Skip to main content
sharethis

ประชาชนหนึ่งร้อยกว่าคนคนรวมตัวกันที่หาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลาเพื่อไว้อาลัยกับชายหาด ใช้แฮชแท็ก #SAVEหาดม่วงงาม หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองเดินหน้าโครงการกำแพงกันเขื่อนต่อ แม้มีประชาชนคัดค้าน ตั้งข้อสงสัยเรื่องความคุ้มค่าและความไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

เด็กเล่นก่อกองทรายที่หาดม่วงงาม โดยมีฉากหลังเป็นโครงการก่อสร้าง (ที่มา:Facebook/Beach for life)

11 พ.ค. 2563 มีการรายงานข่าวว่า  ที่ชายหาดม่วงงาม หมู่ 7 อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีประชาชนจำนวนหนึ่งร้อยกว่าคนคนรวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยกับชายหาดม่วงงาม กรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 

กิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังกระแสคัดค้านของประชาชนส่วนหนึ่งต่อโครงการข้างต้น โดยมีข้อกังวลว่ากำแพงกันคลื่นอาจทำให้หาดทรายหายไป ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณที่ใกล้เคียง โดยเมื่อ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามได้ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ระงับโครงการที่ศาลากลาง จ.สงขลามาแล้ว 

โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณของกรมโยธาและผังเมืองเป็นจำนวน 87,038,000 ล้านบาท ระยะทาง 710 เมตร เริ่มสัญญา 21 ก.ย. 62 สิ้นสุดสัญญา 20 ส.ค. 64 

เมื่อ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อสงขลาทูเดย์รายงานว่า นฤทธิ์ มงคลศรี เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหลังได้รับเรื่อง โดยระบุว่า หลังจากได้ดูเอกสารและข้อมูลวิจัย พบว่าบริเวณชายหาดถูกทะเลกัดเซาะไปมากและจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย จึงเน้นย้ำให้เทศบาลเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งโดยเฉพาะกลุ่มที่คัดค้านให้เข้าใจสาเหตุและความจำเป็น และให้เทศบาลส่งข้อมูลให้กับจังหวัดดูรายละเอียดอีกครั้ง โครงการจะระงับหรือไม่ ต้องมาดูข้อเท็จจริงอีกครั้ง

อภิศักดิ์ ทัศนี จากโครงการอนุรักษ์ชายฝั่ง Beach for life เล่าว่าโครงการกำแพงกันคลื่นเริ่มต้นเมื่อปี 2558 เมื่อเทศบาลม่วงงามขอหนังสือสนับสนุนงบป้องกันชายฝั่ง จากนั้นมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาออกแบบ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อ ม.ค. 60 และมีจัดรับฟังความเห็นเรื่อยมาอีก 2 ครั้ง การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกสร้างเป็นระยะทาง 710 ม. เริ่มดำเนินการเมื่อราวเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และเฟสสองระยะทาง 1,995 เมตร โดยกำแพงกันคลื่นที่ทำนั้นเป็นรูปแบบขั้นบันได

กำแพงกันคลื่นหาดม่วงงาม: กางข้อเท็จจริงและนโยบายรัฐที่สร้างความขัดแย้ง

ด้านผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานกรมโยธาธิการในพื้นที่ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า โครงการก่อสร้างกำแพงกันเขื่อนเป็นประเด็นถกเถียงมาก แต่การก่อสร้างนั้นเกิดขึ้นเพราะประชาชนเดือดร้อนจากการที่คลื่นกัดเซาะจนถนนจะขาด หน่วยงานท้องถิ่นรับมือกับการกัดเซาะไม่ไหว 

ผดุงเดชเล่าว่า โครงการมีการศึกษาและลงมือทำไปแล้ว แต่ว่าการคัดค้านมาทีหลัง การรับฟังความเห็นที่ทำไปแล้ว 3 ครั้งก็มีการคัดค้านเป็นส่วนน้อย ส่วนมากสนับสนุน แต่ก็ถูกฝ่ายคัดค้านกล่าวหาว่าไม่ครอบคลุม

การก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม (ที่มา:Facebook/Beach for life)

โครงการกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงาม ไม่ได้ผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากเมื่อปี 2556 สำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติถอดถอนกำแพงกันคลื่นทุกขนาดออกจากประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากที่เดิมที กำแพงริมชายฝั่งความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไปจะต้องจัดทำ EIA

กําแพงกันคลื่น หรือกำแพงกันตลิ่ง (Seawall, Revetment) คือโครงสร้างที่วางตัวเพื่อแบ่งเขตแดน กันดินกับน้ำออกจากกัน มีไว้ป้องกันการกัดเซาะของดินจากคลื่นและกระแสน้ำ 

ข้อดีของกำแพงกันคลื่นคือสามารถดูดซับพลังงานคลื่นได้ดี ค่าบำรุงรักษาต่ำ ชุมชนหรือองค์กรท้องถิ่นสามารถดำเนินการเองได้ ส่วนข้อเสียคือหน้าหาดจะไม่มีทราย ราคาก่อสร้างแพง ไม่สวยงาม เกิดปัญหาการทรุดตัวของกำแพงในระยะยาว และการกัดเซาะที่ตอนปลายของกำแพงอันเกิดจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกำแพงที่จะไปกัดเซาะพื้นที่ใกล้เคียงกำแพง (end-wall effect)

(ที่มา: หาดใหญ่โฟกัส ผู้จัดการออนไลน์)

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขพาดหัว จากกำแพงกันเขื่อน เป็นกำแพงกันคลื่น เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 เวลา 19.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net