Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ 8 พฤษภาคม 2518 เป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) อย่างเป็นทางการ วันนี้นับเป็นเวลา 45 ปีแล้วที่ไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก่อนหน้าจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเสียอีก ท่ามกลางระบบระหว่างประเทศในห้วงเวลานั้นที่ประเทศไทยอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและปัญหาความมั่นคงภายในที่รัฐบาลยังสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อยู่ แล้วทำไมเราจึงเปิดความสัมพันธ์?

ประเทศไทยในประวัติศาสตร์คือคู่สงครามของเกาหลีเหนือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดไม่นานรัฐบาลไทยได้ส่งทหารในนามของกองกำลังสหประชาชาติไปช่วยเหลือเกาหลีใต้รบกับฝ่ายเหนือใน “สงครามเกาหลี” ถึง 3 ปี (2493-2496) ร่วมกับประเทศค่ายเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ทำให้สถานะของไทยยืนอยู่ตรงข้ามกับโลกค่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สนับสนุนเกาหลีเหนือโดยตรง ต่อมาไทยเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) นับเป็นนโยบายต่างประเทศที่เลือกสังกัดฝ่ายที่ชัดเจน ปัจจุบันธงชาติไทยและ 15 ประเทศพันธมิตรยังโบกสะบัดอยู่ฝั่งพรมแดนใต้ของเส้นขนานที่ 38

ผมเคยเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อปลายปีก่อนเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์อันน่าค้นหาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราเดินทางไปถึงภายหลังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเพิ่งมาพบกับ “คิม จองอึน” เพียง 1 สัปดาห์ ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือให้การต้อนรับและพบปะหารือกับ ไมค์ ปอมเปโอ อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองเป็นอย่างดี เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และสร้างสันติภาพโลกร่วมกัน เราได้แต่หวังว่าสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ให้หวนนึกถึงช่วงเวลาที่สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศแบบฉับพลันหลังอ่อนล้ากับภารกิจและการสูญเสียในนามสงครามตัวแทนในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ประกอบกับการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพภายในประเทศที่ขยายวงกว้างได้กดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ ประกาศยุตินโยบายส่งทหารไปรบในสงครามเวียดนามและถอนกำลังกลับมา นโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือของสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลในยุทธศาสตร์ความมั่นคงกับโซเวียตเกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ได้ตัดสินใจเดินทางไปเยือนจีนและพบกัน เหมา เจ๋อตุง และเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนเป็นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จนมีการออกแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) ร่วมกัน

นโยบาย Nixon Doctrine ทำให้เกิดปฏิกิริยา Re-Action หรืออาการตกใจอย่างรุนแรงทั้งในไทยและญี่ปุ่นซึ่งร่วมขบวนในนโยบายต่างประเทศมานาน ถึงกลับทำให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงได้เกิดความชะงักงันลงและหันมาพยายามกำหนดนโยบายความมั่นคงภายในใหม่

โดยประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้พาคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนในเดือนกันยายน 2515 หลังจากไทยขาดการติดต่อสัมพันธ์กับจีนมานาน และความขัดแย้งภายในประเทศภายหลังการปฏิวัติของขบวนการนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม 2516 ทำให้ไทยจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นแทนระบอบทหารที่คุมอำนาจมาเป็นเวลานาน จนบรรยากาศประชาธิปไตยภายในประเทศเปิดเสรีมากขึ้นในทางการเมือง เป็นเหตุให้นโยบายต่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกและภาวะขาดแคลนน้ำมัน คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปเจรจาขอซื้อน้ำมันจากจีนในเดือนธันวาคม 2517 จนกระทั่งจีนยอมขายน้ำมันให้ไทย พร้อมข้อแลกเปลี่ยนให้ไทยรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นกัมพูชาของเจ้าสีหนุในจีน และประกาศยกเลิกกฎหมายนำเข้าสินค้าจากจีนด้วยเช่นกัน

ต่อมาไทยตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-เกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2518 ก่อนจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในอีก 3 เดือนต่อมา ในวันที่ 1 กรกฏาคม ปีเดียวกัน เหตุผลสำคัญในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือนั้น จึงแยกไม่ออกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเพื่อเข้าหาจีนในห้วงเวลานั้น

ผมมีโอกาสให้สัมภาษณ์ “เตช บุญนาค” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศรวมถึงจีน ผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการเพื่อเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เกาหลีเหนือในปี 2518

เตช บุนนาค เห็นว่าบริบทของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศก่อนปี 2518 เป็นเรื่องสำคัญ บทเรียนและความขัดแย้งต่อเนื่องจากสงครามในอินโดจีนทำให้สหรัฐฯ เริ่มต้นเปลี่ยนท่าทีต่อสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 2512 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันเดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหยุดพักเติมน้ำมันที่เกาะกวม เขาได้ประกาศที่เกาะกวม (Guam Doctrine) ว่าต้องการให้สงครามเวียดนามเป็นเรื่องของคนเวียดนามกันเอง (Vietnamization)

คนในกระทรวงการต่างประเทศรุ่นนั้นต่างแปลหมายความว่า “สงครามเวียดนามจบแล้ว” และเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนนโยบายกระทรวงการต่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคม 2514 ประธานาธิบดีนิกสันส่ง เฮนรี คิสซินเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ มาที่กรุงเทพ ในวงรับประทานอาหารเช้าวันหนึ่ง (working breakfast) เขาได้พบกับ นิสสัย เวชชาชีวะ หัวหน้ากองหนังสือพิมพ์กระทรวงต่างประเทศ, ดำรง ลัทธพิพัฒน์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเตช บุนนาค จากกรมสารนิเทศ เพื่อพูดคุยเรื่องสถานการณ์ของโลกรวมถึงสงครามเวียดนาม มีตอนหนึ่งที่คิสซินเจอร์ถามขึ้นมาว่าเราจะแก้ปัญหาสงครามเวียดนามอย่างไร สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นคนที่ตอบว่า “กุญแจที่จะไขปัญหาสงครามเวียดนามได้คือจีน” The key to the solution the Vietnam war is China.

คิสซินเจอร์อึ้งไปพักหนึ่งเนื่องจากสหรัฐฯ ก็พยายามที่จะปรับความสัมพันธ์กับจีนเช่นเดียวกัน เขาแวะมากรุงเทพฯ เพื่อที่จะไปปากีสถานและจากปากีสถานเพื่อที่จะเข้าเมืองจีนเป็นครั้งแรก (ในปี 2515) และภูมิหลังประวัติศาสตร์ “ตัวกลาง” สำหรับการติดต่อกับจีนก็คือปากีสถานนั่นเอง ความคิดที่จะเปิดความสัมพันธ์ไทยกับจีนจึงสอดคล้องกันทั้ง เฮนรี คิสซินเจอร์, ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศในขณะนั้น รวมถึงคนหนุ่มสาวในกระทรวงการต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รัฐประหารตัวเองจากเงื่อนไขความขัดแย้งภายใน และเกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่เริ่มเริ่มต้นไปแล้วในเดือนกันยายน โดยมีการโหวตให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ไม่คัดค้านในการโหวตครั้งนี้ โดยประเทศไทยร่วมโหวตด้วยโดยการงดออกเสียงทำให้ ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศถูกประณามจากหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นภายหลังจากการกลับมาและถูกปลดออกจากตำแหน่งหลังการรัฐประหารตัวเองโดยจอมพลถนอมให้ พจน์ สารสิน มารักษาการแทน จนเกิดสุญญากาศขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลานั้น

ในปี 2515 เตช บุนนาค ขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะจีนได้เล่าว่า ไทยเริ่มทยอยเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศเรื่อยมา เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ก่อนที่นิกสันจะไปเยือนจีนในเดือนกุมภาพันธ์เสียอีก บทบาทหัวหน้ากองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง ในปี 2516 เขาได้รับภารกิจสำคัญในการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนให้เป็นปกติ เนื่องจากอุปสรรคและการต่อต้านมีมาก ดังนั้นกรมการเมืองจึงพยายามปรับความสัมพันธ์และสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ เสียก่อน โดยเฉพาะประเทศมองโกเลีย และเกาหลีเหนือ ประเทศคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เริ่มเปิดการเจรจากันในปี 2515 และมีแถลงการณ์ข้อตกลงร่วมกันของเกาหลีทั้งสอง (South-North Joint Communique) ซึ่งระบุว่าการรวมกันของเกาหลีจะต้องเป็นการดำเนินการอิสระและไม่ขึ้นอยู่กับบังคับหรือการแทรกแซงจากภายนอก การเน้นหลักสันติภาพโดยปราศจากการใช้กำลังทหาร และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่ให้ความสำคัญในความแตกต่างทางอุดมการณ์และระบอบ โดยมีการยุบคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยความสามัคคีและการฟื้นฟูสมรรถภาพของเกาหลี (UNCURK) ซึ่งไทยเคยเป็นสมาชิกในการก่อตั้งเมื่อเริ่มสงครามเกาหลี

เกาหลีเหนือเองก็ได้เริ่มดำเนินนโยบายด้านการค้าและกีฬากับประเทศค่ายเสรีด้วยเช่นกัน โดยมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าและติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2515 เพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้าและกีฬาอย่างไม่เป็นทางการ เรื่องนี้ทำให้ความพยายามทางการทูตของเกาหลีเหนือเริ่มได้รับการยอมรับทางการทูตจากประเทศนอกกลุ่มคอมมิวนิสต์มากขึ้นถึง 93 ประเทศในเวลาต่อมารวมถึงไทย และได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นเหตุผลให้เกาหลีเหนือได้ที่นั่งเป็นผู้สังเกตุการณ์ในที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นครั้งแรกในปี 2518  

ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การมีมหาอำนาจสองขั้วย่อมจะมั่นคงกว่าการเลือกข้างขั้วเดียว กระทั่งการมีหลายขั้วอำนาจก็อาจวุ่นวายจนยากแก่การคาดเดาเหตุการณ์ เกาหลีเหนืออาจเห็นว่าสภาวะอนาธิปไตยระหว่างรัฐควรมีอำนาจระหว่างกันเพียงแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง (defensive) ดังที่เกาหลีเหนือได้บัญญัติลัทธิจูเช่ (Juche) เป็นแนวทางปกครองประเทศของตนเองภายใต้หลักการเอกราชทางการเมือง การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และการป้องกันประเทศด้วยการช่วยเหลือตนเอง

สำหรับประเทศไทยการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือนั้นมีปัญหามากกว่าจีน เนื่องจากไทยเป็นคู่กรณีในสงครามเกาหลี ขณะนั้นไทยมีทหารอากาศอยู่ที่ญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนกองกำลังสหประชาชาติประจำเกาหลีใต้อยู่หลายร้อยคนและเป็นอุปสรรคสำคัญ จนกระทั่งวันนี้ไทยก็ยังเป็นคู่กรณีอยู่เพราะว่าสงครามยังไม่สิ้นสุด แม้มีการประกาศหยุดยิงแล้วแต่ไทยก็ยังส่งทหารไปประจำการที่เส้นขนานที่ 38 อย่างน้อย 5 คน

หัวหน้ากองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ทำบันทึกให้เหตุผลแก่รัฐบาลในขณะนั้นว่าหนึ่งในเหตุผลของการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์ย่อมเป็นการบ่อนทำลายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยด้วยในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเป็นการแสดงให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเห็นว่ารัฐบาลไทยก็มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เป็นคนเอเชียด้วยกันได้ ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ในขณะที่ไทยกำลังปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยจึงนับเป็นเหตุผลที่ใช้ได้สำหรับรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

นอกจากนี้ยังมีการต่อต้านจากฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคง รวมถึงคนรุ่นเก่าในภาครัฐที่ต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์มานานจากนโยบายความมั่นคงภายใน พวกเขามีความรู้สึกว่าทำไมต้องไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งมีข้าราชการทหารและพลเรือนตายไปปีละหลายร้อยคน ดังนั้นจึงมีแรงต่อต้านพอสมควรที่ไม่ต้องการให้ไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

แต่ปัจจัยหลักในการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปัจจัยภายในประเทศเป็นเงื่อนไขสำคัญแต่อย่างใด และเป็นเรื่องของความเป็นจริงมากกว่าทฤษฎีใดๆ

ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยและเกาหลีเหนือได้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนแต่ละประเทศมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยคณะผู้แทนฝ่ายเกาหลีเหนือที่เคยเดินทางมาเยือนไทย มีตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และระดับประธานสมัชชาประชาชนสูงสุดเกาหลีเหนือ ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้เดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐสภาในปี 2543

ขณะที่ผู้แทนฝ่ายไทยที่เคยเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ มีตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปในเดือนมีนาคม 2534 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินไปในปี 2535-2536 ในฐานะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระนามในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

ครบรอบ 45 ปี ไทย-เกาหลีเหนือ ขอให้ความสมานฉันท์และสันติภาพระหว่างประเทศมั่นคงวัฒนาถาวรตลอดไป.

 

ที่มาภาพ: ประชาไท เหลียวหลัง แลหน้า สันติภาพคาบสมุทรเกาหลีใน 44 ปีสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ ย้อนดูพัฒนาการทางความสัมพันธ์ และบทบาทของอาเซียนและไทยต่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ในวาระครบรอบ 44 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเหนือ เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ และกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศร่วมวงเสวนา เล่าความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งมิตรและคู่สงคราม และแนวทางที่ไทย-อาเซียนควรมีบทบาทมากกว่านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net