บริษัทในญี่ปุ่นเปิดให้ 'จดทะเบียนคู่ชีวิต' คนรักเพศเดียวกันในระดับเอกชน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยังไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตามมีการเคลื่อนไหวที่ส่งผลให้หลายบริษัทของญี่ปุ่นออก "ใบรับรองทะเบียนคู่ชีวิต" ให้กับคนทำงานของพวกเขาเองโดยไม่ง้อภาครัฐ ซึ่งจะทำให้คนทำงานได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพและการอนุญาตลาเลี้ยงดูบุตรได้ เรื่องนี้มาจากการผลักดันขององค์กรเอกชนเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ "ฟามิเอ โปรเจกต์"

หอโตเกียว ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 2006
(ที่มา: แฟ้มภาพ/
Flickr/Wilhelm Joys Andersen CC.BY-SA 2.0)

องค์กรเอ็นจีโอ "ฟามิเอ โปรเจกท์" เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้มีการรองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในญี่ปุ่นจะยังไม่มีการรองรับในเรื่องนี้จากกฎหมายในระดับภาครัฐ แต่ฟามิเอก็ได้ร่างและเสนอแผนการให้มีการออก "ใบรับรองทะเบียนคู่ชีวิต" จากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการของพวกเขาได้ โดยสามารถออกใบรับรองดังกล่าวผ่านระบบดิจิทัลได้ด้วย

การออกใบรับรองดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดการรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันที่เป็นพนักงานของบริษัท ทำให้พวกเขามีสิทธิลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกและได้รับประกันสุขภาพ นอกจากนี้ฟามิเอยังหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายสิทธิเรื่องทะเบียนคู่ชีวิตไปในภาคส่วนอื่นๆ เช่นเรื่องการมีบัญชีธนาคารร่วมกันได้ระหว่างคู่จดทะเบียน พวกเขาจัดให้มีระบบกรอกข้อมูลแบบดิจิทัลและคิววอาร์โค้ดเพื่อให้คนทั่วประเทศเข้าถึงการจดทะเบียนนี้ได้

มีบริษัท 17 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นซอมโปเจแปน, ฮ็อตโตะลิงค์ หรือธนาคารการลงทุนมิซุโฮะ ไวแนนเชียลกรุ๊ป โดยที่ฟามิเอตั้งเป้าหมายว่าจะให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมโครงการนี้ให้ได้รวม 100 บริษัท ภายในเดือน พ.ค. นี้

โกะคิ อุจิยามะ ผู้ก่อตั้งฟามิเอโปรเจกต์กล่าวว่าเป้าหมายของพวกเขาคือการขยายสิทธิของกลุ่มคู่รักเพศเดียวกัน ไปพร้อมๆ กับการส่งสารถึงรัฐบาลกลางเกี่ยวกับเรื่องการสิทธิในการเข้าถึงการจดทะเบียนสมรสอย่างเท่าเทียมกัน อุจิยามะบอกว่าถ้าเขามีเครือข่ายบรรษัทเอกชนคอยสนับสนุนก็จะสามารถเจรจาต่อรองให้รัฐบาลเปลี่ยนกฎหมายได้ เรื่องนี้เป็นการเคลื่อนไหวแบบที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่ากฎหมายส่วนกลางและรัฐบาลกลางจะยังไม่เปิดทางเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน แต่ก็เริ่มมีเมืองและท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ ที่ยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนคู่ชีวิตของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีน้ำหนักทางกฎหมายมากเท่าการแต่งงาน แต่ก็ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของคู่จดทะเบียนให้ได้รับสิทธิเกี่ยวกับสถานรักษาพยาบาลและเรื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยได้

เคยมีผลโพลที่ออกมาเมื่อปี 2562 ระบุว่าชาวญี่ปุ่นอายุระหว่าง 20-60 ปี ร้อยละ 78 สนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีเสี่ยงสนับสนุนจำนวนมาก แต่พรรคจิยูมินชูโตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลสายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นก็ยังคงคัดค้านไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกฎหมายในเรื่องนี้ เคยมีนักการเมืองในสภาญี่ปุ่นที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์คนแรก ไทงะ อิชิกาวะ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อตะวันตกกล่าวว่าเป็นเพราะนักการเมืองญี่ปุ่นยังคงมีมุมมองที่ล้าหลังตามไม่ทันยุคสมัย คิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นแค่ "งานอดิเรก" หรือมองว่าจะทำให้อัตราการเกิดของประชากรลดลง

อุจิยามะกล่าวอีกว่าการที่องค์กรเขาเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงผ่านภาคส่วนเอกชนเพราะพวกเขาต้องการให้สังคมเล็งเห็นว่าครอบครัวสีรุ้งและคู่รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติ

บริษัทอย่างมิซุโฮะที่มีพนักงาน 56,000 คน และมีสำนักงาน 880 แห่ง พวกเขายอมรับการจดทะเบียนในแบบของฟามิเอเพราะมันสะดวกกว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตในแบบท้องถิ่นเพราะคู่รักบางส่วนไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันทำให้มีปัญหาด้านการออกทะเบียนในระดัยท้องถิ่นให้ ทำให้ทะเบียนแบบของฟามิเอพึ่งพาได้มากกว่า ยอกจากนี้ทางบริษัทยังระบุว่าพวกเขาต้องการรักษา "บรรยากาศความเปิดกว้างต่อความหลากหลายของผู้คน" ในที่ทำงานไว้ด้วย

เรียบเรียงจาก

Japanese Companies Endorse Digital Same-Sex Partnership Certificates, The Advocate, 29-04-2020

Japanese companies work around marriage ban with partnership document, Gay Star News, 28-04-2020

Survey: 78% of Japanese in 20s to 50s favor legal gay marriages, Asahi, 28-01-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท