Skip to main content
sharethis
  • ไทยพบป่วยใหม่ 7 ราย ศบค. ไฟเขียวลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 5 ทุ่ม - ตี 4 : 17 พ.ค.นี้ ผ่อนคลาย ร้านอาหารในหน่วยงาน ศูนย์การค้า คลินิกเสริมความงาม ห้องสมุด
  • ภาคีเครือข่าย สปสช.-สสส.-พอช.-ม.มหิดล- กทม.- สธ. พร้อมภาควิชาการ-ประชาสังคม ลงพื้นที่บางกอกน้อย ตรวจคัดกรอง COVID-19 แก่ชุมชน-คนไร้บ้าน พร้อมเพิ่มการตรวจหาภูมิคุ้มกัน “Antibody” วัดผลมาตรการรัฐ-เฝ้าระวังการแพร่กระจายในอนาคต
  • บอร์ดใหญ่ สช. ให้ศึกษาสุขภาพเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ตั้ง นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ
  • ม.มหิดล ชี้บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ก่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่เสี่ยงติดเชื้อ Covid-19 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

 

15 พ.ค.2563 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค.63) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ไทยพบป่วยใหม่ 7 ราย 

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 7 ราย ผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,025 ราย ผู้ที่หายป่วยเพิ่ม 4 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงผู้เสียชีวิตที่ 56 ราย มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 115 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ทั้ง 7 ราย พบจากการคัดกรองและดูแลในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ เป็นชาย 6 ราย หญิง 1 ราย อยู่ในช่วงอายุ 17-31 ปี เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 63
   
การกระจายตัวของผู้ป่วย อยู่ที่สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้และศูนย์กักกันที่มีแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในต่างจังหวัดเกือบทั้งสิ้น แนวโน้มผู้ป่วยสะสมขณะนี้อยู่ในระดับที่นิ่ง เช่นเดียวกับผู้ป่วยใหม่  สำหรับประเทศต้นทางของการรับคนไทยกลับเข้าประเทศ พบว่า อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงที่สุด 65 คน ปากีสถาน 16 คน อังกฤษ คาซัคสถาน 2 คน มาเลเซียผ่านทางท่าอากาศยาน 3 คน จากมาเลเซียมีสองทางคือท่าอากาศยานและด่านพรมแดน โดยมีคนไทยกลับเข้ามาทางด่านพรมแดน 9,695 คน มีผู้ป่วยยืนยันเพียง 1 ราย ขณะที่คนไทยผ่านทางอากาศเข้ามา 194 ราย มีผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย จึงต้องให้ความสำคัญและดูแลความปลอดภัยในการติดเชื้อทางอากาศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พรมแดนทางบกก็ยังต้องดูแลด้วย
  
การรายงานผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ PUI สะสมตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 63 มีรวม 41,000 กว่าราย และยังคงเรียกผู้ป่วยสงสัย เข้ามารับการตรวจมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเป็นมาตรการดึงคนที่มีความเสี่ยงให้เข้ามารับการตรวจให้มากที่สุด เพราะการตรวจจากห้องปฏิบัติการจะช่วยยืนยันได้ว่ามีคนติดเชื้ออยู่ที่ไหน ซึ่งจะทำอย่างต่อเนื่อง

ไฟเขียวลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 5 ทุ่ม - ตี 4 : 17 พ.ค.นี้ ผ่อนคลาย ร้านอาหารในหน่วยงาน ศูนย์การค้า คลินิกเสริมความงาม ห้องสมุด

ผอ.ศบค. ขอบคุณรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทุกฝ่ายในศูนย์โควิดที่ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่มาตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา แสดงถึงการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ และกลไกอื่น ๆ ในสังคม ทั้งการรวมศูนย์อำนาจและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยควบคุมการติดเชื้อไวรัสได้ รวมทั้งหน่วยงานประชาสัมพันธ์ที่ช่วยสร้างการรับรู้แก่ประชาชนให้มีความเข้าใจในสถานการณ์และร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ส่งเสริมให้มาตรการของรัฐสัมฤทธิ์ผล และเมื่อเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 มาตรการควบคุมที่ออกมาในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ชีวิตวิถีใหม่ ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องช่วยวางแผนเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยในอนาคต โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ทั้งนี้ ฝากให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงออกแบบวางแผนการทำงานในระบบใหม่ตั้งแต่ตอนนี้ไป
 
ผอ.ศบค. กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าสู่มาตรการการผ่อนปรนระยะที่ 2 มีความจำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ โดยมอบหมายให้มีหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางเป็นประธาน เพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อกำหนดต่าง ๆ บันทึกทำเป็นแนวทางการผ่อนคลายมาตรการกิจการ/กิจกรรม ร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยคำนึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย ทั้งนี้ ศบค. พัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อสนับสนุนการติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการและกิจกรรมให้เป็นไปตามที่ราชการกำหนด ใช้เป็นเครื่องมือปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของพลเมือง รวมทั้งให้ความมั่นใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชนด้วย
 
คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย ได้ศึกษาความจำเป็นการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เปรียบเทียบกับกฎหมายปกติเกี่ยวกับการควบคุมการระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้ ศบค. ในการประกาศขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนี้ต่อไป
 
กระทรวงศึกษาธิการจะเตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ เจ้าหน้าที่ การปฏิบัติต่าง ๆ ในโรงเรียน รวมทั้งประชาสัมพันธ์กำหนดการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคมนี้ด้วย
 
ศูนย์ปฏิบัติการในเรื่องของมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศ ซึ่งดูแลคนไทยในต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างจำนวนผู้ลงทะเบียนและความพร้อมของทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ ประกอบกับขีดความสามารถในการดูแลในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ โดยผู้เดินทางเข้าประเทศทุกรายต้องอยู่ในสถานกักกันเพื่อป้องกันโรคของทางราชการอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้แรงงานต่างประเทศกลับประเทศเพื่อนบ้านได้ พร้อมทั้งให้สำรวจพื้นที่การพักอาศัยของแรงงานต่างด้าวที่แออัด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้
 
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานการคาดการณ์รูปแบบการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ใน 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ ฉากทัศน์ที่ 1. คือ สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการคุมโดยมาตรการต่าง ๆ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเดือนกันยายน จะเห็นการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 3 คนต่อวัน ถ้าวิกฤต (อยู่โรงพยาบาล) ประมาณ 15 คนต่อวัน  ฉากทัศน์ที่ 2. คือ การผ่อนปรนบ้าง ในเดือนกันยายน จะเห็นการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 24 คนต่อวัน ถ้าวิกฤต ประมาณ 105 คนต่อวัน และ ฉากทัศน์ที่ 3. คือ การผ่อนคลายมาก เปิดทุกกิจการกิจกรรม ซึ่งเมื่อถึงเดือนกันยายนคาดการณ์ว่าจะเกิดการติดเชื้อรายใหม่มากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 65 คนต่อวัน ถ้าวิกฤต ประมาณ 289 คนต่อวัน  ซึ่งฉากทัศน์ที่ 2 น่าจะดีที่สุด
 
เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID -19 เสนอประเภทของกิจการและกิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนคลายในระยะที่ 2 มี 4 กลุ่มดังนี้ กลุ่ม 1 สีขาว กลุ่ม 2 สีเขียว กลุ่ม 3 สีเหลือง และกลุ่ม 4 สีแดง  โดยกลุ่มสีเขียว ได้แก่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคไปในหลายพื้นที่และการแพร่เชื้อในสถานที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์สูง
 
กิจกรรมที่ 1 ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต คือ เปิดในกลุ่มที่ 1 การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มในอาคารสำนักงาน โรงอาหาร หรือศูนย์อาหาร ภายในหน่วยงาน ให้มีการนำกลับไปบริโภคที่อื่น หากเปิดให้ใช้บริการในสถานที่นั้นก็สามารถทำได้โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ ห้ามบริโภคสุราเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้ปิดบริการจากช่วงเวลาเดิม 21:00 น. เป็น 20.00 น. สินค้าอุปโภค บริโภค คอมพิวเตอร์ ร้านหนังสือ  ร้านค้าปลีก  หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า คลินิกเวชกรรม สถานทันตกรรม  ฯลฯ ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ สวนสนุก   สวนสัตว์ ตู้เกมส์ ยังคงให้ปิดบริการ สำหรับร้านค้าปลีก ค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดผลไม้  ให้เปิดได้โดยต้องควบคุมทางเข้าออก  จัดให้มีการวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ให้และผู้ใช้บริการตามมาตรการที่กำหนดไว้
 
กิจกรรมที่ 2 ด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่ คลินิกเวชกรรมเสริมความงามเฉพาะเรือนร่าง ผิวพรรณและเลเซอร์ ยกเว้นการเสริมความงามบริเวณใบหน้า เพราะอาจทำให้สุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ สถานเสริมความงามควบคุมน้ำหนัก สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพรยังปิดต่อไป ขณะที่ โรงยิมสถานที่ออกกำลังกายในร่ม ฟิตเนสเฉพาะกีฬาตามกติกาสากลที่ไม่มีลักษณะการปะทะกันโดยอาจเล่นเป็นทีมไม่เกินทีมละ 3 คน และไม่มีผู้ชมการแข่งขัน ได้แก่  แบดมินตัน เซปัคตะกร้อ เทเบิลเทนนิส โยคะ ฟันดาบ ยิมนาสติก ปีนผา นอกจากนี้ สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) เปิดเฉพาะบางส่วนฟรีเวท (ไม่มีการออกกำลังกายแบบรวมกลุ่มและห้ามใช้เครื่อง ลู่วิ่ง จักรยานปั่น เครื่อง Elliptical หรือเครื่องออกกำลังกายอื่น ๆ) สระว่ายน้ำสาธารณะ (กลางแจ้งและในร่ม) ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามจำนวนเลนของการว่าย โดยอาจมีอุปกรณ์ขึงกันเลนการว่าย ความกว้างของเลนไม่น้อยกว่า 7 ฟุต และจำกัดเวลาการเล่นไม่เกิน 1 ชม. สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สวนน้ำ สวนน้ำบึงธรรมชาติ กีฬาทางน้ำ เช่น เซิร์ฟบอร์ด เจ็ตสกี บานานาโบ๊ตและเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำอื่น ๆ ยังปิดต่อไป
 
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม เปิดเฉพาะให้บริการจัดประชุมขององค์กรหรือหน่วยงาน ลักษณะนั่งประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และสามารถติดตามได้ ดังนั้นโรงแรมสามารถเปิดได้แล้ว ห้องสมุดสาธารณะ แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะ สามารถเปิดได้ รวมถึงกิจการถ่ายภาพยนตร์และวิดีทัศน์รวมทีมงานหน้าฉากแล้วต้องไม่เกิน 50 คน

มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงไว้  คือ การเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ยังคงปรับระยะเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานจากเดิม 22:00 น. เป็น 23:00 น. ถึง 04:00 น. ซึ่งต้องมีการประกาศจากราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง อีกทั้ง งดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัดยังคงใช้มาตรการ เนื่องจากแต่ละจังหวัดที่มีการปฏิบัติแยกย่อยออกไป เพื่อให้แต่ละจังหวัดปรับมาตรการเข้มต่อไป

โลกติดสะสม 4.5 ล้าน เสียชีวิต 3 แสน

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) โลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ที่กว่า 4,520,000 ราย เสียชีวิตไปกว่า 303,000 ราย ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ยังคงมีผู้เสียชีวิตเป็นอันอับที่ 1 ของโลก โดยเสียชีวิตเพิ่ม 1,715 ราย รองลงมาบราซิลและสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ 3 ประเทศอันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา 27,000 กว่าราย บราซิล 13,000 กว่าราย และรัสเซีย ตามลำดับ ซึ่งสหรัฐอเมริกาและบราซิลมีนโยบายคล้ายกันในการเปิดเสรีการค้าขายและเศรษฐกิจ จึงทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อขยายตัวในลักษณะเช่นเดียวกัน
 
สถานการณ์ผู้ป่วยจำแนกรายประเทศ ได้แก่สิงคโปร์ มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 752 ราย บังกลาเทศ 1,000 กว่าราย ญี่ปุ่น 71 ราย อินโดนีเซีย  568 ราย ฟิลิปปินส์ 258 ราย เกาหลีใต้ 21 ราย โดยแนวโน้มกราฟพบว่า ผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะทรงตัวและลดลงเล็กน้อย ขณะที่บราซิลยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มสูงขึ้น และรัสเซียยังทรงตัวอยู่ ในเอเชียพบว่าอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ มีแนวโน้มสูงเช่นเดียว ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มทรงตัว โดยสถานการณ์ของเพื่อนบ้านรอบชายแดนไทยพบว่ามาเลเซียมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด 40 ราย  ประเทศไทย 7 รายและเวียดนาม 24 ราย ในส่วนของเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่แต่อย่างใด
 
โอกาสนี้ โฆษก ศบค. ยังเผยว่า กรมอนามัยสำรวจสถานประกอบกิจการ 77 จังหวัดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพพบว่า กรณีร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม ร้อยละ 27.18 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดีเยี่ยม ร้อยละ 9.74 ผ่านเกณฑ์พื้นฐานและร้อยละ 63.08 ไม่ผ่านเกณฑ์ โดยประเด็นที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ การบันทึกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร วัน และเวลาของผู้มารับบริการ จุดคัดกรองพนักงานและผู้มารับบริการ ผู้ให้บริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย แผ่นใสครอบหน้า (Face Shield) และผ้ากันเปื้อน/เสื้อคลุมที่สะอาด กรณีร้านสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ ทำได้ค่อนข้างดี คือ ร้อยละ 40 ผ่านเกณฑ์ดีเยี่ยม ร้อยละ 7 ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน และร้อยละ 53 ไม่ผ่านเกณฑ์ ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ จุดคัดกรองพนักงานและผู้มารับบริการ ผู้ให้บริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย แผ่นใสครอบหน้า (Face Shield) สวมถุงมือยาง หมวกคลุมผม และผ้ากันเปื้อนที่สะอาดทุกครั้งที่ให้บริการ จัดที่ยืนสำหรับลูกค้าที่รอชำระเงิน

ลุยคัดกรอง ‘คนไร้บ้าน’ บางกอกน้อย เพิ่มตรวจหาภูมิคุ้มกันใช้ข้อมูลเสริมการวางแผน

ทีมสื่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา สปสช. พร้อมด้วย คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายสลัม 4 ภาค​มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส COVID-19 และมอบอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ณ ศูนย์พักคนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย

ทั้งนี้ ได้มีการตรวจคัดกรองให้แก่ประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่กว่า 110 คน โดยการเก็บตัวอย่างจากกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม (Antigen) ด้วยวิธีการ RT-PCR ควบคู่กับการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี ไปแล้ว ซึ่งผลที่ออกมาไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า การตรวจคัดกรองในขณะนี้ สปสช.ได้มุ่งดำเนินการในกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง หรือกลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากหลากหลายแห่ง แต่ต้องอยู่ร่วมกันในสถานที่จำกัด โดยจากการตรวจที่ผ่านมายังคงได้ผลเป็นลบ สอดคล้องกับสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศที่ลดน้อยลง และเหลือเป็นเลขศูนย์เมื่อช่วงที่ผ่านมา

“ครั้งนี้เราพิเศษกว่าปกติ คือนอกจากตรวจหาสารพันธุกรรมโดยตรงแล้ว ยังมีการตรวจหา Antibody เพื่อดูว่าตามชุมชนขณะนี้เริ่มมีการสร้าง Antibody แล้วหรือยัง ซึ่งถ้ามีการตรวจพบนั้นจะแปลว่ามีประชากรที่ได้รับไวรัสไปแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ และหายดีจนกระทั่งสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ โดยหากคนไทยมีภูมิคุ้มกันถึงในระดับหนึ่ง เราก็อาจไม่ต้องกลัวการระบาดอีกต่อไป เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ทุกคนมีภูมิอยู่ในตัว” ทพ.อรรถพร ระบุ

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากที่เราทราบกันแล้วว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยลดน้อยลง แต่อีกส่วนหนึ่งที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงภาควิชาการต่างๆ ให้ความสำคัญ คือการศึกษาข้อมูลทางวิชาการว่าในปัจจุบันเรามีการติดเชื้อแพร่กระจายเข้าไปในชุมชนมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลเหล่านี้จะบ่งชี้ว่ามาตรการดูแลที่ผ่านมาได้ผลดีมากน้อยเพียงใด โดยรัฐบาลสามารถนำข้อมูลต่างๆ กลับไปวางแผนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ในอนาคต

“ขณะนี้เรานำร่องศึกษาในกลุ่มคนไร้บ้าน รวมไปถึงตามชุมชนเป้าหมายต่างๆ ถ้าพบว่าเดิมเขาไม่มีอาการ ตรวจไม่เจอเชื้อ แต่พบว่าปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันอยู่ อาจบ่งชี้ได้ว่าเขาเคยได้รับเชื้อมาแล้วแต่ไม่แสดงอาการ แปลว่าได้มีการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันถ้าเราตรวจไม่เจอภูมิคุ้มกันในกลุ่มชุมชนเหล่านี้ ก็เป็นที่เบาใจว่ากระบวนการเฝ้าระวังและป้องกันที่ผ่านมาเราทำได้ดี” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าว

ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจของ สสส. คือการสนับสนุนคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เพื่อให้เห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถตั้งหลักชีวิตและกลับคืนสู่สังคมได้ โดยในช่วงภาวะวิกฤต COVID-19 ได้มีการสนับสนุนเรื่องฉุกเฉิน ทั้งในด้านการจัดการอาหาร การจัดตั้งครัวกลาง การแจกจ่ายเวชภัณฑ์ รวมไปถึงการพูดคุยทำความเข้าใจในกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงสื่อต่างๆ ทำให้ไม่รับรู้ถึงสถานการณ์หรือนโยบายในภาพรวม

“มาตรการเคอร์ฟิวหรือนโยบายต่างๆ นั้นไปไม่ถึงคนบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสื่อใดๆ การไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จึงเป็นภาวะเร่งด่วน ดังนั้นวันนี้ทาง สสส. ได้มีการแจกจ่ายถุงผ้าเวชภัณฑ์จำนวน 1,600 ชุด ซึ่งนอกจากอุปกรณ์อย่างเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย หรือปรอทวัดไข้แล้ว ยังมีคู่มือภาคประชาชนในการดูแลตัวเอง เป็นการย่อยข้อมูลในส่วนที่เขาจะต้องรับรู้และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องไว้ครบถ้วน” นางภรณี ระบุ

วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ระบุว่า นอกจากกลุ่มคนไร้บ้านเดิมแล้ว ขณะนี้ยังมีกลุ่มที่รอจะมาเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ คือกลุ่มคนที่เพิ่งออกจากเรือนจำแต่ไม่มีที่ไป ซึ่งในช่วงนี้ทางเรือนจำยังให้อยู่พักไปก่อนเพราะยังติดช่วงของเคอร์ฟิว แต่หลังจากนี้ทางเครือข่ายได้กำลังมีการพูดคุยกันว่า หากมีการทำระบบคัดกรอง มีข้อมูลร่วมกันแล้ว ก็อาจมีบางส่วนที่พร้อมเข้ามายังศูนย์พักคนไร้บ้าน เพื่อฟื้นฟูและกลับสู่สังคมต่อไป

บอร์ดใหญ่ สช. ให้ศึกษาสุขภาพเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า วันนี้ (15 พ.ค.63)ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  (คสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ที่เสนอให้มีการศึกษาเรื่องสุขภาพเชื่อมโยงไปกับเรื่องการค้า เพราะในอดีตการเจรจาการค้าต่างประเทศอาจมองมิติสุขภาพไม่มากนัก นอกจากนี้ยังเสนอให้การเจรจาการค้า มีเวทีให้ภาคการค้าและภาคสุขภาพได้ร่วมหารือกัน เพื่อสร้างสมดุลในการกำหนดท่าทีของประเทศหรือภูมิภาค และมีกลไกการติดตามผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศ

“ข้อเสนอนี้เป็นผลมาการหารือร่วมกันของหลายฝ่ายทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาควิชาการเมื่อปลายปี 2562 ผ่านเวทีประชุมวิชาการว่าด้วย ‘การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพของอาเซียน: แสวงจุดร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เมื่อ คสช. เห็นชอบแล้วจะมอบให้ สช. ประสานการดำเนินการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” สาธิตกล่าว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าที่ประชุม คสช. ได้รับทราบความคืบหน้าและเห็นชอบตามข้อเสนอก้าวต่อไปของการดำเนินงานตามแผน รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ซึ่ง สช. ร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม ปกครองและคณะสงฆ์ รวม 20 หน่วยงานและเครือข่ายองค์กรประชาชน อาสาสมัครในพื้นที่ ขับเคลื่อนงานป้องกันการแพร่ระบาดและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ จนเกิดเป็นมาตรการต่างๆ ในรูปแบบข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ของทุกตำบลชุมชนหมู่บ้าน และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้สนับสนุนงบประมาณไปแล้วกว่า 3,600 โครงการทั่วประเทศ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวต่อว่า “ภาคประชาสังคม อาสาสมัคร และพระภิกษุสงฆ์ มีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการของประชาชนเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ช่วยเสริมมาตรการต่างๆ ของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า หลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตก็จะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะฟื้นฟู ในการขับเคลื่อนระยะต่อไปจึงจะเน้นการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดด้วยนอกเหนือจากที่เน้นการทำงานระดับตำบล โดยสมัชชาสุขภาพจังหวัด สามารถเป็นเวทีกลางของเครือข่ายในการหารือประเด็นต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมและเป็นประโยชน์ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังจะมีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้น เพื่อนำประเด็นต่างๆ ในธรรมนูญตำบลไปวางเป็นกรอบนโยบายและกรอบงบประมาณของพื้นที่นั้นๆ ท้ายที่สุดจะมีการบันทึกเหตุการณ์และถอดบทเรียนของภาคประชาชน อสม.ด้วย

เลขาธิการ คสช. เปิดเผยต่อว่าที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ ร่วมกับกรรมการจากหน่วยงานและผู้ทรงคุณวุฒิอีก 20 คน มีวาระการทำงาน 4 ปี เพื่อประสานร่างแผนพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 10 ปี (พ.ศ.2561-2570) ที่ คสช. ชุดที่แล้ว เคยให้ความเห็นชอบและอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ม.มหิดล ชี้บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ก่อโรค NCDs ในวัยผู้ใหญ่เสี่ยงติดเชื้อ Covid-19 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่า จากงานวิจัยในหลายประเทศพบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญในปัจจุบัน เมื่อได้มีการศึกษาย้อนหลังพบว่าเกิดจากการสะสมระดับความเครียดที่ผิดปกติตั้งแต่ในวัยเด็ก (Toxic Stress) ไปจนถึงการมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า ภาวะผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ในโลกยุคดิสรัปชั่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานะครอบครัว โดยพบว่าเด็กในช่วง 6 ปีแรกที่เติบโตมาในภาวการณ์ที่ไม่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือ Adverse Childhood Experiences อาทิ พ่อแม่ตีกัน ติดคุก ติดยา แตกแยก เป็นโรคจิตหลุด หรือว่าพ่อแม่เลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทำร้ายทางอารมณ์ ทอดทิ้งทางอารมณ์ ทำร้ายร่างกาย และทำร้ายทางเพศ รวมทั้งถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม จนก่อให้เกิดระดับความเครียดเป็นพิษ หรือ Toxic Stress เด็กเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ โดยเติบโตมามีพัฒนาการที่ล่าช้า มีผลการเรียนแย่ มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนในวัยรุ่น จนกลายเป็นปัญหาการเกิดโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย หรือ NCDs ในวัยผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร นำมาสู่ปัญหาสาธารณสุข และพัฒนาการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

วิธีการป้องกันในระดับทั่วไปไม่ให้เกิดบาดแผลทางใจ คือ การลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนจะตัดสินใจอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว การเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ และการเป็นพ่อแม่ที่ดี เรียนรู้วิธีที่จะทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาว เมื่อเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข แล้วไปสร้างครอบครัวใหม่ ลูกหลานที่เกิดจากครอบครัวใหม่นี้ก็จะได้รับการถ่ายทอดให้ได้รับผลกระทบในแบบเดียวกัน เป็นโลกผันผวนที่เกิดจากภาวการณ์บาดเจ็บทางใจของเด็ก นำมาสู่การประชุมวิชาการระดับชาติของ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “CHILDHOOD TRAUMA IN DISRUPTIVE WORLD : early intervention, the sooner the better” (ความเจ็บปวดของเด็กในโลกผันผวน: รู้จัก เข้าใจความเจ็บปวดของเด็กในโลกยุคผันผวน และเรียนรู้วิธีการเยียวยารักษาป้องกัน) โดยจัดเป็นครั้งแรกในรูปแบบออนไลน์ ตามมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ Physical Distancing ในช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ ผ่านแอพพลิเคชัน “ZOOM” ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.00 - 16.00 น. 

โดยจะมีการปาฐกถา นิตยา คชภักดี ที่กำหนดจัดแสดงในประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดย ได้รับเกียรติจากองค์ปาฐก 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถา ในหัวข้อ“ความเจ็บปวดของเด็กไทยในโลกผันผวน กับผลกระทบต่อสังคมไทย” และ รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ประสาทวิทยาศาสตร์ของเด็กที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต” ร่วมด้วย วิทยากร และคณาจารย์จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net