Skip to main content
sharethis

10 พ.ค.2563 ประมวลภาพฌาปนกิจศพ 'ดา ตอร์ปิโด' หรือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล อายุ 58 ปี จาก วัดเทวสุนทร ซึ่งกิจกรรมเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีกลุ่มเพื่อนและคนเสื้อแดงมาร่วมจำนวนมาก

ดารณี เป็นอดีตแกนนำกลุ่มสภาประชาชน แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  รวมทั้งอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสถานีโทรทัศน์เคเบิลไทยสกายทีวี เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างเข้ารับการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) จากโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา 

ขณะที่ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกคำไว้อาลัยกับการจากไปของดารณี โดยมีอนุสรณ์ อุณโณ เป็นตัวแทนอ่านในพิธีด้วย

โดยมีรายละเอียดดังนี้ :

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ในพิธีฌาปนกิจ ณ วัดเทวสุนทร วันที่ 10 พฤษภาคม 2563

“ใครก็ตามที่เดินทางเข้ามาสู่เส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ล้วนพบกับความเจ็บปวดหลากหลายรูปแบบ บางคนสูญเสียชีวิต บางคนสูญเสียอิสรภาพ บางคนสูญเสียครอบครัว คนรัก บางคนพลัดบ้านพลัดเมือง แม้แต่งานศพของผู้บังเกิดเกล้ายังกลับมาร่วมไม่ได้ ฯลฯ ทั้งที่พวกเขาคิดหวังดีต่อประเทศชาติและประชาชนแท้ๆ

บอกเลยว่าไม่ง่าย ถ้าใครไม่พร้อมเผชิญหน้ากับสารพัดอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาก็ยากที่จะมาอยู่ตรงนี้ ครอบครัวแตกร้าว เป็นที่รังเกียจของคนรู้จัก เพื่อนฝูง วงศาคณาญาติ ฯลฯ เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้า แต่ต้องรับได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ และทุกสภาพ

จุดยืนจึงต้องแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ยึดอุดมการณ์ให้มั่น เดินไปข้างหน้าด้วยสติและปัญญาพร้อมความอดทน ตราบใดที่เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เมื่อทำดีที่สุดแล้วจงอย่าเสียใจกับผลที่เกิดขึ้น หากไม่ได้ดั่งใจ หรือประสบความพ่ายแพ้ ถูกเย้ยหยัน
...
อย่าคาดหวังว่าการเป็นนักสู้จะได้รับคำสรรเสริญเยินยอเสมอไป จงอยู่ด้วยกำลังใจของตัวเราเอง หากคิดว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความถูกต้อง เป็นธรรม และเพื่ออนาคตของลูกหลานวันข้างหน้า เราต้องเสียสละ แม้เหนื่อยทั้งกายและใจ แต่เราก็มีความสุขในสิ่งที่ได้ทำ”

(จาก ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล. บันทีการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ ดา ตอร์ปิโด. แอดมินเพจ ในนามของความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (บรรณาธิการ). พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2563. หน้า 25-27.)

ในที่นี้ขอคัดข้อความจากบันทึกของคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่พวกเรารู้จักกันในชื่อ “ดา ตอร์ปิโด” มาอ่านในการไว้อาลัยกับการจากไปของเธอ เพราะข้อความนี้สะท้อนสิ่งสำคัญที่คนธรรมดาสามัญอย่างเธอได้ฝากไว้ให้กับพวกเราหลายประการ

ประการแรกคือการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนที่มีความหนักแน่นมั่นคงในความคิดของตนเองของคุณดา เพราะถ้าเรานับการชุมนุมหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความคิดทางการเมืองของคุณดาในที่สาธารณะ ว่าปัญหาการเมืองไทยเป็นเรื่องของอะไรและมีรากเหง้าอยู่ตรงไหน เราจะพบว่าไม่มีครั้งใดในช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมาที่ความคิดของเธอจะเปลี่ยนไป สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการยึดติด เป็นความแข็งตัว หรือไม่ยืดหยุ่นของความคิดของเธอต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากแต่เป็นเรื่องของความหนักแน่นมั่นคงในความคิดของเธอ ท่ามกลางความผันแปรของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขปัจจัยหลักเดียวกัน และเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีความแตกต่างในระดับรากฐาน

คุณสมบัติข้อนี้ของเธอจะยิ่งโดดเด่นขึ้นหากเรานำไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของบรรดาคนสำคัญหรือคนมีชื่อเสียงในประเทศนี้ ที่ตอนแรกพูดอย่าง แต่เมื่อเวลาหรือว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปก็พูดอีกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องการไต่เต้าเข้าสู่อำนาจหรือว่าเมื่อเผชิญกับความเย้ายวนของลาภยศสรรเสริญที่ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะเข้าไปรับใช้โดยไม่ละอายต่อสิ่งที่ตนเองเคยพูดไปหรือไม่ก็แสร้งทำเป็นว่าเปลี่ยนความคิดใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดกับคุณดา เพราะเธอเชื่อว่าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น “จุดยืน...ต้องแน่วแน่ ไม่หวั่นไหว ยึดอุดมการณ์ให้มั่น เดินไปข้างหน้าด้วยสติและปัญญา”

ประการต่อมาคือการสะท้อนให้เห็นความเป็นคนที่ซื่อตรงต่อความคิดของตัวเองของคุณดา คุณดาไม่ใช่คนพูดอย่างทำอย่าง ทำตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองพร่ำสอน หรือเทศนาในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เชื่อ ตรงกันข้าม เธอใช้ชีวิตตามครรลองความคิดของตน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอุทิศตนให้กับการถ่ายทอดความคิดและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใต้ความคิดนั้น เราจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมาหลังจากพาตัวเองเข้าสู่สนามความขัดแย้งทางการเมือง คุณดาไม่เคยประพฤติปฏิบัติตนแตกต่างหรือว่าตรงกันข้ามกับสิ่งที่เธอคิดเธอเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2551 ที่หลังการชุมนุมผ่านไปได้สักระยะคนจำนวนหนึ่งเริ่มลดบทบาทหรือเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว หรือในช่วงระหว่างการถูกดำเนินคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เธอปฏิเสธข้อกล่าวหาเพราะขัดกับความคิดของเธอและเลือกที่จะต่อสู้คดีถึงสองชั้นศาลแม้จะประสบกับความยากลำบากเพียงใด รวมถึงในช่วงตั้งแต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมาหลังจากรับโทษอยู่ในเรือนจำประมาณ 8 ปี ที่เธอก็ยังคงเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สภาวการณ์ไหนหรือประสบความทุกข์ยากเพียงใด คุณดาก็ยังมีความซื่อตรงต่อความคิดของตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเธอเชื่อเช่นที่เธอได้บันทึกไว้ว่า “ตราบใดที่เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เมื่อทำดีที่สุดแล้วจงอย่าเสียใจกับผลที่เกิดขึ้นหากไม่ได้ดังใจหรือประสบความพ่ายแพ้ ถูกเย้ยหยัน”

ประการที่สามคือการสะท้อนให้เห็นว่าผลที่คุณดาได้รับจากความซื่อตรงในความคิดของเธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดของเธอนั้นถูกต้องแล้ว เพราะหากประเทศเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนก็คงไม่มีอำนาจอื่นใดที่เหนือกว่าอำนาจของประชาชนและสามารถบงการประเทศนี้ได้อีก ถ้าหากเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย การแสดงความเห็นทางการเมืองของเธอรวมถึง “เพื่อนร่วมคดี” อีกหลายคนก็จะไม่เป็น “ความผิดร้ายแรงและกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน” และถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลในการปฏิเสธการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากนี้ หากศาลและกระบวนการยุติธรรมมีเป้าหมายเพื่อผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม คดีของเธอก็คงไม่ถูกพิจารณาเป็นการลับซึ่งทั้งลิดรอนสิทธิของจำเลยและปิดกั้นการรับรู้ของสังคม และส่งผลให้เธอประกาศว่า “ไม่ว่าผลจะเป็นประการใด จะไม่ขอยอมรับ ไม่เชื่อถือ ไม่ให้ความเคารพ และจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด”

ประการสำคัญ หากการเขียนกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ประชาชนที่เพียงแต่แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างคุณดาก็คงจะไม่ถูกทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า “ต้องลงโทษสูง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น” ซึ่งเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจไม่สู้คดีต่อในชั้นฎีกาเพราะไม่มีความหวังว่าศาลฎีกาจะพิพากษาเป็นอื่น และจำต้องขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งเป็นแนวทางที่เธอปฏิเสธในตอนแรกในที่สุด เป็นความอัปลักษณ์และอำมหิตของการเมืองรวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยที่คุณดาได้ใช้ชีวิตของเธอสาธิตให้เห็น และเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยจะต้องเผชิญต่อไปไม่รู้จบสิ้นหากไม่ลุกขึ้นมากระทำการใดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น จึงไม่มีการไว้อาลัยใดที่จะมีคุณค่าหรือว่าสำคัญไปกว่าการแสดงความเคารพในสิ่งที่คุณดาได้คิด พูด และกระทำมา และอาศัยเส้นทางที่เธอได้บุกเบิกแผ้วถางไว้ในการเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เริ่มจัดจ้าขึ้นทุกขณะและระยะทางที่จะถึงปลายอุโมงค์เริ่มหดสั้นเข้ามา

ขอไว้อาลัยและแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ “ดา ตอร์ปิโด” สามัญชนคนกล้าประชาธิปไตย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
10 พฤษภาคม 2563
 

ภาพบรรยากาศงาน : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net