Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นี่เป็นเรื่องเล่าจากชุมชนรอบอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี

จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 มาเลเซียเริ่มปิดประเทศ และมีการขยายมาตรการการควบคุมสัญจรเคลื่อนย้าย หรือ MCO (movement control order) 4 ครั้ง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาคาดว่ามีคนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศมาเลเซียจำนวนประมาณ 6,000 – 8,000 คน (เฉพาะที่ลงทะเบียนแสดงความจำนงต้องการกลับบ้านกับหน่วยงานต่างๆ) แต่คาดว่าน่าจะมีคนไทยที่ติดค้างอยู่ในประเทศมาเลเซียจำนวนอีกประมาณ 100,000 คน เนื่องจากความไม่รู้หนังสือ และปัญหาข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือไม่ประสงค์จะกลับมายังประเทศไทยในขณะที่กรมแรงงานมีข้อมูลแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจำนวน 38,487 ราย (อลิสา หะสาเมาะ, ประชาไทออนไลน์, 7 พฤษภาคม 2563) คาดการณ์ว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียมีจำนวนผู้หญิงมีสูงกว่าผู้ชายประมาณ 70-80% หรือมีในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย คือจำนวน 45.5% เป็นผู้หญิง จากจำนวนผู้ลงทะเบียน 2,780 คน (Thawesak Pi, Facebook, 30 เมษายน 2563) 

ผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับมาตรการปิดจังหวัด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลยเซียและค้าขายได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติจังหวัดชายแดนใต้ ได้ทำการสำรวจจำนวนชาวบ้านที่กลับมาจากประเทศมาเลเซีย พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 4,626 คน รายละเอียดดังนี้

1. แหลมโพธิ์ จำนวน 928 คน อยู่ในศูนย์กักกันของชุมชน 128 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 59 คน มักจะไปทำงานในร้านต้มยำกุ้ง กุ๊ก เสริ์ฟอาหาร ส่วนผู้ชายไปทำประมง

2. บราโหม จำนวน 298 คน ตัวเลขนี้เฉพาะกลับมาจากประเทศมาเลเซีย ถ้ารวมพื้นที่อื่นๆ เช่น บาเรน กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และอื่นๆ มีจำนวน 317 คน

3. ตะโละกาโปร์ หมู่ 1,2,3 จำนวน >500 คน ตัวเลขประมาณการ

4. บางตวา หมู่ 1 และหมู่ 2 จำนวน 400 ผู้ชายทำอาชีพประมง อายุ 15-30 ปี มักจะแต่งงาน และเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียด้วยกัน

5. บางปู จำนวนประมาณ 1,000 คน 120 คน เฉพาะที่ลงทะเบียน และเข้าศูนย์ควบคุมโรคชุมชน (Local quarantine) จำนวน 32 คน (ช. 20 ญ. 7 เด็ก ญ 2)

6. บ้านกลาง จำนวน 1,000 คน ส่วนใหญ่ไปรับจ้างทำงานในร้านต้มยำกุ้ง ประมง ก่อสร้าง 

7. ยามู กำลังสำรวจข้อมูล

8. ตันหยงลูโละ จำนวน 500 (ตัวเลขประมาณการ)

รวมทั้งสิ้น 4,626 คน 

จำนวน 4,626 คน คือตัวเลขคนที่ได้ลงทะเบียนและเข้ากักตัวในชุมชน (Local quarantine) และเป็นตัวเลขประมาณการ แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่เดินทางกลับมาแล้วก่อนหน้าและไม่ได้รายงานให้อสม.ในพื้นที่ทราบ จำนวนครึ่งนึงเป็นผู้หญิง เยาวชนทั้งผู้หญิงและผู้ชายในหมู่บ้านรอบอ่าวมักจะนิยมเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เช่น การทำงานในร้านต้มยำกุ้ง กุ๊ก และเสริ์ฟอาหาร โดยเฉพาะผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายมักจะนิยมเดินทางไปประกอบอาชีพประมง

เมื่อกลับมาถึงภูมิลำเนาแล้ว ชาวบ้านยังเผชิญปัญหาซ้ำซ้อนเนื่องมาจากการขาดแคลนอาหารและรายได้ จากผลกระทบของการขุดลอกอ่าวปัตตานี ภายใต้ชื่อ “โครงการพสกนิกรรอบอ่าวปัตตานีสู่สันติสุข” โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน (ภาคใต้ชายแดน, 2016; PDS NEWS, 2016) และเพื่อให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถผ่านปากแม่น้ำปัตตานีเข้ามาจอดที่ท่าเทียบเรือได้ โดยใช้งบประมาณ 664 ล้านบาท (สำนักข่าวชายขอบ, 2017) ณ ปัจจุบัน การขุดลอกอ่าวดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและรายได้ของชาวบ้านรอบอ่าว เนื่องจากจำนวนสัตว์น้ำที่เคยจับได้ลดลงมาก จนไม่เพียงพอแม้แต่จะบริโภคในครัวเรือน ปัญหาที่ซ้ำซ้อนอีกประการหนึ่งคือ ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน และปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ อย่างไรก็ตามชาวบ้านและเยาวชนที่เดินทางมาอยู่ในหมู่บ้าน ก็ยังมีความหวังที่จะกลับเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย

ณ ปัจจุบัน อบต.แจกถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ถุงยังชีพในหลายชุมชนไม่เพียงพอต่อลักษณะครอบครัวขยายและรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมายังภูมิลำเนา เนื่องจากหลักเกณฑ์การแจกจ่ายคือ 1 บ้านเลขที่ ต่อ 1 ถุงยังชีพ ในขณะที่ 1 บ้านเลขที่ในชุมชนรอบอ่าว (และอาจรวมถึงที่อื่นๆ ในภาคใต้) มีสมาชิก 4-5 ครอบครัว อยู่รวมกัน ขอชื่นชมอบต.บางตวา ที่ทำการสำรวจว่าแต่ละบ้านมีสมาชิกทั้งหมดกี่ครอบครัวเพื่อดำเนินการแจกถุงยังชีพให้ทั่วถึง ขอชื่นชมอบต.แหลมโพธิ์ที่เมื่อได้รับการประสานงานจากท่านภาณุเรื่องปัญหาถุงยังชีพ ก็รีบดำเนินการสำรวจและจัดสรรคงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกคนได้รับอย่างทั่วถึง แต่หลายชุมชนชาวบ้านยังไม่กล้าร้องเรียนปัญหาถุงยังชีพไม่เพียงพอกับอบต. แต่นั้นเครือข่ายฯ ต้องพยายามพัฒนาศักยภาพของแกนนำให้เป็นกระบอกเสียงกับชาวบ้านในชุมชนของตัวเอง

เบื้องต้นเครือข่ายผู้หญิงกับภัยพิบัติสำรวจชุมชนที่ต้องการถุงยังชีพ และมีชาวบ้านที่ทุกข์ยาก เช่น พ่อพิการตาบอดสองข้าง แม่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน มีหลานอายุตั้งแต่ 2 ขวบ อยู่กันหลายคน ที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานใดๆ โดยมีมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 114 ถุง (ุถุงธรรมดา ราคา 300 บาท x 96 ถุง และถุงพิเศษเพิ่มนมสำหรับเด็กจำนวน 10 ถุง x 500 บาท) โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 33,800 บาท เราได้ข้อมูลจากแกนนำในเครือข่ายทำการสำรวจและมอบให้คนที่ลำบากจริงๆ บางชุมชนที่ อบต.ทำหน้าที่ดีแล้ว เช่น อบต.บางตวา แกนนำแจ้งกับคณะทำงานว่า ไม่ประสงค์รับของบริจาค

เราแจกถุงยังชีพได้น้อย เพราะมูลนิธิเยียวยาฯ เป็นองค์กรขนาดเล็กและมีความสามารถจำกัด บทบาทเพียงเสริมและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่อยู่แล้วในชุมชน แต่สภาวะภัยพิบัติโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องการกำลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยหนุนเสริมกัน นับว่าเป็นความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ในยุคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในขั้นตอนต่อไป เครือข่ายเริ่มพูดถึง "ตู้กับข้าวปันสุข" เราจะขายข้าวสาร อาหารแห้งในราคาถูก สำหรับคนมีกำลังซื้อและให้คนลำบากได้รับอาหารจากระบบการแบ่งปันในชุมชน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหลายๆ แห่ง เช่น หมู่บ้านมาแฮ ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา, สุไหงโก-ลก, ตลาดเก่า ยะลา, ตู้ปันสุข ยะลา และการซื้อข้าวสารอาหารแห้งจากชุมชนในท้องถิ่น เพราะเครือข่ายต้องการพึ่งพาตัวเองให้ได้ 100% อย่างยั่งยืน

แต่ขณะที่กระบวนการกำลังพัฒนาอยู่นั้น เบื้องต้นเครือข่ายก็ต้องการรับบริจาคเงินเพื่อซื้อถุงยังชีพ และได้ทำการเปิดบัญชีเพื่อรับบริจาคเงิน ธนาคารธนชาติ ชื่อบัญชี นางสาวอลิสา หะสาเมาะ หรือนางนฤมล สาและ หรือนางสาวลม้าย มานะการ เลขที่บัญชี 310-6-06989-5 

1 ถุง ปกติ ราคา 300 บาท

1 ถุง สำหรับเด็กเพิ่มนม ราคา 500 บาท

แจก 1 ครั้ง ชาวบ้านอยู่ได้ 2 สัปดาห์

ดังนั้น ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net