Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติตั้งท้องได้ 4 เดือน ตกงานจากพิษโควิด – 19 กลับบ้าน ที่ด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนเผยมาตรการรัฐเรื่องแรงงานข้ามชาติตอนนี้มุ่งไปที่การป้องกันควบคุมโรคมากกว่าเยียวยาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติอีกกว่าสองล้านคน


 

13 พ.ค. 2563 วันนี้ กระทรวงแรงงานรายงานว่า เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่ารายหนึ่งอุ้มท้อง 4 เดือน มาขอความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงาน เนื่องจากตนเองตกงานเพราะสถานประกอบการปิดกิจการจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จึงร้องขอความช่วยเหลือกลับประเทศต้นทาง จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแรงงานคนดังกล่าว ทราบชื่อ นางสาว วา วา ทวย อายุ 30 ปี เคยทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งมาแล้ว 4 ปี ได้เข้ามาทำงานและมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันได้พักอาศัยอยู่กับเพื่อนใกล้ที่ทำงานในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สามีของนางสาว วา วา ทวย แรงงานข้ามชาติรายดังกล่าว ได้เดินทางกลับประเทศพม่า เพื่อไปต่อใบอนุญาตทำงาน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 จึงไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้ ขณะที่นางสาว วา วา ทวย แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าเธอกำลังตั้งท้อง ได้ 4 เดือน ต่อมาประสบปัญหาตกงานเนื่องจากวิกฤติโควิด ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และไม่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงต้องการขอความช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศเพื่อไปหาสามีและญาติพี่น้อง

เธียรรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรมและความเท่าเทียมของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยการให้ความช่วยเหลือล่าสุด ได้ประสานไปยังทูตแรงงานพม่าประจำประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนครปฐม และสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐมแล้ว เพื่อบูรณาการให้การช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารและขั้นตอนการเดินทางของแรงงานข้ามชาติคนดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่จะได้พาไปส่งยังด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อส่งกลับประเทศต้นทางตามขั้นตอนต่อไป

 

แรงงานข้ามชาติ ในวันที่มาตรการเยียวยาโควิด-19 ยังไปไม่ถึงพวกเขา

 

ไร้งาน ขาดเงิน กลับบ้านไม่ได้ แรงงานข้ามชาติในไทยยังรอมาตรการเยียวยาจากรัฐ

ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวถึงปัญหาของการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานตามฤดูกาล แรงงานที่ทำงานเป็นคนใช้ในบ้าน แรงงานภาคเกษตรกรรม และแรงงานประมง ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่อาจได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน

ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมล่าสุดเท่าที่หาได้ เดือนเมษายน 2562 ระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติ (พม่า กัมพูชา ลาว ไม่รวมสัญชาติอื่นๆ) ในระบบประกันสังคมจำนวน 1,017,732 คน ขณะที่ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า สถานการณ์แรงงานข้ามชาติ ณ เดือนมีนาคม 2563 (พม่า กัมพูชา ลาว) ที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,814,481 คน นั่นหมายความว่าอาจมีแรงงานข้ามชาติอีกกว่าหนึ่งล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม

ขณะที่มาตรการของรัฐเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มุ่งไปที่การให้ความรู้ ป้องกันโรค มากกว่าจะพูดถึงสิทธิการได้รับเงินเยียวยา ซึ่งปฏิมามองว่ารัฐยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือการไม่รู้สิทธิที่จะได้เงินชดเชยเยียวยาของตนเอง ทั้งกลุ่มที่อยู่ในประกันสังคม และกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือถึงรู้สิทธิก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสียค่าใช้จ่าย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) อธิบายว่า เรื่องประกันสังคมที่แรงงานควรจะได้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเวลาแรงงานว่างงาน ต้องไปที่สำนักงานจัดหางานเพื่อทำเรื่อง และจะดำเนินการส่งต่อให้ประกันสังคม นายจ้างเก่าต้องออกเอกสารยืนยันการออกจากงานให้ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการจ้างทนายความ ดำเนินการ และต้องส่งกันหลายต่อ 

ปัญหาพบอีกประการคือแรงงานข้ามชาติกลับบ้านไม่ได้ เมื่อว่างงาน ไม่ได้เงินชดเชย และกลับบ้านไม่ได้ จึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งสุธาสินีเห็นว่า ถ้ายังไม่อาจช่วยเหลือเยียวยาแรงงานข้ามชาติได้อย่างทั่วถึง ก็ควรให้แรงงานเหล่านั้นกลับบ้าน โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องหาแนวทางร่วมกัน หรือควรออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับให้แรงงานเหล่านี้ และถ้าสามารถให้แรงงานกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เมื่อใด ควรมีระบบคัดกรองที่ดี มีการทำประวัติเพื่อความสะดวกในการฟิื้นฟูเยียวยา

 

หมายเหตุ : ประชาไท เปลี่ยนคำจาก 'แรงงานต่างด้าว' ในส่วนเนื้อข่าวจากจดหมายข่าวกระทรวงแรงงาน เป็น 'แรงงานข้ามชาติ' แทน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net