Skip to main content
sharethis

ก.แรงงานชี้ ประกาศข้อพิพาทแรงงานฯ เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบกิจการที่มีข้อพิพาทยังไม่ยุติ 10 แห่ง

จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน ออกประกาศ “ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกฉินซึ่งออกตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีหลายสถานประกอบการสอบถามเข้ามาในสถานการณ์โควิด-19 ว่าจำเป็นต้องปิดหรือเปิด และลูกจ้างที่สถานประกอบการปิดกิจการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ต้องกลับเข้าไปทำงานหรือไม่

วานนี้ (15 พ.ค. 2563) ที่กระทรวงแรงงาน นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อธิบายว่า กรณีประกาศกระทรวงแรงงานตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการให้ข้อพิพาทแรงงานในกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ ยุติในสถานการณ์ที่มีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดังนั้น ในสถานประกอบการต่างๆ ที่มีประกาศจากส่วนราชการให้หยุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่การปิดกิจการตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์

“กระบวนการทางด้านแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การยื่นข้อเรียกร้อง การเจรจาต่อรอง จนกระทั่งการเข้าสู่ข้อพิพาทแรงงาน ไกล่เกลี่ย นำไปสู่การปิดงานหรือนัดหยุดงาน ดังนั้น ในกระบวนการตั้งแต่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ การยุติปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินกฎหมายจึงกำหนดให้ว่า เมื่อมีการพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้นำเข้าสู่กระบวนการชี้ขาดของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นไตรภาคี ที่ประกอบด้วยฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ”

“ขณะเดียวกัน สถานประกอบการที่ใช้สิทธิปิดงานอยู่แล้ว หรือลูกจ้างมีการนัดหยุดงานอยู่แล้ว กฎหมายกำหนดให้นายจ้างที่ปิดงานต้องเปิดงาน และลูกจ้างที่นัดหยุดงานก็ขอให้กลับเข้าทำงาน ส่วนข้อพิพาทแรงงานที่เป็นปัญหากันอยู่ ก็ให้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยใช้ระยะเวลาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา 60 วัน”

สำหรับ สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 – 15 พ.ค. 2563 มีข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากนายจ้าง 377 แห่ง มีลูก 280,018 คน ซึ่งยังไม่สามารถยุติได้ในขณะนี้ 65 แห่ง ส่วนกรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องไปแล้ว มีการเจรจาต่อรอง และยังตกลงกันไม่ได้ กลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน ขณะนี้มีอยู่ 68 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61,069 คน ในจำนวนนี้ ยังไม่ยุติ 10 แห่ง มีกรณีที่มีการนัดหยุดงานก่อนหน้านี้ 2 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง กับกรณีนี้ 95 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน ขณะที่กรณีที่มีการเจรจาตกลงกันได้ นำไปสู่การจดทะเบียนข้อตกลงการจ้างทั้งหมด 340 แห่ง ในจำนวนนนี้ หากคิดเป็นตัวเงินที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์อยู่ที่ 25,640 ล้านบาท

สำหรับ ข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติขณะนี้ซึ่งมีทั้งหมด 10 แห่ง แบ่งเป็น ในพื้นที่กทม. 2 แห่ง ได้แก่ กิจการร้านอาหาร มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องราว 1,200 คน และ กิจการบริการการวิจัย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 240 คน จ.สมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่ กิจการสิ่งทอ ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 240 คน กิจการรถเช่า ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 123 คน และ กิจการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,275 คน จ.ชลบุรี 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องปรับอาการ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 23 คน และ กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 450 คน จ.ระยอง 1 แห่ง ได้แก่ กิจการประกอบเครน ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง  59 คน และอยุทธยา 2 แห่ง ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 61 คน และ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 70 คน

“ในจำนวนข้อพิพาทแรงงานที่ยังไม่ยุติ มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3,741 คน จากลูกจ้างทั้งหมด 17,254 คน หลังจากออกประกาศไป ทั้ง 10 แห่งต้องเข้าสู่กระบวนการชี้ขาด โดยผู้ตัดสินชี้ขาด คือ คณะกรรมการส่วนกลางระดับประเทศ เพราะไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงกันไม่ได้” นายอภิญญา กล่าว 

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศไปตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 25 และ 36 ระบุว่า หากประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐมนตรี ต้องออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ที่มีการปิดงานก็ข้อให้กลับเข้าไปทำงานและส่งข้อพิพาท แรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่กระบวนการชี้ขาด ซึ่งหมายรวมถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกกรณี แต่เป็นการประกาศเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถยืดเยื้อได้เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น ต้องเข้าสู่การชี้ขาดของคนกลาง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/5/2563

กลุ่มผู้ประกันตนเรียกร้องขอคืนเงินชราภาพเยียวยาการว่างงานจาก COVID-19

กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประมาณ 30 คน นำโดย น.สพ. บูรณ์ อารยพล ผู้ดูแลเพจ "ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม" พากันเดินชูป้ายข้อความที่หน้าอาคารศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี เรียกร้องขอคืนเงินสมทบประกันสังคมกรณีชราภาพ 30-50% ให้ผู้ประกันตนนำไปใช้ในภาวะวิกฤตโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่มีงาน ไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว โดยร่วมกันตะโกนว่า "เรามาขอคืนเงินชราภาพ" ก่อนจะนั่งสมาธิแผ่เมตตาให้บอร์ด สปส. เห็นความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน แต่คนทำงานจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินเยียวยาว่างงาน ขณะที่ภายในสำนักงานประกันสังคม มีทั้ง รปภ.และเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้ประกันตนบางคนขู่ว่าจะกระโดดตึกฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงที่การช่วยเหลือเยียวยาล่าช้า

น.สพ.บูรณ์ กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มมีกว่า 15,000 คน แต่ที่มาเป็นตัวแทนเพียงส่วนหนึ่ง เพื่อมาขอเงินสมทบกรณีชราภาพที่ทุกคนจ่ายสะสมไว้ในกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีคนละ 1-2 แสนบาท อยากให้นำเงินส่วนนี้คืนให้ผู้ประกันตน 30-50% หรือ 40,000-50,000 บาทขึ้นไป จะให้เป็นเงินยืมหรือกู้ก็ได้ เพื่อนำมาใช้จ่ายในยามที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน หลายคนกำลังจะอดตาย ไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อนมให้ลูกกิน

ทั้งนี้ เคยไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ตัวแทนรัฐมนตรีรับปากว่าถ้าขอคืนเพียงส่วนหนึ่งมีความเป็นไปได้ แต่กฎหมายกำหนดให้รับเงินชราภาพเมื่ออายุ 55 ปี ถ้าจะทำก็ต้องไปแก้ไขให้ทำได้ บอกจะเสนอบอร์ดพิจารณาแต่ก็ไม่ทำ บอร์ด สปส.ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะมารับฟังข้อเรียกร้อง และครั้งต่อไปอาจจะยกระดับบุกไปร้องที่บ้านนายกรัฐมนตรี

ด้านนายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองโฆษก สปส. กล่าวถึงการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 ให้ผู้ประกันตน ว่า สปส.คาดการณ์ว่าจะมีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. - 31 ส.ค. 2563 ประมาณ 3 ล้านราย ขณะนี้มีผู้ยื่นขอใช้สิทธิแล้วกว่า 1.1 ล้านราย เฉพาะวันที่ 14 พ.ค. วันเดียว กว่า 1.8 หมื่นราย โดย สปส.ได้สั่งจ่ายไปแล้ว 809,509 ราย เป็นเงินกว่า 4,695 ล้านบาท

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกว่า 2.9 แสนราย ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่กำลังวินิจฉัย 1.7 แสนราย และรอนายจ้างรับรองสิทธิ 1.2 แสนราย โดยในวันที่ 15 พ.ค. จะตัดยอดสั่งจ่ายให้ครบ 9.9 แสนราย ซึ่งจะได้รับเงินภายใน 4 วันทำการ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบว่างงานในช่วง 1 มี.ค. – 31 ส.ค. สามารถยื่นคำขอใช้สิทธิได้ภายใน 2 ปี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 15/5/2563 

พนักงานบริษัทระบบสำรองห้องพักโรงแรมทางออนไลน์ ร้องเรียนถูกลดเงินค่าจ้างโดยที่ไม่ทราบและไม่ยินยอม

15 พ.ค. 2563 กลุ่มพนักงานของบริษัทที่ให้บริการระบบสำรองห้องพักโรงแรมทางออนไลน์ จำนวน 60 คน นำหลักฐานเป็นเอกสารสัญญาจ้างงานเข้า ร้องเรียนต่อศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กระทรวงแรงงาน เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่า บริษัทฯ มีการแจ้งหยุดงาน 4 เดือน และมีการลดเงินค่าจ้างโดยที่พนักงานไม่ทราบและยินยอม รวมทั้งห้ามพนักงานเข้าปฏิบัติงาน อีกทั้งบริษัทฯ ไม่เปิดโอกาสและปิดทุกช่องทางในการเจรจาชี้แจงกับพนักงาน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือเจรจากับนายจ้าง เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับสิทธิขึ้นทะเบียน กรณี ว่างงานกับประกันสังคม

โดยนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งให้การช่วยเหลือแนะนำการเข้าถึงสิทธิของผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

นางปภาพร นิลพัฒน์ ผอ.สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพฯ พท.5 ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ข้อมูลว่า บริษัทดังกล่าว มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เขต สาทร กทม. ประกอบกิจการ ผู้ให้บริการระบบสำรองห้องพักโรงงามทางออนไลน์ มีลูกจ้าง กว่า 460 คน ทั่วประเทศ โดยมีลูกจ้าง จำนวน 60 คน ร้องเรียนมายัง ก.แรงงาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2563 ในเบื้องต้นทางกรมฯ ได้รับการชี้แจงจากบริษัท ว่า บริษัทฯ ได้แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค. 2563 เนื่องจากเหตุสุดวิสัย และได้มีหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยฯ ทางเว็บไซต์ประกันสังคมแล้ว เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2563 เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประกันการว่างงาน โดยมีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องจำนวน 288 คน นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกองทุนช่วยเหลือลูกจ้างและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ลูกจ้าง จำนวน 2 เดือน คือ พ.ค. 2563 ในอัตรารน้อยละ 40 จากอัตราค่าจ้างร้อยละ 15 - 25 โดยบางรายไม้ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และบริษัทฯ จะคืนเงินที่หักให้แก่ลูกจ้างที่ไม่ยินยอมภายในสิ้นเดือน พ.ค. 2563 หลังจากนี้หากลูกจ้างยังไม่พึงพอใจ ทางกรมฯ จะดำเนินการเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันเพื่อความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

หากมีปัญหาเรื่องแรงงาน ร้องเรียนได้ที่ กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. 10400 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 3 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ที่มา: Thai PBS, 15/5/2563

แนะรัฐบาลออกกฎหมายพิเศษคุ้มครองแรงงาน ชี้ออกกฎกระทรวงแรงงานเหตุสุดวิสัย เปิดช่องนายจ้างฉกฉวยโอกาส-ผลักภาระให้ประกันสังคม

15 พ.ค. 2563 มีการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากฎหมายแรงงานไม่ศักดิ์สิทธิ์ในวิกฤตโควิด-19” โดยนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมาย ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิแรงงานในสภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ โควิด-19 หรือภัยพิบัติต่างๆ เท่าที่พบคือ มีมาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและมีกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยของทางสำนักงานประกันสังคม ซึ่งเราควรมีกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือ เป็นกลไกในการดำเนินการเพราะการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่ใช่คุ้มครองการว่างงานและค่าจ้าง แต่หมายถึงสิทธิแรงงานพื้นฐานที่สำคัญหลายเรื่อง

ทั้งนี้ สิ่งที่มองว่าเป็นปัญหาคือ รมว.แรงงานออกกฎกระทรวงดังกล่าวมา ธุรกิจต่างๆ จึงแห่กันมาใช้สิทธิ์โดยการหยุดกิจการชั่วคราวแล้วอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงมีความเป็นห่วงว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้จะใช้ฐานข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือพยานหลักฐานใดว่าแรงงาน โรงงาน สถานประกอบการรายใดเกิดเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 ด้วยเหตุการณ์อะไร

นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ( MAP) กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎกระทรวงแรงงาน โรงงานมีการใช้มาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อกฎกระทรวงประกาศออกมาโรงงานก็เปลี่ยนวิธีการ บอกให้คนงานมาใช้สิทธิ์กับทางประกันสังคมที่จ่าย 62% เหมือนเป็นการผลักภาระไปที่กองทุนประกันสังคม เป็นจังหวะในการฉกฉวย

หากถามว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายบิดเบี้ยวหรือไม่ในการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงประกาศให้เงินชดเชย 62% เรื่องนี้ตนมองว่ารัฐอาจจะมีความหวังดีในการช่วยเหลือคนงาน แต่เนื่องจากเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบ คืออยากทำอะไรทำไปก่อนโดยไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่ทำนั้นมีโอกาสสร้างเงื่อนไข สร้างช่องทาง ที่จะทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ใช้สิทธิ์ที่มันบิดเบี้ยวเกินไป หรือทำให้มาตรการที่ภาครัฐออกมานั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละส่วนที่วางไว้

นายพรนาราย ทุยยะค่าย ทนายความแรงงาน กล่าวว่า การที่รัฐบาลสั่งปิดหรือไม่ปิดสถานประกอบการบางประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กิจการโรงแรม ร้านค้าถูกปิด คนกลุ่มนี้ก็จะถูกผลักภาระไปที่ประกันสังคม และอีกประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับแรงงาน คือจะได้สิทธิประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างไร นอกจากนี้ คำว่าเลิกจ้างไปก่อนก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งไม่รู้ว่าจะนานเท่าไหร่

ดังนั้น บางสถานประกอบการจึงใช้จังหวะของโควิด-19 ในการเลิกจ้างพนักงาน ทั้งนี้ เราจะเห็นว่าทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คนที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกคือแรงงาน จะเห็นว่าในการแก้ไขกฎหมายคือการเดินตามหลังสถานการณ์ แม้แต่โควิด-19 ซึ่งก็ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ถามว่าควรจะคิดได้ก่อนหน้านี้หรือไม่ แม้แต่เรื่องน้ำท่วมเราก็รู้ว่านั่นคือสถานการณ์ โควิด-19 จึงน่าจะเป็นสถานการณ์เช่นเดียวกัน ดังนั้น ในอนาคตน่าจะมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบใหญ่ๆ เช่นนี้ ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมองในมุมนี้ว่าจะทำอย่างไรรองรับ

ขณะที่นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และจ่ายภาษี แต่เมื่อลูกจ้างเดือดร้อนกลับไม่ดูแลเช่นกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมที่จะต้องใช้เงินตัวเอง นอกจากนี้ มีบริษัทจำนวนมากที่อ้างโควิด-19 ซึ่งทางการควรมีการตรวจสอบและขึ้นบัญชีดำ ส่วนบริษัทใดที่มีธรรมาภิบาล รัฐบาลก็ควรส่งเสริมเยียวยา เพื่อให้เรื่องนี้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันการฉวยโอกาส

ที่มา: เดลินิวส์, 15/5/2563

สหภาพแรงงานการบินไทยแถลงให้ความร่วมมือแผนฟื้นฟู การบินไทย

14 พ.ค. 2563 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง ให้ความร่วมมือ แผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่าตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบาย และกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคมแล้ว และยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่างหลายขั้นตอน เพื่อให้แผนฟื้นฟูแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ถึงจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และท่านนายกฯ กล่าวว่าขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสหภาพฯและพนักงานด้วย และไม่ประสงค์ให้พนักงานสองหมื่นกว่าคนต้องเดือดร้อน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย มีความซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านนายกฯได้แสดงความห่วงใย พวกเราพนักงานการบินไทย และห่วงใยองค์กรของพวกเราซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ

ดังนั้นเพื่อให้แผนฟื้นฟูที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และคณะรัฐมนตรีบรรลุตามวัตถุประสงค์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และพนักงานการบินไทยมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับท่านนายกฯ เพราะสหภาพฯเชื่อมั่นว่าท่านนายกฯในฐานะผู้นำประเทศจะสามารถแก้ปัญหาให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

จึงเรียนมาเพื่อให้ฯพณฯนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณา ขอขอบพระคุณท่านนายกฯล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วยความจริงใจ

ที่มา: TG UNION, 14/5/2563

Mitsubishi Motors ปรับลดแรงงานในไทย เปิดโครงการสมัครใจลาออก หลังยอดขายรถตกหนักช่วงปิดเมือง-เคอร์ฟิว

Mitsubishi Motors ปรับลดแรงงานในประเทศไทยเพื่อรับมือกับพิษโควิดที่ส่งผลอย่างหนัก โดยเปิดโครงการสมัครใจลาออก (early retirement offer) เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2563 ส่วนข้อเสนอขึ้นอยู่กับอายุงานและตำแหน่งหน้าที่ มีตั้งแต่พนักงานที่ทำงาน 1-2 ปีจะได้รับเงินชดเชย 8 เดือน ไปจนถึงพนักงานที่ทำงานมานานกว่า 25 ปีจะได้รับเงินชดเชยสูงสุดถึง 35 เดือน

Mitsubishi Motors ในประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ปีละ 400,000 คันเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลกกว่า 100 ประเทศหากดูในแง่การผลิตถือเป็นค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่รองลงมาจาก Toyota เท่านั้น แต่สาเหตุที่ทำให้ต้องเปิดโครงการสมัครใจลาออกเพื่อปรับลดพนักงานเพราะในไตรมาสแรกของปี 2020 ยอดขายในไทยของ Mitsubishi Motors ลดลงกว่า 30% ส่วนในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยอดขายร่วงหนักกว่าเดิมถึง 50%

อย่างไรก็ตาม มีค่ายรถยนต์อีกหลายรายในประเทศไทยที่ประสบปัญหาเนื่องจากวิกฤตโควิด ทำให้จำเป็นต้องหยุดสายการผลิต และรวมถึงยอดขายที่ตกต่ำโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เคอร์ฟิว ไม่ว่าจะ Toyota, Nissan หรือ Ford แต่ละค่ายมีมาตรการรับมือที่ต่างกัน บางแห่งเปิดโครงการสมัครใจลาออก บางแห่งเลือกไม่ต่อสัญญากับพนักงานและจ่ายเงินชดเชยให้

ที่มา: Brand Inside, 14/5/2563

พนักงานโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ เรียกร้องเงินเดือนค้างจ่ายก่อนโรงแรมประกาศหยุดกิจการ

14 พ.ค. 2563 ที่บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายมังกร สรชัย อายุ 50 ปี หัวหน้าช่างดูแลแสง สี เสียง ของโรงแรมดาราเทวี พร้อมด้วยพนักงานกว่า 100 คน ได้เดินทางมารวมตัวกัน พร้อมกับชูป้ายและเขียนข้อมูลเพื่อจะเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่

เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนมาตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 และล่าสุดทางโรงแรมสั่งปิด ทำให้เดือดร้อนอย่างหนัก ต่อมา ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งตัวแทนมารับหนังสือและให้พนักงานของโรงแรมเขียนเอกสารข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำมาเป็นหลักฐานเพิ่มเติม

นายมังกร กล่าวว่า ที่พนักงานได้รวมตัวกันมาในครั้งนี้ เนื่องจากทางโรงแรมแห่งนี้ไม่ได้มีการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา ก่อนที่จะเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อมีการพูดคุยกับหัวหน้างานมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้มีการจ่ายเงินในเดือนก.พ. ให้กับพนักงานเพียงครึ่งเดียว กระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทางโรงแรมก็ไม่มีทีท่าว่าจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือ พร้อมกับเงินของเดือนมี.ค.–เม.ย. จากนั้น ได้ประกาศหยุดกิจการในเดือน พ.ค. เป็นต้นไป

ทำให้พนักงานไม่มีงานและเงินเดือนค้างเก่ายังไม่ได้รับ จึงจำเป็นต้องมายื่นหนังสือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ให้ช่วยเหลือในเรื่องนี้ สำหรับโรงแรมแห่งนี้ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ แต่ไม่มีการนำเงินมาจ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งมูลค่าความเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทางพนักงานที่เดินทางมาร่วมชุมนุม ได้นำหนังสือที่ออกโดยฝ่ายบริหารของโรงแรม นำมาแสดงให้กับสื่อมวลชนด้วย

ทั้งนี้ ทางตัวแทนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ จะนำเอกสารหลักฐานต่างรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 14/5/2563

ตม.จับคนไทยลวงแรงงานข้ามชาติ อ้างพากลับบ้านช่วง COVID-19

13 พ.ค. 2563 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. เปิดเผยว่าตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย ติดตามจับผู้ต้องหาชาวอุบลราชธานี หลังมีนายจ้างและลูกจ้างชาว สปป.ลาว แจ้งความว่า มีเพจชื่อบัญชี “คนอุบลแดนอีสานใต้” โพสต์ข้อความ เนื้อหาอ้างว่า สามารถพาชาวลาว กลับประเทศได้ โดยผ่านทางด่านช่องเม็กและหนองคาย พร้อมระบุค่าใช้จ่าย คนละ 2,500-3,000 บาท

หลังสอบสวนผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพว่า มีอาชีพขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างที่ จ.สมุทรสาคร และมักมีคนว่าจ้างให้พาไปยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรณีขอข้ามแดนระหว่างประเทศ ทำให้รู้ช่องทางจนคิดหาเงินจากผู้ที่ต้องการเดินทางระหว่างพรมแดน อีกทั้งทราบมาว่า รัฐจะมีการเปิดด่านพรมแดนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ จึงเปิดเพจหลอกลวงขึ้น

นอกจากนี้ มีคดีคนไทยลักลอบขนแรงงานกัมพูชา โดยผู้ต้องหาเป็นคนไทย 2 คน ขับรถยนต์ ลักลอบขนแรงงาน แรงงานต่างชาติชาวกัมพูชา รวม 15 คน จากประเทศกัมพูชา เพื่อมาทำงานในประเทศไทย ตำรวจสืบสวนจนพบว่า ขบวนการนี้ลักลอบขนแรงงานผ่านบริเวณตำบลทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี จึงสกัดจับ พร้อมแจ้งข้อหาพาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ส่วนแรงงานชาวกัมพูชาอีก 15 ราย แจ้งข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก่อนจะผลักดันกลับประเทศ ตามขั้นตอนกฎหมาย

ส่วนอีกคดีเป็นการจับผู้ต้องหาชาวแคเมอรูน 1 คน ในฐานความผิด อยู่ในประเทศไทยเกินเวลากำหนดตามกฎหมายเป็นเวลา 5 ปี และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหะสถานหลังเวลา 22.00 น. ทั้งนี้ ตำรวจจับได้ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ทางการสืบสวนยังพบว่า ผู้ต้องหาคนนี้ เป็น 1 ในขบวนการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้แสดงต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมืองขอนแก่น โดบบริการปลอมเอกสารให้เพื่อนร่วมชาติ ใช้สำแดงเท็จต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อการพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

ที่มา: Thai PBS, 13/5/2563 

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน หิ้วปิ่นโตบุกกระทรวง กินข้าวคลุกน้ำปลา ร้องขอความเป็นธรรม

ที่กระทรวงแรงงาน นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง นำตัวแทน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ของ บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มย่านสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม กว่า15 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีลูกจ้างกว่า 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน โดยนายจ้างอ้างผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง อีกทั้งบริษัทหักเงินเดือนแต่กลับไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิช่วยเหลือรักษาพยาบาล ทั้งนี้ได้มีการนำปิ่นโตใส่ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา มานั่งกินที่หน้ากระทรวง เพื่อสื่อให้เห็นว่า กำลังจะอดตายด้วย

นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยบริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด ประเภทกิจการประเภทสิ่งทอ มีพนักงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานชาวพม่า กว่า 180 คน สถานการณ์ปัญหาของบริษัทฯ มีปัญหามาต่อเนื่องและยาวนาน โดยบริษัทฯ อ้างว่าไม่มีเงินทุนมาซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้า และได้มีการขายเครื่องจักรไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหามากยิ่งขึ้น ทั้งการไม่มีคำสั่งหรือออเดอร์สินค้าเข้ามา บริษัทฯ มีนโยบายบังคับใช้มาตรา 75 และการยุบการทำงานในบางแผนกลง ซึ่งบริษัทแจ้งพนักงานด้วยวาจา ไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร

นางสาวสุรินทร์ กล่าวว่า ตอนนี้พนักงานเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งการใช้นโยบายและการปฏิบัติการของบริษัทฯได้ส่งผลต่อพนักงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานพม่า ดังนี้ 1.เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานไม่ตรงตามวันที่กำหนดไว้ โดยกำหนดจ่ายวันที่ 8 และ23 ของทุกเดือนแต่บริษัทฯได้เลื่อนการจ่ายเงินออกไป โดยจ่ายเพียงคนละ 2,000 กว่าบาท/คน จากค่าแรงที่ต้องได้รับจริง 4,000 กว่าบาท/คน 2.บริษัทฯ สั่งพนักงานให้หยุดงานด้วยวาจาในหลายแผนก ไม่ได้บอกล่าวล่วงหน้า ไม่มีการติดประกาศให้พนักงานทราบ โดยให้พนังงานสลับกันมาทำงาน 3. บริษัทฯ ไม่มีมาตรการจ่ายเงินชดเชยที่ชัดเจน และบริษัทฯไม่ชี้แจงเหตุผลให้พนักงานทราบ 4.บริษัทฯ ไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้แก่ลูกจ้าง เงินสมทบประกันสังคมนายจ้างเก็บจากลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนแต่ไม่ได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมตามระเบียบ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 – เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 7 เดือน ส่งผลทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ และนำไปสู่การขาดสิทธิในการรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 5.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประเด็น เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินชดเชยเกษียณอายุของลูกจ้าง

ประธานสหภาพกิจการสิ่งทอฯ กล่าวด้วยว่า ต้องการมาเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ต้องเป็นตัวกลางในการเจรจากับนายจ้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น 2.บริษัทฯ ต้องแจ้งให้พนักงานให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหากจะให้พนักงานหยุดงาน และจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตามมาตรา 75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 3.บริษัทฯ จะต้องนำส่งประกันสังคมย้อนหลัง เพื่อรักษาสถานภาพผู้ประกันตนให้แก่พนักงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่ควรจะได้รับ 4.บริษัทฯ ต้องเร่งจ่ายเงินออมสะสม และเงินเกษียณอายุให้แก่พนักงานโดยเร็ว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบในช่วงภาวะวิกฤต 5.หากบริษัทฯไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทฯต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานทุกคนตามกฎหมาย

ด้านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว หลังหารือกับเครือข่ายแรงงาน ว่า การเข้าหารือในวันนี้ยังไม่ใช่การร้องเรียนดังนั้น จึงต้องเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามกฏหมาย เริ่มจากการยื่นคำร้อง เพื่อให้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งได้แก่ความไม่ชัดเจนของ การหยุดกิจการของนายจ้าง ว่า เป็นการหยุดจากสาเหตุการขาดออเดอร์หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง จะชัดเจนว่าเป็นการเลิกจ้างหรือชะลอการจ้างงาน ตรงตามสาเหตุของการหยุดกิจการ ส่วนประเด็นเงินสะสม ประกันสังคมของลูกจ้างตั้งแต่ปี 2528 ต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นกันจึงจะสามารถจ่ายเงินสะสมกรณีลาออกหรือเกษียณอายุ ให้กับลูกจ้างได้ โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้คุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ประสานกับ บริษัทนายจ้างเพื่อ หาข้อมูลของการหยุดกิจการว่าเกิดจากเหตุผลใด ส่วนกรณีเงินสะสมจะใช้วิธีพูดคุยประนีประนอม โดยเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการให้ ขอให้มั่นใจว่า ลูกจ้างจะได้รับความช่วยเหลือตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ส่วนระยะเวลาดำเนินการน่าจะไม่เกินหนึ่งเดือน และการจ่ายเงินค้างจ่ายค่าจ้าง จะมีขึ้นหลังจากพนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้บริษัท นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามงวดนั้นนั้น

ที่มา: ไทยโพสต์, 13/5/2563

กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมบุกยื่นหนังสือประธานกรรมาธิการแรงงาน ยื่น 4 ข้อเสนอช่วยเหลือผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2563 กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมนำโดยนายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ได้ไปยื่นหนังสือต่อนายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน เพื่อให้พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกันตน

สำหรับข้อร้องเรียน ที่ทางกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม ได้นำเสนอในครั้งนี้สรุปได้ดังนี้ เนื่องมาจากปัญหาการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานล่าช้าด้วยเหตุผลที่นายจ้างมักไม่แจ้งรับรอง กรณีไม่ให้ลูกจ้างทำงานด้วยเหตุสุดวิสัยหรือแม้แต่กรณีเลิกจ้างหรือลาออกตามปกติซึ่งเป็นการซ้ำเติมลูกจ้างผู้ซึ่งไม่มีรายได้และก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลรวมถึงกรณีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่มัก เกิดข้อผิดพลาด ในการวินิจฉัย โดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงในส่วนของลูกจ้างแต่กลับ ยึดถือ ข้อเท็จจริงในส่วนของนายจ้างเช่นลูกจ้างที่มีหนังสือเลิกจ้าง เมื่อไปขึ้นทะเบียนว่างงาน แต่กลับได้รับสิทธิ์แค่กรณีลาออกเนื่องจากนายจ้างแจ้งเหตุในการพ้นการเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากสาเหตุลาออก รวมถึงทางประกันสังคมยังไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรใน เรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ส่งกลับมายังลูกจ้าง ทำให้ตัดสิทธิ์ลูกจ้างในการอุทธรณ์คำสั่ง ของสำนักงานประกันสังคม

พร้อมกันนั้นทางกลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้ยื่น 4 ข้อเสนอ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการประกันสังคม ผ่านไปยังประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของผู้ประกันตนโดยมีข้อเสนอดังนี้

1. กรณีนายจ้างใช้สิทธิ์หยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างมีหน้าที่สำรองจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยไปก่อนและให้นายจ้างเป็นผู้ยื่นเรื่องกับทางประกันสังคมเอง

2. ในกรณีที่นายจ้างใช้สิทธิ์หยุดกิจการชั่วคราวครบ 90 วันแล้วให้ถือว่าสิ้นสุดเหตุสุดวิสัยแล้วและให้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามเดิม

3. ให้ทางประกันสังคมส่งคำสั่งเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้กับผู้ประกันตนภายใน 30 วัน

4. ในกรณีที่ข้อเท็จจริงลูกจ้างและนายจ้างขัดแย้งกันให้ทางประกันสังคมบันทึกข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการวินิจฉัยในการออกคำสั่งโดยนัยคำสั่งจะต้องลงข้อเท็จจริงประกอบการวินิจฉัยไปด้วยเพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์คำสั่งของผู้ประกันตนให้ประกันสังคมดำเนินคดีกับนายจ้างที่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานและนายจ้างที่ไม่นำส่งประกันสังคมอย่างเคร่งครัดและเมื่อคดีสิ้นสุดแล้วให้ประกันสังคมเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินคดีกับนายจ้าง

ที่มา: ว๊อยซ์เลเบอร์, 13/5/2563

โรงเรียนเอกชนวอนรัฐยื่นมือช่วยเหลือ แบกรับภาระค่าใช้จ่ายลำพัง ขอสวัสดิการให้ครูเอกชน

12 พ.ค. 2563 ที่ห้องประชุมโรงเรียนไผทอุดมศึกษา ถนนวิภาวดี-รังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ นายกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ ร่วมกันประชุมหารือแนวทางการยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่างๆ ของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เวลาในการหารือนานร่วม 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นางจิระพันธุ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจซบเซา สถานประกอบการหลายแห่งปิดตัวลง คนตกงาน ขาดรายได้ เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ปัจจุบันมีจำนวน 4,143 แห่ง ก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ จนต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ก็ยังคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เงินเดือนของบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ ตามปกติ เพราะไม่สามารถที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรด้วยการเลิกจ้างครูได้ เนื่องจากจะเป็นการผลักภาระให้กับครูแทน อีกทั้งที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ยื่นมือเข้าให้การช่วยเหลือ เมื่อไม่มีรายรับเข้ามาแต่รายจ่ายยังคงเดิม สถานภาพการเงินของโรงเรียนเอกชนหลายแห่งจึงอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างหนัก ในวันนี้ทางสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องจัดการประชุมคณะกรรมการเพื่อหาข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ

นางจิระพันธุ์ กล่าวต่อว่า โดยข้อเรียกร้องที่โรงเรียนเอกชนต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือมีอยู่ 5 ข้อ 1.อยากให้รัฐช่วยเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนเอกชนปีการศึกษา 2563 ให้กับทางโรงเรียน เพื่อที่ทางโรงเรียนจะได้นำเงินดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียนและใช้บริหารสภาพการเงินของโรงเรียนในการจ่ายเงินเดือนครูในช่วงที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดทำการสอนได้ตามปกติ ซึ่งการเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับทางโรงเรียนไม่เพียงแต่เป็นการโรงเรียนเอกชนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ยังถือเป็นการช่วยลดภาระค่าเทอมให้กับผู้ปกครองอีกด้วย เพราะทางโรงเรียนจะนำเงินอุดหนุนจากภาครัฐมาเป็นส่วนลดในค่าเทอมปกติ

ที่มา: เดลินิวส์, 12/5/2563

ก.แรงงาน เผยจ่ายทดแทนว่างงานจาก COVID-19 ไปแล้ว 568,604 ราย เป็นเงิน 3,046 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 24 มีนาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ กฎระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 (มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) และกฎระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 (มาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมขอรายงานข้อเท็จจริงดังนี้

1) จำนวนผู้มายื่นขอใช้สิทธิกรณีว่างงานเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,028,334 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มีการคัดกรองกรณียื่นซ้ำและกรณีที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ออกแล้ว

2) กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายไปแล้ว จำนวน 568,604 ราย เป็นเงิน 3,046 ล้านบาท สำหรับผู้ประกันตนที่ยังเหลืออยู่จำนวน 459,730 รายนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ 313,445 ราย และผู้ประกันตนที่ยังไม่มีหนังสือรับรองการหยุดงาน จำนวน 146,285 ราย ซึ่งได้มีการประสานติดตามนายจ้าง จำนวน 50,862 แห่ง พบว่า

(1) นายจ้างยังคงประกอบกิจการ และยังมีการจ่ายค่าจ้างตามปกติ จำนวน 3,029 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 23,129 ราย

(2) นายจ้างจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 1,066 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 14,455 ราย

(3) นายจ้างยังไม่ได้รับรอง จำนวน 46,767 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 108,701 ราย ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมต่าง ๆ ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ติดตามประสานงาน คาดว่าจะติดตามได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยส่วนที่เหลือ จำนวน 313,445 ราย ได้เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่วินิจฉัย เดิมมีจำนวน 600 คน เพิ่มเป็น 1,200 คน และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งวันหยุดเสาร์อาทิตย์และนอกเวลาราชการทุกวัน ซึ่งได้สั่งการให้วินิจฉัยเพื่อให้มีการจ่ายเงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมเห็นประโยชน์ของลูกจ้างเป็นสำคัญและจะดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยจะแก้ไขปัญหาในส่วนของผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงินกรณีว่างงาน ให้ได้รับเงินอย่างถูกต้องและครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี, 12/5/2563 

ประธาน กมธ.แรงงาน ระบุประกาศแรงงานห้ามลูกจ้างนัดหยุดงานละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง โยงทำไทยถูกมะกันตัดสิทธิ์ GSP

นายสุเทพ อู่อ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กรณีประกาศกระทรวงแรงงาน 6 พ.ค.63 ที่ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างนัดหยุดงาน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ในกรณีที่มีการปิดงานหรือนัดหยุดงานอยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามปกติ และข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้นั้น ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นคนชี้ขาดนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีการเลิกจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยไม่ได้ใช้วิธีปิดงานตามกติกาที่กฎหมายกำหนด การเลิกจ้างส่วนมากไม่ได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งต้องจ่ายค่าชดเชยที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างเป็นเวลา 30 วัน และค่าชดเชยตามอายุงาน ตั้งแต่ 30-400 วัน หากจะกล่าวแบบภาษาคนทั่วไปก็คือ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย

นายสุเทพ กล่าวว่า ยังมีนายจ้างที่ได้รับผลกระทบน้อยหรือไม่กระทบเลย ฉวยโอกาส เลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ เปลี่ยนสภาพการทำงาน บังคับลาออก และทำลายสหภาพแรงงาน และฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากโครงการของประกันสังคม โดยแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง แต่นายจ้างให้ลูกจ้างไปรับเงินจากประกันสังคมแทน ถือเป็นการเอาเปรียบนายจ้างและลูกจ้างทั้งประเทศที่ส่งเงินประกันสังคมอย่างไม่เป็นธรรม

"สิทธิการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างจึงทวีความจำเป็นขึ้นอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างแพร่หลาย การนัดหยุดงานถือเป็นอาวุธสำคัญที่ลูกจ้างใช้ต่อรองกับนายจ้างมาตลอด และในสถานการณ์ปัจจุบันที่แทบไม่มีการปิดงาน มีแต่การเลิกจ้าง ประกาศของกระทรวงแรงงานฉบับนี้ จึงเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด ซ้ำร้าย การลดอำนาจของลูกจ้างนั้น อาจทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานแย่ลงไปอีก" นายสุเทพ กล่าว

ประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวว่า การห้ามลูกจ้างนัดหยุดงาน ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งการที่ไทยขาดสิทธิการรวมตัวต่อรองมาอย่างยาวนานนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) จากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีนำเข้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่จำกัดสิทธิของประชาชนผู้ใช้แรงงานอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งรัฐบาลได้ให้กิจการบางส่วนสามารถดำเนินกิจการตามปกติได้แล้วและกำลังพิจารณาให้กิจการอื่นเช่นกัน เหตุใดจึงประกาศออกมาในช่วงเวลานี้ ไม่ประกาศตั้งแต่ที่รัฐบาลปิดเมืองตั้งแต่แรก มีตัวอย่างหลายกรณีในต่างประเทศที่มีการรวมตัวต่อรองประท้วงของประชาชนเชิงสร้างสรรค์ สามารถเว้นระยะห่างทางกายภาพได้เหมาะสม และปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ได้ออกมาชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง หรือรอของบริจาคตามจุดต่างๆ ถือว่าประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากความบกพร่องทางนโยบายของรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะจำกัดสิทธิของแรงงานแต่อย่างใด

"ผมได้พิจารณาแล้วว่า ประกาศฉบับนี้ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นายจ้างมากกว่าปกป้องลูกจ้าง โดยเฉพาะผลประโยชน์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานโดยตรง เพื่อเป็นการตัดปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาล่าช้า โดยการลดอำนาจต่อรองของลูกจ้างลง จึงมีข้อเสนอว่า 1.รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องยกเลิกประกาศฉบับนี้ รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างที่ปิดงานทุกราย ให้จ่ายเงิน 75% ของค่าจ้างแรงงาน" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า 2. รัฐบาลต้องเยียวยาประชาชนทุกคนแบบถ้วนหน้า แรงงานทั้งผอง ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบประกันสังคม ต้องได้รับโดยเท่าเทียมกัน โดยใช้งบประมาณทางการคลัง แบบเดียวกับที่นานาอารยประเทศทำ ไม่นำเงินของกองทุนประกันสังคมออกมาใช้สร้างชื่อแก่ตนเอง ซึ่งเงินในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้เป็นเงินในอนาคตของลูกจ้าง การเยียวยาแบบถ้วนหน้านี้ ยังลดต้นทุนและเวลาการพิสูจน์สิทธิ ยังมีแรงงานที่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากรอการพิสูจน์สิทธิ์อยู่ 3. รัฐบาลควรให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิการเจรจาต่อรอง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รณรงค์มาเป็นเวลาเกือบ 30 ปีแล้ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 11/5/2563 

กรมบัญชีกลางอนุมัติค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานทุกประเภท กรณี COVID-19 จากเงินทดรองราชการฯ ที่ได้รับการขยายวงเงินฯ เป็นกรณีพิเศษ

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ให้สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการ ในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณี COVID-19 ที่ได้รับการขยายวงเงินจากกรมบัญชีกลาง เป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ทุกประเภทที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติงานป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวได้เป็นกรณีพิเศษ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงมหาดไทยขอทำความตกลงนั้น

นายภูมิศักดิ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้อนุมัติอัตราค่าตอบแทน เพื่อให้ ปภ. และจังหวัดเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกประเภทที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติงานป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ กรณี COVID-19 ได้ตามอัตราที่กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือขอทำความตกลง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานในลักษณะเหมาจ่ายเทียบเคียงกับอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 1. กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราวันละ 120 บาท และ 2. กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราวันละ 240 บาท

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การอนุมัติอัตราค่าตอบแทนดังกล่าว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเป็นค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานทุกประเภทที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติงานป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณี COVID-19 เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ปภ. และจังหวัด ป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 10/5/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net