Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มุมมองของท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโลซึ่งเป็นปัญหาอภิปรายกันในสื่อโซเชียลเวลานี้เป็นของขวัญสำหรับผม เพราะทำให้คิดอะไรเกี่ยวกับศาสนาออกอย่างหนึ่ง จะคิดผิดหรือคิดถูกก็ไม่ทราบ

สปริงนิวส์: โควิดคือของขวัญ โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล

เท่าที่ผมเข้าใจหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ความทุกข์ทั้งหลายล้วนเป็น”สมมติ”ของเราเอง ถ้าอยากพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงก็ต้องทำความเข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราไป”สมมติ”อย่างนั้น แล้วมีสติที่จะไม่หลงใน”สมมติ”อย่างนั้นอีก แต่ในหมู่คนทั่วไป ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังการพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ก็เพียงแต่”สมมติ”ใหม่ให้สภาวะที่เคยเป็นทุกข์นั้นกลายเป็นโอกาสดีๆ หรือความสุขเสียเท่านั้น

กรณีทำสถานการณ์ช้อปปิ้งให้อาม่าในบ้านที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง เป็นเพียงอุทาหรณ์เท่านั้น คนในสถานะอื่นก็พึงทำอย่างอื่นที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ต้องจัดช้อปปิ้งสมมติเสมอไป

ส่วนจะเป็นสิ่งที่ทำได้โดยคนทั่วไปทุกสถานะและทุกโอกาสหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่เถียงกันได้ เช่นทั้งบ้านกำลังหิวโซ แต่ไม่เหลือเงินพอจะซื้ออะไรกินได้เลยสักมื้อเดียว ยังจะเป็นคำแนะนำที่เหมาะกับเขาหรือไม่ หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นี่เป็นคำแนะนำที่ไม่ดูตาม้าตาเรือเลยใช่ไหม

ผมตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้หรอกครับ แต่เมื่ออ่านความเห็นของท่านต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ทำให้ผมเพิ่งนึกออกว่า หลักธรรมและศีลธรรมของศาสนา (และผมอยากจะอาจเอื้อมพูดว่าทุกศาสนาด้วย) ย่อมเป็นสิ่ง”สัมบูรณ์”หรือ absolute ทั้งนั้น

“สัมบูรณ์”คือจริงหรือถูกโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น (คำว่า”อกาลิโก”ในการสวดธรรมคุณ นักปราชญ์ไทยแปลว่า “ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา” และมักจะเข้าใจโดยทั่วไปว่า จริงแท้แน่นอนตลอดไปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่คนจบเปรียญสองประโยคครึ่งอย่างผมคิดว่า จะแปลว่าไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลาก็ได้ หรือพูดให้หนักข้อกว่านั้นคือไม่มีกาละเทศะ)

เช่นเดียวกับในศาสนาที่นับถือพระเจ้า ไม่ว่าโลกมนุษย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร พระผู้เป็นเจ้าย่อม”สัมบูรณ์”เสมอ คือทรงมหิทธานุภาพด้วยพระเมตตา, สัพพัญญู, และเที่ยงธรรมอย่างที่ไม่แปรผันเป็นอื่น

ผมขอพูดถึงศีลธรรมทางศาสนาแทนหลักธรรม เพื่อเห็นได้ชัดขึ้น

ฆ่าคนเป็นบาปในทุกศาสนา แม้ไปรบเพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองก็ยังเป็นบาปอยู่นั่นเอง ส่วนจะได้รับผลกรรมอย่างไรไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่สลับซับซ้อนเกินปุถุชนจะวาดแผนผังออกมาได้ (ว่าตามหลักพระพุทธศาสนา) หรือขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์หรือพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งก็สลับซับซ้อนและสูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์จะล่วงรู้ได้

บางคนอาจแย้งว่า ในศาสนาอิสลาม การฆ่าคนใน Jihad หรือสงครามศักดิ์สิทธิ์ไม่ถือเป็นบาป (คือขัดคำสั่งของพระเจ้า) แต่ผู้รู้ศาสนาอิสลามท่านหนึ่งเคยอธิบายให้ผมฟังว่า ในการปกป้องอิสลาม สงครามศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่สมควรใช้ในสถานการณ์ที่ไม่มีวิธีอื่นดีกว่าแล้วเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าสถานการณ์ย่อมเป็นการตีความของมนุษย์เอง และทุกครั้งที่มีการตีความเช่นนั้นหลังพระศาสดามุฮัมหมัด ก็อาจมีคนอื่นที่ไม่เห็นด้วย อะไรเป็นหรือไม่เป็น Jihad ที่ถูกต้องจึงไม่ชัดนัก และการฆ่าในสงครามศักดิ์สิทธิ์อาจเป็นบาปก็ได้ หากการต่อสู้ขัดแย้งนั้นไม่ใช่สงครามศักดิ์สิทธิ์จริง

สรุปก็คือการฆ่าในศาสนาอิสลามก็ยังเป็นบาปหรือความผิดอย่าง”สัมบูรณ์”อยู่นั่นเอง

ผมคิดว่าอาการมรณภาพของพระโมคคัลลาน์ แม้เป็นอัครสาวกที่มีฤทธิ์สักเพียงไร ก็ปล่อยให้โจรทำทารุณกรรมต่างๆ โดยไม่ประทุษร้ายตอบจนสิ้นลมไปเอง คือการยืนยันความ”สัมบูรณ์”ของหลักปาณาติบาต

อิทธิพลของศาสนาที่ลดน้อยถอยลงในโลกสมัยใหม่ ทำให้การคิดถึงความจริง (ทั้งหลักธรรมและหลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม) ในฐานะที่เป็นสิ่ง”สัมบูรณ์”ถูกตั้งข้อสงสัย ความจริงในโลกสมัยใหม่เป็นความจริงที่ไม่”สัมบูรณ์”เพราะจริงได้ภายใต้เงื่อนไขหนึ่งๆ ท้ังนั้น แม้แต่ความจริงของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ไม่”สัมบูรณ์” จริงภายใต้เงื่อนไขบางอย่างทั้งสิ้น เช่นน้ำไม่ได้เดือดที่ 100 องศาเซนติเกรดเสมอไป จะเดือดในอุณหภูมินั้นได้ก็ต้องอยู่ที่ระดับน้ำทะเล ไม่ใช่ยอดเขาสูง การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง คือสร้างปรากฏการณ์ตามทฤษฎีภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ทดลองสามารถควบคุมได้เสมอ

นักบวชในศาสนาต่างๆ ของปัจจุบันก็ยอมรับความจริงที่ไม่”สัมบูรณ์”อย่างนี้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้นักบวชบอกว่าแม้แต่ความจริงทางศาสนาก็ไม่”สัมบูรณ์”อย่างเดียวกับความจริงอื่นๆ ของโลกสมัยใหม่ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้จะมีศาสนาและมีนักบวชไปทำไม

ถ้าอย่างนั้นจะให้นักบวชไม่ต้องรู้จักกาละเทศะเอาเลยหรือ? ผมคิดว่าไม่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากนักบวชต้องอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่น อย่างไรก็ต้องเคารพกาละเทศะเหมือนคนอื่นเช่นกัน แต่ผมเข้าใจว่ากาละเทศะของนักบวชไม่ได้ถูกกำกับด้วยการยอมรับของคนอื่น หรือ social acceptance เท่ากับหลักที่เขาเรียกกันว่าอุปายโกศล คือมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน แต่เลือกจะเงียบหรือพูด และพูดอย่างไร ในวิถีทางที่จะทำให้ผู้ฟังได้เจริญธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเอาใจแฟนคลับ หรือได้เป็นเซเลบ

นักบวชก็คนนะครับ ขึ้นชื่อว่าเลือกแล้ว ย่อมเลือกผิดก็ได้ ถูกก็ได้ทุกคน กรณีท่านอาจารย์ไพศาลพูดในครั้งนี้ เป็นการเลือกผิดหรือถูกผมไม่ทราบ และขอไม่เข้าไปร่วมถก

เรื่องกาละเทศะนี้เป็นเรื่องใหญ่ของนักบวชนะครับ เพราะมันมีนัยยะในเชิงศีลธรรมอยู่ด้วย ถ้าใช้กาละเทศะเป็นเกณฑ์เพียงอันเดียวในการดำเนินชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรจากการถือเอาความกะล่อนเป็นเกณฑ์ นักบวชพึงเคารพกาละเทศะสักเพียงไร และอย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องจะตัดสินกันง่ายๆ

แม้วิธีคิดถึงความจริงของโลกสมัยใหม่ไม่ถือเอาความ”สัมบูรณ์”เป็นมาตรสำคัญ แต่ที่จริง ความ”สัมบูรณ์”มีพลังอย่างมาก และผมอยากจะเดาว่า พลังของศาสนาในสมัยหนึ่ง (หรือแม้ถึงสมัยนี้) ก็มาจากการประกาศความจริงที่”สัมบูรณ์”นี้เอง

และเพราะมันมีพลังมากนี่เอง แม้วิชาความรู้ของโลกสมัยใหม่ล้วนประกาศความจริงที่ไม่”สัมบูรณ์”ทั้งสิ้น แต่หลักการทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมจำนวนมากในปัจจุบัน ก็ยังยืนยัน หรืออย่างน้อยก็มั่วๆ ว่ามัน”สัมบูรณ์” ใช้ได้ในทุกสังคมมนุษย์ ทำนองว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยซ้ำ

ลัทธิคอมมิวนิสม์ก็อ้างความ”สัมบูรณ์”อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะตอนที่ยังไม่อาจสถาปนาตนเองเป็นอุดมการณ์หลักของชาติได้ แต่ศัตรูของคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม, เสรีประชาธิปไตย, หรืออนาธิปไตย ก็ล้วนตั้งอยู่บนหลักการว่ามีสิ่ง”สัม-บูรณ์”ในความเป็นมนุษย์บางอย่าง เช่นเสรีภาพ (ในความหมายอย่างที่เสรีนิยมกำหนดด้วย) เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน (และชอบเอามาเปรียบกับอากาศที่เราหายใจ) ระบอบประชาธิปไตยซึ่งตั้งอยู่บนความยินยอมพร้อมใจของผู้ใต้ปกครอง ก็อ้างความ”สัมบูรณ์”ของหลักการนี้ ว่าพึงเอามาใช้ในรัฐสมัยใหม่ทุกแห่ง แม้ไม่ได้ยืดความ”สัมบูรณ์”ดังกล่าวถอยกลับไปถึงรัฐแบบอื่นที่มีมาก่อนรัฐสมัยใหม่ อนาธิปไตยถือว่า รัฐนั่นแหละคือตัวปิดกั้นเสรีภาพที่ร้ายกาจที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐประเภทไหนก็ตาม นี่เป็นหลักการที่”สัมบูรณ์”ตลอดไป

แม้แต่ลัทธิเศรษฐกิจที่เกิดใหม่ เช่นเสรีนิยมใหม่ (ซึ่งเพิ่งก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง) ก็ยึดถือหลักการ”สัมบูรณ์”ว่า ตลาดทำงานของมันได้เองและทำได้อย่างเป็นธรรมกว่ารัฐหรืออำนาจภายนอกอื่นใดทั้งสิ้น หน้าที่ของรัฐจึงเหลือเพียงกำกับควบคุมไม่ให้ตลาดถูกอำนาจอื่นแทรกแซงบิดเบือนเท่านั้น รวมทั้งต้องคอยยับยั้งอำนาจแทรกแซงของรัฐเองด้วย หากรัฐทำมากกว่านั้น ก็คือหนทางสู่การตกเป็นไพร่ไปทั้งสังคม หลักการข้อนี้ใช้ได้หมดทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือยังไม่เคยพัฒนาเลย (รวมทั้งใช้ได้ในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาในทุกประเทศด้วย)

บางคนอาจบอกว่า ลัทธิต่างๆ ที่ผมยกตัวอย่างมานั้น คือ”ศาสนา”ของคนสมัยใหม่ จะจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่น่าสังเกตว่า ในท่ามกลางความเฟื่องฟูของ”ศาสนา”ใหม่เหล่านี้ในสังคมต่างๆ ศาสนาแบบเดิม (พุทธ, คริสต์, อิสลาม, ยิว, พราหมณ์, ขงจื๊อ, ฯลฯ) ก็ยังอยู่ อย่างน้อยก็อยู่โดยยี่ห้อ แต่ในบางครั้งกลับได้รับการฟื้นฟูจนกลายเป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็งไม่แพ้ลัทธิเหล่านั้น (เช่นคนรัสเซียและยุโรปตะวันออกปัจจุบัน อาจไปโบสถ์บ่อยกว่าคนยุโรปตะวันตก)

