สุรพศ ทวีศักดิ์: มองวิกฤตโควิดผ่านปรัชญาเสรีนิยมสายคานท์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักวิชาการบางคนมองว่า วิกฤตโควิด-19 คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติ เพราะมันคือสิ่งที่เรายังไม่รู้จักอย่างแท้จริงว่า เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ มันอยู่ตรงไหนบ้าง และมันจะจู่โจมเราเมื่อไร จะกลายพันธุ์และแพร่ระบาดยาวนานแค่ไหน ความรู้เกี่ยวกับมันและวิธีการป้องกันตัวเองเป็นสมมติฐานถึงความเป็นไปได้มากกว่าที่จะมั่นใจว่าได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มนุษย์ก็เชื่อว่าจะจัดการกับมันได้ด้วยการวิจัยเพื่อสร้างวัคซีนป้องกัน ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่าเราจะสูญเสียมากมายเพียงใด และสังคมมนุษย์หลังโควิดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือจะยังคงเป็นแบบเดิมๆ

ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุที่มาของไวรัสสัมพันธ์กับความไม่เชื่อถือในการเปิดเผยความจริงของรัฐบาล แน่นอนว่า ประวัติศาสตร์สอนเรามาตลอดว่าไม่ว่าในยามเผชิญกับวิกฤตใดๆ รัฐบาลมักจะไม่พูดความจริงทั้งหมด ไม่ว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย หรือเผด็จการรูปแบบใดๆ ก็ตาม แต่เราก็เชื่อว่าในรัฐบาลประชาธิปไตยประชาชนมีเสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ มีช่องทางตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบได้มากกว่า กระนั้น ประสิทธิภาพ, ความรวดเร็วทันการณ์ และความเป็นธรรมในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ เศรษฐกิจ การตกงาน และสวัสดิการอื่นๆ ประชาชนทุกประเทศที่เผชิญวิกฤตล้วนแต่ตั้งคำถามทำนองเดียวกันกับรัฐบาลในประเทศของตนเอง

คำถามสำคัญหนึ่งที่ถือว่าเป็นคำถามพื้นฐานในทางปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมืองคือ รัฐและสังคมควรช่วยเหลือคนกลุ่มใดก่อนในสถานการณ์วิกฤตโควิด เช่นว่า 

1. ถ้าเครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วยและอื่นๆ มีไม่พอ แพทย์ควรปล่อยให้คนชรา ร่างกายอ่อนแอที่ติดไวรัสตายไป เพื่อที่จะเซฟชีวิตคนวัยหนุ่มและเด็กๆ หรือควรยึดถือหลักการว่าใครมาถึงก่อนก็ควรมีสิทธิได้รับการรักษาก่อน 

2. ในทางเศรษฐกิจ รัฐควรช่วยเหลือคนกลุ่มใดมากกว่าระหว่างคนยากจน คนไม่มีงานทำ คนไร้บ้าน กับการช่วยเหลือผู้ประกอบการ นายทุนให้สามารถรักษากิจการหรือธุรกิจของตนเอาไว้และชดเชยเยียวพนักงานจำนวนมากที่ต้องหยุดงาน เพื่อว่าหลังวิกฤตโควิด เศรษฐกิจของประเทศจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วและประชาชนมีงานทำต่อไป

3. ในสถานการณ์วิกฤตรัฐบาลในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้อำนาจในการจัดการป้องกันและแก้ปัญหา ซึ่งหนีไม่พ้นการใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง คำถามที่ตามมาคือ รัฐควรใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ในขอบเขตแค่ไหน และยาวนานเพียงใด

ต่อปัญหาดังกล่าวผมจะทดลองตอบด้วยปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) เมื่อพูดถึงปรัชญาเสรีนิยมก็มักจะถูกโจมตีว่าเป็นปรัชญาที่เน้นปัจเจกภาพ (individuality) ที่ถือว่าปัจเจกบุคคลแต่ละคนเป็นอิสระหรือเป็นเอกเทศจากคนอื่น จากสังคมและรัฐ ด้วยฐานคิดนี้ทำให้เสรีนิยมเชิดชูคุณค่าของเสรีภาพตามความพึงพอใจของแต่ละคนเป็นสิ่งสูงสุด 

แท้ที่จริงแล้วแนวคิดเสรีนิยมมีความซับซ้อน มีหลายเฉด และมีพัฒนาการในแบบที่แต่ละเฉดต่างถกเถียงหรือมี “วิวาทะ” กันมาตลอดประวัติศาสตร์ปรัชญาศีลธรรมและปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ แต่โดยทั่วไปแล้วความคิดพื้นฐานของปรัชญาเสรีนิยมเน้นการยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยการเน้นหลักการนี้ ปัจเจกบุคคลไม่สามารถใช้เสรีภาพตามความพอใจโดยไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคนของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้ปัจเจกบุคคลจะมีชีวิต จิตใจ ร่างกาย สิทธิ อำนาจ เหตุผล ความคิด ความเชื่อ ความฝัน อุดมคติ นิสัย รสนิยม และอื่นๆ เป็นของตนเองที่เป็นอิสระจากอำนาจครอบงำกำหนดของคนอื่นและสังคม (ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี) ก็ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนจะใช้เสรีภาพตามความพอใจเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งปัจเจกภาพของตนเองได้โดยไม่ต้องมีพันธะเคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ในแง่นี้จึงจำเป็นต้องมีระบอบเสรีประชาธิปไตยเพื่อให้หลักประกันว่าพันธะดังกล่าวจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

แล้วเสรีนิยมจะตอบปัญหาสามประการที่กล่าวมาอย่างไร เสรีนิยมสายประโยชน์นิยม (utilitarian liberalism) จะตอบในทางหลักการว่า “ควรเลือกทางปฏิบัติที่จะเกิดผลเสียน้อยที่สุดและเกิดประโยชน์มากที่สุด” หลักการนี้ดูจะสอดคล้องกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป และเป็นแนวทางที่รัฐต่างๆ ใช้ในการตัดสินใจจนเป็นเรื่องปกติ โดยหลักการนี้เราเข้าใจได้ว่า แพทย์และรัฐจะตัดสินใจอย่างไรในปัญหาสามประการนั้น 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เสรีนิยมสายประโยชน์นิยมจะยืนยันทางเลือกที่จะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่าก็ยืนยันทางเลือกดังกล่าวพร้อมๆ กับการยืนยัน “เสรีภาพ” ด้วย ดังนั้น หากรัฐจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในสถานการณ์วิกฤต รัฐต้องอธิบายได้ว่าการจำกัดเสรีภาพนั้นจะส่งผลเสียหายน้อยกว่าการปล่อยให้มีเสรีภาพตามปกติอย่างไร และจะทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุดอย่างไร เงื่อนของที่จะช่วยให้รัฐอธิบายเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีเหตุผลที่ฟังขึ้น รัฐจำเป็นต้องคงเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบและเปิดช่องทางการเรียกร้องความรับผิดชอบหรือดำเนิการเอาผิดต่อการกระทำที่ผิดพลาดเสียหายของรัฐบาลเอาไว้ด้วย 

ดังนั้น การใช้กฎหมายหรือออกมาตรการใดๆ ที่จำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง จะต้องไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลและไม่มีวาระซ่อนเร้นที่จะใช้กฎหมายหรือมาตรการนั้นๆ มุ่งเอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 

ทว่าเสรีนิยมสายคานท์ (Kantian liberalism) จะตอบตรงข้ามกับเสรีนิยมสายประโยชน์นิยม ต่อปัญหาข้อแรก ตามทัศนะของคานท์ (Immanuel Kant) เราไม่อาจใช้ชีวิตของคนชราเป็นเครื่องมือเพื่อรักษาชีวิตของคนวัยหนุ่มหรือเด็กโดยข้ออ้างเรื่องประโยชน์ส่วนรวมหรือเงื่อนไขอื่นใดได้ เพราะทุกคนมีคุณค่าในตัวเองเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสมอภาคกัน ดังนั้น ใครมาถึงมือหมอก่อนก็ย่อมได้รับสิทธิในการรักษาก่อน และสำหรับหลัก “ความยุติธรรม” ของรอลส์ (John Rawls) คนที่อยู่ในสถานะที่ลำบากมากกว่า เช่น คนยากจน คนตกงาน คนไร้บ้าน และอื่นๆ ต้องมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือก่อน

คำถามคือ ช่วยเหลือคนเหล่านี้แล้ว จะมีประโยชน์อะไรแก่ส่วนรวมหรือ เพราะว่าคนจน คนตกงาน คนไร้บ้านหรือคนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในภาวะยากแค้นแบบเดียวกัน ไม่ใช่คนที่จะมีศักยภาพสร้างรายได้ จ่ายภาษี หรือพูดรวมๆ คือไม่มีประโยชน์อะไรต่อการทำให้เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองดีขึ้นเลย พวกเขาเป็นภาระเสียมากกว่า ดังนั้น การเลือกช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการหรือนายทุนอยู่รอดย่อมจะเกิดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า เพราะกิจการของพวกเขาช่วยให้คนจำนวนมากมีงานทำ มีรายได้ และจ่ายภาษี 

ประเด็นนี้ คานท์จะตอบว่าคุณค่าของคนไม่ได้วัดจากเขามีประโยชน์มากกว่า หรือสร้างประโยชน์ได้มากกว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน คุณค่านี้คือ “คุณค่าในตัวเอง” เรามีคุณค่าเพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพราะสถานภาพทางสังคมใดๆ ของเรา (เช่น ชาติกำเนิด, รวย, จน, สติปัญญา, ความสามารถ, คุณธรรม ฯลฯ) เหตุผลในการช่วยเหลือกันจึงไม่ขึ้นกับเงื่อนไขเรื่องประโยชน์ แต่คือเหตุผลเรื่อง “หน้าที่” ต้องปกป้องคุณค่าในตัวเองของมนุษย์ การที่เราปล่อยให้เพื่อนมนุษยที่ยากลำบากมากที่สุดตายไป ด้วยข้ออ้างเรื่องประโยชน์ส่วนรวมหรืออะไรก็ตาม เรากำลังไม่เคารพความเป็นคนของเขา กำลังใช้ความเป็นคนของเขาเป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายบางอย่าง และเท่ากับเราไม่เคารพคุณค่าความเป็นคนของเราเองด้วย

รอลส์ซึ่งได้อิทธิพลทางความคิดจากคานท์ ก็จะตอบเชิงวิพากษ์ว่า คำตอบแบบประโยชน์นิยมไม่ใช่ “คำตอบพิเศษ” ที่ใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตอะไรเลย ที่จริงแล้วคุณเอาคำตอบที่รัฐต่างๆ ใช้กันในภาวะปกตินั่นแหละมาเป็นคำตอบสำหรับภาวะวิกฤต และอันที่จริงปัญหาต่างๆ ที่พบจากวิกฤตโควิด(เป็นต้น) เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมด้านต่างๆ ก็เพราะเราใช้หลักการแบบประโยชน์นิยมเป็นคำตอบมาตลอดนั่นเอง ดังนั้น ทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ต้องเน้นเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น กล่าวคือ เสรีภาพเชิงลบ (negative freedom) คือเสรีภาพที่ไม่ถูกละเมิดจากคนอื่น จากสังคมและรัฐย่อมจำเป็นต้องมี แต่รัฐต้องส่งเสริมเสรีภาพเชิงบวก (positive freedom) ด้วย ถ้าความยากจน ความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา การมีงานทำ และการบริการสาธารณะเป็นอุปสรรคไม่ให้คนจำนวนมากสามารถจะมีเสรีภาพเชิงบวกในการแสวงหาความสุขในชีวิต การสร้างสรรค์งาน และสร้างประโยชน์อื่นๆ รัฐก็จำเป็นต้องสร้างหลักประกันการมีเสรีภาพเช่นนี้ นั่นคือ รัฐต้องถือว่าสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการมีชีวิตที่ดีเป็น “สิทธิ” ที่พลเมืองทุกคนต้องได้รับเท่าเทียมกัน หากรัฐและสังคมคิดเรื่องนี้หรือตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสาธารณะแบบยึดหลักการนี้อย่างเป็นปกติตั้งแต่แรก ก็ไม่ต้องมาเถียงกันว่าในยามวิกฤตเราควรจะปล่อยให้คนกลุ่มไหนตาย จะช่วยเหลือเป็นพิเศษให้คนกลุ่มไหนรอด เพราะทุกคนมีหลักประกันความรอดถ้วนหน้าตั้งแต่แรก ในยามวิกฤตและหลังวิกฤตก็ต้องใช้หลักประกันการรอดถ้วนหน้าเป็นคำตอบด้วยเช่นกัน

ผมคิดว่าคำตอบแบบเสรีนิยมสายคานท์น่าสนใจ ถ้าเรายืนยันหลัการพื้นฐาน(เชิงอุดมคติ)ว่า เราทุกคนมีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอภาคกัน มีสิทธิ เสรีภาพเป็นของตนเองเท่าเทียมกัน จากหลักการพื้นฐานนี้เราไม่ได้มีรัฐเพื่อเป็นพ่อปกครองลูกหรือมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือหัวเรา แต่มีรัฐไว้เพื่อวางหลักประกันไม่ให้สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนของเราถูกละเมิด และให้หลักประกันสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้เราทุกคนมีความเสมอภาค และมีเสรีภาพเชิงบวกในการใช้ชีวิตสมกับที่มีความเป็นมนุษย์ผู้มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง และมีศักยภาพสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่างๆ แก่ตนเองและสังคม

ไม่ว่าในภาวะปกติหรือวิกฤตเราทุกคนต้องถูกเคารพในคุณค่าความเป็นคนเสมอกัน และต้องมีสิทธิเสมอภาคกันในการได้รับหลักประกันการมีชีวิตที่ดีและให้รอดไปด้วยกันเสมอหน้า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท