'โอเฟเลีย เฟอร์นันเดซ' นักการเมืองรุ่นเยาว์อาร์เจนตินา ผู้ฝ่าฟันเกรียนขวาออนไลน์

ในอาร์เจนตินามีนักการเมืองหญิงที่ได้รับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งกรุงบัวโนสไอเรสเมื่ออายุได้ 19 ปี นับว่าเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในโลก เธอต้องเผชิญกับการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตจากเหล่าเกรียนฝ่ายขวาที่ไม่ชอบใจวาระด้านสตรีนิยม และนโยบายเชิงก้าวหน้าอื่นๆ ของเธอ

โอเฟเลีย เฟอร์นันเดซ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

15 พ.ค. 2563 โอเฟเลีย เฟอร์นันเดซ เป็นนักการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในอาร์เจนตินา เธอเพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ ต.ค. 2562 ทำให้ได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา เธอเข้ารับตำแหน่งนั้นเธอมีอายุ 19 ปีในขณะที่ยังเป็นนักกิจกรรมผู้นำเยาวชนและนักสตรีนิยมที่เคยร่วมประท้วงเรียกร้องเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ในประเด็นทางเลือกในการทำแท้ง

เฟอร์นันเดซต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งและการรังควาญจากกลุ่มเกรียนและพวกฝ่ายขวาทางอินเทอร์เน็ต จนทำให้เธอต้องโต้ตอบกลับไปว่า "พวกคุณกลัวเด็กผู้หญิงอย่างฉันหรือไง พวกกระจอก"

กลุ่มคนที่กลั่นแกล้งนักการเมืองรุ่นเยาว์คนนี้ยังลามปามไปเล่นงานแม่ของเธอด้วย โดยกล่าวหาว่าแม่ของเธอมีส่วนพัวพันกับกรณีการทุจริตคอร์รัปชันของขบวนการทางการเมืองเอลเคิร์ชเนอร์ริสโม ขบวนการทางการเมืองโดยอดีตประธานาธิบดีเนสเตอร์ และคริสตินา เคิร์ชเนอร์ ทั้งๆ ที่ข้อหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่กลุ่มเกรียนก็นำข้อหาลอยๆ มาโจมตีแม่ของเธอ รวมถึงจัดกลุ่มขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายป้ายสีทำลายความชอบธรรมของเฟอร์นันเดซด้วย

กลุ่มที่โจมตีเฟอร์นันเดซเป็นกลุ่มฝ่ายขวาและกลุ่มพรรคการเมืองที่ต่อต้านการทำแท้ง ถึงแม้ว่าจะถูกกลั่นแกล้งรังแกทั้งจากข่าวปลอม การเหยียดเพศและอื่นๆ แต่เฟอร์นันเดซก็ยืนหยัดโต้ตอบกลับ เธอรู้ว่าเส้นทางการเมืองจะยากลำบากแต่ไม่นึกว่ามันจะรุนแรงขนาดนี้ ขณะเดียวกันก็ด่าตอบกลุ่มเกรียนว่าเป็นพวกที่ "ตื้นๆ และงี่เง่า" เธอบอกว่าเพราะกลุ่มเกรียนเหล่านี้ไม่สามารถกล่าวหาคนอายุ 19 ปี อย่างเธอว่าเป็นคนโกงได้ จึงหันไปเล่นงานแม่ของเธอแทน

อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของขบวนการเฟมินิสต์เรื่องจากมีขบวนการที่ชื่อ #NiUnaMenos และขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่ส่งอิทธิพลกว้างขวาง ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีประชาชน 3 ล้านคนชุมนุมบนท้องถนนเพื่อกดดันไม่ให้มีการผ่านร่างกฎหมายห้ามทำแท้ง ซึ่งขบวนการนี้ก็ส่งผลถึงการอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิสตรีทั่วโลก และในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 ก็มีการนำประเด็นความรุนแรงที่มีพื้นฐานทางเพศสภาพมาเป็นประเด็นหลักในหมู่ผู้แทนที่มีแนวทางก้าวหน้า และจากการรณรงค์หาเสียงเหล่านี้เองก็ส่งผลให้สภาเสริมเรื่องความรุนแรงทางการเมืองเข้าไปในกฎหมายการคุ้มครองผู้หญิง

องค์กรด้านความเป็นธรรมและความเท่าเทียม (ELA) เคยศึกษาพบว่าการที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงทางการเมืองเมื่อมีฐานะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ผู้แทนทางการเมือง และนักกิจกรรม เน้นย้ำให้เห็นว่าควรต้องมีการใช้แนวทางเรื่องการพิจารณาอำนาจทับซ้อน (Intersectional) ในเรื่องสิทธิทางการเมือง

