นักวิชาการมองเรียนออนไลน์สร้างภาระให้คนระดับล่าง ควรให้อำนาจแต่ละพื้นที่ตัดสินใจ

ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็กมองเรียนออนไลน์สร้างภาระให้คนระดับล่าง ยกกรณีคุณยายนำเงิน 2,000 บาทไปซื้อมือถือให้กับหลานเพื่อใช้เรียนออนไลน์ แนะควรให้อำนาจแต่ละพื้นที่ตัดสินใจ | ผู้ปกครองโพสต์โซเชียลเผยความเดือดร้อน เงินก็มีไม่พอที่จะซื้อ 'คอมพิวเตอร์-มือถือ-อินเตอร์เน็ต' ให้ลูกเรียนออนไลน์ | ผอ.โรงเรียนดังแนะอย่าเครียดอย่ากังวลเรียนออนไลน์ เชื่อนักเรียนจะเรียนครบตามหลักสูตร


ที่มาภาพประกอบ: ศธ.360 องศา

17 พ.ค. 2563 Nation TV รายงานว่าศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า นโยบายการเรียนออนไลน์ถือว่ามีปัญหา เนื่องจากสภาพสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษามีความเหลื่อมล้ำสูงมากถึง 25 เท่า ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และที่มีความพร้อม มีจำนวน 400 กว่าโรง สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล แต่อีกครึ่งหนึ่งไม่สามารถทำได้ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านการเรียนออนไลน์ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนให้ในระดับหนึ่ง อย่างแท็บเล็ต ไวไฟ แต่กระทรวงศึกษาธิการฯยุคนี้ กลับไม่ลงทุนใช้ของเดิมที่มีอยู่ ดังนั้น ภาระจึงตกไปอยู่กับคนระดับล่าง อย่างกรณีคุณยายนำเงิน 2,000 บาท ไปซื้อมือถือให้กับหลานเพื่อใช้เรียนออนไลน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญทางการศึกษา แต่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างจากคนมีฐานะปานกลางไปจนถึงสูง

นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า เรื่องนี้กระทรวงศึกษาฯ ควรกระจายอำนาจ ให้กับผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ในแต่ละพื้นที่ สะท้อนถึงความต้องการ แทนการสั่งการตรงจากส่วนกลางลงไป เพราะอย่าลืมว่า การเรียนการสอนแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่ไม่มีผู้ติดโควิด-19 เลย และมีเด็กในโรงเรียนน้อย ซึ่งควรเปิดให้มีการเรียนการสอนตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข หรือให้ อสม. เข้ามาร่วมตรวจสอบ เป็นต้น

"ผมมองว่ากระทรวงศึกษาฯ ควรให้อำนาจแต่ละพื้นที่ตัดสินใจ แทนสั่งการตรง ซึ่งไม่สอดรับกับพื้นที่ในช่วงโควิด-19 และไม่ใช่มองเพียงแค่การศึกษาเท่านั้น แต่ต้องร่วมกับสาธารณสุข เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ และที่กระทรวงศึกษาฯต้องหันมาทำนอกจากเรื่องการเรียน คือ แจกแมสผ้าสำหรับเด็ก คนละ 3 ชิ้น เฟสชิว และรูปแบบการสอน เช่น เน้นไปที่เรื่องสุขอนามัยให้ตรงกับสถานการณ์ มากกว่าเปิดให้เรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียว" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ผู้ปกครองโพสต์โซเชียลเผยความเดือดร้อน เงินก็มีไม่พอที่จะซื้อ 'คอมพิวเตอร์ มือถือ อินเตอร์เน็ต' ให้ลูกเรียนออนไลน์

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2563 ผู้ปกครองรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องของการ "เรียนออนไลน์" ให้ ผอ.โรงเรียน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณา หลังจากมีผู้ปกครองหลายคนมีความกังวลในเรื่องเรียนออนไลน์เป็นอย่างมาก ด้วยความไม่พร้อมของเทคโนโลยีต่างๆ ในการเข้าถึง โดยระบุข้อความบางช่วงบางตอนเอาไว้ว่า
 
"ดิฉัน ในฐานะผู้ปกครองของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง มีความประสงค์ อยากให้ท่าน ผอ.ทุกโรงเรียน และ กระทรวงศึกษาธิการช่วยทบทวนเรื่องการสอน การ เรียนออนไลน์ ใหม่ เนื่องจากดิฉันมองเห็นถึงความลำบากของพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านด้วยกัน
ท่านเหล่านั้นได้มานั่งระบายปลดทุกข์ให้ดิฉันฟังหลากหลายเหตุผลที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา"

"อีกแค่เดือนเดียว โรงเรียนก็จะเปิดแล้ว แต่ก็ยังต้องมาซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียนออนไลน์แค่ระยะ 1 เดือน เนี่ยนะคะ รบกวนทบทวนหน่อยค่ะ #ข้อ2. การเรียนออนไลน์ หากไม่มีผู้ใหญ่คอยนั่งอยู่ใกล้ๆ คุณคิดว่า เด็กๆ จะไม่เปิดไปหน้าอื่นบ้างเหรอคะ เช่น youtube , เกมส์ และอื่นๆ อีกมากมาย คุณคิดว่าเด็กๆ จะตั้งใจเรียนกันทุกคนเหรอค่ะ แล้วถ้าให้ผู้ปกครองคอยนั่งเฝ้าตลอดการเรียน แล้วผู้ปกครองจะเอาเวลาไหนไปทำงานหาเงินผ่อนคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งซื้อมาคะ คุณว่ามั้ย #ข้อ3. ในเด็กเล็ก เช่น อนุบาล1-3 สมควรแล้วเหรอค่ะ ที่จะให้เด็กนั่งเรียนตรงหน้าจอนานๆ มีแต่ส่งผลเสียทั้งทางด้านสายตา สมาธิ ที่เด็กเล็ก ยังมีไม่มากพอ ที่จะอดทนนั่งฟังจนจบ #ข้อ4. ผู้ปกครอง จ่ายเงินค่าเทอม แต่ต้องมานั่งสอนลูกตัวเองทั้งหมด"

ผอ.โรงเรียนดังแนะอย่าเครียดอย่ากังวลเรียนออนไลน์ เชื่อนักเรียนจะเรียนครบตามหลักสูตร

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 เพจโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน ได้เปิดเผย ความคิดเห็นของ นายผจญ โพธิราช ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน ที่ได้ออกมาโพสต์ว่า “ถึงผู้ปกครอง และลูกๆ ไม่พร้อม ไม่เป็นไร การเรียนออนไลน์ของโรงเรียนเรา อย่าเครียด อย่ากังวล ไม่ต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ ราคาแพง ไม่ต้องแบ่งเงินมาติดอินเตอร์เน็ตราคาสูง ไม่ต้องจูงแม่ไปซื้อทีวี และจะต้องไม่มีแหล่งมั่วสุม เพราะเมื่อเปิดภาคเรียนนักเรียนจะได้เรียนครบ ตามหลักสูตรกำหนด ไม่ได้เรียนออนไลน์ ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากเข้าใจผู้ปกครอง และเข้าใจชุมชน ยืนยันหากหลายครอบครัวไม่พร้อมไม่เป็นไร ทางโรงเรียนจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้ ทำให้ชาวเน็ตต่างเห็นด้วย และชื่นชมและขอบคุณความคิดเห็นของทางโรงเรียนและผู้อำนวยการท่านนี้อย่างมาก เนื่องจากในประเทศไทยนั้น มีหลายคนเชื่อว่า เด็กหลายรายไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากทุกบ้านในประเทศไทยนั้นมีฐานะต่างกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท