Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยฯ ม.หาดใหญ่ เผยผลสํารวจความคิดเห็นของ ปชช. 5 จังหวัดชายแดนใต้ต่อโควิด-19 ระบาด พบเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขและตระหนักต่อปัญหาโรคระบาดโควิด-19 น้อยมาก การสอนถูกบีบให้ปรับตัว แต่เน็ตยังไม่ครอบคลุมและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่พร้อม
 

11 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก คัมภีร์ ทองพูน ถึง ผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ของ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากประเทศจีน โดยมีรายงานครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 จากนั้นการระบาดในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาจนถึงการแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้หลายประเทศต้องรับมืออย่างไม่ทันตั้งตัว รวมถึงประเทศไทยเองก็ยังต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้

และได้ประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อรับมือและแก้ปัญหาสถานการณ์ รวมถึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ขึ้นเพื่อรายงานสถานการณ์ โควิด-19 เป็นประจำทุกวันเพื่อลดความตระหนกของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวในเรื่องการทำงาน รายได้ และการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดลง ทำให้มีความรู้สึกกังวลในการใช้ชีวิต เกิดความเครียดสะสม และอาจมีผลต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตมากขึ้น จากประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ตระหนักและกังวลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง​

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เพื่อรับฟังความคิดของประชาชนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้รับผลกระทบในด้านใดบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ผลการวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นจะเป็นข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงข้อกังวลที่ได้รับจากการสำรวจ และเห็นควรที่หน่วยงานต่าง​ ๆ​ ที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประชาชนในพื้นที่และประเทศร่วมกัน

ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วยแบบสำรวจออนไลน์ จำนวน 1,000 ชุด​ พบว่า ประชาชนมีความเห็นต่อการประกาศพระราชกำหนด (พรก.ฉุกเฉิน) และมีความรู้สึกต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 8.18 และ 7.91 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่อาศัยอยู่ และความตระหนักถึงปัญหาโรคระบาดโควิด -19 มีความเห็นอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 7.05 และ 6.81 ตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลโดยการประกาศพระราชกำหนด (พรก.ฉุกเฉิน) กรณีการระบาดของโรคระบาดโควิด-19 สูงที่สุด อาจเป็นเพราะประชาชนมองว่าปัญหาโรคระบาดโควิด 19 เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่มีความเห็นในระดับรองลงมา แต่ประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขในพื้นที่พำนักอาศัย และตระหนักถึงปัญหาโรคระบาดโควิด -19 ในระดับสูงสุด เพียงร้อยละ 13.20 และ ร้อยละ 10.80 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข และตระหนักต่อปัญหาโรคระบาดโควิด-19 น้อยมาก

ดังนั้น​ จากปัญหาดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ควรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลโดยการตระหนักถึงปัญหาให้มากขึ้นและรัฐบาลควรส่งเสริมโดยให้ความรู้แก่ประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขมากขึ้น

จากผลการสำรวจดังกล่าว ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จึงสำรวจเพิ่มเติมถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 4 เดือน หรืออาจถึง 1 ปี สูงที่สุดถึงร้อยละ 44.2 แสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังคงวิตกกังวลในสถานการณ์ดังกล่าวว่าอาจจะยังไม่จบง่ายๆ

ผู้วิจัยจึงสอบถามเพิ่มเติมถึงผลกระทบต่อสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับจากสถานการณ์มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตสูงที่สุดถึงร้อยละ 35.1 รองลงมาคือผลกระทบต่อการทำงานและการเรียน ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องการเรียน และการทำงานที่ต้องปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติแบบใหม่ (NEW NORMAL) เนื่องจากระบบการเรียนการสอนถูกบีบบังคับให้ปรับตัว เปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเรียนออนไลน์จากเดิมเรียนในห้องเรียน แต่นักเรียน นักศึกษาบางคน ต้องเจอปัญหาความไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่นักเรียน นักศึกษาบางคนไม่ได้มีรายได้มากมาย กรอปกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยิ่งทำให้เป็นไปได้ที่นักเรียน นักศึกษาบางส่วน ต้องหยุดการเรียนไป เนื่องจากความพร้อมดังกล่าว รวมถึงอินเตอร์เน็ตภายในประเทศที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ ส่วนการทำงานสถานประกอบการก็ต้องปรับตัว ลดภาระที่ไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เข้าสู่สภาวะปกติแบบใหม่ (NEW NORMAL) ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น จ้างคนน้อยลง มีผลทำให้รายได้ของบุคคลหรือแรงงานลดลง ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ด้านเศรษฐกิจและรายได้เป็นหลัก แม้แต่ผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวกับสถานการณ์อาจต้องปิดกิจการ และทำให้อีกหลายคนอยู่ในสถานะของคนตกงานเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อสถานะของตนเองที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความกังวลใจ ความเครียด เจอทางตันในชีวิต ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคม ที่ต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์การใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน และเยียวยา ประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเสาหลักของครอบครัว หากขาดรายได้จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของอีกหลายคนในครัวเรือน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net