หลังจากที่สื่อรัฐบาลจีน CGTN โพสต์ทวิตเตอร์รูปภาพยอดเขาเอเวอร์เรสต์พร้อมกับระบุข้อความว่า "ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน" ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวเน็ตอินเดียและเนปาลที่พากันวิจารณ์จีนว่าปล่อยข่าวปลอม แฮชแท็ก #BackOffChina ที่แปลว่า "จีนถอยไป" ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพราะในความเป็นจริงแล้วยอดเขาเอเวอร์เรสต์เป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างเนปาลกับทิเบต
ภาพภูเขาเอเวอเรสต์ (ที่มา:วิกิพีเดีย)
14 พ.ค. 2563 ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เป็นหนึ่งในยอดเขาของเทือกเขาหิมาลัยที่เป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลกับทิเบต อย่างไรก็ตามในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อไชนาโกลบอลเทเลวิชั่นเน็ตเวิร์กหรือ CGTN ของรัฐบาลจีนก็โพสต์ทวิตเตอร์ในเชิงชื่นชมความงามของยอดเขาเอเวอร์เรสต์ แต่กลับอ้างว่ายอดเขานี้ตั้งอยู่ใน "เขตปกครองตนเองทิเบตของจีน" ทำให้ชาวเนปาลไม่พอใจ และมีบางส่วนเรียกร้องให้รัฐบาลเนปาลมีมาตรการบางอย่างกับโพสต์โซเชียลมีเดียนี้
มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่า "นี่คือยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของพวกเรา (ความสูง 8,848 เมตร) พวกเราไม่ต้องการให้มันถูกนำไปใช้หรือถูกแปะป้ายว่าเป็นของพวกคุณ รัฐบาลเนปาลควรดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เป็นการใช้คำในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่มันยอมรับไม่ได้ #BackOffChina (จีนถอยไป)"
ผู้ใช้ทวิตเตอร์พากันใช้แฮชแท็ก #BackOffChina เพื่อประท้วงว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์เป็นของเนปาล มีผู้ใช้งานบางรายกล่าวหาว่า CGTN รายงานข่าวปลอม เพราะเขาเชื่อว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์อยู่ในอาณาเขตประเทศของเนปาลไม่ใช่ในพื้นที่ "ทิเบตของจีน" อย่างที่สื่อจีนกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางรายใช้แฮชแท็ก #FreeTibet (ปลดปล่อยทิเบต) ในข้อความที่เรียกร้องให้ผู้นำจีน สีจิ้นผิง เลิกอ้างผิดๆ ด้วย
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ระบุว่า เนปาลและจีนได้ลงนามข้อตกลงเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทเขตแดนไว้ในปี 2503 แล้วว่ายอดเขาเอเวอร์เรสต์จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ในทางตอนใต้จะเป็นพื้นที่ของเนปาล ขณะที่ในทางตอนเหนือจะเป็นของเขตปกครองตนเองทิเบตซึ่งจีนอ้างว่าเป็นพื้นที่ของตน
ศรีกานต์ กอนดาปาลี ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การกระทำกล่าวอ้างอำนาจเหนืออาณาเขตของจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะจีนเคยพยายามอ้างความเป็นเจ้าของทิเบตและยอดเขาเอเวอร์เรสต์มาแล้ว ทั้งๆ ที่พื้นที่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในฝั่งของทิเบตนั้นมีการใช้งานน้อยมากและแทบจะไม่มีการท่องเที่ยวในฝั่งนั้นเลย รวมถึงเป็นฝั่งที่มีความลาดชันมากและมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวีซ่าด้วย
ในทางตรงกันข้าม ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ในฝั่งเนปาลมีการท่องเที่ยวและการทำสำรวจมากกว่าด้วยความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ทางการของจีนก็แสดงให้เห็นว่าจีนมีความทะเยอทะยานในแผนการที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ ซึ่งกลายมาเป็นข้อขัดแย้งกันระหว่างเนปาลกับจีน
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญอย่างกอนดาปาลียังมีความกังวลในเรื่องที่จีนพยายามติดตั้งโครงข่าย 5G ในพื้นที่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ฝั่งตัวเอง เพราะโครงข่ายสัญญาณนี้จะส่งผลปกคลุมพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยซึ่งในโครงข่ายสัญญาณนี้มีส่วนประกอบของกองทัพจีนอยู่ด้วย ทำให้เป็นน่ากังวลเกี่ยวกับการสอดแนมเพราะการที่สัญญาณนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 8,000 เมตร อาจจะทำให้จีนใช้ปฏิบัติการสอดแนมครอบคลุมพื้นที่อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ทำให้จีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้น
ทิเบตกลายเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนในปี 2493 หลังจีนส่งทหารเข้ายึดครอง โดยจีนอ้างว่ามีอธิปไตยเหนือดินแดนทิเบตมาหลายศตวรรษแล้ว องค์ดาไล ลามะ ผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของทิเบตอ้างว่าทิเบตเคยเป็นประเทศ มีอำนาจอธิปไตย และในช่วงที่จีนเข้ามายึดครอง มีชาวทิเบตเสียชีวิตจากการถูกกดปราบใต้กฎอัยการศึกถึง 1.2 ล้านคน
เรียบเรียงจาก
Netizens in India, Nepal troll Beijing after 'fake' claims on Mt Everest, The Times of India, Mar. 10, 2020
Tibet profile, BBC, Apr. 26, 2019