คอมมิวนิสต์ในความร่วมมือระดับโลกหรือตัวใครตัวมัน เมื่อไวรัสโคโรน่าบีบให้เราเหลือเพียงสองทางเลือก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางความตื่นตระหนกของประชากรโลกต่อการระบาดของไวรัสโคโรน่า มนุษย์มาถึงจุดที่ต้องเลือก ระหว่าง การกลับไปใช้ตรรกะอันโหดเหี้ยมแบบ ใครแข็งแรงกว่าก็รอดไป หรือสร้างคอมมิวนิสต์ขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของการเชื่อมโยงและร่วมมือร่วมใจกันในระดับโลก

ในขณะที่สื่อทุกสำนักพร่ำบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อย่าตกใจไป!” แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลที่เราได้รับมิได้ทำอะไรนอกจากกระตุ้นความตื่นตระหนก สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นึกถึงวัยเด็กของผมในประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศหนึ่ง ที่เวลารัฐบาลออกมาบอกกับประชาชนว่า ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล นั่นแหละ ที่ทำให้เรามั่นใจว่าได้ว่าพวกเขาเองนั่นแหละที่กำลังแตกตื่นและกระวนกระวายสุดๆ

 

นี่มันร้ายแรงเกินกว่าจะไปเสียเวลาให้กับความตื่นตระหนก

ความตื่นกลัวและหวั่นวิตกมีตรรกะขอมันเอง ภาวะขาดแคลนกระดาษชำระในสหราชอาณาจักรขณะนี้ ชวนให้ผมนึกถึงสถานการณ์คล้ายๆ กันในยูโกสลาเวีย ยุคสังคมนิยมในวัยเด็กของผม ตอนนั้นมีข่าวลือกันว่าร้านค้าไม่มีกระดาษชำระเพียงพอ ทำให้รัฐบาลต้องรีบออกมายืนยันนั่นเป็นเพียงข่าวลือ กระดาษชำระมีเพียงพอสำหรับทุกคนแน่นอน สิ่งที่น่าตกใจก็คือว่า สิ่งที่รัฐบาลประกาศนั่นไม่เพียงแต่เป็นเรื่องจริง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อตามรัฐบาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตรรกะเหตุผลของผู้บริโภคโดยทั่วไปมีลักษณะดังนี้ ฉันรู้ว่ามีกระดาษชำระเพียงพอ และข่าวลือนั้นผิด แต่ถ้าบางคนดันเชื่อมันขึ้นมาจริงๆ แล้วเริ่มกักตุนกระดาษชำระจนทำให้มันขาดแคลนขึ้นมาจริงๆ ล่ะ? ดังนั้น ฉันก็ควรจะเริ่มกักตุนด้วยเหมือนกัน

เราไม่จำเป็นต้องเชื่อว่าจะมีใครเชื่อในข่าวลือนั้นจริงๆ เสียด้วยซ้ำ การอนุมานว่าจะมีใครบางคน ที่เชื่อว่าจะมีคนอื่นเชื่อเอาข่าวลือนั่น ก็เพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดผลกระทบแบบเดียวกัน ในกรณีนี้คือการไม่มีกระดาษชำระเหลืออยู่ตามร้านค้า สิ่งเดียวกันนี้หรือเปล่า? ที่กำลังเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร (รวมถึงสถานการณ์ในรัฐแคลิฟอเนีย)

สิ่งแปลกประหลาดที่ดำเนินมาควบคู่กับความตื่นตระหนกเกินเหตุนี้คือ การไม่ตื่นตระหนกเอาเสียเลยในสถานการณ์ที่สมควรแก่เหตุ ช่วงสองปีที่ผ่านมา หลังจากการระบาดของโรค SARS และ Ebola มีการรายงานมาตลอดว่าจะเกิดโรคระบาดใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น คำถามนั้นมิใช่ “มันจะเกิดขึ้นหรือไม่” แต่เป็น “มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่” ต่างหาก การคาดการณ์ข้อนี้มีความน่าเชื่อถือตามหลักเหตุและผลทุกประการ แต่เรากลับไม่ได้จริงจังกับมันสักเท่าไร รวมถึงไม่ได้เตรียมตัวรับมือกันจริงจังอย่างที่ควร - พื้นที่เดียวที่เรารับมือกับมันคือในภาพยนตร์วันสิ้นโลกอย่าง Contagion

ความขัดแย้งนี้ชี้ให้เราเห็นว่า อาการตื่นตระหนกนั้นไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการรับมือกับความเป็นจริงอันโหดร้ายนี้ได้ ในความตื่นตระหนก ใช่ว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์ด้วยท่าทางที่เคร่งเครียดจนเกินเหตุ ในทางตรงกันข้าม มันแสดงถึงความไม่เอาจริงเอาจังต่อสถานการณ์เลย คุณลองคิดดูสิ ว่าการซื้อกระดาษชำระมาเยอะๆ มันน่าขันขนาดไหน อย่างกับว่ามีกระดาษชำระเอาไว้มากๆ จะมีความหมายอะไรท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส ถ้าอย่างนั้น อะไรคือการรับมือที่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ล่ะ? อะไรที่เราควรจะเรียนรู้และอะไรที่ควรปฏิบัติเพื่อเผชิญหน้ากับมันได้จริงๆ

 

คอมมิวนิสต์ที่ผมพูดถึง

ตอนที่ผมเสนอว่า การระบาดของไวรัสโคโรน่าอาจมาพร้อมการตื่นขึ้นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และเป็นไปตามคาด ข้อเสนอข้อนี้ถูกหัวเราะเยาะ ถึงแม้ว่า การมาถึงของวิกฤติในจีนจะเป็นข้อพิสูจน์ข้อเสนอนั้น - อย่างน้อยก็เห็นกันผลมากกว่าสถานการณ์ในอิตาลีตอนนี้มาก แต่ตรรกะแบบอำนาจนิยมหัวโบราณในพวกคอมมิวนิสต์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ ความหวาดกลัวที่จะนำข่าวร้ายไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา (และต่อสาธารณะ) บังตาไม่ให้เห็นผลกระทบแท้จริงที่จะตามมาจากการปิดบังนี้ - ดูเหมือนนี่จะเป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มคนแรกๆ ที่เริ่มกระจายข่าวการแพร่ระบาดถึงถูกจับกุม และยังมีรายงานการถูกคุมตัวแบบนี้อยู่เรื่อยๆ กระทั่งในตอนนี้

“ความพยายามที่จะผลักดันให้จีนกลับมาสู่วงจรการทำงานอีกครั้งหลังการกักกัน จะกระตุ้นพฤติกรรมเดิมๆ ขึ้นมาอีก เช่น การดัดแปลงข้อมูลเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เห็นตัวเลขอย่างที่พวกเขาอยากจะเห็น” Bloomberg รายงาน  “ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งตะวันออกของมณฑลเจ้อเจียง ที่นั่น มีเมืองอย่างน้อย 3 เมืองออกคำสั่งให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าให้ถึงปริมาณที่กำหนด เพื่อจะได้ใช้ตัวเลขเหล่านี้ยืนยันถึงการฟื้นตัวของสายการผลิต จากคำบอกเล่าของคนที่คุ้นเคยกับสถานการณ์ในลักษณะนี้ ยืนยันว่า พวกเขาสั่งให้เดินเครื่องจักร ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคนมาทำงาน”

เราสามารถเดาเหตุการณ์ถัดจากนั้นกันต่อได้เลย เจ้าหน้าที่ระดับสูงจะสั่งการลงโทษผู้บริหารส่วนท้องถิ่นอย่างหนัก กล่าวหาว่าเป็นการบ่อนทำลาย และวงจรอุบาทว์นี้จะหมุนต่อไป… เราคงต้องมี Julian Assange (บรรณาธิการบริหารของ Wikileaks) เวอร์ชั่นชาวจีนสักคน เพื่อเปิดโปงข้อมูลต่อสาธารณะถึงวิธีการอีกด้านที่จีนใช้รับมือกับการแพร่ระบาด แน่นอนว่านี่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบที่ผมหมายถึง แล้วคอมมิวนิสต์แบบที่ผมจะหมายถึง มันเป็นแบบไหนกัน? เพื่อจะเข้าใจในสิ่งที่ผมจะบอก เราจำเป็นต้องอ่านแถลงการณ์ของ WHO ฉบับล่าสุดนี้ก่อน

หัวหน้าองค์กร WHO, Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้ว่าองค์กรด้านสาธารณสุขของนานาประเทศจะมีศักยภาพมากพอที่จะหยุดการระบาดของไวรัสได้ แต่ WHO ก็ยังมีความกังวลว่า บางประเทศนั้น ยังไม่มีนโยบายทางการเมืองที่เอาจริงเอาจังมากพอเมื่อเทียบกับความรุนแรงของเหตุร้ายที่กำลังเผชิญนี้ “นี่ไม่ใช่การทดสอบ ไม่ใช่เวลาที่เราจะยอมแพ้ และไม่ใช่เวลามาหาข้ออ้าง นี่คือเวลาที่เราต้องทุ่มเททุกอย่าง หลายประเทศวางแผนรับมือสำหรับเหตุการณ์แบบนี้มานานนับทศวรรษ และนี่คือเวลาที่จะได้ใช้แผนเหล่านั้น” Tedros กล่าว “การระบาดนี้สามารถหยุดได้ แต่ก็ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนกลไกทางการเมืองทั้งหมด”

การกระทำแบบนั้นย่อมเกินกำลังของรัฐบาลเดี่ยวๆ ของประเทศใดประเทศหนึ่ง มันย่อมต้องใช้ความร่วมมือจากกลุ่มที่อยู่นอกรัฐด้วย แต่ละประเทศต้องประสานงานและรวมกันอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

หากมีผู้คนหลายพันต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยปัญหาระบบทางเดินหายใจ ความต้องการเครื่องช่วยหายใจก็จะเพิ่มขึ้นหลายพันเครื่องด้วยเช่นกัน และเพื่อให้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอต่อความต้องการ รัฐควรเข้าแทรกแซงเอกชนในรูปแบบเดียวกับที่ต้องทำในยามสงคราม แบบเดียวกับเมื่อต้องผลิตปืนหลายพันกระบอก และการดำเนินงานเช่นนี้ก็ควรตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐอื่น แบบเดียวกับยุทธการทางทหาร ข้อมูลต่างๆ ต้องมีการแบ่งปันและประสานงานกัน นี่คือระบอบคอมมิวนิสต์ที่ผมพูดถึง และโลกจำเป็นต้องมี อย่างที่ Will Hutton กล่าวไว้ว่า “ขณะนี้  โลกาภิวัตน์ในรูปตลาดเสรีอันไร้การควบคุมซึ่งมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ และโรคร้ายต่างๆ นี้ กำลังตายลง แต่ตลาดอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการพึ่งพากัน การตัดสินใจและปฏิบัติร่วมกัน กำลังถือกำเนิดขึ้น”

  

ความจำเป็นของการประสานและร่วมแรงกันในระดับนานาชาติ

สิ่งที่ยังครอบงำพวกเราอยู่ คือหลักการแบบ “ประเทศใครประเทศมัน” “มีการหยุดส่งออกเครื่องมือ ทรัพยากรทางการแพทย์ในหลายประเทศ ตามมาด้วยการพยายามวิเคราะห์และจัดการปัญหานี้ด้วยมาตรฐานที่ตั้งขึ้นเอาเอง ท่ามกลางการขาดแคลนและปัญหายิบย่อยอื่นๆ นั่นเป็นวิธีการควบคุมโรคที่ล้าสมัย” Will Hutton เขียนใน The Guardian

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเตือนถึงข้อจำกัดของระบบตลาดเสรีระดับโลกเท่านั้น มันยังทำให้เห็นหายนะอันร้ายแรงยิ่งกว่าที่กำลังจะมาจากขีดจำกัดของแนวคิดแบบประชานิยม-ชาตินิยมซึ่งยึดมั่นในการให้อำนาจการปกครองสูงสุดกับรัฐ นโยบายอย่าง “อเมริกัน (หรือชนชาติไหนก็แล้วแต่) ต้องมาก่อน!” นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะชัดเจนว่าความอยู่รอดของอเมริกานั้นต้องพึ่งพาการประสานและร่วมมือกันในระดับนานาชาติ

ผมไม่ใช่พวกอุดมคตินิยม ผมไม่ชอบไอเดียที่ว่า ผู้คนต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม วิกฤตการณ์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการร่วมมือกันของนานาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอดของพวกเราแต่ละคนขนาดไหน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเห็นแก่ตัวที่สุดที่พวกเราทำได้ ไม่ใช่แค่สำหรับไวรัสโคโรน่าเท่านั้น จีนเองก็เพิ่งผ่านการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดหมูไปไม่กี่เดือนที่แล้ว และกำลังจะตกเป็นเหยื่อจากการรุกรานของฝูงตั๊กแตน บวกกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เหมือนที่ Owen Jones เขียนไว้ว่า ภาวะวิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อนนั้นคร่าชีวิตคนจำนวนมาก มากกว่าไวรัสโคโรน่าเสียอีก แต่กลับไม่มีใครตระหนกตกใจกับเรื่องนี้เลย

หากมองในอีกมุม อาจมองได้ว่าไวรัสโคโรน่านั้นทำประโยชน์ให้มนุษยชาติด้วยการกำจัดคนแก่ อ่อนแอ และเจ็บป่วย เหมือนการดึงวัชพืชเน่าๆ ออกจากแปลงผัก และเป็นไวรัสที่มีคุณูปการต่อสุขภาพมวลรวม

รูปแบบของคอมมิวนิสต์ที่ผมกำลังสนับสนุนอยู่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเราสามารถทิ้งมุมมองที่ล้าสมัยนั้นได้ สัญญะต่างๆ ที่แสดงถึงการละทิ้งกันและกัน กำลังเผยตัวออกมาระหว่างที่เรากำลังพูดกันอยู่ อย่างมาตรการ “three wise men” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรหากภัตพิบัตินี้ยังแย่ลงเรื่อยๆ : “ผู้ป่วยของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS ในสหราชอาณาจักรอาจต้องถูกระงับการให้ความช่วยเหลือหากห้องผู้ป่วยหนักมีไม่พอ, แพทย์อาวุโสเตือน ภายใต้มาตรการ “three wise men” ที่ปรึกษาอาวุโสสามคนของแต่ละโรงพยาบาลอาจต้องถูกบังคับให้ตัดสินใจเลือกรักษาผู้ป่วยที่จะได้รับทรัพยากรเช่นเครื่องช่วยหายใจ เตียง ในสภาวการณ์ที่โรงพยาบาลนั้นไม่สามารถรักษาผู้ป่วยทั้งหมดได้

“three wise men” นั้นจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกผู้ป่วย? เราจะต้องสังเวยชีวิตคนที่อ่อนแอและคนสูงอายุอย่างนั้นหรือ? สถานการณ์นี้จะเปิดโอกาสสำหรับการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่หรือไม่? มาตรการเช่นนี้กำลังบอกให้เราเตรียมพร้อมแบบ “ผู้แข็งแกร่งที่สุดคือผู้ชนะ” หรือเปล่า? นี่แหละคือการเลือกครั้งสำคัญ ระหว่างสิ่งนี้ หรือการกำเนิดใหม่ของคอมมิวนิสต์

 

 

 

อ้างอิง

Zizek, S. (2020). Global Communism or the Jungle Law, Coronavirus Forces Us to Decide

จาก https://on.rt.com/acik

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท