ตำรวจยังไม่สรุปฉายแสง #ตามหาความจริง ผิดอะไร 'คณะก้าวหน้า' ระบุนี่แค่จุดเริ่มต้น

คณะก้าวหน้าเฉลยลงมือฉายแสง #ตามหาความจริง ระบุแค่จุดเริ่มต้น ของจริงรอดูวนไปถึง 20 พ.ค. ด้านโฆษกตำรวจยังไม่สรุปทำผิดข้อหาอะไร ขณะที่ผู้สื่อข่าวพบ ไต่สวนการตายเสื้อแดง หลายคดีศาลระบุ 'ตายจากกระสุนทหาร' แต่ยังไม่มีใครรับโทษ

ที่มา: แฟ้มภาพ/Photo Series #ตามหาความจริง 

กรณีมีศิลปินยิงแสงเลเซอร์ข้อความ "#ตามหาความจริง" และฉายโปรเจคเตอร์ภาพเหตุการณ์ เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ค. ตามสถานที่เชิงสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับเหตุสลายชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รางรถไฟฟ้า BTS วัดปทุมวนาราม และข้างตึกกระทรวงกลาโหม จนแฮชแท็ก #ตามหาความจริง ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ประเทศไทยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ข้อความ '#ตามหาความจริง' โผล่จุดสำคัญสลายชุมนุมแดง 53 แถมแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์, 11 พ.ค. 63

ต่อมาเมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ในทวิตเตอร์ของพรรณิการ์ วานิช @Pannika_FWP แกนนำคณะก้าวหน้ายอมรับว่าทางคณะเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว โดยรีทวิตวิดีโอ Timelaspe ของทวิตเตอร์คณะก้าวหน้า ที่ระบุข้อความว่า

"ความจริง" อาจทำให้บางคนไม่สบายใจ คุณเลยต้องไล่จับความจริงกันวุ่นวายไปหมด แต่ "ความจริง" ก็ปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากคำลวงของคุณ เราไม่ตกเป็นทาสของคุณอีกแล้ว ร่วม #ตามหาความจริง ไปพร้อมกันที่เพจคณะก้าวหน้า 12-20 พ.ค.

โดยพรรณิการ์ทวิตข้อความว่า "#ตามหาความจริง กับเรา 12-20 พ.ค.นี้ เพจ #คณะก้าวหน้า ฉายภาพกลางกรุงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น #ความจริงต้องปรากฏ"

 

ตำรวจยังไม่สรุปฉายแสง '#ตามหาความจริง' ผิดอะไร
ประยุทธ์บอกช่วงโควิด-19 อยากให้รักกัน ไม่ทำสับสน

โดยตลอดทั้งวันที่ 12 พ.ค. ปรากฏคำแถลงตอบโต้ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในเว็บไซต์ PPTV รายงานคำแถลงของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่ามีการเรียกประชุมตำรวจสืบสวนและตำรวจในพื้นที่ ที่รถตู้ขับไปฉายแสงเลเซอร์ใส่จุดต่างๆ โดยยังเปิดเผยก่อนประชุมด้วยว่าฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดใดบ้าง ซึ่งตำรวจมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นเตรียมการเรียกบุคคลใดเข้ามาสอบปากคำ แต่ฝากถึงกลุ่มผู้ที่ยิงแสงเลเซอร์ ให้ระมัดระวัง อย่าทำให้กลายเป็นความขัดแย้งของคนในชาติ

ส่วน พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ที่ประชุมยังไม่สรุปว่าจะเข้าข่ายกระทำความผิดใดบ้าง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อมูล และอยากขอให้ประชาชนพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ เนื่องจากเหตุการณ์ในวันนั้น มีการดำเนินคดีไปแล้วหลายคดี บางคดีมีคำพิพากษาไปแล้ว บางคดียังอยู่ในชั้นศาล ไม่ควรใช้การแสดงออกบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อสังคม

ขณะที่หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร (12 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฎิเสธแสดงความเห็นว่ากิจกรรมฉายแสงเลเซอร์ขัดกฎหมายหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ แต่ยอมรับว่า อยู่ระหว่างให้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบว่าเข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ นอกจากนี้ยังมองว่า ช่วงเวลาที่ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทุกคนควรรักและสามัคคีกัน เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ไม่อยากให้กลุ่มหรือฝ่ายใดสร้างความสับสนให้ประชาชน

10 ปีสลายแดง : ย้อนรอยคดีศาลชี้ 'ตายจากกระสุนทหาร' แต่ยังไม่มีใครรับโทษ, 11 เม.ย. 63

10 ปีสลายเสื้อแดง
ศาลชี้ 'ตายจากกระสุนทหาร' แต่ยังไม่มีใครรับโทษ

ส่วนที่รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ประชาชนพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎ เนื่องจากเหตุการณ์ในวันนั้น มีการดำเนินคดีไปแล้วหลายคดี บางคดีมีคำพิพากษาไปแล้ว บางคดียังอยู่ในชั้นศาลนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างปี 2555-2558 ศาลทยอยออกคำสั่งในการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมรวม 33 ราย โดยการไต่สวนการตาย เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 149 และ 150 กรณีเกิดความตายผิดธรรมชาติ

สำหรับคำสั่งไต่สวนการตายเหล่านี้ ศาลมีคำสั่งว่า ผู้เสียชีวิตถูกกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่หรือทหาร 18 ราย ส่วนอีก 15 ราย ศาลระบุว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ โดยกรณีสำคัญที่ศาลมีคำสั่งว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร เช่น 

เกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงช่วงบ่ายวันที่ 10 เมษายน 2553

พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ขณะขับมอเตอร์ไซค์ร่วมกับหน่วย มุ่งหน้าเข้าหน้าแนวเจ้าหน้าที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติดอนเมือง โดยคำสั่งศาลระบุว่าถูกกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งยิงจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

คดี 6 ศพวันปทุมวนาราม ศาลมีคำสั่งว่าทั้งหมดเสียชีวิตจากทหาร โดย 3 ใน 6 ผู้เสียชีวิตเป็นอาสาสมัครมนุษยธรรม คือกมลเกด อัคฮาด อัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล และมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

นอกจากนี้หลังจากรัฐประหารปี 2557 ขั้นตอนการไต่สวนการตายดูเหมือนจะหยุดชะงักไป ไม่มีกรณีใหม่ แม้จะเหลือรายชื่ออีกครึ่งร้อยที่ยังไม่มีคำสั่งไต่สวนการตายก็ตาม

ส่วนขั้นตอนเอาผิดทางกฎหมาย ในปี 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องสำนวนคดีที่อัยการฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่นเหตุสลายการชุมนุม นปช. โดยศาลเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล เพราะไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว เป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ต้องฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. ได้มีมติ ให้คำร้องที่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้องตกไป  

อนึ่งพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมลเกด พยาบาลอาสาที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม ได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหาร 8 นายที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 พะเยาว์เปิดเผยว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคลที่ระบุว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น

วิโรจน์ ลักขณาอดิศรท้ากองทัพดีเบตพฤษภา 53

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวานนี้ (12 พ.ค.) โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์บัญชีส่วนตัวถึงกระทรวงกลาโหม [1], [2] ระบุว่า

"กรณีเลเซอร์ #ตามหาความจริง 
โฆษกกลาโหม ออกมาแถลงว่าไม่เหมาะสม จึงขอถามว่า

1) การที่ทหารใช้กระสุนจริงยิงประชาชน นี่เหมาะสม?
2) 10 ปีแล้ว กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า หาคนผิดไม่ได้ นี่เหมาะสม?
3) ต้องเงียบๆ ยอมตายฟรี ถึงจะไม่สร้างความแตกแยก?

กองทัพพร้อมดีเบตกับประชาชนไหมครับ"

 

"ถ้ากลาโหมคิดว่ายิงเลเซอร์ #ตามหาความจริง นั้นไม่เหมาะสม

พร้อมเปิดเวทีสาธารณะแบบ Online เอาประเด็นที่ยิงเลเซอร์บนอาคาร มาดีเบต Live กับตัวแทนประชาชนดีไหมครับ

ประชาชนก็จะได้เอาหลักฐานมาให้กองทัพอธิบาย กองทัพก็จะได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย"

 

ต่อมาผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี @FahIsaress ได้ถาม ส.ส.พรรคก้าวไกลกลับว่า "การมองเหรียญด้านเดียวเป็นสิ่งอันตรายครับ การสังหาร พ.อ.ร่มเกล้า การบุกโรงพยาบาลจุฬา เหตุการณ์รถน้ำมันตรงดินแดง การบุกทำเนียบเพื่อต้องการจับตัวนายก และอื่นๆอีกมากมาย เป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับคุณใช่ไหมครับ"

ทำให้วิโรจน์รีทวิตตอบว่า "สิ่งที่ผมเรียกร้อง คือ การชำระทางประวัติศาสตร์ เอาหลักฐานทั้งหมดจากทุกฝ่ายมากาง และชี้แจงต่อสาธารณะ เพื่อ #ตามหาความจริง 

อย่าสรุปจากผลลัพธ์ หรือสื่อที่นำเสนอจากฉากหน้าที่เกิดขึ้น แต่อยากให้สาวถึงมูลเหตุที่อยู่เบื้องหลัง และเหตุการณ์แวดล้อมโยงใยทั้งหมดด้วยครับ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท