Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัสโคโรนากระจายตัวไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ได้สร้างความหวาดกลัวและแนวทางการดำเนินชีวิตแบบใหม่ให้เกิดกับมนุษย์ อาจกล่าวได้ว่าจุลชีพมีบทบาทกับสังคมโลก เพราะมันได้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างสังคมมนุษย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมวงกว้าง แต่ไวรัสโคโรนาไม่ใช่จุลชีพแรกสุดที่มีบทบาทกับสังคมโลก

แบคทีเรียกับการล้มสลายของระบบศักดินายุโรป 

ประวัติศาสตร์จุลชีพและโรคระบาดช่วยเติมเต็มความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เพราะจุลชีพดังกล่าวได้ฆ่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ก่อความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตประเมินไว้ราว 75 ถึง 100 ล้านคน และทวีความรุนแรงที่สุดในทวีปยุโรประหว่างปี ค.ศ.1348–1350 จุลชีพดังกล่าว คือ แบคทีเรียที่เรียกว่า Yersinia pestis ก่อให้เกิดกาฬโรคและบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์
ในสังคมยุโรปกลางนั้นได้มีโครงสร้างสังคมแบบฟิลดัลโดยกษัตริย์จะมอบที่ดินให้กับที่ดินให้กับขุนนางเพื่อให้นำไปให้บุคคลที่เหล่าขุนนางดูแลนั้นทำประโยชน์โดยเรียกที่ทั้งหมดว่า แมเนอร์ (The manorial System) คำว่า “Manor” ซึ่งก็คือ ปราสาท หมู่บ้าน และเนื้อที่ดินเป็นของลอร์ดทั้งหมด เป็นสถานที่ซึ่งลอร์ดและครอบครัว คนรับใช้ ทหารและเซอร์ฟของตนดำรงอยู่ดังสภาพของแมเนอร์ นั้นคือ มีปราสาทของลอร์ดอยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกระท่อมของชาวนารวมกันเป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีทั้งโรงสี โรงตีเหล็ก วัดเล็กๆ และบ้านสำหรับพระประจำหมู่บ้าน รอบนอกของหมู่บ้านก็คือ ทุ่มโล่งสำหรับการเกษตร ทุ่งหญ้าและป่าไม้ เนื้อที่ใช้เพาะปลูก 1 ใน 3 จะถูกกันไว้สำหรับลอร์ด อาจจะรวมอยู่ในเนื้อที่เดียวกัน หรือกระจายกันอยู่ตามส่วนต่างๆของแมเนอร์ก็ได้ (1)  

กระทั่งเชื้อโรคจากดินแดนเอเชียตะวันออกเข้ามาจากเส้นทางสายไหมและการเดินเรือจากการเดินทางแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า เช่น น้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ และผ้าไหม เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวติดมากับหนูและลูกเรือ การแพร่กระจายของเชื้อโรคส่งผลกระทบกับระบบศักดินาของอังกฤษโดยตรง เพราะ เมื่อประชากรลดจำนวนลง ชาวนาจึงมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น เพราะแรงงานที่มีจำนวนจำกัดจึงทำให้มีราคาค่าจ้างที่สูง แรงงานที่ขุนนางเคยได้เปล่าจากชาวนาต้องกลายเป็นต้นทุนที่ขุนนางต้องจ่าย ดังนั้นกลุ่มขุนนางจึงร่วมกันออกกฏหมายเพื่อกดค่าแรงให้ต่ำลงและเรียกภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้น มาตรการตอบโต้ของขุนนางยอมสร้างความไม่พอใจกับชาวนากระทั่งกลายเป็นชนวนหนึ่งในการปฏิวัติในประเทศอังกฤษ (2)  
ในบริบทกาฬโรคกับระบบราชการสยาม เชื้อโรคมีส่วนเร่งในระบบราชการให้เข้มงวด ชัดเจนมากขึ้นเพื่อความรวดเร็วในการจัดการกับโรคภัยจากต่างแดนที่ระบาดเข้ามา ทั้งเพิ่มกำลังคน ขั้นตอน มาตรการต่างๆ ไปตามหัวเมืองต่างๆ ที่ยังขาดแคลนระบบเชื้อโรค มีส่วนกับการปกครองของสยาม

นอกจากนี้ ในความเข้าในทั่วไปการเปิดประเทศสยามเกิดจากสนธิสัญญาการค้า แต่ในอีกด้านหนึ่งเชื้อโรคในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นวงรอบของการระบาดของโรคดังกล่าวในช่วงที่ 3 ของโลกส่งผลให้สยามขยายความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อป้องกันโรคระบาดต่างๆ ความรู้ มาตรการป้องกัน เครื่องมือทางการแพทย์ ผ่านระบบการฑูต ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้ไพร่ที่เป็นกำลังการผลิตล้มตายไปเสียก่อน โรคระบาดดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับการผลิต บริโภค การเดินทาง ในบริบทสังคมสยามรัชกาลที่ 5 ด้วยความหวาดกลัวในโรคภัยจากเชื้อโรคจึงทำให้ชนชั้นนำไทยต้องติดต่อสัมพันธ์กับฝรั่งเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารวิธีการกักกัน เรือ ผู้คน โดยเฉพาะนำความรู้ทางด้านการแพทย์ทั้งคน ความรู้ เครื่องมือทางการแพทย์เข้ามา (3)

การมาถึงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ : ทุนนิยมกับการขูดรีดจนเกินขนาด

เชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไวรัสโคโรนา ทำให้เกิดชุดการอธิบายที่มาของไวรัสที่แตกต่างกันไป ทั้งในส่วนของวันสิ้นโลกแบบแนวคิดทางศาสนา การปรับสมดุลของโลกแบบนักสิ่งแวดล้อม และทุนนิยมมีส่วนในการสร้างโรคระบาดใหม่ กล่าวคือ ไวรัสโคโรนาเกิดจากค้างคาวหรือสัตว์ป่าชนิดติดต่อสู่คน เกิดจากการทำลายพื้นที่ป่าร้อนชื้นโดยบริษัททำสัมปทานการฟาร์มเพาะปลูก กลุ่มธุรกิจของมหาเศรษฐีต้องการพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเข้าไปลงทุนเพาะปลูกพื้นธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาในแถบ แอฟริกา อเมริกาใต้ ทั้งพืชพลังงาน กาแฟ เป็นต้น โดยกระทำผ่านตัวแทนของรัฐเพื่อ “สร้างความกินดีอยู่ดี”ให้กับคนพื้นเมือง ในราคาค่าเช่าพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่แพง ชนพื้นเมืองเสมือนเป็นแรงงาน โดยสร้างระบบระเบียบการดำเนินงานคล้ายอาณานิคมในพื้นที่นั้น ร่วมถึงอุตสาหกรรมค้าสัตว์ป่าซึ่งสร้างมูลค่าให้กับพ่อค้าเป็นจำนวนเงินหลายล้านบาทต่อปี ป่าที่เคยเป็นพื้นที่กักเก็บไวรัส แบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ เพิ่มโอกาสทำให้เกิดการส่งต่อเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน(zoonotic)ทั้งแบบสัมผัสโดยตรงจากผิวหนัง น้ำลาย. เลือด  การสัมผัสแบบไม่เกิดขึ้นโดยตรงแต่อยู่ใกล้ที่พักของสัตว์และถูกกัดจากไร เห็บหมัด 

เพื่อทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการแพร่กระจายโรคดังกล่าว มิใช่ธรรมชาติปรับสมดุลโลก แต่เกิดจากระบบทุนนิยมทำลายพวกเรา ทั้งการขยายพื้นที่ทำการเกษตร พืชพลังงาน การเกิดเมือง อุตสาหกรรมค้าสัตว์ป่า เพราะพื้นที่ป่าเป็นที่กักเก็บเชื้อโรคหลายชนิด โดยมีองค์กรข้ามชาติอย่างเช่น WHO ในฐานะผู้ควบคุมและอำนวยความสะดวกให้กับทุนข้ามชาติทำงานต่อไปโดยไม่สะดุดจากเชื้อโรคซึ่งกลุ่มประเทศที่ให้เงินสนับสนุน คือ อเมริกา จีน  และ สหภาพยุโรป  ความคิดแบบธรรมชาติปรับสมดุลน่าสนใจว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับนายทุน เพราะกลุ่มทุนไม่ต้องรับผิดชอบกับการขยายตัว  บุกเบิกกับการผลิตดังกล่าว (4) 

ชีวิตท่ามกลางเชื้อโรค ทำไมต้องเปรียบเสมือนว่าเราอยู่ในศึกสงคราม 

เมื่อเกิดโรคภัยดังกล่าวขยายตัว ข้ามพรมแดนไปยังดินแดนต่างทั่วโลก รูปแบบในการบริหารจัดการโรคระบาดดังกล่าวมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเน้นให้ประชากรสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ปิดเมือง ขอความร่วมมือในการสร้างระยะห่างระหว่างบุคคล เพราะเชื่อในการเป็นหุ้นส่วนของคนในประเทศและเชื่อว่าประชากรของตนมีวุฒิภาวะที่ดีเพียงพอ (5) แต่ในรัฐอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น อิตาลีหรือประเทศกลุ่มยุโรปรวมถึงประเทศไทย ออกมาตรการต่างๆเพื่อบังคับประชากรของเอง คือ การสวมหน้ากาก ในบริบทปัจจุบันทั่วโลกเห็นร่วมกันว่าประชากรโลกต้องสวมใส่หน้ากากเมื่อต้องการออกไปนอกบ้าน

หน้ากากในทางมานุษยวิทยาเป็นสิ่งที่มีนานแล้ว ก่อนประวัติศาสตร์และก่อนยุคการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อจุดประสงค์ต่างๆ แต่ส่วนหนึ่งที่คล้ายกัน คือ การเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากสถานหนึ่งไปยังอีกสถานหนึ่ง เช่น เตรียมสำหรับโลกหลังความตายของอียิปต์โบราณ ในบริบทบางกลุ่มชนเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่  และถ้าในบริบทปัจจุบัน คือ เปลี่ยนผ่านเข้ามายังสถานการณ์ใหม่ๆ ในปัจจุบันการเข้าสู่ new normal ในการดำเนินชีวิตกับเชื้อโรค

มาตรการลำดับต่อมา คือ การจำกัดการเคลื่อนที่โดยอาศัยกำลังทหาร ตำรวจเข้ามาตรวจตราในพื้นที่สาธารณะและสร้างภาวะยกเว้นให้เกิดขึ้นกับรัฐของตนเอง เริ่มต้นจากวาทกรรมที่สื่อมวลชนสร้างขึ้นให้เสมือนว่ากำลังอยู่ในสภาวะไม่ปกติ เช่น We are at War เปรียบเทียบเสมือนเราอยู่ในสงคราม นักรบชุดกราว ชุดคำอธิบายดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อสร้างสภาวะยกเว้นในด้านสิทธิเสรีภาพ สิ่งที่ตามอีกด้านหนึ่ง คือ การสอดส่องประชากร แน่นอนว่าด้วยกำลังพลของรัฐที่จำกัด ในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน ใช้แอฟพิเคชั่นในมือถือเพื่อการสอดส่องร่างกายของประชากรของตนเอง  แต่ในอิตาลีได้ทำให้ประชากรของตนเองกลายเป็นตำรวจที่คอยสอดส่องเพื่อนบ้านทั้งที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงและเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์  

ชุดความรู้สร้างความชอบธรรมให้กับการถูกควบคุมจากภาครัฐ คือ “คนอิตาเลียนเป็นคนไร้ระเบียบ” จนทำให้เกิดการระบาดของโรคในวงกว้าง ภายหลังชุดความคิดดังกล่าวเริ่มถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นเพียงแค่มายาคติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดความจริงของระบบสาธารณสุขของประเทศที่ถูกตัดงบประมาณซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการลดความสามารถในการรักษาชีวิตผู้คนเอาไว้ ดังนั้นมาตรการป้องกันไม่ควรมีแค่มาตรการในการจำกัดสิทธิส่วนบุคคล ลงโทษ. สอดส่อง ตำหนิหรือประจานบุคคลทั่วไปที่ไม่ยอมทำตามระเบียบของรัฐ (6)

ก่อนหน้าของการระบาดโควิท 19 โลกเราได้เผชิญกับภัยพิบัติจากโรคระบาดอย่าง เช่น อีโบลา แถบแอฟริกาตะวันตก นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยซึ่งน่านำมาใช้เพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ หนึ่งให้ความสําคัญกับหน่วยงาน อสม.หรือแพทย์ในการป้องกันตัวเองในการรักษาโรค สองในระดับชนบทต้องดึงเครือข่ายความเชื่อและศาสนาท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของข่าวสารและเผยแพร่วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง สามการเสียชีวิตจากสิ่งอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น อดตาย การกักตัวแน่นอนว่าเป็นการตัดการแพร่เชื้อได้ แต่คนส่วนหนึ่งอาจเสียชีวิต เพราะไม่มีอาหารในระหว่างการกักตัว ควรมีหน่อยงานดูแลในเรื่องดังกล่าว สี่การดูแลเกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับศพผู้เสียชีวิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนาและสุขอนามัย (7)

ในยามวิกฤติพวกเราเผชิญกับทางเลือกที่สำคัญ.คือ หนึ่งการถูกสอดส่องของผู้นำเผด็จการและชาตินิยม และสองผู้นำที่ดีเชื่อมั่นในสมาชิกสังคมของตนเองและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อหนุนให้รวมตัวช่วยเหลือกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อ้างอิง
1. http://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/social04/18/middleages/manor_system_i.html
2. https://www.salon.com/2020/04/26/the-black-death-led-to-the-demise-of-feudalism-could-this-pandemic-have-a-similar-effect 
3.สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.(2562). กาฬโรค สมัยรัชกาลที่ 5 .กรุงเทพ: กรมศิลปากร
4. https://socialistworker.co.uk/art/49875/Viruses+and+the+sick+system+that+destroys+our+environment
5. https://www.irishtimes.com/life-and-style/health-family/how-sweden-faced-the-virus-without-a-lockdown-1.4240944 
6. ttps://journals.uio.no/JEA/article/view/7864?fbclid=IwAR2vduhoeTrv-8CJUzk3nWtDbSbpQdEdRm4KyhlMLQlDg7hUkXjVbVIUEz8.
7. http://www.ebola-anthropology.net


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net