ทำไมต้องช่วยแรงงานข้ามชาติ: เมื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนคือการป้องกันโรคที่ดี

คุยกับแรงงานข้ามชาติและนักวิชาการ ตอบคำถามว่าทำไมต้องช่วยแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤติเช่นนี้ นอกจากเรื่องมนุษยธรรมแล้ว คือผลประโยชน์ส่วนรวมแก่ทุกคนในสังคม เมื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนหมายถึงการป้องกันโรคที่ดี และหลังวิกฤตคลี่คลาย พวกเขาคือกำลังสำคัญในการรื้อฟื้นเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

ขณะนี้แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนยังคงรอการเยียวยา ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักสำคัญส่วนหนึ่งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคบริการ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือนมีนาคม 2563 คนต่างด้าว (พม่า กัมพูชา ลาว) ที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,814,481 คน ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อย

แต่ก่อนที่จะพูดถึงมาตรการเยียวยาแรงงานข้ามชาติ คำถามพื้นฐานที่เรามักเจอคือ คนไทยบางคนยังไม่ได้รับเงินเยียวยา แล้วทำไมเราถึงต้องไปช่วยแรงงานข้ามชาติอีก

เพื่อตอบคำถามนี้ ประชาไทได้สัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงนักวิชาการ 

 

"อยากให้คิดว่าเราเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน"

ไอบี แรงงานสัญชาติเมียนมาร์ในจังหวัดเชียงใหม่เล่าว่า ตั้งแต่มีโควิด ยังไม่เห็นรัฐมาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ อาจมีการผ่อนปรนระยะเวลาการทำวีซ่า หรือรายงานตัว แต่ไม่มีเงินเยียวยา อย่างปัญหาของตนคือบริษัทยังให้ทำงานอยู่ แต่จะบังคับให้หยุดเป็นบางวัน ทำให้ได้ทำงานน้อยลง เงินที่ได้จึงน้อยลงด้วย

“ทำไมต้องช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่คนไทยรัฐบาลก็ยังช่วยเหลือไม่ทั่วถึง คำถามแบบนี้ผมก็เข้าใจเขานะว่าเขาเองก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เลยเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นในใจเขา สำหรับผมก็อยากให้คิดว่าเราเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน อาจจะไม่ต้องช่วยเท่าคนไทย แต่ขอให้ช่วยเหลือบ้าง เพราะพวกผมก็มาทำงานในเมืองไทย ไปซื้อของเราก็เสียภาษีเหมือนคนไทย ผลที่ออกมาก็เป็นของเมืองไทย เราทำงานใช้แรงเข้าสู้ได้เงินไม่เยอะ แต่ผลประโยชน์หลักๆ ก็ให้บริษัทคนไทยหมด” ไอบีกล่าว

 

"ป้องกันโรคทำไม่ได้ถ้าคุณเข้าไม่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี"

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติตอบคำถามประเด็นนี้ว่า แรงงานเหล่านี้คือแรงงานที่สร้างผลผลิตให้แก่ประเทศไทย และพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมไทย

“เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การไปแบ่งแยกว่าเขาไม่ใช่คนไทย ไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ มันก็ผิดวิสัยสิ่งที่มนุษย์พึงมีต่อกัน ผมไม่คิดว่าสังคมไทยอยู่รอดปลอดภัยจากโควิดได้โดยที่เราไม่สนใจคนอื่น เพราะสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ดังนั้นมันคงไม่ใช่คำถามว่า ทำไมเราถึงไม่ช่วยคนไทยก่อน เพราะมันต้องช่วยไปด้วยกันทั้งหมด เขาอยู่กับเรา เขาก็เป็นพวกเดียวกับเรานี่แหละ” 

“เราจะผ่านความทุกข์ร่วมนี้ไปได้ เราก็ต้องมองเห็นความทุกข์ร้อนของคนอื่นๆ และพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็จะรอดได้ การทิ้งใครไว้ข้างหลัง มันอาจหมายถึงคุณเองก็จะไม่ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ที่น่ากังวลคือเมื่อคุณถูกกีดกันออกจากความช่วยเหลือของสังคมนี้ มันอาจผลักให้คุณไปสู่ทางเลือกอื่นหากเข้าตาจนจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว” อดิศรกล่าว

อดิศรยกตัวอย่างคำพูดของมาร์กาเร็ต มีด นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชาวอเมริกัน เมื่อนักศึกษาถามเธอว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ มาร์กาเร็ตตอบว่า คือกระดูกต้นขาของมนุษย์ในยุคโบราณคนหนึ่ง เพราะกระดูกชิ้นนั้นมีร่องรอยของการซ่อมแซมตัวเองหลังจากกระดูกหัก  เพราะในอดีตหากขาหักนั่นหมายถึงความตาย เพราะมนุษย์จะไม่สามารถออกล่าเหยื่อ ไม่สามารถเดินไปหาน้ำกิน ไม่สามารถวิ่งหนีได้เมื่อมีภัยมา แต่การค้นพบกระดูกต้นขาของมนุษย์ที่มีร่องรอยของการหัก บ่งบอกว่าเมื่อคนๆ นั้นขาหัก มีคนรอบตัวเขาคอยช่วยเหลือ หาที่ปลอดภัยให้เขา นำน้ำและอาหารให้ไปให้เขากินจนกระทั่งกระดูกของเขาซ่อมแซมตัวเองได้ แทนที่จะปล่อยเขาให้ตายไปตามลำพัง

