Skip to main content
sharethis

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องรัฐบาลทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ-นิคมอุตสาหกรรมจะนะ 1.8 หมื่นล้าน และเลิกเวทีรับฟังความเห็นช่วง 14-20 พ.ค. เพราะที่ผ่านมาไม่มีการให้ข้อมูลรอบด้าน และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่เป็นโครงการใหญ่ส่งผลกระทบประชาชนวงกว้าง ขณะที่เยาวชนจากชุมชนประมงจะนะปักหลักข้ามคืนรอฟังคำตอบผู้ว่าฯ สงขลา 

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. เพื่อยื่นหนังสือต่อจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา เพื่อส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาสั่งการให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยกเลิกการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต.สะกอม ต.ตลิ่งชัน และ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ในวันที่ 14 ถึง 20 พ.ค. 63 และทบทวนโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีในสมัย คสช. มีมติ 7 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบหลักการการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต และมีมติคณะรัฐมนตรี 21 มกราคม 2563 เห็นชอบประกาศศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องกำหนดให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจำนวน 18,680 ล้านบาท มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการ

ในแถลงการณ์ของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นระบุว่า ภายหลังมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทาง ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของโครงการ มีการจัดเวทีนำเสนอโครงการและรับฟังความคิดเห็นทั้งเวทีเล็กและใหญ่ แต่ในเวทีเหล่านั้นไม่มีการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านทั้งก่อนและในเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงมีลักษณะการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ห้ามคนต่างหมู่บ้านที่อยู่ในตำบลเดียวกันแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามข้อมูล โดยอ้างว่าไม่ใช่คนในพื้นที่ทั้งๆ ที่โครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง

"ทางเครือข่ายเห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมานั้นเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ศอ.บต.จึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าวอย่างมีมาตรฐานและมีธรรมาภิบาล" แถลงการณ์ตอนหนึ่งของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นระบุ

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนจากชุมชนประมง อ.จะนะ จ.สงขลา ปักหลักที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเพื่อรอฟังคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดว่าจะเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือไม่ (ที่มา: Protection International)

ไครียะห์ และแม่ ปักหลักที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา (ที่มา: Protection International)

เจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเข้ามาสอบถามไครียะห์และเครือข่าย (ที่มา: Protection International)

โดยหลังยื่นหนังสือ ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวชาวประมงใน อ.จะนะ จ.สงขลา ยืนยันจะปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อรอคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยตลอดทั้งคืนมีไครียะ มารดา และเพื่อนของไครียะรวม 3 คนปักหลักที่หน้าศาลากลาง

ในรายงานของ Protection International เวลา 21.10 น. คืนวันที่ 12 พ.ค. ซึ่งใกล้เวลาเคอร์ฟิว รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมเยาวชนจากจะนะกลับบ้าน แต่ไครียะยืนยันว่า จะปักหลักรอคำตอบที่นี่ หลังจากนั้นเมื่อเข้ากรอบเวลาการเคอร์ฟิว ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาควบคุมตัวเธอ แต่มีตำรวจและ อส.รักษาดินแดนคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสังเกตการณ์

อนึ่ง iLaw รายงานสถานการณ์เมื่อคืนวานนี้ ด้วยว่า เวลาประมาณ 01.30 น. เข้าสู่วันใหม่ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลากลางจังหวัดเปิดไฟสว่างบริเวณที่ไครียะห์และพวกนอนพักผ่อน และยังกระทำในลักษณะก่อกวนตลอดคืน เช่น เปิดเพลง พูดคุยกันเสียงดัง และขณะที่ทั้งหมดกำลังนอนอยู่กลางดึกก็เข้ามาปลุกให้ลุกขึ้นบอกว่า บริเวณดังกล่าวมีมด แต่ลุกขึ้นดูกลับไม่พบ "เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่า ถูกก่อกวนจึงพยายามถ่ายคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐานแต่เมื่อยกโทรศัพท์ขึ้นมา เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวกลับรีบเดินหนี นอกจากนี้ยังพยายามบอกให้ชาวบ้านกลับออกจากศาลากลางไปเสีย"

โดยจนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 13 พ.ค. ไครียะห์และพวกยังคงนั่งปักหลักรอฟังคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่หน้าศาลากลาง โดยพวกเขายังคงถือศีลอด ในช่วงเดือนรอมฎอนอีกด้วย

ผุดแฮชแท็ก #SAVECHANA ค้านนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระทบชีวิตชาวประมง

อนึ่งตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 7 พ.ค. ภาคประชาสังคมชายแดนใต้และทั่วประเทศ ได้ใช้แฮชแท็ก #SAVECHANA ในวาระครบรอบ 1 ปี มติคณะรัฐมนตรีในสมัย คสช. ที่ประกาศให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพทะเลและวิถีชีวิตชาวประมงจะนะ พร้อมติดแฮชแท็ก #SAVECHANA เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตามมติคณะรัฐมนตรี 21 ม.ค. 2563 

โดยมติคณะรัฐมนตรี 21 ม.ค. 2563 อนุมัติหลักการของแผนเร่งด่วน "การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา" โดยโครงการดังกล่าวตามแผนจะมีเนื้อที่ 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 แสนอัตรา มีกิจกรรม 6 ประเภท 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่ และ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

 

กป.อพช. และเครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง ออกแถลงการณ์หนุน 'จะนะรักษ์ถิ่น'

และในวันนี้ (13 พ.ค.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการณ์ "ยกเลิกเวทีปาหี่ของ ศอ.บต. และหันมาฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ทั่วถึง และรอบด้าน" 

