Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ 'ลดค่าไฟฟ้า หยุดสัญญาผูกขาดไม่เป็นธรรม' ระบุรัฐบาลควรเข้าไปควบคุมดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

10 พ.ค. 2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ 'ลดค่าไฟฟ้า หยุดสัญญาผูกขาดไม่เป็นธรรม' ระบุว่าสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเพื่อใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมจัดการแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่ โดยรวบอำนาจรวมศูนย์รัฐราชการไว้ในมือนายกรัฐมนตรีและมีมาตรการบังคับควบคุม กำหนดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งราชการและวิกฤตการทางเศรษฐกิจของประชาชนกลุ่มต่างๆ
 
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่าในสถานการณ์วิกฤตนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลประชาชนให้เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในบริการสาธารณะด้านต่างๆ รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เยียวยาผลกระทบจากการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรรมกรคนงานและสถานประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลางที่มีสายป่านทางธุรกิจสั้นและมีความเสี่ยงต่อการย่อยยับอับปางให้เข้าถึงการช่วยเหลือด้านเงินทุน มากกว่าการช่วยเหลืออุดหนุนกลุ่มทุนซึ่งได้เปรียบจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ดังนั้น รัฐบาลควรใช้อำนาจเข้าไปดูแลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคและสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อบริการสาธารณะ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าให้มีราคาถูกลง ไม่ปล่อยให้กลุ่มทุนมาผูกขาดกำหนดนโยบายสาธารณะและหากำไรตักตวงผลประโยชน์จากวิกฤตประเทศในครั้งนี้ โดยเฉพาะอัตราค่าไฟฟ้าราคาแพงที่มีผลพวงมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ครป. มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

ครป. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของสัดส่วนการผลิตทั้งหมดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐ โดยการลดสัดส่วนการผูกขาดของเอกชนในการผลิดไฟฟ้าลง เพื่อไม่ให้มีการแสวงหากำไรจากค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นและไร้การควบคุม และเพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมาตรา 56 ระบุว่า “รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ การจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร”..

ปัจจุบันนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนมีมากถึง 57% ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าเพียง 33% ส่งผลให้ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการผลิตของเอกชน ทั้งที่ กฟผ.มีกำลังการผลิตจำนวนมากและปัจจุบันมีพลังงานไฟฟ้าสำรองกว่า 40% แต่ต้องซื้อไฟฟ้ากับเอกชนตามสัดส่วนการผลิตที่ไม่จำเป็น

ครป. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่ง กฟผ. ได้ทำกับเอกชนให้มีการซื้อขายจากโรงไฟฟ้าเอกชนในราคาที่กำหนดในระยะยาว ทั้งที่ กฟผ.มีกำลังการผลิตที่มากเกินพอ แต่มีการลดสัดส่วนการผลิตของรัฐลง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้ภาคเอกชนโดยมีการ “ประกันรายได้” ในการรับซื้อขายในสัญญาอีกด้วย ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนได้กำไรจากสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยตรง

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่าดำเนินการโดยชอบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่

ครป. เห็นว่ารัฐบาลควรเข้าไปควบคุมดูแลสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่ให้เอกชนเข้ามาถือครองและแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปธุรกิจการเมืองแอบแฝง และคิดค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมจากอัตราค่าไฟฐานและสัดส่วนอัตราก้าวหน้าที่เหมาะสม โดยไม่หวังผลกำไรค่าไฟฟ้าจากประชาชน

“เศรษฐกิจฐานล่างจะดีขึ้น เมื่อค่าสาธารณูปโภคถูกลง”
10 พ.ค. 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net