Skip to main content
sharethis

16 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,025 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 56 คน รักษาหาย 1 คน รวมรักษาหายสะสม 2,855 คน ชี้เหตุปลดล็อกจีน-เกาหลีใต้ออกจากประเทศเขตโรคติดต่อ เพราะผู้ป่วยหายคุมการระบาดได้แล้ว | เปิด 3 ฉากทัศน์คาดการณ์ผู้ป่วย COVID-19 หลังการผ่อนปรน 

16 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้มีข่าวดีว่าไม่มีผู้ป่วย COVID-19 เพิ่ม โดยเป็นตัวเลขศูนย์อีกครั้งในรอบสัปดาห์นี้ รวมตัวเลขสะสม 3,025 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม หายกลับบ้านมากขึ้นรวม 2,798 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 114 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนพ.ทวีศิลป์ บอกว่าวันนี้ตัวเลขเป็นศูนย์ มีเสียงปรบมือดังลั่น ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นับจากวันวันแรกคือวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมามีตัวเลขผู้ป่วยสูงถึง 188 คน จนกระทั่งเกือบ 2 เดือนนี้ตัวเลขมาแตะหลักเดียว โดยเฉพาะศูนย์คนครั้งแรกเมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาและวันนี้มีศูนย์สองตัว เพราะไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 

“ผู้ป่วยศูนย์คนครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์นี้ ต้องขอบคุณคนไทยที่ร่วมมือกัน เพราะต้องร่วมกัน 90-100% ถึงจะชนะ โดยเฉพาะในช่วงที่จะมีการผ่อนปรนระยะที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.)”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับการกระจายของผู้ติดเชื้อพบจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยใน 28 วันที่ผ่านมาอยู่ 18 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 28 วันที่่ผ่านมาอยู่ที่ 50 จังหวัด และจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนคงที่ 9 จังหวัดคือ  จ. กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง สตูล

ส่วนปัจจัยเสี่ยง ตั้งแต่สัปดาห์วันที่ 18 เม.ย.ถึงสัปดาห์วันที่ 16 พ.ค.นี้ พบปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 229 คน รองลงมาคือ ศูนย์กักกัน ผู้ต้องกัก 65 คน และการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และผู้ติดเชื้อในชุมชน 48 คน ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ State Quarantine  40 คน ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด รวม 29 คนอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด รวม 28 คน คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวม 21 คน บุคลากรด้านสาธารณสุข รวม 13 คน สถานบันเทิง รวม 6 คน สนามมวย รวม 3 คน

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์โลกพบผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 4,628,356 คน อาการหนัก 45,006 คน รักษาหายแล้ว 1,757,445 คน และเสียชีวิต 308,645 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 1,484,285 คน โดยมีผู้ป่วยใหม่วันเดียว 26,692 คน

สถานการณ์ต่างประเทศ กาตาร์ บังคับสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้าน ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1.76 ล้านบาท หลังพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นถึง 1,733 คน ทุบสถิติผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดในประเทศกาตาร์

ขณะที่เกาหลีใต้ พบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากสถานบันเทิงย่านอิ แทวอนต่อเนื่อง ล่าสุดสะสมเป็น 161 คน ทำให้เกาหลีใต้มีผู้ป่วยสะสมกว่า 11,000 คน ล่าสุด พบผู้ป่วยอีก 5 คน ติดเชื้อจากการไปเที่ยวคาราโอเกะในย่านฮงแด ซึ่งเชื่อมโยงกับเคสอิแทวอนด้วย

ส่วนสถานการณ์คนไทยกลับบ้าน วันนี้จะมีคนไทยมาจากสหรัฐฯ 204 คน และมาจากสหรัฐฯ -เกาหลีใต้ 187 คน ส่วนในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) จะมีคนไทยกลับมาจากมัลดิฟส์ 150 คน จากแคนาดา 80 คน และอินเดีย 80 คน ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับไทยนั้น จะทยอยกลับเข้ามาไทยตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.จนถึงวันที่ 23 พ.ค. จำนวน 19 เที่ยวบิน

สถิติคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านแดนทางบก มาจากเมียนมา 14 คน สปป.ลาว 15 คน มาเลเซีย 273 คน และกัมพูชา 6 คน รวมสะสมเดินทางเข้ามาในวันที่ 15 พ.ค.วันเดียว 308 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่ากรณีที่มีการถอดจีน และเกาหลีใต้ออกจากประเทศ จากเขตติดโรคติดต่ออันตราย เนื่องจาก 2 ประเทศเป็นชาติแรกที่มีการระบาด และที่ต้องถอดออก เพราะผ่านมาหลายเดือน สถิติลดลง และมีการควบคุมการระบาดได้ดี จนตัวเลขเหลือหลักหน่วย เมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆทั่วโลกทำไมถึงยังไม่ประกาศเขตติดโรค อาจจะไม่ยุติธรรม จึงเอาออก และไม่มีเหตุผลที่ต้องคงค้างไว้ แต่ยังค้องคงอยู่ของบางประเทศ เช่น อิหร่าน มาเลเซีย เมียนมา อิตาลี 

ส่วนการนำออกแล้วจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในไทยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะการกำกับติดตาม ป้องกันไม่ให้เข้าประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไทยมีมาตรการคัดกรองที่เข้มงวด เมื่อมาไทยยังต้องอยู่ใน State Quarantine 14 วัน 

"แม้จะปลดชื่อ แต่มาตรการยังคงไว้ ขอให้มั่นใจว่าระบบของไทยยังควบคุมได้อย่างดี ไม่ได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามา”

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการเตรียมเปิดสถานที่ระยะที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) เช่น ห้างสรรพสินค้า ยังขอให้เน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย การทำล้างมือบ่อยๆ เว้น ระยะห่างและการทำความสะอาดพื้นผิว ลดการแออัด ซึ่งส่วนตัวเรา และคนที่ประกอบกิจการต้องคิดถึงส่วนรวม 

“ขอให้ถือหลักการว่าแยกกันเราอยู่ รวมหมู่เพื่อไปสู่ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 รออยู่เพราะตอนนี้ เราต้องวัดช่วงระยะที่ 2”

ขสมก.ปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการรถโดยสารรับเคอร์ฟิวใหม่

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 เห็นชอบมาตรการคลายล็อกกลุ่มกิจการและกิจกรรมระยะที่ 2 รวมถึงการลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวอีก 1 ชั่วโมง จากเดิม เวลา 22.00 - 04.00 น. เป็นเวลา 23.00 - 04.00 น. และอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 ขสมก.มีผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางประมาณกว่า 500,000 คน คาดว่าเมื่อดำเนินการตามมาตรการคลายล็อกดังกล่าว จะส่งผลทำให้ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คน หรือวันละประมาณ 600,000 คน

ขสมก.จึงจัดแผนเดินรถโดยสาร ในช่วงมาตรการคลายล็อกระยะที่ 2 ดังนี้

1. เพิ่มจำนวนรถออกวิ่ง จากเดิม 90% หรือวันละ 2,705 คัน เพิ่มเป็น 95 % หรือวันละ 2,855 คัน หรือจัดรถออกวิ่งให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา

2. ปรับเวลาการให้บริการเดินรถโดยสาร จากเวลา 05.00 - 21.00 น. (เวลา 21.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) เป็นให้บริการ เวลา 05.00 - 22.00 น.(เวลา 22.00 น. คือเวลาที่รถโดยสารกลับถึงอู่จอดรถ) โดยเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 05.00 - 08.00 น. และช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 21.00 - 22.00 น. ให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 5 - 10 นาที

3. ปล่อยรถโดยสารคันสุดท้าย ออกจากท่าปลายทางประมาณ 21.00 น. เพื่อให้พนักงานสามารถนำรถกลับเข้าอู่จอดรถได้ทันเวลา 22.00 น. โดยปรับเพิ่มความถี่ในช่วงการปล่อยรถ 3 คันสุดท้าย ให้มีระยะห่างกัน 5 - 10 นาที ซึ่งรถโดยสาร 3 คันสุดท้าย จะติดป้ายข้อความบ่งชี้บริเวณหน้ารถโดยสาร ดังนี้ 3.1 เหลือรถ 2 คันสุดท้าย 3.2 เหลือรถ 1 คันสุดท้าย และ 3.3 รถคันสุดท้าย

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะใช้บริการรถโดยสาร การนั่งหรือยืนตามจุดที่กำหนด ซึ่งรถโดยสาร 1 คัน อนุญาตให้ผู้ใช้บริการยืนได้ไม่เกิน 10 คน

ส่วนกรณีผู้ใช้บริการเต็มจะต้องรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ เตรียมตัวกลับบ้านก่อนเวลา 19.00 น. เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการบนรถโดยสารในช่วงเวลาก่อนเคอร์ฟิว 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมบนรถโดยสาร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เปิดเดินรถไฟ 'ขบวนพิเศษ-ชานเมือง' 18 พ.ค.นี้

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคลสถานที่และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณะสุข

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนมีความต้องการในการเดินทางมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางโดยรถไฟ ทั้งการเดินทางภายในเขตเมือง ระหว่างเมือง และทางไกล ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด การรถไฟฯ จึงได้ประกาศเปิดเดินขบวนรถโดยสารพิเศษเป็นการชั่วคราว 30 วัน

ซึ่งให้บริการเฉพาะรถโดยสารชนิดพัดลมเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 พร้อมทั้งเปิดเดินขบวนรถโดยสารบริการสังคม (ชานเมือง) เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สำหรับขบวนรถที่เปิดให้บริการในเส้นทางต่างๆ มีดังนี้

1. ขบวนรถโดยสารพิเศษ เปิดให้บริการชั่วคราว 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 17 มิ.ย.2563 จำนวน 8 ขบวน (ไป-กลับ) ดังนี้

1.1 สายเหนือ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 16 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการขบวนรถด่วนที่ 9051 กรุงเทพฯ ออกเวลา 05.30 น. ถึงเชียงใหม่ เวลา 18.30 น.

1.2 สายเหนือ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 17 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการขบวนรถด่วนที่ 9052 เชียงใหม่ ออกเวลา 05.30 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 18.30 น.

1.3 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 16 มิ.ย.2563 เปิดให้บริการบริการขบวนรถด่วนที่ 9071 กรุงเทพฯ ออกเวลา 06.00 น. ถึงอุบลราชธานี เวลา 14.55 น.

1.4 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 17 มิ.ย.2563 ประกาศให้เดินขบวนรถด่วนที่ 9072 อุบลราชธานี ออกเวลา 06.00 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 14.50 น.

1.5 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 16 มิ.ย.2563 ประกาศให้เดินขบวนรถด่วนที่ 9075 กรุงเทพฯ ออกเวลา 07.00 น. ถึงหนองคาย เวลา 16.40 น.

1.6 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 17 มิ.ย.2563 ประกาศให้เดินขบวนรถด่วนที่ 9076 หนองคาย ออกเวลา 07.00 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 16.35 น.

1.7 สายใต้ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. - 16 มิ.ย.563 ประกาศเปิดเดินขบวนรถด่วนที่ 9085 กรุงเทพฯ ออกเวลา 05.00 น. ถึงชุมทางหาดใหญ่ เวลา 18.45 น. ซึ่งขบวนรถให้บริการถึงชุมทางทุ่งสง ถึงเวลา 16.04 น. เนื่องจาก จ.พัทลุง และสงขลา ยังมีล็อกดาวน์จังหวัด

1.8 สายใต้ ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. - 16 มิ.ย.2563 ประกาศเปิดเดินขบวนรถด่วนที่ 9086 ชุมทางหาดใหญ่ ออกเวลา 05.00 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 18.50 น. ซึ่งขบวนรถให้บริการจากชุมทางทุ่งสง ออกเวลา 07.47 น. เนื่องจาก จ.พัทลุง และสงขลายังมีล็อกดาวน์จังหวัด

2. ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง จำนวน 34 ขบวน (ไป-กลับ) ตามตาราง

2.1 สายเหนือ ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดาเมือง จำนวน 4 ขบวน

2.2 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถชานเมืองและขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 16 ขบวน

2.3 สายใต้ ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 8 ขบวน

2.4 สายตะวันออก ขบวนรถธรรมดา จำนวน 4 ขบวน

2.5 สายแม่กลอง-บ้านแหลม ขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 2 ขบวน

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ในด้านมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด โดยให้พนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และถุงมือยางและ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ การตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มข้น การจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริการอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ การรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดยืน นั่ง ให้ชัดเจน ทั้งที่สถานีและขบวนรถ โดยจำกัดการจำหน่ายตั๋วโดยสารไว้ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด

เมื่อจำหน่ายเต็มตามที่ระบุแล้ว จะไม่จำหน่ายตั๋วอีกรวมทั้งตั๋วไม่มีที่นั่ง (ตั๋วยืน) การจัดเดินรถโดยสารชนิดพัดลมเพื่อให้บริการเท่านั้น และการงดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ หากผู้โดยสารที่เดินทางไกลเกินกว่า 3 ชั่วโมง ให้เตรียมอาหารไปรับประทานเอง สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางข้ามเขตจังหวัด จะต้องกรอกข้อมูลคำถามสุขภาพ ตามแบบฟอร์ม ต.8/คค./รฟท. และได้รับการตรวจคัดกรองและต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น พร้อมหลักฐานการอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสดังกล่าว

สำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางกับขบวนรถโดยสารพิเศษ สามารถจองล่วงก่อนเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดเวลาต่างๆ ได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง

เปิด 3 ฉากทัศน์คาดการณ์ผู้ป่วย COVID-19 หลังการผ่อนปรน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่าในการประชุม ศบค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้นำเสนอการรายงานการคาดการณ์รูปแบบการระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 3 ฉากทัศน์ ซึ่งประมาณการถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 พบว่า

1. การใช้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการควบคุมโดย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ให้มีการปิดกิจการหลายๆ อย่าง ประมาณการถึง ก.ย. คาดว่า จะมีผู้ป่วยรายใหม่ 15 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 คนต่อวัน ผู้ป่วยวิกฤต 15 คน ที่ต้องเข้า รพ. ทำให้ รพ.สามารถยังรับได้ไหว

2. มีการผ่อนปรนบ้าง ซึ่งการผ่อนปรนขึ้นมามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่ โดยประมาณการว่า จะมีการติดใหม่ประมาณ 144 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ 24 คนต่อวัน ผู้ป่วยวิกฤต 105 คน ปริมาณยังพอรับไหว

3. ถ้าผ่อนมากๆ ปล่อยให้คลายมากๆ เปิดทุกกิจการกิจกรรม จะเกิดติดเชื้อรายใหม่มากขึ้น 398 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานจำนวนผู้ป่วย 65 คนต่อวัน คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออาการวิกฤต 289 คน

นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าการจะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยไม่สูง คือ จะต้องลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนมากกว่า 70% ขึ้นไป โดยบทเรียนจำลองสถานการณ์การระบาดวิทยาในระดับประเทศ ประสิทธิผลของมาตรการเข้มข้นระยะสั้น ต้องลดอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนลงให้เป็น 77% ของอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนในระยะก่อน ตรงนี้ช่วยให้ไทยหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนมาตรการควบคุมโรคในระยะผ่อนคลาย ต้องมีประสิทธิผลจึงจะไม่เกิดการระบาดใหม่ซ้ำ ต้องติดตามให้การแพร่กระจายเชื้อในชุมชนต่ำกว่า 50% ของอัตราการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนในระยะก่อนมีมาตรการระยะสั้น จะช่วยให้ประเทศไทยเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมี 3T คือ trace การค้นหา test การทดสอบ และ treat การรักษา

เมื่อถามถึงความแออัดของรถไฟฟ้า นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก ทำความสะอาด และอย่าให้แออัด เป็นมาตรการหลักสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องนำไปใช้ ส่วนในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องไปดำเนินการ อย่างภาพที่เห็นมีการจัดเว้นระยะห่างที่สถานี แต่พอเข้าไปในรถไฟฟ้าไม่มีการเว้นระยะห่าง ก็แน่นอนว่าต้องขอความร่วมมือต้องคิดเข้าไปอีกหลายๆ ชั้น เพื่อให้ปลอดภัยปลอดโรค หรืออย่างน้อยต้องมีหน้ากากอนามัยถ้าอยู่ในระยะใกล้กันมาก หรือไม่พูดจาในรถ โอกาสแพร่กระจายก็จะน้อยลง เป็นรายละเอียดที่ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการต้องร่วมมือกันอย่างดีมากๆ แต่ถ้าเรายอมที่จะมาสู่มาตรการผ่อนปรน ก็คือ ความเสี่ยง เพราะมาตรการผ่อนปรนมาพร้อมความเสี่ยง คนออกจากบ้านต้องยอมรับว่าตัวเองมีความเสี่ยง ถ้าไม่อยากมีความเสี่ยงก็อยู่ที่้บ้าน ถ้าจำเป็นต้องออกมาก็ต้องปกป้องตนเองและคนอื่น คำตอบคือขอความร่วมมือเช่นเดิม


ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS [1] [2] [3] | ผู้จัดการออนไลน์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net