Skip to main content
sharethis

สำรวจสภาพการจ้าง ลักษณะการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัยกับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ ไม่ลดไม่เลิกจ้าง ไม่ได้รับผลกระทบ จนถึงถูกจับฉลากและสั่งให้เขียนใบลาออก

การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากสร้างปัญหาสุขภาพให้แก่ประชาชนแล้ว มาตรการจัดการควบคุมโรคระบาดของรัฐบาลยังสร้างความเดือดร้อนในการทำงานให้แก่แรงงานด้วย เริ่มจากการที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาด้วยมาตรการปิดเมืองของจังหวัดต่างๆ สู่การสั่งปิดกิจการหลายประเภทในภาคบริการและการท่องเที่ยว ลดกิจกรรมสาธารณะ จำกัดการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนหยุดงานอยู่บ้าน ทำให้รายได้ของคนทำงานลดลงอย่างมาก เช่น คนหาเช้ากินค่ำ รับจ้างอิสระ คนงานในโรงงาน แต่ยังมีคนทำงานกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องทำงานเพื่อความสงบและความเรียบร้อยของชุมชน เช่น งานดูแลทำความสะอาด งานเก็บขยะ งานรักษาความปลอดภัย งานขนส่งสาธารณะ งานจำหน่ายขายอาหาร งานขนส่งสินค้า เป็นต้น

ลักษณะการทำงานในช่วงโรคระบาดมีความเปลี่ยนแปลง แต่สภาพการจ้างยังคงเหมือนเดิม บางกรณีในกลุ่มงานที่จำเป็นเหล่านี้ไม่สามารถลางานเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสได้ หรือเรียกว่า ลาบริหาร (administration leave) โดยได้ค่าจ้าง จึงใช้ลาพักร้อนแทน บางกรณีคนงานขนส่งถูกกักตัว 14 วันเพราะขับรถขนส่งสินค้าข้ามประเทศ แต่ไม่มีประกันสังคมเพราะนายจ้างไม่ทำให้ ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างประจำ ทำให้เสียสิทธิอย่างที่ไม่ควรจะเป็น และบางกรณีเป็นลูกจ้างซับคอนแทร็ค ถูกเลิกจ้างเพราะโควิด-19 ลดคนงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

คนงานในกลุ่มงานที่จำเป็น (Essential workers) ควรได้รับการดูแลมากขึ้น เช่น ให้วันลาเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโดยได้ค่าจ้าง มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ มีค่าเสี่ยงภัย และมีประกันสังคม ที่กระทรวงแรงงานควรเน้นไปตรวจสอบการจ้างงานในกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ ทำงานเชิงรุกให้พวกเขาได้รับสิทธิ และที่สำคัญ เข้าไปตรวจสอบการจ้างงานซับคอนแทร็ค ซึ่งควรแก้ไขปรับปรุงเพราะมีการเอารัดเอาเปรียบและเลิกจ้างง่ายในสถานการณ์เปราะบางนี้ เช่น พนักงาน รปภ. พนักงานทำความสะอาด

แต่เหมือนสถานการณ์พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่ปรากฏตามสื่อจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาที่อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ กลุ่มพนักงานรักษาความปลอดภัย ภายในศูนย์ราชการฯ กว่า 234 คน นัดรวมตัวกันเรียกร้องขอความและขอความชัดเจนเรื่องเงินสะสม เงินชดเชย และค่าแรงที่ยังไม่จ่ายแก่พนักงาน ประมาณ 20,000 บาทต่อคน รวมทั้งหมดกว่า 5,000,000 บาท หลังหมดสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา และช่วงเดียวกันข่าวของ ปลายฝน ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ก็ประกอบอาชีพ รปภ. และมีผู้มาแสดงความเห็นท้ายข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์คถึงปัญหาความยากลำบากของการทำงาน รปภ.

ในโอกาสนี้จะสัมภาษณ์สภาพการจ้างงานและการทำงานของพนักงานในกลุ่มงานที่จำเป็นคือ รปภ. ที่พบว่ายังทำงานไม่ขาดช่วง เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทำงานรวมโอที วันละ 12 ชั่วโมงและถือว่าเป็นผู้ช่วยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ คอยดูแลความสงบเรียบร้อยให้แก่ชุมชนหรือเอกชน แต่จากการให้สัมภาษณ์ของพนักงาน รปภ. การทำงาน 12 ชั่วโมงถือว่าหนักสำหรับผู้หญิงที่ต้องยืนเกือบตลอดเวลา การหักเปอร์เซ็นต์รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัท รปภ. ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างเต็มที่ และการจ้างงานยังไม่มั่นคง ดังนี้

รปภ. ห้างซุปเปอร์มาเก็ต ไม่ลดไม่เลิกจ้าง

สงกรานต์ พนักงาน รปภ. ในห้างซุปเปอร์มาเก็ต กรุงเทพฯ อายุ 42 ปี นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ มีการลดจุดตรวจเพราะห้างสรรพสินค้าปิดพื้นที่บางส่วน ทำงานเวลา 09.00 น. – 21.00 น. รวม 12 ชั่วโมง มี 2 กะคือ กะเช้าและกะกลางคืน เมื่อก่อนมี 3 กะ แต่จำนวนพนักงานเท่าเดิม ไม่มีการลดหรือเลิกจ้างพนักงาน 

ค่าจ้างเหมารวม 450 บาท รายได้ยังเท่าเดิม หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ สลับกันหยุด สวัสดิการ ยังไม่มีประกันสังคม รายได้ก่อนโควิด-19 ประมาณ 15,000 บาท แต่ช่วงนี้อยู่ที่ 12,000-13,000 บาท สำหรับวันหยุดนักขัตฤกษ์ ได้ค่าจ้าง 2 เท่า บริษัท รปภ. หักค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าชุด รปภ. 300 บาท หากเป็นพนักงานใหม่ หักจำนวน 3 ชุด และค่าอุปกรณ์ เช่น กระบองต้องจ่ายเอง หักเงินประกัน 2,000 บาท ทยอยจ่าย 10 เดือน ๆ ละ 200 บาท ต้องทำงานครบ 3 เดือนจึงจะได้เงินคืน หากมาสาย 1 นาที = 1 ชั่วโมง ข้อเรียกร้องคือ ต้องการเพิ่มค่าจ้างเป็น 470 บาทเท่ากับห้างอื่น 

รายจ่ายของสงกรานต์ ค่าเช่าบ้าน 1,500 บาทต่อเดือน อยู่กับภรรยา ทำอาหารรับประทานเอง ซื้อจากข้างนอกบ้านเป็นบางครั้ง ภรรยาขายไก่ทอด ค่าอาหารประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน

ก่อนหน้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เคยเป็น รปภ.ที่จังหวัดอื่น บริษัทซับคอนแทร็คหักมากเกินไป ลาป่วยมีใบรับรองแพทย์ก็ถูกหัก จึงลาออก

ลักษณะการทำงาน ยืนเกือบตลอดเวลา สลับกันพักเที่ยงและพักเบรก เคลียร์งานเวลา  20.00 น. ปิดประตู ตรวจสอบประตู ดูคนตกค้าง คอยเดินตลอดเพื่อดูความเรียบร้อย ไม่เคยถูกทำร้ายร่างกาย หากมีของสูญหายหรือเหตุทำร้าย จะต้องแจ้งตามสายงานและสถานีตำรวจตามลำดับ

ผู้หญิงเมื่อยืนทำงานนาน ๆ จะปวดขาปวดหลัง แต่มีห้องพยาบาลและมีพยาบาลวิชาชีพประจำ จำนวน รปภ.หญิงเกิน 50% เพราะต้องดูแลลูกค้ามากกว่า ส่วนผู้ชายจะดูแลบริเวณรอบๆ เช่น ลานสินค้า 

คุณสมบัติของการเป็น รปภ. จบ ม.3 และอายุไม่เกิน 45 ปี ผ่านการอบรมเป็น รปภ. ค่าฝึกอบรมประมาณ 1,600 บาท ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และฝึกอบรม ทุก 3 ปี ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 งาน รปภ. เป็นงานบริการ และยังเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานปกครองหรือตำรวจ

การจ้างงานแบบซับคอนแทร็ค คือ รปภ.อยู่ในสังกัดของบริษัท ซึ่งได้สัมปทานหรือประมูลงานจากนายจ้างห้าง หากนายจ้างห้างให้ค่าจ้าง รปภ. 690 บาทต่อคน บริษัทก็จะหักเปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง เหลือค่าจ้างให้ รปภ. 450 บาท/คน

รปภ. ธนาคาร กรุงไทย ไม่ได้รับผลกระทบ

อนุสรณ์ รปภ. ธนาคาร กรุงไทย อายุ 53 ปี ทำงานที่ธนาคารมาเป็นเวลา 8 ปี แต่เป็น รปภ.ตั้งแต่อายุราว 21 ปี รายได้เดือนละ 14,000 บาท หรือค่าจ้างวันละ 343 บาท วันทำงาน 8 ชั่วโมง ได้โบนัส 1 เดือนเท่ากับเงินเดือน ค่าเช่าบ้านพักคนเดียว 1,800 บาทต่อเดือน ภรรยาทำงานดูแลศูนย์เด็กอ่อนย่านรามอินทรา มีลูก 2 คน 

ค่าใช้จ่ายเท่ากับรายได้เพราะนำเงินไปซ่อมรถซึ่งเสียบ่อย ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สุขภาพยังแข็งแรงปกติ แต่มีความดันสูงบ้าง มีประกันสังคม เกษียณอายุ 60 ปีจะได้เงินบำเหน็จกว่า 2 แสนบาท ทำงานเวลา 11.00 น. เลิกงานเวลา 19.00 น. แต่ต้องมาก่อนเวลา ลักษณะทำงาน ยืนมากกว่านั่ง ผ่านการฝึกอบรมทุกปี บริษัทหักค่าชุดปีละ 2 ชุด ไม่มีกฎหักค่ามาสาย มี spare 1 คน หยุดงานวันอาทิตย์ 

อนุสรณ์ (ขวา)

รปภ.บ้านจัดสรร ถูกจับฉลากและสั่งให้เขียนใบลาออก

เสถียร รปภ.บ้านจัดสรร กรุงเทพฯ อายุ 53 ปี เขายืนยันว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถูกจับฉลากให้ออกจากงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกหนึ่งคนเมื่อเดือนเมษายน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด และถูกสั่งให้เขียนใบลาออก ยังไม่ได้ลงทะเบียนว่างงานเพราะฝ่ายบุคคลของบริษัท รปภ. ถนนลาดพร้าว ไม่ได้ให้คำแนะนำใด ๆ 

อย่างไรก็ตาม เสถียรเพิ่งเข้ามาทำงาน 1 เดือน ได้ค่าจ้าง 9,500 บาทต่อเดือน รวมโอทีได้ 15,000 บาท ถูกหักค่าชุด ค่ารองเท้า เงินประกันและสมทบประกันสังคม รวมแล้วนับพันๆ บาท ลักษณะการทำงาน ดูแลความปลอดภัยให้แก่คนในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีจำนวนนับร้อยหลัง ประจำกะกลางคืน โดยจะขับจักรยานยนต์วนตามจุดตรวจ ก่อนหน้าเคยเป็น รปภ.ห้างสรรพสินค้า ถนนลาดพร้าว เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาเป็นพนักงานทำความสะอาดของห้างเดียวกัน เป็นเวลา 8 ปี แต่ถูกออกจากงานเพราะป่วยติดต่อกัน 5 วัน ขณะนี้กำลังว่างงาน

เสถียร (ซ้าย)

รปภ. ทหารผ่านศึก จ.ระยอง ไม่ได้รับผลกระทบ

พลเรือนและพลทหาร รปภ. สังกัดองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จ.ระยอง ได้ค่าจ้างวันละ 502.50 บาท เหมาจ่าย 12 ชั่วโมง หยุดสัปดาห์ละ 1 ครั้งโดยสลับกันหยุด ลักษณะการทำงาน ยืนน้อยกว่าเอกชน คอยดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจ้าง รปภ. ทั้งสิ้นประมาณ 2 หมื่นกว่าคน เป็นทหารผ่านศึกหรือญาติพี่น้องและเป็นพลเรือน ซึ่งมีสวัสดิการแตกต่างกัน  หากเป็นทหารผ่านศึกและญาติพี่น้องของทหารผ่านศึกก็จะได้รับสวัสดิการที่ดีกว่า ใช้สิทธิรักษาพยาบาลของทหารผ่านศึกฟรี ค่าเทอมลูก 10,000 บาทต่อปี ได้ลดค่าไฟ 45 หน่วยให้ครอบครัวทหารผ่านศึก กู้เงินฉุกเฉินไม่มีดอกเบี้ย เพราะมาจากการสะสมของตัวเองทุกปี ปีละ 600-700 บาท ในขณะที่ รปภ.ภาคเอกชนกู้เงินเสียดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม พลเรือนไม่มีประกันสังคม ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39  แต่ได้ค่ารักษาพยาบาล 3,500 บาทต่อปี อย่างไรก็ตาม พลเรือนต้องการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ไม่ใช่รายวัน ควรได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพลทหาร

เมื่อเข้าไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 65 (9) [1] และกฎกระทรวงฉบับที่ 8 พบว่า การทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ค่าจ้างจะคิดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ คือ 325 บาท/วัน หารด้วยจำนวนชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ช.ม. = 40.625 บาท/ช.ม.

ดังนั้น ค่าจ้างของชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมง/วัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานข้างต้น คิดเท่ากับชั่วโมงการทำงานปกติ (คิดที่ 1 เท่า ไม่ใช่ 1.5 เท่า) คือ 40.625 x 4 = 162.50 บาท รวมแล้วจะได้ค่าจ้างเท่ากับ 487.50 บาท

สำหรับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ออกประกาศอัตราค่าจ้างใหม่ของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563[2]  โดยในเขตกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร อัตราการทำงาน 8 ชั่วโมงจะได้รับ 331.00 บาท อัตราการทำงาน 12 ชั่วโมง ได้รับ 496.50 บาท ส่วนในจังหวัดระยอง 8 ชั่วโมงได้รับ 335.00 บาท 12 ชั่วโมงได้ 502.50 บาท และจ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 2 เท่า

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหางานให้ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 ให้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ ตลอดจนธุรกิจของเอกชน ทั้งในด้านหน่วยงาน และตัวบุคคล แต่ระยะหลังมีการจ้างพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับทหารผ่านศึก เนื่องจากงาน รปภ. กำลังเติบโต เป็นที่ต้องการอย่างมาก

 

[1] ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (3) (4) (5) (6) (7) (8) หรือ (9) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ.......(8) งานเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สิน.  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.  สืบค้นจาก http://legal.labour.go.th/2018/images/law/Protection2541/labour_protection_2541_new.pdf

[2] อัตราค่าจ้าง รปภ.ใหม่ 1 ม.ค. 63.  สำนักงานรักษาความปลอดภัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.  สปภ.com.  สืบค้นจาก สปภ.com/2020/01/10609/  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net