Skip to main content
sharethis

คนงาน บ.นครหลวงถุงเท้าไนล่อน หิ้วปิ่นโตร้องกรมสวัสดิการฯ กระทรวงแรงงาน หลังนายจ้างอ้างโควิด-19 สั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ด้านอธิบดีกรมสวัสดิการฯ รับจะประสานแรงงานจังหวัดตรวจสอบ

13 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน สหภาพกิจการสิ่งทอนครหลวงพร้อมตัวแทนกลุ่มลูกจ้างทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติจาก บริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด จำนวน 11 คน เดินทางมาร้องเรียนกรณีบริษัทไม่จ่ายค่าจ้างโดยนายจ้างอ้างว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และนายจ้างได้หักเงินเดือนสมทบกองทุนประกันสังคมแต่ไม่ส่งให้เงินให้ประกันสังคมทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิรักษาพยาบาลและเงินเกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างที่สมาชิกสหภาพรออธิบดีกรมสวัสดิการฯ มารับข้อเรียกร้อง ได้ร่วมกันนั่งรับประทานข้าวคลุกน้ำปลาเพื่อสะท้อนปัญหาที่ลูกจ้างของบริษัทกำลังประสบอยู่ในขณะนี้คือไม่มีเงินสำหรับซื้ออาหารประทังชีวิต จ่ายค่าสาธารณูปโภคและค่าที่พัก

สุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพกิจการสิ่งนครหลวง กล่าวว่าทางสหภาพมีข้อเรียกร้องต่อกรมสวัสดิการฯ ใน 5 ประเด็นคือ

1. ขอให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับนายจ้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น

2. บริษัทฯ ต้องแจ้งให้พนักงานให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหากจะให้พนักงานหยุดงาน และจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา 75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ

3. บริษัทฯ จะต้องนำส่งประกันสังคมย้อนหลัง เพื่อรักษาสถานภาพผู้ประกันตนให้แก่พนักงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่ควรจะได้รับ

4. บริษัทฯ ต้องเร่งจ่ายเงินออมสะสม และเงินเกษียณอายุให้แก่พนักงานโดยเร็ว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤต

5. หากบริษัทฯไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทฯต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานทุกคนตามกฎหมาย

สุรินทร์ กล่าวเสริมอีกว่าที่มาถึงกรมสวัสดิการฯ เพราะต้องการให้กรมสวัสดิ์ฯช่วยเหลือในระดับหนึ่งก่อนเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน หากต้องไปเขียนคำร้องถึงพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดเพื่อให้ทำการตรวจสอบก็ต้องรอ 2-3 เดือนกว่ากว่าจะทราบผล เราก็อดตายก่อน และนอกจากคนงานชาวไทยแล้วก็ยังมีคนงานชาวพม่าอีก 80 กว่าคน ที่ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนมากเช่นกัน เพราะเมื่อถูกสั่งให้หยุดงานก็ไม่มีรายได้และพวกเขาจะกลับประเทศก็ไม่ได้

จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ร่วมเดินทางมาด้วยได้กล่าวเสริมว่าก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด นายจ้างก็มีปัญหาเรื่องค้างจ่ายค่าจ้างอยู่แล้ว แล้วนายจ้างก็ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ประเด็นนี้ทางอธิบดีก็บอกแล้วว่านายจ้างทำตามมาตราดังกล่าว ซึ่งก็ต้องไปติดตามดูว่าต้องทำอย่างไรจึงจะบังคับใช้กฎหมายได้ นอกจากนั้นในประเด็นประกันสังคมนายจ้างก็ไม่ยอมจ่ายเงินสมทบทำลูกจ้างเสียสิทธิในเรื่องเกษียณอายุ การรักษาพยาบาล ซึ่งทางสหภาพก็อยากให้กรมสวัสดิ์ฯ ที่มีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้วเข้าไปช่วยเจรจากับทางบริษัท

จะเด็ด กล่าวต่อว่าคนงานร้อยกว่าคนก็มีปัญหาเรื่องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ยังต้องเอาข้าวสารไปช่วยให้พวกเขามีกิน จะเห็นถึงเป็นแรงงานในระบบก็ได้รับความเดือดร้อนด้วยเหมือนกัน

ด้าน อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวหลังหารือกับเครือข่ายแรงงาน ว่าหลังจากนี้จะประสานไปยังสำนักงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบทั้งประเด็นการค้างจ่ายค่าจ้าง และที่บริษัทหยุดกิจการไปนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานหรือเป็นตามมาตรา 79/1 พ.ร.บ.ประกันสังคม อย่างไร

อภิญญา กล่าวว่าในส่วนเรื่องเงินสะสมก็จะใช้กระบวนการพูดคุยระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่าที่มีการค้างจ่ายเงินสะสมให้กับลูกจ้างที่เกษียณอายุหรือลาออกไปจะมีความชัดเจนอย่างไรบ้าง ซึ่งกรมก็ต้องไปดำเนินการต่อเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิ์ในการคุ้มครองตามกฎหมาย

อภิญญากล่าวต่อว่าที่สหภาพมาในวันนี้ยังไม่ใช่การร้องเรียนเป็นเพียงการมาแจ้งให้ทราบว่ามีความเดือดร้อนเกิดขึ้นอย่างไร สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการถ้าเป็นกรณีจ่ายค่าจ้างไม่ตรงงวดก็จะเร็วเพราะเพียงออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้ตรงงวดตามที่มีข้อเท็จจริงปรากฏ แต่หากเป็นกรณีค้างจ่ายก็ต้องมีการตรวจสอบก่อนว่ามีการค้างจ่ายมาแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่

อธิบดีกรมสวัสดิการฯ อธิบายในประเด็นการปิดงานด้วยสาเหตุการระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้นก็ต้องดูว่านายจ้างสั่งปิดงานเป็นไปตามมาตรา 79/1 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมหรือไม่ เพราะถ้าเป็นตามพ.ร.บ.ประกันสังคมก็ระบุไว้ชัดเจนว่านายจ้างสั่งปิดเองหรือทางการสั่งให้ปิดหรือมีลูกจ้างติดเชื้อ ก็จะต่างกับมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานหรือไม่ก็ต้องตรวจสอบว่าที่นายจ้างปิดงานมาจากเหตุโควิด-19 ระบาดโดยตรงหรือไม่

อภิญญากล่าวต่อว่าส่วนประเด็นที่นายจ้างได้แจ้งหยุดงานกับลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานก่อนหยุดกิจการ 3 วันหรือไม่นั้น ก็ต้องแยกกับสาเหตุที่หยุดกิจการว่าเป็นเหตุจำเป็นหรือไม่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ตามมาตรา 75 เพราะหากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจ้างไม่ได้แจ้งก็จะผิดเรื่องที่ไม่แจ้งไป

ส่วนกรณีที่นายจ้างไม่ส่งให้ประกันสังคมนั้น อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าวว่าส่วนลูกจ้างก็ยังมีสิทธิตามประกันสังคมอยู่ แต่ประกันสังคมก็ต้องไปไล่เบี้ยกับทางนายจ้างให้นำส่งเงินแก่ประกันสังคม

ก่อนหน้านี้ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน รายงานตัวเลขสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวในปีงบประมาณ 2563 (ระหว่าง 1 ต.ค.2562 – 26 เม.ย.2563) โดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีถึง 2,237 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 448,611 คน ซึ่งสถานประกอบกิจการที่หยุดงานชั่วคราวมีมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2562 ถึง 15 เท่า(ปี 62 มี 149 แห่ง)และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบมากกว่า 7 เท่า (ปี 62 มี 63120 คน)ซึ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอันดับ 1 โดยเหตุยอดสั่งซื้อลดลง และจำหน่ายผลผลิตได้ลดลง ตามมาเป็นอันดับที่สองและสามตามลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net