ซิเมนา คาร์โดโซ ส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนจาก ELA ในประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศสภาพบนโซเชียลมีเดียกล่าวว่า พวกเขาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเฟอร์นันเดซว่าเป็น "ความรุนแรงทางโซเชียลมีเดีย" เพราะมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของผู้หญิงทางการเมืองและเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้หญิงเขาไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระดับที่รุนแรงมากอาจจะนำไปสู่การทำร้ายร่างกายหรือความรุนแรงทางเพศได้

เฟอร์นันเดซกล่าวว่าความรุนแรงทางการเมืองบนโซเชียลมีเดียถูกโหมกระแสได้ง่ายจากการที่ผู้คนอาศัยความเป็นนิรนามและการไม่ได้พูดต่อหน้าเพื่อทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ เหล่าเกรียนมักจะใช้รูปลักษณ์หน้าตามาเป็นตัวตั้งในการโจมตีผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมือง โดยทำให้บทสนทนาออกจากประเด็นการเมืองไปวิจารณ์เรื่องค่าแรง เสื้อผ้าที่สวมใส่โดยไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์กันที่แนวคิดเลย ทำให้เฟอร์นันเดซมองว่า "มันไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่เป็นความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด"

ตัวเฟอร์นันเดซเองเป็นคนที่ทำกิจกรรมมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เธอเคยยืนอยู่ต่อหน้าผู้แทนสภาฯ ในการอภิปรายต่อต้านกฎหมายห้ามทำแท้ง และเคยมีส่วนร่วมในขบวนการเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนฟรายเดย์ฟอร์ฟิวเจอร์ซึ่งเป็นเครือข่ายนักกิจกรรมรุ่นเยาวจากทั่วโลก เธอยังเรียนจบมาจากโรงเรียน "เอล เปลเล" ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะนักการเมือง นักวิชาการและศิลปิน

การอภิปรายครั้งนั้นเองที่ทำให้เฟอร์นันเดซกลายเป็นที่รู้จักและได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมรายงานโทรทัศน์และวิทยุสายก้าวหน้ารวมถึงงานสังสรรค์ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และแสดงในวิดีโอรณรงค์เพื่อสตรีนิยม เฟอร์นันเดซบอกอีกว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักการเมืองคนรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ คือ อเล็กซานเดรีย โอแคซิโอ-คอร์เทซ เพราะเธอรู้สึกว่าทั้งเธอและโอแคซิโอ-คอร์เทซต่างก็มีภารกิจเดียวกันในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเกี่ยวกับผู้แทนทางการเมือง

การปรากฏตัวในสื่อของเฟอร์นันเดซทำให้มีคนเข้าไปติดตามเธอต่อในโซเชียลมีเดีย แต่นั่นทำให้เธอต้องแบกรับกับการถูกลั่นแกล้งออนไลน์ไปด้วย เธอบอกว่ากาารเรียนรู้จากผู้หญิงคนอื่นๆ ที่เคยถูกโจมตีในโลกออนไลน์มาก่อนอย่างเกรตา ทุนเบิร์ก (นักกิจกรรมด้านปัญหาโลกร้อน) กับโอแคซิโอ-คอร์เทซ ทำให้เธอรู้สึกอุ่นใจขึ้นในแง่ที่ว่าเมื่อคนเหล่านี้สามารถฝ่าฟันไปได้ ตัวเธอเองก็จะสามารถฝ่าฟันไปได้

บางครั้งเฟอร์นันเดซก็ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งอย่างการที่เหล่าเกรียนไปขุดข้อความเก่าๆ ของเธอขึ้นมาแล้วจงใจตีความผิดๆ เพื่อใส่ร้ายป้ายสีแล้วสร้างเทรนด์เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เป็นเรื่องยากที่เธอจะแสร้งทำเพิกเฉยต่อการกลั่นแกล้งเหล่านี้

เฟอร์นันเดซเชื่อว่าสาเหตุที่คนอายุ 20 ปีอย่างเธอถูกตั้งเป้าหมายกลั่นแกล้งเช่นนี้เพราะเหล่าเกรียนฝ่ายขวาไม่ชอบใจที่เธอมีวาระทางการเมืองในเชิงสตรีนิยมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในทางการเมืองอาร์เจนตินา แต่เธอก็ไม่ใช่คนเดียวที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เธอบอกว่าแม้แต่ผู้ชายในกลุ่มพรรคการเมืองที่เธอสังกัดก็กำลังนื้อสร้างจารีตนิยมที่มีอยู่ในการเมืองอาร์เจนตินา

เรียบเรียงจาก

In Argentina, the Next Generation Finds Its Voice, NACLA, ฉบับที่จะออกในวันที่ May 11, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท