Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 หลังเกิดกระแสดราม่ามากมายในโลกโซเชียลว่า ควรหรือไม่ควรกับการที่รัฐบาลจะค้ำประกันเงินกู้จำนวน 5.4หมื่นล้านบาทให้กับการบินไทย โดยฝ่ายที่เห็นด้วยส่วนใหญ่มีเพียงเหตุผลเดียวนั่นก็คือการที่การบินไทยนั้นคือสายการบินแห่งชาติ ในขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็มีเหตุผลประกอบว่านี่คือการทำธุรกิจ จึงไม่ควรนำภาษีของประชาชนมาอุ้มไว้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน ขัดสนทางเศรษฐกิจจากพิษการระบาดของโควิด-19

ก่อนที่จะไปบอกว่าควรหรือไม่ควร เลยต้องมาทำความเข้าใจในปัญหาของการบินไทยกันก่อน

สิ่งที่สร้างความตกตะลึงเป็นอย่างมากนั่นก็คือตัวเลขการขาดทุนขององค์กรแห่งนี้ ที่มีจำนวนหนี้สินมากมายมหาศาล จากข้อมูลงบการเงินปี 2562 ของ บมจ.การบินไทย มีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท มีหนี้สินของบริษัทและบริษัทย่อยรวม 244,899 ล้านบาท เป็นหนี้สินหมุนเวียนจำนวน 62,636 ล้านบาท มีหนี้สินกำหนดชำระใน 1 ปี จำนวน 21,731 ล้านบาท โดยอัตราหนี้สินต่อทุน (debt to equity) สูงถึง 14.55 เท่า อัตราหนี้สินต่อกระแสเงินสด (debt to EBITDA) 86.43 เท่าตัว ในขณะที่อัตราส่วนความสามารถชำระภาระผูกพัน (debt service coverage ratio) ลดต่ำลงเหลือแค่ 0.62 เท่า มีกระแสเงินสดจำนวน 21,000 ล้านบาท มีส่วนที่ต้องจ่ายเป็นเงินสด 11,000 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดคงเหลือราว 10,000 ล้านบาท รองรับการดำเนินการปี 2563 แต่เนื่องจากมีหนี้ครบกำหนดชำระปี 2563 นี้ราว 25,000 ล้านบาท จึงอาจทำให้ขาดสภาพคล่อง และส่งผลให้อาจต้องกู้เงินเพิ่มหรือผัดหนี้ออกไปก่อน

ซึ่งถ้าพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวข้างต้นนี้ในภาวการณ์ปกติแล้ว องค์กรแห่งนี้ ก็ถือว่าร่อแร่เต็มที ดังนั้นเมื่อต้องมาเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจเกือบทั้งหมดทั่วโลกต้องตกอยู่ในภาวะอัมพาตด้วยแล้ว องค์กรแห่งนี้จึงมิต่างจากซากศพดีๆ นี่เอง

แล้วเราควร หรือไม่ควรที่จะชุบชีวิตซากศพ...?

ปัญหาเดียวกันนี้ เคยมียักษ์ใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมการบินของโลกอย่าง Japan Airline (JAL) ของญี่ปุ่นเคยประสบมาแล้ว และเคยมีคนชุบชีวิตซากศพอย่าง JAL ให้พลิกฟื้นคืนกลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ แถมพลิกกลับมาผงาดในแวดวงอุตสาหกรรมการบินได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยผลประกอบการที่ดีเยี่ยม

ประมาณกลางปี 2552 เจแปนแอร์ไลน์ที่เคยผงาดมาก่อนหน้านั้น ได้ประสบปัญหาวิกฤตการทางการเงินจากการขาดทุนสะสมอย่างรุนแรง ได้มีความพยายามจะให้รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเข้ามาสนับสนุนเรื่องของเงินกู้หรือค้ำประกันให้ แต่ด้วยจำนวนเงินหนี้สินที่มากมายมหาศาลถึง 2.57หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ปลายเดือน ก.ย.ปี 52) ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นออกมาคัดค้านจำนวนมาก จนรัฐบาลต้องล่าถอยพับแผนที่จะอุ้มสายการบินแห่งนี้ไป ทำให้ JAL ต้องยื่นขอล้มละลายต่อศาล เพื่อปรับโครงสร้างแผนฟื้นฟู และพิทักษ์ทรัพย์ในช่วงวันที่ 19 มกราคม 2553 โดยดีเวลล็อปเมนท์ แบงค์ ออฟ เจแปน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของ JAL ได้สนับสนุนให้สายการบินยื่นพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย เนื่องจากมองว่า การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์กับศาล จะทำให้ JAL สามารถตกลงกับกลุ่มผู้ถือหุ้นและสหภาพแรงงานในประเด็นต่างๆ ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสายการบิน และถัดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ JAL ก็ถูกถอดออกจากตลาดหลักทรัพย์

หลังจากผ่านกระบวนการล้มละลายทางศาลแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นถึงได้เข้ามาอัดฉีดเงินช่วยเหลือจำนวน 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเงื่อนไข JAL จะต้องปรับโครงสร้างการบริหารและเปลี่บยผู้บริหารใหม่ พร้อมทั้งต้องลดจำนวนพนักงานลง 16,000 คนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ และรัฐบาลญี่ปุ่นเลือกที่จะส่ง “คาซูโอะ อินาโมริ” ในวัย 78 ปีมาเป็นผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งเขาเลือกรับตำแหน่งแบบไม่เอาเงินค่าตอบแทน เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าตั้งใจมาพลิกฟื้นกิจการ ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์แอบแฝง

“คาซูโอะ อินาโมริ” ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ “เคียวเซร่า” เข้ามาบริหาร JAL ด้วยความมุ่งมั่นแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในแวดวงสายการบิน ในช่วงเดือนแรกเขาจะพูดคุยแนวคิดในการทำงานและเรียนรู้งานกับผู้บริหาร JAL จำนวน 50คนทุก ๆ เย็นหลังเลิกงาน เพื่อให้นำแนวคิดในการทำงานของเขาไปถ่ายทอดกับผู้บริหารระดับรอง ๆ ลงไปอีกกว่า 200 คนทำให้เกิดการซึมซับปรัชญาในการทำงานของเขา เมื่อทุกคนเข้าใจ เขาก็เริ่มลดจำนวนพนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ตามเป้าจาก 50,000 คนเหลือ 35,000 คน ซึ่งตรงนี้ทำให้ JAL ประหยัดค่าจ้างในส่วนนี้ได้มากถึงกว่า 32,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเจรจาลดอัตราค่าจ้างลงทั้งพนักงานที่ยังคงทำงานอยู่ และพนักงานที่เกษียณไปแล้วรับบำนาญ มีการลดจำนวนเครื่องบิน ลดจำนวนเที่ยวบิน และยกเลิกเที่ยวบินที่ขาดทุนทิ้งทั้งหมด ซึ่งโดยรวมในส่วนนี้สามารถทำให้ JAL ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ถึง 30%

และเพียงแค่ 2 ปี ความสำเร็จของ JAL ภายใต้บังเหียนของ “คาซูโอะ อินาโมริ” ก็มาถึง JAL สามารถกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง และในปี 2555 หุ้นของ JAL ก็กลับเข้าไปซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง

“คาซูโอะ อินาโมริ” และ JAL ได้รับรางวัลต่างๆ นานามากมายจากทั่วโลก กระทั่งในปี 2560 JAL สามารถทำรายได้ไปกว่า 389,000 ล้านบาท และมีผลกำไรสูงถึง 39,000 ล้านบาท

ที่นำเรื่องของ JAL มาบอกกล่าวนี้ เพียงเพราะต้องการให้เห็นว่า JAL ไม่ใช่ผู้ป่วย ICU แต่คือซากศพ “คาซูโอะ อินาโมริ” เป็นเพียงนายแพทย์ที่มีความตั้งใจจะชุบชีวิตซากศพขึ้นมาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือซากศพนั้น จะร่วมมือมากน้อยขนาดไหน

กรณีของ JAL จะไม่สามารถเป็นกรณีศึกษาได้เลย หากพนักงานที่มีมากเกินงานจำนวน 15,000 คนไม่ยอมเสียสละลาออก หากพนักงานที่ยังคงทำงานอยู่และพนักงานบำนาญไม่ยอมเสียสละลดค่าจ้างตัวเองลง 30% และหากทุกภาคส่วนไม่เห็นพ้องต้องกันกับ“คาซูโอะ อินาโมริ” ในทุกมาตรการ และในทุกกรณีที่เขานำเสนอ

เราไม่ได้หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีวิสัยทัศน์เท่านายยูคิโอะ ฮาโตยามะ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เราไม่ได้หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความสามารถในการหาคนมาบริหารการบินไทยได้เยี่ยมแบบ“คาซูโอะ อินาโมริ”

แต่สิ่งที่เราหวังจากรัฐบาลก็คือ การที่จะต้องให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายทางศาลซ่ะก่อน เพื่อพิทักษ์ทรัพย์และปรับโครงสร้าง พร้อมแผนฟื้นฟูที่เป็นที่ยอมรับ แล้วถึงค่อยให้การช่วยเหลือด้านการเงินแบบที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำกับ JAL

และถ้าจะจำกันได้แผนฟื้นฟูการบินไทยภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราเคยดำเนินการกันมาแล้วเมื่อปี 2558 ซึ่งต้องบอกเลยว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่เป็นไปตามแผนที่วาดฝัน เปรียบเสมือนคนไข้ ICU หมอคนนี้ผ่าตัดล้มเหลวมาแล้ว เรายังจะให้ความไว้วางใจผ่าตัดใหม่อีกครั้งหรือ

และทั้งหลายทั้งปวง ปัญหาของการบินไทย ไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่หนี้สิน มิได้หยุดอยู่แค่ที่ผู้บริหาร มิได้หยุดอยู่ที่แผนฟื้นฟู แต่ปัญหาคือคนของการบินไทยเองต่างหากท เพราะมีการประเมินกันว่าทุกวันนี้องค์กรแห่งนี้ก็มีบุคลากรเกินงานจำนวนไม่น้อย อัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการ อภิสิทธิ์ต่างๆ ก็สูงและมีมิใช่น้อย

พวกท่านจะสามารถทำได้ดั่งเช่นพนักงานของสายการบิน JAL ทำหรือเปล่า...?

ท่านจะสะกดคำว่า“เสียสละ” กันเป็นหรือเปล่า...?

หรือจะเป็นเช่นสโลแกน “การบินไทย..รักตัวเองเท่าฟ้า”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net