Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางการจัดการเรื่อง COVID-19 ที่ทั้งประสบความสำเร็จและกำลังเผชิญกับปัญหาในหลายแห่งของโลก ในพื้นที่อย่างฮ่องกงดูจะเป็นพื้นที่ๆ น่าสนใจในเรื่องการจัดการกับปัญหา COVID-19 เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลแทบจะไม่ได้แก้ปัญหาใดๆ และไม่ได้มีการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ฮ่องกงก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยและผู้เสียชีวิตน้อยมาก เนื่องจากการจัดการเหล่านี้มาจากกลุ่มประชาชนพากันจัดการตนเองได้โดยอาศัยประสบการณ์ความสูญเสียในอดีตและการใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร


ที่มาภาพประกอบ: Caritas Internationalis

สื่อดิแอตแลนติกมีบทความที่พูดถึงการจัดการการระบาดหนักของ COVID-19 ในฮ่องกง ที่มีความเฉพาะตัวตรงที่ถึงแม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ออกมาตรการใดๆ จริงจัง แต่ประชาชนกลับดำเนินการหลายอย่างจากในระดับรากหญ้า และมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

จากการตรวจสอบสถิติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 ฮ่องกงมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 1,503 ราย มีคนรักษาหายแล้ว 1,019 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย จำนวนตัวเลขเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนบทความให้กับดิแอตแลนติกสงสัยว่าเหตุใดถึงมีจำนวนตัวเลขไม่มากนักทั้งๆ ที่ฮ่องกงเป็นประเทศที่มีพื้นที่น้อย มีความแออัด และมีประชากรจากจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางเข้าออกซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคได้ง่าย และฮ่องกงเองก็ไม่เคยมีมาตรการล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปแบบมาก่อนเลยจนถึงตอนนี้ มีแค่การปิดพื้นที่ๆ คนจะเข้าไปอยู่รวมกันจำนวนมากอย่างโรงเรียน-สถานศึกษาแต่ก็มีแผนการจะเปิดในอีกไม่นานนี้

รายงานในดิแอตแลนติกระบุถึงการที่ฮ่องกงเคยต้องเผชิญกับโรคระบาดมาก่อนหลายครั้ง เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ปี 2511 ที่ระบาดหนักจนทำให้มีผู้คนเสียชีวิต 1 ล้านคนก็มีการระบาดเริ่มต้นจากฮ่องกง และในปี 2546 ก็เคยมีการระบาดของโรคซาร์ส ทั้งนี้ในฮ่องกงยังมีปัญหาอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว ก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาการระบาดของ COVID-19 เช่นปัญหาการที่จีนใช้อำนาจควบคุมด้วยการแต่งตั้งคนของตัวเองเป็นผู้ว่าการฮ่องกง โดยที่คนปัจจุบันคือ แคร์รี แลม การพยายามแผ่ขยายอำนาจจากจีนสร้างความไม่พอใจจนเกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงปี 2562 ทั้งนี้เศรษฐกิจในฮ่องกงก็ถดถอยลงอย่างมากมาตั้งแต่ก่อนหน้าโรคระบาดครั้งนี้ ทั้งนี้แลมก็ได้รับความนิยมลดลงมากโดยจากการสำรวจโพลมีผู้ไม่นิยมเธอร้อยละ 80

ในแง่นี้เองมีการตั้งข้อสังเกตว่าแคร์รี แลม ดูจะไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคติดต่อเท่าใดนักในช่วงแรกที่มีการระบาดของ COVID-19 โดยที่ฮ่องกงไม่เคยมีการปิดด่านกับจีนอย่างเต็มรูปแบบ โรงพยาบาลก็ประสบปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือป้องกันโรคติดต่อ แลมยังถึงขั้นบอกให้ข้าราชการของตัวเองไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ถึงขั้นมีการประเมินจากสื่อต่างประเทศในช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่าฮ่องกงอาจจะกลายเป็น "รัฐล้มเหลว"

แต่ทว่าผลที่ออกมากลับกลายเป็นว่าฮ่องกงมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าหลายประเทศและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยเพียง 4 รายเท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีมาตรการเข้มข้นอย่างไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ทำให้ความสำเร็จของฮ่องกงไม่ได้มาจากการบริหารของรัฐบาลแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามแรงขับเคลื่อนรัฐบาลตั้งแต่ในปีที่แล้วกลับเป็นตัวตั้งที่ส่งผลให้พวกเขาสามารถจัดการกกับปัญหาได้ด้วยวิธีการจากรัดับรากหญ้า

ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความทรงจำแย่ๆ เกี่ยวกับโรคซาร์สที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกครั้งด้วย บวกกับความไม่เชื่อใจรัฐบาลตัวเองทำให้พวกเขาดำเนินการจัดการตนเองในระดับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการการจัดตั้งที่มีมาตั้งแต่ในช่วงการประท้วงก็เป็นตัวช่วยให้พวกเขาบริหารจัดการตัวเองได้ดีด้วย

จากก่อนหน้านี้ที่ชาวฮ่องกงเคยใช้การจัดตั้งการประท้วงเป็นตัวขับเคลื่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นจนทำให้ฝ่ายตัวเองได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายสนับสนุน ด้วยวิธีการที่กลุ่มผู้ประท้วงคอยเอื้อข้อมูลให้แก่กันและกันว่าผู้แทนคนไหนเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีน การเอื้อข้อมูลเช่นนี้เองยังถูกนำมาปรับใช้กับการจัดวางฮ็อตสปอตเพื่อติดตามว่ามีแหล่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ที่ใดบ้าง รวมถึงให้ข้อมูลเตือนประชาชนด้วยกันเองในกรณีที่มีการขายเครื่องป้องกันทางการแพทย์ของปลอม นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโรคนี้รวมถึงเวลาที่ต้องรอในโรงพยาบาล