"ความพยายามที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ของศอ.บต.กำหนดจัดในระหว่างวันที่14–20 พฤษภาคม 2563 ถือเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แสดงถึงความไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของอิสลาม และไม่สนใจต่อสถานการณ์ไวรัสโควิดที่กำลังแพร่ระบาด จึงยังความสงสัยต่อวิธีการทำงานของ ศอ.บต.ว่ามีความเข้าใจต่อข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนี้หรือไม่"

"และยิ่งชวนสงสัยต่อไปว่า ข้อมูลประกอบการตัดสินใจโครงการทั้งหมดที่ ศอ.บต. ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการไปแล้วนั้น มีความถูกต้องชอบธรรมเพียงใด ด้วยเพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณและพื้นที่จำนวนมหาศาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพชุมชน ไม่ใช่แค่ชุมชน 3 ตำบลของอำเภอจะนะเท่านั้น แต่รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนทั่วไปอีกหลายอำเภอในจังหวัดสงขลาด้วย ซึ่ง ศอ.บต. ไม่ได้มีการจัดเวทีให้คนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด"

"คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน จึงเสนอให้รัฐบาลยุติทุกการดำเนินการของโครงการเมืองต้นแบบฯจะนะ ภายใต้อำนาจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ไว้ก่อน ซึ่งรวมถึงเวทีที่กำลังจะจัดในระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2563 นี้ด้วย และขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีทั้งหมดต่อเรื่องนี้ โดยต้องจัดให้มีกระบวนการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนหลักธรรมาภิบาลและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องครอบคลุมถึงกลุ่มประชาชนทุกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งจังหวัดสงขลา" แถลงการณ์ กป.อพช. ระบุ

นอกจากนี้ ยังมี "จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง #Saveยะห์ #SaveChana #จะนะจะชนะ "หยุดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบธรรม ยุตินิคมอุตสาหกรรมจะนะ พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนยั่งยืน"

โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่า

"เครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง ในฐานะเครือข่ายทำงานพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน มีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลควรทบทวนโครงการอำเภอจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยรับฟังเสียงชาวบ้านชุมชนท้องถิ่น ชาวจังหวัดสงขลา ชาวใต้ และ คนไทยในภาคส่วนอื่นๆ มิใช่หวังเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เอื้อเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจและวิถีชุมชนที่ยั่งยืนอันเป็นรากฐานที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน อย่างไม่มีวันหวนคืน ทำลายพื้นที่สร้างสรรค์แบ่งปันที่เกื้อกูลเด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน ซึ่งเท่ากับทำลายสุขภาวะสังคมไทยในอนาคตของทุกคน

2.ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 โดยศอบต. ในทันที เพราะเป็นเวทีที่ไม่มีความชอบธรรม ฉวยโอกาสภายใต้พรก.ฉุกเฉิน ห้วงยามโควิด เดือนรอมฎอนถือศีลอด จำกัดผู้เข้าร่วม ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง แอบซุกประเด็นผังเมืองใหม่ เปลี่ยนพื้นที่เป็นสีม่วงเพื่อรองรับเขตอุตสาหกรรม"

ท้ายแถลงการณ์ระบุด้วย "อนึ่ง ทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 3 ตำบล และ ทบทวนโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมโดยด่วน ทั้งนี้ นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ ซี่งเป็นหนึ่งในตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และ เป็นแกนนำเยาวชนอาสาพื้นที่นี้...ดีจัง จากชุมชนหาดสวนกง ได้ประกาศนั่งรอคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาถือศีลอด"

เครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ศอบต. รับฟังเสียงเล็กๆ ที่มีความรักห่วงใยในแผ่นดินเกิด มีความสุขในวิถีชุมชนที่เติบโตมา มีข้อมูลความรู้สามารถแลกเปลี่ยนทบทวนการดำเนินโครงการที่ไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านท้องถิ่น และ ความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ของประเทศชาติประชาชน ก่อนที่สายเกินไป

พร้อมกันนี้ เครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง ขอให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ ในภาคใต้ และทุกภาคส่วน ให้กำลังใจ สนับสนุน ข้อเรียกร้องของยะห์ ลูกสาวคนเลจะนะ ในการหยุดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นธรรมและทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่ทำลายล้างวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืนของรัฐบาลในครั้งนี้ ด้วยการร่วมกันเผยแพร่และแสดงออกผ่านการสื่อสารต่างๆ อย่างเต็มกำลัง

ด้วยความคารวะและเชื่อมั่น
เครือข่ายพื้นที่นี้...ดีจัง

กลุ่มโชโพเกอเรอ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
เครือข่ายปกาเกอะญอมีดี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
เครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้ม จังหวัดอุตรดิตถ์
บ้านไร่-อุทัยยิ้ม อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
กลุ่มข่องโฉ่ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
คลองเตยดีจัง กรุงเทพมหานคร
กลุ่มรักยิ้ม กรุงเทพมหานคร
เครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง
กลุ่มไม้ขีดไฟ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
กลุ่มใบไม้ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
กลุ่มลูกมะปราง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ดีอีหลีอีสานบ้านเฮา อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
ดีจังสุรินทร์เหลา อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
Sa-Ta-Na Activity อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
กลุ่มลูกหว้า เครือข่ายเพชรบุรีดีจัง จังหวัดเพชรบุรี
กลุ่มลูกขุนน้ำคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
เครือข่ายพัทลุงยิ้ม จังหวัดพัทลุง
กลุ่มดอกไม้ยิ้ม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
กลุ่มยังยิ้ม อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
สุไหงปาดีดีจัง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
อะโบ๊ยหมะจะนะเทพา อำเภอจะนะ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net