างมือ เว้นระยะห่าง และยังมีมาตรการเสริมใช้กับบางกิจกรรม เช่น ร้านตัดผม มีการตรวจคัดกรองด้วยการวัดไข้, ให้ช่างตัดผมและผู้ช่วย สวม Face Shield และเสื้อคลุมแขนยาวทุกครั้งที่ให้บริการ, จัดให้มีการระบายอากาศภายในร้านให้ดี และอาจเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ หรือใช้มาตรการในการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ด้วย

จับกุมคนไทย 29 คน ลักลอบข้ามพรมแดนจากมาเลเซีย

เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนชายแดนกองร้อย ตชด. 437 ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา จับกุมคนไทย 29 คน เป็นชาย 18 คน และหญิง 11 คน พร้อมรถจักรยานยนต์ 15 คัน ขณะลักลอบข้ามพรมแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณจุดผ่านแดนไทย-มาเลเซีย พื้นที่หมู่ 2 ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย เพื่อหลบเลี่ยงการคัดกรอง COVID-19 ของเจ้าหน้าที่

จากการตรวจสอบพบว่าเป็นชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน ต.บ้านนา และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ในจำนวนนี้ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน 6 คน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบประวัติทุกคนอย่างละเอียดอีกครั้ง และจะควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและกักตัว 14 วันตามมาตรการป้องกัน COVID-19

สถานทูตฯ อำนวยความสะดวก 35 คนไทยจากเวียดนามกลับประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า วันนี้ (9 พ.ค.) เวลา 09.05 น. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและทีมประเทศไทย อำนวยความสะดวกให้คนไทย ซึ่งเป็นนักศึกษา พนักงานบริษัท นักท่องเที่ยวที่ตกค้างในเวียดนาม และคนไทยตกทุกข์ได้ยากที่ตกค้างที่เวียดนาม ขึ้นเที่ยวบินขนส่งสินค้าของสายการบิน Vietnam Airlines จากสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย กลับประเทศไทย ผู้โดยสารรวม 35 คน พร้อมมอบถุงยังชีพ และสถานเอกอัครราชทูตฯ เน้นย้ำให้คนไทยลงนามยอมรับการกักตัว 14 วันและพักห้องคู่เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานานชาติสุวรรณภูมิ ในบ่ายวันนี้ (9 พ.ค.)

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอขอบคุณทีมประเทศไทย ภาคเอกชนไทยในเวียดนาม กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทย รวมถึงฝ่ายเวียดนาม อาทิ กรมตรวจคนเข้าเมืองและสายการบิน Vietnam Airlines ที่สนับสนุนการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นอย่างดีและใกล้ชิด

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ได้จัดถุงยังชีพมอบให้แก่คนไทยที่พำนักอาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์ พร้อมอำนวยความสะดวกเตรียมจัดเที่ยวบินพิเศษรับคนไทยเดินทางกลับประเทศ

ศธ.ยืนยันเปิดภาคเรียน 1 ก.ค.นี้

นางรักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกรณีกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้มีการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่ยังคงมีความกังวลจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครองนักเรียน ทั้งเรื่องการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาและความปลอดภัย หากมีการกลับมาเรียนตามปกตินั้น ขอยืนยันว่า กระทรวงฯ คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนสูงสุดเป็นอันดับแรก และยืนยันว่าจะเปิดภาคเรียนอย่างแน่นอนในวันที่ 1 ก.ค. นี้

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โดยกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 3 ช่องทาง คือ ออนไซต์, ออนแอร์ และออนไลน์ สำหรับออนไซต์ คือ ในสถานการณ์ที่ปกติ สามารถเปิดภาคเรียนให้นักเรียนเรียนได้ที่โรงเรียนตามปกติ ซึ่งยังคงต้องยึดมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งการคัดกรอง สวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การเว้นระยะห่าง รวมถึงการเพิ่มเวลาพักและลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น แต่หากในวันที่ 1 ก.ค. 2563 สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย และพื้นที่ยังไม่พร้อม จะต้องเรียนผ่านช่องทางออนแอร์  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดสรรช่องออกอากาศให้นักเรียน ระดับชั้น ป.1-ม.3 เรียนผ่านโทรทัศน์ และให้นักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 เรียนผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเรียนนั้น กระทรวงศึกษาฯ ได้ให้อำนาจกับเขตพื้นที่และสถานศึกษา ในการตัดรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยต้องหารือกันระหว่างสถานศึกษา บุคลากร และผู้ปกครอง เพื่อให้การเรียนการสอนสอดคล้องกันมากที่สุด

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ก่อนการเปิดภาคเรียน กระทรวงศึกษาฯ ได้เตรียมประเมินผล โดยจะหารือกับ กสทช.ในการจัดสรรความถี่และช่องในการออกอากาศสำหรับการเรียนการสอน รวมถึงระบบที่ใช้สำหรับการเรียนระบบออนไลน์ พร้อมทั้งทำการทดสอบระบบ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง และตรวจสอบความพร้อมอย่างรอบด้าน เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับการเรียนระบบทางไกล หากครอบครัวใดมีกำลังไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาฯ ยินดีที่สนับสนุนและพร้อมปรับรูปแบบการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

“กระทรวงศึกษาธิการจะเริ่มทดสอบระบบต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. นี้ ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งจะเป็นช่วงของการทดลอง ทั้งนี้หากผู้ปกครองมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ให้แจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ฝากความห่วงใยมายังผู้ปกครองทุกคน ว่าเด็กนักเรียนคือบุตรหลานและอนาคตของชาติ ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายหรือรุนแรงแค่ไหน จะดูแลทุกคนให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการศึกษาที่ดี ไม่ใช่เรื่องของความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ที่จะเกิดขึ้นได้ โดยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] สำนักข่าวไทย [1] [2]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net