กลุ่มประชาชนในฮ่องกงยังเรียนรู้วิธีการที่จะส่งสารแบบที่สามารถหลีกเลี่ยงการก่อกวนจากกลุ่มแอบอ้างของรัฐบาลได้จากที่พวกเขาเคยทำในช่วงการประท้วง ทั้งนี้การต้องเชิญกับการก่อกวนจากกลุ่มคนเหล่านี้ยังทำให้ผู้ประท้วงเรียนรู้ที่จะคอยตรวจสอบข้อเท็จจริงและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทั้งนี้พวกเขายังใช้ข้อมูลข่าวสารวิพากษ์วิจารณ์องค์การอนามัยโลกที่ตอบสนองต่อเรื่องการแก้ไขปัญหา COVID-19 ช้าด้วย

เรื่องนี้ทำให้เกิดกรณีการล้อเลียนเสียดสีแลม ผู้ว่าการฮ่องกงที่สับเปลี่ยนท่าทีไปมาระหว่างการห้ามสวมหน้ากากอนามัยกับการสวมหน้ากากอนามัยแต่สวมผิดๆ เรื่องหน้ากากนี้เคยมีการใช้กฎหมายห้ามมาก่อนเนื่องจากผู้ชุมนุมจำนวนมากสวมหน้ากาก อย่างไรก็ตามเมื่อฮ่องกงเกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย เป็นกลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้เองที่คอยจัดหาหน้ากากให้ โดยเฉพาะการจัดหาให้กับคนจนและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถไปรอต่อคิวรับหน้ากากเองได้ ทั้งนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครที่คอยจัดการเรื่องการจัดหาน้ำยาล้างมือให้กับที่พักอาศัยต่างๆ ด้วย และในช่วงที่มีการประท้วงผู้ประท้วงเคยใช้เครื่องมือแผนที่ดิจิทัลในการบอกตำแหน่งที่ตั้งของการปิดถนนโดยตำรวจและตำแหน่งที่เกิดการปะทะ แต่ในตอนนี้พวกเขาก็หันมาใช้เผนที่ดิจิทัลในการระบุตำแหน่งการระบาดและแหล่งแจกจ่ายน้ำยาล้างมือแทน

ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่กลุ่มคนทำงานสาธารณสุขทำการประท้วงเนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธจะปิดด่านกับจีนในช่วงที่มีการระบาด การประท้วงนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีน ทั้งนี้กลุ่มผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้ประชาชนแสดงความเป้นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสหภาพคนทำงานสาธารณสุขในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการผูกริบบิ้นสีขาว รวมถึงปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยอย่างการล้างมือและสวมหน้ากากอย่างถูกวิธี

มีบางส่วนที่ทำการในเชิงท้าทายรัฐบาลที่ไม่ยอมปิดด่านโดยขู่ว่าจะมีปฏิบัติการรุนแรงตามด่านต่างๆ โดยมีการวางระเบิดที่จุดตรวจระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีการประท้วงรัฐบาลที่จัดตั้งศูนย์กักด่านโรคไว้ในที่ชุมชนโดยไม่ปรึกษากับคนในพื้นที่เหล่านั้นก่อน พวกเขาประท้วงด้วยการโยนระเบิดเพลิงใส่โถงอาคารที่ว่างเปล่าจนทำให้ต้องพับโครงการไปและทำให้รัฐบาลตั้งศูนย์กักด่านในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนออกไป

นอกจากนี้ประสบการณ์ในการต่อกรกับโรคระบาดในอดีตยังทำให้ฮ่องกงมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดต่อจำนวนมาก มีบางส่วนที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปะทะกับทางการจีนโดยตรงแต่ก็โต้แย้งข้ออ้างผิดๆ ของทางการจีนและข้ออ้างผิดๆ จาก WHO โดยการปฏิบัติตามหลักการป้องกันอย่างเคร่งครัดแต่เนิ่นๆ รวมถึงไม่สนใจคำสั่งห้ามหน้ากากของรัฐบาลทำให้ป้องกันการระบาดหนักได้ หลังจากที่มีปฏิบัติการในระดับประชาชนเหล่านี้ ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมทำตามมาตรการควบคุมโรคบางอย่าง แต่ก็เดินตามหลังประชาชนเสมอ

นั่นทำให้ตอนนี้ฮ่องกงประสบความสำเร็จในเรื่องการคุวบคุมโรคและกำลังจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ พิพิธภัณฑ์กับห้องสมุดกำลังจะกลับมาเปิดทำการ ในขณะที่ผู้คนมีปฏิบัติการในเชิงช่วยเหลือด้านการสาธารณสุขให้แก่คนยากจนในย่านที่พักอาศัยแออัดและจัดการเรื่องการสั่งอาหารจากร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดทำการในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลมัวแต่ยกระดับการปราบปรามฝ่ายที่ต่อต้านพวกเขา มีความเป็นไปได้ว่าผู้ประท้วงอาจจะกลับมาลงถนนอีกครั้งในเร็วๆ นี้และแน่นอนว่าพวกเขาจะสวมหน้ากากอนามัย

ดิแอตแลนติกระบุว่าเรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในขณะที่ไต้หวันกับเกาหลีใต้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการที่รัฐบาลจะโต้ตอบกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ฮ่องกงก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปเองก็สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรเองได้แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้มีประโยชน์อะไรก็ตาม

เรียบเรียงจาก
How Hong Kong Did It, ZEYNEP TUFEKCI, The Atlantic, 12-05-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net