ปัญญาชนไทยมักมองปรากฏการณ์ความคงทนของศาสนาในโลกสมัยใหม่ว่า เพราะศาสนาตอบสนองต่อมิติด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้นธรรมชาติของมนุษย์จึงต้องการศาสนาเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของตนอย่างขาดไม่ได้ จะจริงหรือเท็จอย่างไร ผมไม่ทราบ

แต่ทั้งเรื่องศาสนาเก่าและศาสนาใหม่ทำให้ผมคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า มนุษย์ไขว่คว้าหาสิ่งที่”สัมบูรณ์” เพราะมันทำให้เกิดความแน่นอนมั่นคงขึ้นในชีวิตหรือในความรู้สึกและวิธีทำความเข้าใจโลก ไม่แต่เพียงรู้สึกปลอดภัยในชีวิตเท่านั้น แต่ให้อำนาจในการทำความเข้าใจกับความสลับซับซ้อนของความเป็นจริง (เช่นตลาดซึ่งเพิ่งมีความสำคัญในชีวิตทางเศรษฐกิจของคนไทยส่วนใหญ่ไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง มีความสลับซับซ้อนมาก ยากจะเข้าใจได้ แต่ตลาดกลับมีอำนาจลิขิตโชคชะตาของคนไทยอย่างดิ้นไม่หลุด คำอธิบายที่มีลักษณะ”สัมบูรณ์” ไม่ว่าจะมาจากศาสนาหรือวิชาการ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าได้รู้เท่าทันตลาดและเพราะเหตุดังนั้นจึงไม่ไร้อำนาจไปเสียโดยสิ้นเชิง)

ตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น อะไรที่อ้างว่าเป็นความจริง”สัมบูรณ์”ไว้ จะเปลี่ยนมาอธิบายใหม่ว่าเป็นความจริง”สัมพัทธะ”อย่างวิธีคิดของสมัยใหม่ ก็จะทำให้สูญเสียพลังที่เคยมีไป เช่นพระนิพพานก็ตาม การได้เกิดในยุคพระศรีอาริย์ก็ตามเป็นไปไม่ได้อีกแล้วในสังคมอุดมกิเลสของโลกยุคปัจจุบัน คือการบอกว่าอุดมคติสูงสุดของพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เข้าไม่ถึงแล้วในปัจจุบัน เมื่อนักวิชาการตั้งข้อสังเกตและพยายามอธิบายว่า ประชาธิปไตยกำลังอ่อนแอลงทั้งโลกเพราะเหตุใด ก็คือการประกาศว่าหลักการประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่ง”สัมบูรณ์” และด้วยเหตุดังนั้นจึงเท่ากับให้ความชอบธรรมแก่ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบว่า อาจเหมาะกับบางสังคมมากกว่าประชาธิปไตย

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่า ราชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองที่ดีที่สุด คือการยืนยันคุณสมบัติอัน”สัมบูรณ์”ของระบอบราชาธิปไตย อย่างน้อยก็”สัมบูรณ์”สำหรับสังคมไทย แม้อาจเกิดรอยยิ้มที่มุมปากของคนไทยจำนวนไม่น้อย แต่ความจริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญหรือใครก็ตามที่ประกาศอย่างนี้ จะมีทางเลือกอื่นที่”สัมพัทธะ”ได้หรือ? เพราะ”สัมพัทธะ”ย่อมหมายถึงการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขปัจจัยในปัจจุบันและอนาคตด้วย ในที่สุดก็จะเกิดระบอบที่เหมาะสมกว่าเช่นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchyตามสำนวนของท่านรัฐบุรุษอาวุโส) หรือระบอบอื่นที่ไม่ราชาธิปไตยเลยก็ได้

“สัมบูรณ์”จะเปลี่ยนเป็น”สัมพัทธะ”ก็ยาก “สัมพัทธะ”จะเปลี่ยนเป็น”สัมบูรณ์”ก็ยาก (อย่างน้อยก็เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างเห็นๆ เลย)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net