Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทำไมเรามองเห็นความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเลวของคนจนที่หยิบเอาอาหารจาก “ตู้ปันสุข” ไปมากเพราะกลัวความไม่แน่นอนของชีวิตในวันหน้าว่าอาจจะไม่มีกินได้อย่างง่ายดายและชัดเจน และคิดหามาตรการมาจับผิดได้ในทันที แต่ช่างยากแสนยากที่จะมองเห็นความเห็นแก่ตัวและความชั่วร้ายของ “สัตว์ศีลธรรม” ที่แสดงออกเสมอว่าเป็นคนดีมีศีลธรรมและทำเพื่อผู้อื่น แต่ที่แท้เป็น “ชนชั้นปรสิต” ที่สูบเลือดคนจน คนส่วนใหญ่ และพร้อมเสมอที่จะกลายเป็นสัตว์ร้ายขย้ำใครก็ตามที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจครอบงำกดขี่ในนามศีลธรรมความดีของพวกเขา 

เพราะศีลธรรม ความดีในโลกนี้ถูกสถาปนาผ่านความจริงสัมบูรณ์และอำนาจสัมบูรณ์ที่ตั้งคำถามไม่ได้ตั้งแต่แรกหรือเปล่า 

ศาสนาหลักๆ ล้วนแต่เสนอ “ความจริงสัมบูรณ์” (absolute truth) ที่ไม่ขึ้นกับเงื่อนไขของเวลา, สถานที่และอื่นๆ ความจริงสัมบูรณ์บางอย่างถูกนำเข้าจากนอกโลก เช่น ความจริงของพระเจ้า พระบัญญัติของพระเจ้า บางอย่างเป็นความจริงเหนือโลก เช่น ความจริงของนิพพาน กฎแห่งกรรม หลักทางสายกลางหรือศีลธรรมอันเป็นทางสู่นิพพาน เป็นต้น ดังนั้น สถานะของความจริงเหล่านี้จึงสูงส่งเหนือความจริงทั้งปวง 

อย่างไรก็ตาม ความจริงสัมบูรณ์ทางศาสนาไม่ใช่สิ่งที่เสนอขึ้นมาลอยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับ “อำนาจสัมบูรณ์” (absolute power) บางอย่าง เช่น ความจริงสัมบูรณ์ของคำสอนหรือพระบัญญัติของพระเจ้าย่อมขึ้นอยู่กับอำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้า ผู้ซึ่งเป็นที่มาของความจริงนั้นและพิพากษาให้ผลดีตอบแทนและลงโทษ 

แต่อำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้าอาจเป็นเพียงนามธรรมที่ไม่มีผลทางปฏิบัติใดๆ เลย หากไม่ส่งต่อมายังพระศาสดาผู้ซึ่งสามารถได้ยินพระวจนะของพระเจ้าโดยตรง แล้วนำมาถ่ายทอดต่อสาวก พระศาสดาจึงมีอำนาจในฐานะผู้นำศาสนา เช่น โมเสส, เยซู, มูฮัมหมัด ในสังคมโบราณที่ศาสนากับการเมืองไม่ได้แยกจากกัน พระศาสดาอาจเป็นผู้นำทางศาสนาและทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน หรือปะปนกัน ไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกันอย่างชัดเจน 

ยุคหลังพระศาสดา อำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้าถูกโอนมาสู่ชนชั้นปกครองคือ ผู้นำศาสนจักร, ผู้นำนิกายศาสนา, กษัตริย์, องค์กาหลิบ, สุลต่านหรือที่เรียกแบบอื่นๆ แต่โดยความหมายก็คือชนชั้นปกครองเหล่านั้นใช้อำนาจเทวสิทธิ์ หรือสิทธิธรรมแบบอื่นๆ ในนามของพระเจ้าตามความเชื่อทางศาสนานั้นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอำนาจสัมบูรณ์

ประเด็นคือ คำสอนดีๆ ของศาสนา เช่น ความรัก การให้อภัย ความเสมอภาคในสายตาพระเจ้ามักจะย้อนแย้ง (paradox) กับอำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้า เช่น เราไม่สามารถจะเข้าใจด้วยเหตุผลได้เลยว่า การที่พระเจ้าพิพากษาลงโทษบุตรที่พระองค์รักด้วยไฟนรกมันสอดคล้องกับคำสอนเรื่องความรักและการให้อภัยได้อย่างไร 

ความย้อนแย้งระหว่างความจริงสัมบูรณ์ของคำสอนกับอำนาจสัมบูรณ์ของพระเจ้าถูกส่งต่อมาสู่ระบบการเมืองในโลกมนุษย์ เมื่ออำนาจของพระเจ้าถ่ายโอนมาสู่ศาสนจักรและรัฐ การลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็น แขวนคอ ถ่วงน้ำ และวิธีทรมานอื่นๆ ก็ล้วนแต่ย้อนแย้งกับคำสอนดีๆ ของศาสนาทั้งนั้น แต่นี่คือความย้อนแย้งที่ไม่ได้ขัดแย้งกัน หรือไม่ได้ปะทะแตกหักกันเลย หากอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนมาตลอดประวัติศาสตร์ยาวนาน

พุทธศาสนาก็ย้อนแย้งไม่ต่างจากศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เพราะพุทธศาสนาถือว่าธรรมคือความจริงสัมบูรณ์ พุทธะมีอำนาจบารมีสัมบูรณ์ในฐานะผู้ตรัสรู้ธรรม ความดีความชั่วตามคำสอนพุทธก็เป็นความจริงสัมบูรณ์ โดยมีกฎแห่งกรรมที่มีอำนาจสัมบูรณ์ในการกำหนดผลตอบแทนต่อความดีและความชั่ว แต่อำนาจสัมบูรณ์ตามกฎแห่งกรรมก็ซับซ้อนยากที่จะเข้าใจได้ด้วยเหตุผลพอๆ กับอำนาจของพระเจ้า เพราะเรื่องราวของการรับผลกรรมดีกรรมชั่วในนรก สวรรค์ โลกมนุษย์ เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานภายในวัฏฏสงสารนั้นไม่อาจเข้าใจได้ด้วยหลักความมีเหตุผลว่าดำเนินไปอย่างยุติธรรมอย่างไร 

เมื่ออำนาจแห่งธรรมถ่ายโอนมาอยู่สู่ “ธรรมราชา” หรือเมื่ออำนาจบารมีของพุทธะถ่ายโอนมาอยู่ในมือ “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” หรือกษัตริย์ในรัฐพุทธศาสนา เราพบว่าวิธีการลงโทษที่ทารุณและรุนแรงต่างๆ น่าจะถ่ายทอดมาจากความเชื่อในกฎแห่งกรรมด้วย และหากแก่นธรรมเป็นเรื่องของความหลุดพ้น ปัญญาและกรุณา เราย่อมพบการใช้คำพวกนี้อย่างมากมหาศาลในคำราชาศัพท์และคำสดุดีคุณงามความดีและบุญคุณของกษัตริย์ในรัฐพุทธศาสนา แปลว่าคำสอนดีๆ ที่เป็นแก่นพุทธศาสนาที่มีลักษณะย้อนแย้งกับอำนาจเด็ดของธรรมราชา และธรรมกับระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสนั้นก็อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนหรือไม่ขัดแย้งแตกหักมาตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน 

พูดสั้นๆ คือคำสอนดีๆ อย่างเช่น ความหลุดพ้น ปัญญากรุณา ความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ความเสียสละเพื่อผู้อื่นแบบโพธิสัตว์ ไม่ยึดระบบวรรณะ ฯลฯ แทบจะไม่เคยสร้างแรงบันดาลใจเปลี่ยนแปลงรัฐศักดินาแบบพุทธให้เป็นรัฐที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเลย

ถามว่าในโลกสมัยใหม่เราถือว่าคุณค่าที่เรายึดถือกันอย่างเช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเป็น “สิ่งสัมบูรณ์” หรือไม่ คำตอบดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเราถือว่าคุณค่าเหล่านี้ไม่สัมบูรณ์ ก็แปลว่าเรายอมรับการปกครองเผด็จการแบบใดๆ ที่ละเมิดคุณค่าพวกนี้ได้ แต่ที่เราไม่ยอมก็เพราะเราถือเสมือนว่ามันเป็นคุณค่าสัมบูรณ์ ถ้าคุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ก็แปลว่านี่คือ “ศาสนาใหม่” ของคนยุคปัจจุบันใช่หรือไม่

ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องตอบอย่างวิพากษ์ แท้จริงแล้วไม่ใช่ศาสนาเท่านั้นที่พูดถึงสิ่งสัมบูรณ์ ปรัชญาก็พูดถึงมาแต่ยุคกรีกโบราณแล้ว แต่สิ่งสัมบูรณ์ที่ปรัชญาพูดถึงก็มีรายละเอียดที่ต่างจากศาสนามาก และการพูดถึงคุณค่าสัมบูรณ์ในปรัชญาสมัยใหม่มักมีนัยสำคัญโต้แย้งกับความจริงสัมบูรณ์และอำนาจสัมบูรณ์แบบศาสนา

เช่น เวลาเราพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เสรีประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สังคมนิยม ในฐานะเป็นคุณค่าเชิงอุดมคติ เราก็พูดถึงเสมือนว่าเป็นสิ่งสัมบูรณ์ แต่ก็ต่างจากศาสนาในแง่ที่ว่าเรายืนยันรูปแบบหรือระบบการปกครองที่จะสามารถให้หลักประกันการมีชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมการเมืองที่สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านี้ด้วยเสมอ ดังนั้น โดยการยืนยันคุณค่าสมัยใหม่จึงไม่นำไปสู่การอุปโลกน์มนุษย์ให้กลายเป็นเทวดามาขี่หัวประชาชน เพราะเราไม่เชื่อว่าผู้ปกครองที่ใช้อำนาจสิทธิ์ขาดในนามพระเจ้าหรือธรรมะจะให้หลักประกันคุณค่าเหล่านี้ได้ ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าอำนาจในนามศาสนาทั้งขัดแย้งและทำลายแม้กระทั่งหลักการตามคำสอนดีๆ ของศาสนาเสียเอง ดังที่ยกตัวอย่างแล้ว

ในสังคมปัจจุบัน ศาสนาควรแยกจากรัฐ ดังในหนังสือ “สามัญสำนึก” (Common Sense) ของโธมัส เพน เขาเริ่มด้วยการแยกระหว่าง “สังคม” กับ “รัฐ” สังคมทำให้มนุษย์มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ส่วนรัฐเกิดขึ้นจากความจำเป็นเพราะความชั่วของเรา รัฐจึงเป็น “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” ในการป้องกันและจัดการต่อการที่เราเบียดเบียนทำร้ายกัน ศาสนาจึงไม่ควรอยู่กับอำนาจรัฐ หากอยู่กับอำนาจรัฐศาสนารังแต่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำชั่วของผู้มีอำนาจรัฐ แต่ควรอยู่กับปัจเจกบุคคลและสร้างสายสัมพันธ์เกื้อกูลกันในสังคมหรือชุมชนศาสนานั้นๆ มากกว่า 

หรือต่อให้เรามองบวกว่ารัฐคือความจำเป็นในการสร้างสิ่งที่ดี เช่น การให้หลักประกัน “สิทธิ” ในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ศาสนาก็ควรแยกจากโครงสร้างอำนาจรัฐอยู่ดี เพราะสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็นเรื่องโลกวิสัยที่จำเป็นต้องกระจายอย่างเป็นธรรมแก่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาเท่าเทียมกัน เช่น การศึกษา การมีงานทำ รายได้ เศรษฐกิจ และการเข้าถึงบริการสาธารณะอื่นๆ 

แต่การแยกศาสนากับรัฐในประเทศนี้ก็ยากพอๆ กับการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างความจริงสัมบูรณ์และอำนาจสัมบูรณ์ที่อิงความเชื่อทางศาสนา กับความจริงสัมบูรณ์ของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เสรีประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน 

อย่างไรก็ตาม ที่ผมบอกว่าคุณค่าสมัยใหม่ก็ถูกถือว่าเป็นสิ่งสัมบูรณ์ ก็พูดอย่างตระหนักใน “ความซับซ้อน” ว่าไม่ใช่คนจะเชื่อแบบนั้นทั้งหมด และไม่ใช่ว่าจะไม่มีการอ้างคุณค่านี้ในทางขัดแย้งกับเนื้อหาของตัวมันเอง หลายคนอาจจะเห็นว่าคุณค่าสมัยใหม่ไม่ได้สัมบูรณ์ในความหมายแบบศาสนา เช่น แม้จะถูกนำเสนอว่าเป็นคุณค่าสากล แต่ก็มีคนแย้งว่าไม่สากลจริงและมันอาจผิดได้ ซึ่งในแง่นี้ก็สะท้อนว่าคุณค่าสมัยใหม่ต่างจากศาสนายุคก่อนสมัยใหม่

ความต่างอีกอย่างคือ คุณค่าสมัยใหม่เป็นคุณค่าที่ถูกเสนอรองรับให้ความคิด ความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างมีเสรีภาพจะโต้แย้งหรือหักล้างกันได้เสมอ เพราะเหตุนี้ตัวคุณค่าสมัยใหม่เองจึงถูกตั้งคำถาม วิพากษ์ และหักล้างอยู่เสมอ เช่นว่ามันอาจเป็นอุดมคติที่ไม่มีวันที่มนุษย์จะเข้าถึง แต่ไม่ใช่ว่าเราควรจะกลับไปหาคุณค่าและอำนาจสัมบูรณ์แบบศาสนา บางทีการยอมรับและอยู่กับความเป็นจริงของความเป็นมนุษย์ที่จริงๆ แล้วอาจไม่เข้าถึงสิ่งสัมบูรณ์ใดๆ ได้ และเรียนรู้ลองผิดลองถูกกันไปอาจเป็นทางเลือกที่ถ่อมตัวมากกว่า

 

หมายเหตุ: แง่คิดในการเขียนบทความนี้เกิดจากการอ่านบทความ “ของขวัญของท่านอาจารย์ไพศาล” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มีบางส่วนของเนื้อหาเปรียบเทียบความจริงสัมบูรณ์ทางศาสนากับความจริงสัมบูรณ์ของคุณค่าสมัยใหม่ (ดู https://prachatai.com/journal/2020/05/87655
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net