Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางวิกฤตโคโรน่าของเยอรมนีกลุ่มนักศึกษาจากหลากประเทศได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อกราดยิงโรงพยาบาลในอัฟกานิสถาน ชี้นานาชาติไม่ควรเพิกเฉยต่อความรุนแรงต่อเด็กแรกเกิดและสตรีมีครรภ์

ภาพ ผู้ชุมนุมยืนห่างกันสามเมตรตามมาตรกรป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

18 พ.ค.2563 เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้าศาลากลางเก่าประจำเมือง ซึ่งมีชื่อว่า Town Hall of
the Peace of Westphalia เมืองออสนาบรึค ประเทศเยอรมนี กลุ่มนักศึกษาจำนวน 12 คน รวมตัวกันจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อก่อการร้ายในอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับกิจกรรมมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

ทั้งนี้ผู้รวมชุมนุมนั่งห่างกันประมาณ 3 เมตรซึ่งเป็นไปตามมาตรการรับมือวิกฤตโรคระบาดของรัฐบาลเยอรมัน แต่ละคนถือป้ายข้อความประนามเหตุก่อการร้ายดังกล่าวและเรียกร้องให้ประชาคมโลกให้ความสนใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวมากขึ้นรวมถึงยุติสงครามและความรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผู้ชุมนุมยังได้ทำตุ๊กตาผ้าตัวเล็กๆ วางกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นเพื่อเป็นตัวแทนของเด็กทารกที่เสียชีวิตในเหตุกราดยิงดังกล่าว

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธได้บุกเข้าโจมตีแผนกสูติกรรม ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน และได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธุ์ไป 24 คน ซึ่งมีทั้งพยาบาล หญิงตั้งครรภ์ และทารกแรกเกิด นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวน 16 ราย ในวันเดียวกัน ได้มีเหตุระเบิดพลีชีพ ณ งานศพผู้บัญญชาการตำรวจเมืองนาการ์ฮาร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บอีกมากกว่า 70 คน ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มกองกำลังปลดแอกรัฐอิสลาม หรือ ISIS ออกมาแถลงว่าตนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่เมืองนาการ์ฮาร์ ส่วนเหตุการณ์ที่กรุงคาบูล ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลอัฟกานิสถาน รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ต่างร่วมกันประนามทั้งกลุ่ม ISIS และกลุ่มติดอาวุธตาลีบันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ปารวานา มุคห์ตาร์ ชาวอัฟกานิสถาน แกนนำในการจัดงานครั้งนี้กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มติดอาวุธเคยก่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งแต่ครั้งนี่เป็นครั้งแรกที่กลุ่มติดอาวุธเจาะจงเป้าหมายที่เป็นเด็กแรกเกิดและเลือกก่อเหตุที่แผนกสูติกรรมการกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นอาชาญกรรมต่อมวลมนุษยชาติ และสมควรได้รับการพิพากษาที่ศาลอาญานานาชาติ (InternationalCriminal Court หรือ ICC) แต่ในปัจจุบันรัฐบาลอัฟกานิสถานกำลังเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตาลีบันโดยมีสหรัฐฯ ในการสนับสนุน

นั่นหมายความว่าผู้ก่อการร้ายอาจลอยนวลพ้นจากความผิดในอดีต และอาจรวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดนี้ด้วยเธอจึงเรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกานิสถานทบทวนการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มตาลีบันและเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด

ปารวานา มุคห์ตาร์ (ซ้าย)

ในฐานะตัวแทนผู้ประท้วง มุคห์ตาร์สรุปข้อเรียกร้องของผู้ร่วมกิจกรรมออกมาดังนี้

1. หยุดการปล่อยตัวนักโทษตาลีบันซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายและสมควรได้รับการลงโทษจากอาชญากรรมของพวกเขามิใช่การนิรโทษกรรมทางการเมือง

2. สืบสวนอาชญากรรมของกลุ่มตาลีบัน และดำเนินการไต่สวน ณ ICC

3. หยุดการสนับสนุนใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางอาวุธและการเงินต่อกลุ่มตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ทั่วโลก

4. ยุติอาชาญกรรมต่อมนุษยชาติ ทุกกลุ่มต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายมานุษยธรรมตามกฎบัตรเจนีวา

มุคห์ตาร์ เล่าว่ากิจกรรมแฟลชม๊อบในวันนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้ที่สัญจรผ่าน บางคนให้ความสนใจและอ่านป้ายข้อความของพวกเธอทีละใบด้วยความตั้งใจ และถามถึงรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความหมายสำหรับเธอมากในฐานะชาวอัฟกานิสถาน

“เราทำตุ๊กตาผ้ามาวางไว้บนพื้น เพื่อเป็นตัวแทนของเด็กที่ถูกฆ่าในอัฟกานิสถานแล้วก็มีเด็กอายุประมานหกเจ็ดขวบมาถามฉันว่า ทำไมเด็กพวกนี้ถึงนอนอยู่บนพื้นหนูเขาเอาพวกเขากลับไปด้วยได้ไหม เป็นภาพที่ประทับใจฉันมาก” มุคห์ตาร์เสริม

ตุ๊กตาผ้าตัวแทนเด็กผู้เสียชีวิตในเหตุกราดยิง

ไม่ใช่แค่เพียงชาวอัฟกานิสถานเท่านั้น นักเรียนจากชาติอื่นๆ เช่นยูเครน เยอรมนี โคลัมเบีย ต่างร่วมประท้วงในกิจกรรมดังกล่าวด้วย โตเกียร์ คาซมี่ ชาวปากีสถานกล่าวว่า เขาอยากให้ประชาคมนานาชาติให้ความสนใจกับประเทศอัฟกานิสถานมากกว่านี้เพราะประเทศดังกล่าวอยู่ในภาวะสงครามมานานจนคนภายนอกมักจะคิดว่าความรุนแรงและเหตุกราดยิงเป็นเรื่องปกติของประเทศอัฟกานิสถานไปแล้ว

“ผมคิดว่ามันสำคัญมากที่จะต้องมีกระประท้วงลักษณะนี้ในเยอรมันเพราะทุกวันนี้คนส่วนมากเริ่มไม่สนใจความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานเพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีสงครามมายาวนาน พวกเขาเริ่มคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆที่มันไม่มีทางจะปกติได้เลย” คาซมี่กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า “เราไม่ควรจะทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องปกติ”

ผู้ร่วมชุมนุมชาวยูเครน

ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน คาซมี่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมชุมนุมในเยอรมนีภายใต้ภาวะโรคระบาดมีความยุ่งยากอยู่พอสมควร นอกจากจะต้องปฏิบัติตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แล้ว พวกเขาต้องกรอกแบบฟอร์ม ระบุจำนวนผู้ร่วมชุมนุม โดยชื่อแกนนำหนึ่งคน สามารถมีผู้ร่วมชุมนุมได้ไม่เกิน 10 คน พวกเขาจึงต้องลงชื่อแกนนำ 2 คนแม้จะมีผู้ชุมนุมเพียง 12 คนก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องระบุสถานที่และระยะเวลาในการจัดกิจกรรมอย่างชัดเจน
โดยขั้นตอนสุดท้ายคือการอนุมัติจากตำรวจซึ่งใช่เวลาประมานสองถึงสามวันหลังจากส่งแบบฟอร์ม แต่ถึงแม้กระบวนการจะยุ่งยาก คาซมี่มองว่าการกิจกรรมครั้งนี้ในครั้งนี้ก็คุ้มค่าต่อการเสียเวลา

“มันยากมากจริงๆ ที่จะจัดการประท้วงภายใต้สถานการณ์แบบนี้ แต่เราไม่อาจรอให้โรคระบาดหายไปก่อนได้ เราจึงต้องปฏิบัติตามกฎ” คาซมี่กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า “คุณไม่สามารถอยู่เฉยๆได้ ในขณะที่มีคนกำลังถูกฆ่า สุดท้ายเราก็ต้องออกมาพูดอะไรซักอย่าง”

ในตอนแรกกลุ่มผู้ชุมนุมวางแผนจะจัดกิจกรรม ณ สถานที่อื่นที่มีคนพลุกพล่านมากกว่านี้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะฝูงชนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเสนอให้มาประท้วงที่ลานหน้าศาลากลางเก่าประจำเมือง ซึ่งคาซมี่มองว่าจริงๆ ก็เป็นข้อดีอยู่ไม่น้อยเพราะอาคารดังกล่าวมีความหมายทางประวัติศาสตร์เป็นสถานที่ร่างและลงนามสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย (The Peace of Westphalia) ซึ่งเป็นจุดจบของสงครามสามสิบปีในยุโรป (the Thirty Years’ War) อาคารแห่งนี้จึงเป็นเครื่องหมายของสันติภาพ และกิจกรรมในวันนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อสันติภาพเช่นเดียวกัน

โตเกียร์ คาซมี่ (ขวา)

เขาเสริมว่าตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดชุมนุมมีจำนวนสองรายโดยเจ้าหน้าที่เป็นมิตรและสุภาพกับผู้ชุมนุมมากเพราะให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเขาอยากให้ทางตำรวจพิจารณาลดความเข้มงวดในการจัดการประท้วงลงเพราะมองว่าเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่ควรถูกริดรอนภายใต้สภาวะโรคระบาด

“ตำรวจที่นี้จะสุภาพกว่าตำรวจประเทศผมเยอะมาก” คาซมี่กล่าว และกล่าวอีกว่า “แต่ประเทศผมก็ประท้วงกันง่ายกว่านี้เหมือนกัน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net