Skip to main content
sharethis

‘Oxfam’ เตือนจำนวนคนจนทั่วโลกอาจเพิ่มอีก 547.6 ล้านคน รวมเป็น 3,934.1 ล้านคน หากไม่มีมาตรการที่ดีพอในการช่วยเหลือประเทศยากจนจากพิษโควิด-19 ด้าน 'ธนาคารโลก' ประเมินคนจนเพิ่มขึ้น 40-60 ล้านคน ในไทยระหว่างปี 2558-2561 พบอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 9.85% คนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.85 ล้านคน เป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน

ที่มาภาพประกอบ: laurence king (CC BY 2.0)

13 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ TCIJ นำเสนอรายงานพิเศษ 'คาด COVID ทำคนจนทั่วโลกพุ่ง 40-60 ล้าน คนจนไทยเพิ่มก่อนตั้งแต่ปี 58-61 มากกว่า 6.7 ล้าน' (เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563) ระบุว่าว่าต้นเดือน เม.ย. 2020 มูลนิธิ Oxfam ได้เปิดเผยรายงาน 'Dignity not destitution' ซึ่งจัดทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย King’s College London และ Australian National University ที่ศึกษาผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ต่อปัญหาความยากจนทั่วโลก เนื่องจากครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่ลดลง พบว่าการระบาดของโรค COVID-19 จะทำให้บางประเทศมีฐานะยากจนลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยการเปิดเผยรายงานนี้มีขึ้นก่อนจะมีการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่ม G20 ในช่วงกลางเดือน เม.ย. 2020

รายงานฉบับนี้ของ Oxfam ระบุว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่นี้ นับว่าเลวร้ายกว่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 ซึ่งจากการประเมินพบว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ระดับความยากจนทั่วโลกก็จะพุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990 โดยในกรณีร้ายแรงที่สุด หากรายได้ลดลง 20% จำนวนประชากรที่ยากจนที่สุดจะเพิ่มขึ้น 434.4 ล้านคน เป็น 1,171.1 ล้านคนทั่วโลก และภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้จะมีประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันเพิ่มขึ้น 547.6 ล้านคน รวมกับจำนวนท่ีมีอยู่เดิมจะทำให้ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวันมี 3,934.1 ล้านคน

รายงานของ Oxfam ยังชี้ว่ากลุ่มผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากมักประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งทำให้เข้าถึงสิทธิแรงงานได้น้อยนิดหรืออาจไม่มีเลย “ประชากรที่ยากจนที่สุดเหล่านี้ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถลางานหรือหาซื้อข้าวของยังชีพ” นอกจากนี้แรงงานนอกระบบกว่า 2,000 ล้านคนไม่มีสิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง

นอกจากนี้ Oxfam เสนอแนวปฏิบัติ 6 ข้อ เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งรวมถึงการแจกเงินสดหรือเงินอุดหนุนแก่พลเมืองและภาคธุรกิจที่มีความเดือดร้อน, การยกหนี้, การสนับสนุนจาก IMF และการยกระดับความช่วยเหลือต่าง ๆ, เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ ผลกำไรพิเศษ และสินค้าทางการเงินแบบเก็งกำไร (speculative financial products) เพื่อระดมเงินทุนที่จำเป็น โดย Oxfam ระบุด้วยว่า รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องระดมเงินทุนราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 82 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถต่อสู้กับวิกฤต COVID-19 ได้

อนึ่ง รายงานฉบับนี้ของ Oxfam อ้างอิงถึงเส้นความยากจน (poverty lines) 3 ระดับตามคำนิยามของธนาคารโลก ซึ่งครอบคลุมผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 62 บาท) ต่อวัน, ต่ำกว่า 3.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 102 บาท) ต่อวัน และต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 180 บาท) ต่อวัน

 

ธนาคารโลกประเมินคนจนเพิ่มขึ้น 40-60 ล้านคน


ที่มาภาพประกอบ: Médecins Sans Frontières (MSF)

ส่วนการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยแพร่ในเดือน เม.ย. 2020 เช่นเดียวกัน ระบุว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้น 40-60 ล้านคน ขณะที่คนที่ยากจนอยู่แล้วจะยิ่งยากจนมากขึ้นไปอีก

ธนาคารโลกระบุว่าถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 ที่ อัตราความยากจนปรับตัวเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ตามมาด้วยรายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง และหากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลายก็จะทำให้ความคืบหน้าที่จะทำให้ประชากรทั่วโลกอยู่ดีกินดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหายไปเกือบทั้งหมด

ทั้งนี้ในส่วนของธนาคารโลก ที่ผ่านมาได้อนุมัติจัดสรรงบแล้ว 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5,123,200 ล้านบาท) ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา วางแผนออกนโยบายชดเชยรายได้ที่หายไปของประชาชน บรรเทาปัญหาราคาอาหารแพง จัดส่งบริการความช่วยเหลือที่จำเป็น รวมถึงสนับสนุนภาคเอกชนในประเทศในการรักษาตำแหน่งงาน และช่วยเหลือการฟื้นกิจการ

สำหรับรัฐบาลแต่ละประเทศ ธนาคารโลกแนะนำว่า สิ่งที่รัฐต้องทำก็คือ 1.การขยายมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อแรงงาน เช่น การเพิ่มสวัสดิการ ค่าแรง กฎหมายคุ้มครอง 2.การลงทุนในทรัพยากรบุคคล เช่นการให้ความรู้ สนับสนุนการฝึกอบรมทักษะ และ 3.การหาหลักประกันป้องกันไม่ให้คนยากจนและคนด้อยโอกาสของสังคมมีชีวิตที่เลวร้ายมากขึ้นจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศเลวร้าย โรคระบาด ราคาอาหาร และวิกฤตเศรษฐกิจ

 

ธนาคารโลกระบุปี 2561 คนจนไทยมีมากกว่า 6.7 ล้านคน


ที่มาภาพประกอบ: Teppono (CC BY-SA 2.0)

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ธนาคารโลกจัดเปิดตัวรายงานหัวข้อ 'จับชีพจรความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย' จากการประเมินสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐ

แม้ไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนจากเดิมที่ร้อยละ 65.2 ในปี 2531 จนเหลือร้อยละ 9.85 ในปี 2561 แต่ว่าอัตราการลดลงนั้นค่อย ๆ ช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2561 ประชากรที่ยากจนมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มจากปี 2558 มา 1.8 ล้านคน (คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 7.21 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.85)

กรุงเทพฯ มีอัตราการลดลงของความยากจนเร็วที่สุด ในขณะที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการลดความยากจนช้าที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เปราะบาง รูปแบบเศรษฐกิจไม่หลากหลาย และพึ่งพาภาคเกษตรกรรมมากว่า ทำให้เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและภัยธรรมชาติ

จังหวัดที่มีคนยากจนมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 49.13) ปัตตานี (39.27) กาฬสินธุ์ (31.26) นราธิวาส (30.10) และตาก (28.97) อัตราความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560 และในทางจำนวน พบว่าในปี 2558-2561 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 แสนคนในพื้นที่ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นพร้อมความท้าทายทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยมีอัตราเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค (ร้อยละ 2.7) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 อัตราการส่งออกลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระดับโลก ภาคส่วนการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะถดถอย นอกจากนั้น ภัยแล้งและน้ำท่วมมากระทบต่อชีวิตของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้ว

ประเทศไทยเคยมีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นมาแล้ว 5 ครั้ง (ปี 2541 2543 2551 2559 และ 2561) ทั้งนี้ ช่วง 3 ครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทวิกฤตเศรษฐกิจอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ แม้ไทยจะอยู่ในระดับ ‘ดี’ เมื่อวัดกันด้วยตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดี เด็กปฐมวัยได้เข้าถึงการศึกษา มีน้ำใช้ มีระบบสุขาภิบาลและไฟฟ้าใช้ได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้น้อยกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันมีเพียงร้อยละ 0.03 เท่านั้น แต่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุดร้อยละ 40 อย่างทั่วถึง ในช่วงปี 2558-2560 พบว่าประชากรกลุ่มดังกล่าวมีการบริโภคและรายได้ติดลบ แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันเกิดจากรายได้ของแรงงานทุกประเภทที่ลดลง ค่าแรงไม่เพิ่ม และมีรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง

การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทยยังคงขาดในแง่ของคุณภาพ เช่น การเข้าถึงการศึกษามีมากกว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่เด็กอายุ 6-14 ปีในกรุงเทพฯ เกินครึ่งสามารถเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ แต่เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเช่นนั้นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้ไทยมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ในระยะสั้นนั้น ไทยต้องบังคับให้มีการใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (safety net – มาตรการบรรเทาภาวะวิกฤตต่าง ๆ) ต้องระบุกลุ่มประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เที่ยงตรงกว่านี้ และสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

ในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่ถือเป็นประเด็นสำคัญ เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียมและได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาและสุขภาวะเพื่อให้พวกเขามีโอกาสใช้ศักยภาพของพวกเขาให้เต็มที่ ส่วนนี้จะช่วยให้ครัวเรือนต่าง ๆ ขยับตัวหลุดพ้นจากกับดักความยากจนที่ส่งทอดกันเป็นรุ่น ๆ ช่วยค้ำจุนประชาชนที่สูงวัย และกระตุ้นการเติบโตของประเทศไทยด้วย

จูดี้ เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ตอบคำถามเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างความยากจนและความเหลื่อมล้ำกับนโยบายรัฐว่า จากข้อมูลที่พบในรายงานนั้น จะพบว่าการช่วยเหลือทางนโยบาย เช่นนโยบายประชารัฐมีส่วนช่วยให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะปัญหาเศรษฐกิจน้อยลง แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้การช่วยเหลือทางสังคมดีขึ้น ทำอย่างไรไม่ให้การช่วยเหลือเหล่านั้นเข้าถึงได้เพียงกลุ่มคนยากจน แต่กับคนระดับอื่นด้วย

จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ความยากจนนั้นไม่ได้มีนิยามเพียงแค่เรื่องเงินตรา แต่ยังหมายถึงการเข้าถึงคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา การดูแลสุขอนามัย และความเหลื่อมล้ำเองก็หมายความรวมถึงการจัดสรรรายได้และโครงสร้างภายในต่าง ๆ ด้วย

จูดี้อธิบายข้อมูลในรายงานว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกี่ยวพันกับอัตราการบริโภคที่ลดลง ในปี 2558-2561 อัตราส่วนการบริโภคมีการเติบโตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2557-2558 ภาคส่วนที่การบริโภคมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดคือภาคกลาง

รายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจตกลงในช่วงปี 2557-2561 มาตรการช่วยเหลือทางสังคมยังไม่พอที่จะชดเชยรายได้ที่ลดลง

"ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจเรื่องความเปราะบางในเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ก้าวไปสู่การสร้างสังคมที่กระจายความมั่งคั่งได้ทั่วถึงทุกคน"

"การกำจัดความยากจนที่ฝังรากมานาน ต้องคำนึงถึงกลยุทธ์การเติบโตที่ต้องใช้ทั้งการบรรเทาความเสี่ยงในระยะสั้นและสิ่งที่จำเป็นในการลงทุนระยะยาว" จูดี้กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net