อดิศรมองว่า มาตรการรัฐของแรงงานข้ามชาติที่ออกมาขณะนี้ยังไม่ครอบคลุม เช่น เงินชดเชยการว่างงาน 5,000 บาท แรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งหากแรงงานข้ามชาติอยู่ในประกันสังคม ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงมากมาย เช่น อ่านภาษาไทยไม่ได้ กรอกภาษาไทยไม่ได้ 

“มาตรการรัฐกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติเน้นไปที่ป้องกันโรคมากกว่าชดเชยเยียวยา ในภาวะที่ทุกคนลำบาก มาตรการรัฐที่ออกมามองราวกับว่าเขาจะเป็นคนแพร่เชื้อโรค ซึ่งมันสะท้อนวิธีคิดของรัฐและคนในสังคมเอง”

“ป้องกันโรคทำไม่ได้ถ้าคุณเข้าไม่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เช่น หากคุณไม่มีรายได้ จากเดิมที่ห้องหนึ่งเคยอยู่ 2 คน อาจจะต้องอยู่กัน 5 คน โอกาสที่เชื้อจะแพร่ให้คนอื่นก็ง่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกับเรา ไปทำงาน ไปซื้อของ ก็มีโอกาสที่จะควบคุมโรคไม่ได้”

“ขณะที่โควิดเป็นโรคที่สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ฉะนั้นไม่สามารถจะไปรักษาแค่โรคหรือควบคุมโรคได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำคุณภาพชีวิตของคนให้ดี ให้เขาเข้าถึงบริการต่างๆ ให้เขามีความสามารถป้องกันโรค และดูแลตัวเองได้” อดิศรกล่าว

อดิศรยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีมาตรการแยกแรงงานข้ามชาติออกจากคนสิงคโปร์ โดยจัดสถานที่เฉพาะไว้ให้ ซึ่งอดิศรมองว่าทำให้เกิดการแบ่งแยก และไม่เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

“มีเคสหนึ่งที่คนสิงคโปร์เกิดความไม่พอใจต่อแรงงานข้ามชาติ เกิดการประท้วง ทำร้ายร่างกายกัน ซึ่งยิ่งเป็นผลเสียต่อการควบคุมโรค รัฐไทยไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการให้อยู่ร่วมกันในสังคม จะทำให้เกิดการเรียนรู้ การปรับตัว เกิดการส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้” อดิศรกล่าว 

 

"ภายหลังจากโควิดคลี่คลาย พวกเขาเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยรื้อฟื้นเศรษฐกิจ สังคม"

พิสิฐ นาสี กลุ่มนักวิชาการเพื่อแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติมีบทบาททางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยที่สุดเริ่มเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แรงงานข้ามชาติเริ่มเข้ามาเติมเต็มกลุ่มงานระดับล่างซึ่งคนไทยไม่นิยมทำกันแล้ว เพราะเมื่อคนไทยเริ่มมีการศึกษาสูงก็เคลื่อนย้ายตัวเองไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ส่วนภาคการเกษตรที่เคยทำก็ลดตัวลง กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้ามาเสริม เข้ามาอุดรอยรั่วของแรงงานทั้งภาคการเกษตร ไปจนถึงภาคบริการระดับล่าง เช่น งานล้างจาน แม่บ้าน หรือยาม 

“เราพึ่งพาเขามาตลอด แม้เขาจะถูกมองอย่างไม่มีตัวตน แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมไทย ประเทศไทยมาโดยตลอด ในฐานะที่เราเป็นเจ้าบ้าน เราดึงดูดผลประโยชน์จากเขามามากมาย เราเองก็ต้องช่วยเหลือเขาในวิกฤตแบบนี้ อย่าลืมว่าเขาไม่ได้ไปไหน เขายังอยู่ในสังคมไทย และภายหลังจากที่โควิดคลี่คลายลง เขาเองก็เป็นกลุ่มสำคัญที่จะช่วยรื้อฟื้นเศรษฐกิจ รื้อฟื้นสังคมไทย เพราะฉะนั้นเราต้องพึ่งพาอาศัยเขาอยู่แล้ว 

พิสิฐมองว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐควรครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ เช่น ถุงยังชีพ หรือตัวเงิน ไปจนถึงระยะยาวที่ช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่า, เอกสารการทำงาน, หลักประกันสุขภาพ ปีละเกือบ 10,000 บาท เพราะฉะนั้นหากไม่มีกำลังทรัพย์ในการไปดำเนินการทางกฎหมาย ก็อาจกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องตามมา 

“เรื่องการฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกาย การลักเล็กขโมยน้อย การก่ออาชญากรรมในสังคมไทย ปัญหาสังคมทั้งหลายก็อาจตามมาได้หากรัฐไม่มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม” พิสิฐกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท