Skip to main content
sharethis

สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์ฯ เปิดรายงาน ฉ.3 เผยแรงงานไทยในมาเลเซียอยู่ท่ามกลางสภาพที่ “กลับไทยก็แสนยาก อยู่ต่อในมาเลเซียก็เสี่ยงและลำบาก” แนะ 5 ข้อ บรรเทาทุกข์คนที่ยังตกค้างอย่างทั่วถึง เยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งคนที่อยู่และคนที่เดินทางกลับ ปรับแนวทางการบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศ จากการสร้างเงื่อนไขเพื่อชะลอการเดินทางกลับมาเป็นการอำนวยความสะดวก และต้องหาแนวทางช่วยเหลือการเดินทางกลับประเทศแก่แรงงานไทยในมาเลเซียที่เข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ฯลฯ

18 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) เผยแพร่ รายงานฉบับที่ 3 ที่นำเสนอความคืบหน้าสถานการณ์คนไทยและแรงงานไทยในมาเลเซียตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยได้เปิดพรมแดนไทย-มาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด 19 รายงานมีเนื้อหาประกอบด้วย

1) มาตรการจัดการโควิด 19 ในมาเลเซียที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย 2) บทบาทของทางการไทยต่อปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซียในสถานการณ์โควิด 19 (การบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศ การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย และ การจัดเตรียมสถานกักตัว Local Quarantine) 3) ชีวิตแรงงานไทยหลังไทยเปิดด่านพรมแดน (ความจำเป็นที่ทำให้แรงงานไทยตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ และ สถานะที่ผิดกฎหมายของแรงงานไทยในมาเลเซียท่ามกลางสภาพที่ “กลับไทยก็แสนยาก อยู่ต่อในมาเลเซียก็เสี่ยงและลำบาก”)

4) การทำงานของ คฉ.จม.ในการช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย (การแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ การช่วยเหลือการลงทะเบียนกลับ การช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน การจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการติดตามความเป็นอยู่ของผู้เดินทางกลับใน Local Quarantine)

5) ข้อเสนอแนะจาก คฉ.จม. ต่อรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย ที่ประกอบไปด้วย 5 ข้อ ได้แก่ 5.1) ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แรงงานไทยที่ยังตกค้างในมาเลเซียอย่างทั่วถึง ทันต่อสถานการณ์ และด้วยความใส่ใจ 5.2) ให้เงินเยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งคนที่อยู่ในมาเลเซียและคนที่เดินทางกลับไทย 5.3) ปรับแนวทางการบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศ จากการสร้างเงื่อนไขเพื่อชะลอการเดินทางกลับมาเป็นการอำนวยความสะดวก และต้องหาแนวทางช่วยเหลือการเดินทางกลับประเทศแก่แรงงานไทยในมาเลเซียที่ overstay หรือเข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย 5.4) ทำข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซียในการจัดการให้แรงงานไทยในมาเลเซียมีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และ 5.5) เตรียมแผนรองรับเรื่องอาชีพและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของแรงงานที่กลับบ้าน

รายละเอียดรายงานมีดังนี้ : 

รายงานฉบับที่ 3 สถานการณ์แรงงานไทยในมาเลเซียหลังรัฐบาลไทยเปิดด่านพรมแดนภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด 19

โดย คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)

(เผยแพร่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563)

รายงานฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) นี้นำเสนอความคืบหน้าสถานการณ์คนไทย/แรงงานไทยในมาเลเซียตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยได้เปิดพรมแดนไทย-มาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีเนื้อหาประกอบด้วย 1) มาตรการจัดการโควิด 19 ในมาเลเซีย 2) ทางการไทยกับปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซีย แบ่งเป็น การบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศ  การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย และ การจัดเตรียมสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการโควิด 19 (Local Quarantine) 3)  ชีวิตแรงงานไทยหลังไทยเปิดด่านพรมแดน ซึ่งชี้ถึงความจำเป็นที่นำมาสู่การตัดสินใจเดินทางกลับประเทศ และ สถานะที่ผิดกฎหมายของแรงงานไทยในมาเลเซีย 4)  การทำงานของ คฉ.จม.ในการช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย  และ 5) ข้อเสนอแนะจาก คฉ.จม. ต่อรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย 

1.มาตรการจัดการโควิด 19 ในมาเลเซีย[1]

หลังจากที่ประเทศมาเลเซียได้ใช้มาตรการควบคุมการสัญจร (Movement Control Order - MCO) อย่างเข้มงวดมาแล้ว 3 ระยะ มาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้น เมื่อปลายเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลมาเลเซียได้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการนี้ออกไปเป็นระยะที่ 4 มีผลไปจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 อย่างไรก็ดี MCO ระยะที่ 4 ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นมาตรการควบคุมการสัญจรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด CMCO (Conditional Movement Control Order) โดยได้มีการผ่อนปรนการข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง อาทิ อนุญาตให้ประชาชนเดินทางในระยะทางที่ไกลกว่า 10 กิโลเมตรภายในรัฐเดียวกันได้ อนุญาตให้มีบุคคลจากครัวเรือนเดียวกันนั่งในรถยนต์ส่วนตัวได้มากถึง 4 คน ขยายการเวลาการเดินรถขนส่งสาธารณะ และอนุญาตให้ประชาชนที่ตกค้างตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการใช้ MCO ในวันที่ 18 มีนาคม 2563 สามารถเดินทางกลับบ้านได้ในช่วงวันที่กำหนด ตลอดจนขยายเวลาเปิดทำการของตลาดสดเพื่อรองรับการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน อย่างไรก็ดี มาเลเซียยังคงห้ามการเดินทางข้ามรัฐ เช่นเดียวกับการห้ามเดินทางกลับบ้านภูมิลำเนาและการรวมตัวกันในช่วงเดือนรอมฏอน นอกจากนั้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลมาเลเซียเริ่มให้เปิดกิจกรรมทางธุรกิจภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร ซึ่งกรณีหลังนี้อนุญาตให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่ทางร้านต้องกำหนดระยะห่าง และต้องบันทึกชื่อลูกค้า ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และวันที่มาใช้บริการอย่างละเอียด ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย Tan Sri Muhyiddin Yassin ได้แถลงทางโทรทัศน์ประกาศขยายมาตรการ CMCO ไปจนถึง 9 มิถุนายน 2563 นี้

ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา ทางการมาเลเซียเริ่มพบว่าผู้ติดเชื้อโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานต่างชาติจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นชาวพม่า ชาวบังคลาเทศ และชาวโรฮิงญา ที่อยู่รวมกันอย่างแออัดในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จึงนำมาสู่มาตรการควบคุมการสัญจรขั้นสูงสุด หรือ Enhanced Movement Control Order (EMCO) ตามแฟลต/ตึกที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงการปิดตลาดสดที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ดังกรณีตลาดสดขายส่ง Selayang ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ถูกควบคุมการสัญจรขั้นสูงสุด และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด 19 กับแรงงานต่างชาติในตลาดแห่งนี้มากถึง 16,000 คน  อนึ่ง มาตรการควบคุมการสัญจรขั้นสูงสุดและตรวจหาเชื้อโควิด 19 กับแรงงานต่างชาตินี้ นำมาสู่การตั้งข้อหาและควบคุมตัวแรงงานต่างชาติจำนวนมากที่แม้จะตรวจไม่พบเชื้อโควิด 19 แต่เป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและ/หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน มาตรการนี้ทำให้รัฐบาลมาเลเซียถูกท้วงติงโดยกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

จากความกังวลของมาเลเซียต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติ ทำให้

Datuk Seri Ismail Sabri Yaakob รัฐมนตรีอาวุโสด้านกลาโหมของมาเลเซียกล่าวว่า แรงงานต่างชาติต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ก่อนถึงจะกลับมาทำงานได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยที่ Social Security Organisation (SOCSO) จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการตรวจ

2. ทางการไทยกับปัญหาแรงงานไทยในมาเลเซีย

2.1 การบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศ

2.1.1 การกลับประเทศแบบลงทะเบียน

ต้นเดือนเมษายน 2563 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้ประกาศแจ้งให้คนไทยในมาเลเซียชะลอการเดินทางกลับประเทศไทย และแจ้งว่าด่านไทยไม่อนุญาติให้มีการเดินทางเข้าประเทศอย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่วันที่  2 เมษายน 2563  แล้ว ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้เริ่มอนุญาตให้คนสัญชาติไทยสามารถกลับเข้าประเทศผ่าน

จุดผ่านแดนถาวรในพื้นที่จังหวัดชายแดน 21 จังหวัด 21 ช่องทางได้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 โดยกำหนดจำนวนผู้เดินทางเข้ามาทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อวันทางจุดผ่านแดนถาวร 5 แห่ง รวมจำนวน 350 คน แบ่งเป็นด่านพรมแดนถาวรอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และ ด่านพรมแดนถาวรอำเภอสุไงหโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วันละไม่เกิน 100  คนต่อด่าน ส่วนจุดผ่านแดนถาวรอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน  อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล และจุดผ่านแดนถาวรอำเภอเมืองสตูล (ท่าเรือตำมะลัง) จังหวัดสตูล วันละไม่เกิน 50 คนต่อด่าน([2] ) ทั้งนี้ คนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ (ที่ลิงค์ http://dcaregistration.mfa.go.th ) เพื่อจองวันกลับและเพื่อรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ อีกทั้งยังต้องเตรียมเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ระบุคำว่า “fit to travel” ซึ่งออกโดยแพทย์ภายในเวลา 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง[3] เงื่อนไขเหล่านี้เป็นข้อกำหนดของกระทรวงต่างประเทศที่มีมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563

เมื่อถึงกำหนดเวลาเปิดระบบการลงทะเบียนออนไลน์ในวันที่ 15 เมษายน 2563 มีผู้ต้องการเดินทางกลับไทยพยายามเข้าไปลงทะเบียนกันเป็นจำนวนมาก แต่ในวันแรกนี้ระบบยังใช้การไม่ได้ และเมื่อใช้การได้ในอีกหลายชั่วโมงต่อมา ระบบก็ติดๆ ขัดๆ รวมทั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าที่แต่ละคนจะลงทะเบียนได้ บางคนเข้าลงทะเบียนอยู่หลายวันก็ยังไม่สำเร็จ  ขณะจำนวนหนึ่งมีความยากลำบากในการลงทะเบียน เนื่องจากขาดความพร้อมในด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตช้า หรือไม่เคยมีทักษะในการใช้ระบบออนไลน์มาก่อน รวมทั้งการไม่เข้าใจภาษาราชการ อุปสรรคเหล่านี้สร้างความเครียดและความกังวลให้กับผู้ที่ต้องการกลับบ้านเป็นอย่างมาก กระทั่งเกิดอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ มาช่วยลงทะเบียนให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ (รายละเอียดข้างหน้า) แม้ทางกระทรวงต่างประเทศได้ปรับปรุงระบบการลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง แต่ขั้นตอนต่างๆ ก็ยังคงยุ่งยากซับซ้อน ผู้ที่ต้องการลงทะเบียนต้องรอเวลาเข้าสู่ระบบหลังเที่ยงคืนทุกคืนเพื่อให้ได้คิวการเดินทาง ซึ่งโควตาการเดินทางกลับในแต่ละวันนั้นเต็มอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังเที่ยงคืนและเต็มล่วงหน้า 14 วันโดยตลอด

นอกจากปัญหาที่เกิดจากความยากลำบากในการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์แล้ว การกำหนดให้มีใบรับรองแพทย์ fit to travel ก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่แรงงานไทยที่ต้องการเดินทางกลับอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของรัฐบาลมากด้วยเช่นกัน ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างคำบอกเล่าของแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งแรงงานจากชายแดนใต้และจากภูมิภาคอื่นๆ ของไทย ที่ประสบความยากลำบากจากการที่ต้องหาใบรับรองแพทย์ fit to travel ตามข้อกำหนดของรัฐบาลไทยในการเดินทางกลับประเทศไทย[4]

“ตอนนี้ไม่มีเงินเลย ไม่มีเงินไปเอาใบรับรองแพทย์ จะออกไปได้ยังไง ช่วยด้วยค่ะ พาสตายตั้งแต่วันที่  9 แล้ว”

“ที่ข่าวออกไปว่าคนไทยในมาเลย์บอกว่าค่าใบรองแพทย์แค่ 210 บาทแพงนั้น อันนี้งงหนักมาก ถูก แพงไม่ว่า ประเด็นอยู่ที่มันหาคลีนิคที่จะออกให้ไม่ได้ บางคนโชคดีหมอออกให้ง่ายๆ อย่างเราไปมา 4-5 คลินิกหมอไม่ออกให้ เคดาห์หายากมาก ไม่รู้ใครอยู่เคดาห์ประสบปัญหาเหมือนกันไหมคะ”

“ไปถามดูแล้วเขาแนะนำให้ไปโรงบาล มันไกลค่ะ ออกจากบ้านได้ไม่เกิน 10 กิโล ลำบากมากค่ะ”

“ไปถามที่คลีนิคที่ Triang , Pahang เขาไม่ออกใบรับรองแพทย์ให้สักที่เลยต้องทำไงคะ”

“สอบถามหน่อยครับ ผมสมัครลงทะเบียนได้แล้ว อนุมัติแล้ว แต่ติดขัดตรงที่จะไปเอาใบรับรองแพทย์ที่ใหนครับ เพราะไม่มีรถวิ่ง แท็กซี่ก็นั่งได้คนเดียวคือคนขับ จะต้องทํายังไงครับ”

“ได้โปรดเห็นใจใด้ไหม มันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องง่ายเลยสักนิดกับการเดินทางที่ไปขอใบรับรองการแพทย์ที่คลินิก ผมไม่เข้าใจว่าทำไมทางคลินิกจึงไม่ให้ออกใบรับรองการแพทย์เพราะคลินิกออกใบตัวนี้ให้ไม่ใด้ทั้งๆ ที่เป็นคลินิกของรัฐน่ะครับ หมดหนทางแล้วจริงๆ”

“เหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวังกับสิ่งที่รัฐบบาลไทยให้ขอ มันยากต่อการเดินทางที่ตรงข้ามกับกฎหมายมาเลกับสถานการณ์ตอนนี้มากที่เราเองต้องอยู่ในกฎของเขา สัญชาติไทยโดยกำเนิดนะ แต่ด้วยต้นทุนชีวิตที่ต่ำจึงแบกชีวิตมาถึงนี่ แต่เงินที่ใช้เหงื่อแลกมาก็ให้คนข้างหลังก็เสียภาษีในฐานะคนไทยทุกอย่าง แต่ก็น้อยใจมาก…. 2 ใบนี้มันยากมากใช่ว่าทุกคนจะทำได้นะคะ ต้นทุนชีวิตทุกคนไม่เท่ากันหรอกนะ ไม่ว่าความรู้หรือเงิน ทำไมไม่เข้าใจกันบ้าง หน้าด่านคัดกรองเข้มงวดกักตัวอยู่แล้ว ขอความเห็นใจเข้าใจสงสารคนไทยด้วยกันบ้างเถอะค่ะ”

ในการบริการผู้เดินทางกลับผ่านระบบการลงทะเบียนออนไลน์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้จัดรถบัสเพื่อรับส่งคนไทยที่ได้รับหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และมีใบรับรองแพทย์อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงไปยังด่านชายแดนสะเดา (หรือด่านปาดังเบซาร์) ด่านชายแดนวังประจัน ด่านชายแดนเบตง และด่านชายแดนสุไหงโก-ลก เป็นประจำทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 เป็นต้นมา นอกจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ทั้งสองแห่งยังช่วยอำนวยความสะดวก โดยประสานงานร่วมกับภาคสังคมช่วยเหลือผู้ที่มีความเดือดร้อนฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น คนท้องแก่ที่ใกล้ครบกำหนดคลอด คนป่วยหนักด้วยโรคประจำตัว ให้ได้เดินทางกลับแบบพิเศษฉุกเฉินมาคลอดบุตรหรือรับการรักษาในฝั่งประเทศไทยด้วย[5]

2.1.2 การกลับประเทศแบบไม่ลงทะเบียน

ช่วงที่โควิด 19 เริ่มระบาดและมาเลเซียเตรียมจะบังคับใช้มาตรการ MCO แรงงงานไทยในมาเลเซียได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยกันบ้างแล้ว โดยการเดินทางกลับประเทศเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ที่ผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดพื้นที่ชายแดนใต้ อันได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส ได้ทยอยประกาศปิดด่านชายแดนไทย–มาเลเซียในจังหวัดของตน ไล่เลี่ยกันรัฐบาลไทยก็มีข้อกำหนดให้คนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศต้องมีหนังสือรับรองการเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลใหญ่และมีใบรับรองจากแพทย์ที่ระบุคำว่า "fit to travel" ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางกลับ ขณะที่การปิดด่านพรมแดนอย่างเข้มงวดโดยไม่มีการผ่อนปรนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ก่อนที่จะมีการประกาศเปิดด่านพรมแดนให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับได้แบบจำกัดโควต้าต่อวันในวันที่  18 เมษายน 2563  

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ประเทศปิดด่านจนถึงก่อนการเปิดด่านในวันที่ 18 เมษายน 2563 ยังมีคนไทยในมาเลเซียข้ามแดนกลับมาผ่านช่องทางธรรมชาติด้านอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ข้ามแดนกลับด้วยช่องทางนี้หลายรายเห็นว่าการให้โควต้ากลับแต่ละวันนั้นน้อยมากและคิดว่าตนเองคงไม่สามารถลงทะเบียนได้ บางรายเกรงว่าหากเดินทางกลับโดยผ่านด่าน อาจถูกทางการมาเลเซียขึ้นแบล็คลิสต์เพราะ overstay หรืออยู่เกินเวลาในประเทศมาเลเซียมานานแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดด่านในวันที่ 18 เมษายน 2563 จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563  มีจำนวนผู้เดินทางกลับไทยโดยไม่ผ่านระบบการลงทะเบียนออนไลน์ของกระทรวงต่างประเทศจำนวน 2,618 คน จากจำนวนผู้เดินทางกลับทั้งหมด 9,824 คน โดยจำนวนที่เหลือ 7,206 คน คือ คนที่เดินทางกลับประเทศไทยผ่านระบบการลงทะเบียนออนไลน์[6] ซึ่งการเดินทางกลับประเทศไทยโดยใช้ช่องทางธรรมชาติเกิดขึ้นตามบริเวณชายแดนแถบอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นหลัก และมีตามพรมแดนบริเวณอำเภอนาทวีและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาประปราย 

กรณีการข้ามผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณอำเภอสุไหงโกลก เมื่อข้ามมาถึงในฝั่งประเทศไทย ผู้ข้ามแดนที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็จะถูกควบคุมตัวโดยทหารที่ลาดตระเวนและเฝ้าระวังพรมแดนบริเวณท่าข้ามต่างๆ (ท่าเรือ) เพื่อไม่ให้ผู้ข้ามแดนเล็ดลอดหนีไปได้เมื่อกลับมาถึงฝั่งไทย จากนั้นผู้ข้ามแดนเหล่านี้จะถูกนำตัวไปเสียค่าปรับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในความผิดฐานไม่เดินทางเข้าประเทศตามช่องทางที่รัฐกำหนด โดยต้องเสียค่าปรับรายละ 800 บาท หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็จะถูกนำตัวไปไว้ยังสนามกีฬากลางของเทศบาล และจะต้องถูกส่งตัวขึ้นศาลเพื่อขังแทนค่าปรับ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีผู้เดินทางกลับด้วยช่องทางธรรมชาติที่ถูกขังแทนค่าปรับ หากใครไม่มีเงินเพื่อนแรงงานคนอื่นก็จะช่วยเหลือกันรวบรวมเงินจ่ายค่าปรับให้ รวมทั้งมีกลุ่มจิตอาสาหรือผู้ใจบุญช่วยจ่ายค่าปรับในบางกรณีด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม เมื่อจ่ายค่าปรับเสร็จทุกคนก็จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและกักตัวเพื่อดูอาการโควิด 19 โดยทางการได้จัดรถไปส่งยังสถานที่กักตัว (local quarantine) ตามจังหวัดหรืออำเภอต่างๆ ในภูมิลำเนา

น่าสนใจว่าคนที่เดินทางกลับแบบไม่ลงทะเบียนนี้ บางส่วนได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หลอกหลวงว่าสามารถพาเดินทางกลับมาถึงยังประเทศไทยได้ โดยผู้หลงเชื่อต้องเสียเงินจำนวนมาก บางกรณีมีการจัดทำหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศและใบรับรองแพทย์ปลอม ซึ่งเมื่อมาถึงหน้าด่านก็ไม่สามารถข้ามแดนได้ เพราะไม่ได้มีรายชื่อในการลงทะเบียนในระบบออนไลน์กับกระทรวงต่างประเทศของไทย บางกรณีเมื่อมาถึงบริเวณพรมแดนมิจฉาชีพก็ปล่อยให้ผู้หลงเชื่อหาทางข้ามแม่น้ำมายังฝั่งไทยกันเอาเอง  

2.2 การช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย

2.2.1 การแจกถุงยังชีพ

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลไทยในมาเลเซียทั้ง  2 แห่ง ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่เป็นข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นให้แก่คนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย ทั้งนี้ มาตรการจำกัดการสัญจรหรือ MCO ทำให้ร้านอาหารไทยและสถานบริการต่างๆ ในมาเลเซียจำนวนมากต้องปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด ลูกจ้างในร้านต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และขาดเสบียงอาหาร ไม่สามารถออกจากที่พักได้

ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เปิดให้คนไทยในมาเลเซียที่ต้องการรับความช่วยเหลือสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ลงทะเบียนเพื่อแจ้งความจำนง โดยมีอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซียเป็นกำลังหลักในการช่วยแจกจ่ายสิ่งของ มีการบรรจุสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ให้ผู้เดือดร้อน  ตลอดจนเปิดให้ผู้เดือดร้อนสามารถมารับสิ่งของด้วยตนเองจาก food box หน้าสถานเอกอัครราชทูตฯ จากการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ระบุว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซียได้แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้แก่คนไทยในมาเลเซียไปแล้ว 29,491 ราย โดยมีคนไทยในกัวลาลัมเปอร์ได้รับความช่วยเหลือสูงสุด 5,085 ราย รองลงมาคือ รัฐยะโฮร์  4,419 ราย รัฐสลังงอ 3,678 ราย รัฐเคดาห์ 3,417 ราย และรัฐกลันตัน 3,127 ราย ตลอดจนแจกจ่ายไปในรัฐอื่นๆ ที่เหลือด้วย

การแจกสิ่งของยังชีพผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ คือ ความช่วยเหลือหลักที่แรงงานไทยในมาเลเซียได้รับจากรัฐบาลไทย และเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยใช้ในการขอให้แรงงานไทยชะลอการเดินทางกลับประเทศไปก่อน เนื่องจากเกรงว่าสถานที่กักตัวของผู้ที่เดินทางกลับจากมาเลเซียจะมีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี ตามสื่อสังคมออนไลน์ของภาคสังคม เอ็นจีโอ กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ หรือแม้แต่ในเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่เองก็ยังมีเสียงร้องเรียนหรือแจ้งว่าการช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง หรือได้รับการช่วยแล้ว แต่ขอรับการช่วยเหลือซ้ำไม่ได้ จึงไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาอันยาวนานเกือบสองเดือนในการขาดเสบียงอาหารที่ผ่านมา

2.2.2 การผลักดันข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท

ในวันที่ 10 เมษายน 2563 ศบค. แถลงว่ามีแนวคิดที่จะช่วยเหลือคนไทยที่ลำบากในต่างแดนและเพื่อเป็นการชะลอการเดินทางกลับประเทศ โดยจะให้เงินเยียวยาเช่นเดียวการจ่ายเงินตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้กับแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และได้เรียกประชุมตัวแทนจากทุกหน่วยงานเพื่อเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียและตกค้างไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ นายนิพนธ์ระบุว่า หากเป็นไปได้ขอให้คนไทยที่ยังตกค้างในประเทศมาเลเซียยังไม่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าเหตุการณ์จะกลับมาเป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะการลักลอบเข้าออกระหว่างประเทศที่ไม่ได้ผ่านจุดคัดกรอง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า น่าจะมีมาตรการแจกเงินเป็นค่าครองชีพ ที่อาจเป็นวงเงินคนละ 5,000 บาทต่อเดือน ให้กับแรงงานไทยในมาเลเซีย เพื่อให้สามารถยังชีพอยู่ได้ในขณะรอทางการมาเลเซียอนุญาตให้กลับมาขายอาหารได้ตามปกติ นายนิพนธ์ยังกล่าวอีกว่า จะนำข้อเสนอนี้ไปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์เดียวกัน และบอกว่ารัฐบาลต้องรู้จำนวนตัวแรงงานไทยที่ตกค้างในมาเลเซียที่แน่ชัดก่อน โดยจะจัดให้มีการลงทะเบียนออนไลน์ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตฯ[7] 

2.3 การจัดเตรียมสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการโควิด 19 (Local Quarantine)

สืบเนื่องจากการเปิดด่านพรมแดนแบบมีเงื่อนไขให้คนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติในการคัดกรอง แยกกัก และกักกันผู้ที่เดินทางมาจากมาเลเซีย ทำให้แต่ละจังหวัดมีการจัดเตรียมสถานที่กักตัวเพื่อดูอาการโควิด 19  ที่เรียกว่า local quarantine โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบบาทหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ มีรายงานว่า จังหวัดปัตตานีจัดเตรียมศูนย์กักตัวไว้ตามท้องที่ต่างๆ 125 แห่ง ซึ่งจะรองรับผู้กักตัวได้ 2,000 กว่าราย[8] จังหวัดยะลาเตรียมสถานที่กักตัวไว้รองรับผู้เดินทางกลับได้รวม 508 คน แบ่งเป็นระดับจังหวัดรองรับได้ 288 คน ระดับอำเภอตามอำเภอต่างๆ รวม 220 คน[9] ส่วนจังหวัดนราธิวาสเตรียมศูนย์ local quarantine เป็นระยะๆ คือ เฟสที่ 1 จำนวน 105 แห่ง เฟสที่ 2 จำนวน 5 แห่ง รองรับได้ 540 คน  และเฟสที่ 3 จำนวน 4 แห่ง รองรับได้ 360 คน ซึ่งใน 3 เฟสแรกมีผู้เข้ากักตัวเกือบเต็มจำนวนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 แล้ว ทางจังหวัดนราธิวาสจึงต้องจัดหาเฟสที่ 4 และ 5 เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับทั้งผู้ที่กลับจากมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภูมิลำเนานอกพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ที่เดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต[10]

ในช่วงแรกของการจัดเตรียมสถานที่กักตัวแบบ local quarantine มีปัญหาขลุกขลักในแง่ที่ว่า มีชุมชนโดยรอบสถาน Local Quarantine มีความหวาดกลัวว่าจะเกิดการแพร่เชื้อในชุมชน จนนำมาสู่การคัดค้าน โดยเฉพาะเขตเมืองทั้งที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา ทำให้โรงแรมหลายแห่งไม่สามารถถูกใช้เป็นสถานที่กักตัวได้แม้ทางผู้ประกอบการโรงแรมจะเต็มใจให้ใช้สถานที่ของตนก็ตาม ทำให้ทางจังหวัดต้องมาเน้นการจัดหาสถานที่กักตัว local quarantine ในระดับตำบล พร้อมกันนี้ได้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งให้ความช่วยเหลือโดยให้ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่กักตัวได้ เช่น โรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โรงเรียนดารุลฟุรกอน และ โรงเรียนแสงธรรมวิทยา อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนอัลอีย๊ะวิทยา​ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส นอกจากนั้นในช่วงแรกเริ่มที่มีการรับผู้กักตัวได้เกิดปัญหาที่ว่าสถานกักตัวบางแห่งไม่มีความพร้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องความสะอาด การไม่สามารถสร้างระยะห่างให้แก่ผู้กักตัวได้ (บางแห่งนอนในห้องพักเดียวกัน 8 คน) การไม่มีน้ำประปาที่สะอาดใช้ การไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวันไข้อย่างต่อเนื่อง การจัดหาอาหารที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพให้แก่ผู้ถูกกักตัว จนมีการร้องเรียนปัญหาเหล่านี้อยู่พอควรตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ  

3. ชีวิตแรงงานไทยหลังไทยเปิดด่านพรมแดนแบบมีเงื่อนไข

3.1 แรงงานไทยหลากหลายกลุ่มเดินทางกลับไทย[11]

แรงงานไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ คือ ผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจากการที่กิจการของนายจ้างต้องปิดดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่นำมาสู่มาตรการ MCO ของรัฐบาลมาเลเซีย ทำให้ขาดรายได้ ขาดเสบียงอาหาร และมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทั้งนี้ หากเป็นแรงงานที่สามารถอยู่ได้โดยไม่ลำบากก็จะไม่ต้องการเดินทางกลับไทย อาทิ แรงงานร้านต้มยำที่นายจ้างยังคงให้การดูแลหรือนายจ้างยังเปิดกิจการอยู่ แม้จะเปิดได้แบบจำกัดเวลาและขายใส่ห่อได้เท่านั้นก็ตาม นายจ้างกลุ่มนี้มักเป็นเจ้าของร้านขนาดกลางถึงใหญ่และมีใบอนุญาตดำเนินกิจการร้านที่ถูกกฎหมายของมาเลเซีย ทั้งนี้ แรงงานไทยตามร้านอาหารที่ประสบความลำบากมากอีกกลุ่มและต้องการเดินทางกลับไทยอย่างมากก็คือ ผู้ที่ทำงานในร้านอาหารที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการเป็นคนชาติอื่น เช่น ร้านของคนอินเดีย (ที่เรียกว่า “ร้านมามัก”) หรือร้านอาหารของคนมาเลเซีย เป็นต้น  ซึ่งหลายรายนายจ้างไม่ได้มาดูแลความเป็นอยู่ บางรายถูกเลิกจ้างและถูกให้ออกจากที่พักอาศัยของร้าน ต้องไปขอพักอาศัยอยู่กับเพื่อนแรงงานคนอื่น  

นอกจากแรงงานร้านอาหารแล้ว แรงงานไทยในกิจการอื่นก็ต้องการเดินทางกลับไทยด้วยเช่นกัน อาทิ แรงงานในเรือประมง นอกจากนั้นก็มีผู้ที่มีความความจำเป็นพิเศษฉุกเฉินที่ต้องเดินทางกลับไทยอย่างเร่งด่วน เช่น คนท้องแก่ที่ใกล้ครบกำหนดคลอด คนที่โรคประจำตัวกำเริบ คนแก่อายุมาก รวมทั้งในช่วงใกล้ถึงเดือนรอมฎอนและในช่วงต้น (10 วันแรก) ของเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา แรงงานไทยทั้งที่เป็นชาวมลายูมุสลิมและไทยมุสลิมต่างต้องการกลับบ้านกันมาก โดยต้องการกักตัว 14 วันให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เพื่อจะได้มีโอกาสอยู่กับครอบครัวในช่วงวันฮารีรายอ จนทำให้ในช่วงดังกล่าวมีการลงทะเบียนกลับประเทศไทยและมีการข้ามแดนเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติกันมาก  

นอกจากแรงงานไทยที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แรงงานไทยในมาเลเซียจำนวนไม่น้อยเป็นแรงงงานที่มาจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ จากตัวเลขผู้เดินทางจากมาเลเซียกลับเข้าประเทศไทยจริงในช่วงระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2563 ถึง 14 พฤษภาคม 2563 จำนวน 9,824  ราย พบว่า มี 2,909 ราย ที่เป็นผู้มีภูมิลำเนานอกภาคใต้ หรือคิดเป็นร้อยละ 29.6 ของผู้เดินทางกลับจากมาเลเซียทั้งหมด  และอีก 433 คน มีภูมิลำเนาในภาคใต้นอก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล)[12] แรงงานที่มีภูมิลำเนานอกภาคใต้ส่วนมากทำงานในภาคบริการ เช่น ร้านนวด สปา สถานบันเทิง คาราโอเกะ ซึ่งกิจการเหล่านี้น่าจะเป็นประเภทกิจการที่จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดในเร็วๆ นี้เมื่อเทียบกับร้านอาหารทั่วไป อนึ่ง แรงงานไทยกลุ่มนี้ประสบความยากลำบากมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เพราะหลายคนพูดภาษามาเลย์ไม่ได้และพูดอังกฤษก็ไม่ได้ ทำให้ยากในการติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของมาเลเซียหรือรวมทั้งในการขอใบรับรองแพทย์ บางคนไม่ทราบว่าแม้แต่ว่าสถานที่พักหรือที่ทำงานของตนอยู่ในเมืองหรือรัฐไหนของมาเลเซีย ในการเดินทางกลับไทย แรงงานจากภูมิภาคอื่นเหล่านี้บางรายมีความกังวลมากว่า หลังจากพ้นช่วงการกักตัว 14 วันในสถาน Local Quarantine ที่รัฐจัดให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วนั้น พวกตนจะสามารถเดินต่อเพื่อกลับภูมิลำเนาในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานได้อย่างไรเนื่องจากอาจมีการปิดจังหวัด

อย่างไรก็ดี นับแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์ในมาเลเซียเริ่มคลี่คลายลง MCO ระยะที่ 4 หรือ CMCO ของมาเลเซียเริ่มผ่อนคลาย ร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 แรงงานไทยที่ยังไม่เดินทางกลับบางส่วนตัดสินใจที่จะอยู่ต่อในมาเลเซียตราบเท่าที่ทางการมาเลเซียยังอนุญาต ประกอบกับแรงงานบางส่วนไม่ต้องการกลับมาเนื่องจากเห็นว่าในประเทศไทยไม่มีงานให้ทำและเกรงว่าหากกลับมาแล้วจะกลับเข้าไปทำงานในมาเลเซียไม่ได้อีก 

3.2 สถานะที่ผิดกฎหมายของแรงงานไทยในมาเลเซีย

แรงงานไทยจำนวนมากในมาเลเซียอยู่อาศัยและทำงานโดยไม่มีเอกสารตามที่รัฐบาลมาเลเซียกำหนด กล่าวคือ เป็นผู้เข้าประเทศมาเลเซียโดยใช้เพียงหนังสือเดินทาง (passport) หรือใบผ่านแดน (border pass) ซึ่งทางการมาเลเซียอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ในลักษณะ Social visa เพียงคราวละ 30 วันเท่านั้น แรงงานเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาติทำงาน (work permit) ทำให้ต้องเดินทางกลับไทยเพื่อมาประทับตราหนังสือเดินทางหรือ “จ็อบพาสปอร์ต” ทุกๆ 30 วัน และหลายรายอยู่ในประเทศมาเลเซียเกินว่า 30 วัน ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานะผู้พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด ที่เรียกว่า “overstay” หรือ “พาส/พาสปอร์ตตาย” นอกจากนั้นก็ยังมีบางส่วนที่ข้ามแดนจากไทยมายังมาเลเซียด้วยช่องทางธรรมชาติโดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือใบผ่านแดนใดๆ ที่เรียกว่า เข้าประเทศมาเลเซียแบบ “มาโซะ กอซอง” บางรายหนังสือเดินทางหรือใบผ่านแดนสูญหายหรือชำรุดเสียหายแล้วไม่ได้ไปจัดการทำเรื่องจนเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ทำให้สถานะของการอยู่ในมาเลเซียนั้นผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมดำเนินคดีและต้องรับโทษในคุกประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้น ก็ยังมีที่แรงงานที่พาบุตรหรือพ่อแม่ที่อายุมากแล้วข้ามฝั่งมาอยู่ในมาเลเซียด้วยโดยช่องทางธรรมชาติ ทำให้เด็กและผู้สูงอายุเหล่านั้นมีสถานะที่ผิดกฎหมายในมาเลเซียไปด้วย

แม้ประเทศมาเลเซียจะอนุโลมให้คนที่ “overstay” หรือ “พาส/พาสปอร์ตตาย” ตั้งแต่หลังวันที่ 1 มกราคม 2563 สามารถอยู่ต่อในมาเลเซียได้ในช่วงที่มาเลเซียยังคงประกาศใช้มาตรการ MCO หรือหากจะเดินทางกลับไทยในช่วงนี้ก็จะไม่ต้องเสียค่าปรับหรือติดแบล็คลิสต์ (ห้ามเข้าประเทศมาเลเซียอีกในระยะเวลาที่กำหนด) และไม่ต้องไปติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียก่อน หากเดินทางออกจากมาเลเซียภายใน 14 วันทำการหลังจากมาตรการ MCO สิ้นสุดลง แต่สำหรับคนไทยจำนวนมากนั้นอยู่ในสถานะ “overstay” หรือ “พาส/พาสปอร์ตตาย” มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 แล้ว คนกลุ่มนี้หากจะเดินทางกลับตามระบบการลงทะเบียนออนไลน์ในช่องที่ทางการไทยกำหนดและผ่านการตรวจคนเข้าออกเมืองอย่างถูกต้อง ก็จะต้องเสียค่าปรับฐานที่อยู่เกินกำหนดที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียก่อนเดินทางออกนอกประเทศมาเลเซีย ค่าปรับประมาณ 1,000 ริงกิต หรือ 7,500 บาท ผู้ต้องการกลับไทยส่วนใหญ่มักไม่มีเงินเสียค่าปรับ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงไม่กี่วันมานี้ ทางการมาเลเซียเพิ่มความเข้มงวดกับผู้ที่ overstay มากขึ้น ทำให้เริ่มมีรายงานว่ามีคนไทยบางรายจับกุมตัวที่หน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียแม้จะลงทะเบียนเดินทางกลับกับสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ แล้วก็ตาม ดังนั้น คนที่ overstay ตั้งแต่ก่อน 1 มกราคม 2563 จึงต้องตัดสินใจกลับประเทศไทยแบบไม่ลงทะเบียนโดยใช้ช่องทางตามธรรมชาติ ขณะที่คนไทยที่อยู่ในมาเลเซียแบบไม่มีหนังสือเดินทางหรือใบผ่านแดนติดตัวก็ไม่สามารถลงทะเบียนกับสถานทูตเพื่อขอเดินทางกลับไทยได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว 

นอกจากนั้นคนไทยในมาเลเซียที่มีเอกสารไม่ถูกต้องอีกกลุ่มก็คือ ผู้หญิงไทยที่ไปแต่งงานกับชายชาวมาเลเซีย หากเป็นหญิงมุสลิมก็มักแต่งงานเป็นภรรยาคนสองหรือสามหรือสี่ โดยหลายรายมาจดทะเบียนสมรสตามข้อกำหนดทางศาสนาในประเทศไทย และมักไม่มีทะเบียนสมรสและวีซ่าแต่งงานที่ออกโดยทางการมาเลเซีย รวมทั้งมีหญิงไทยจากภูมิภาคอื่นที่แต่งงานกับคนมาเลเซีย เช่น ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน บางคู่อาจจดทะเบียนสมรสที่มาเลเซียแล้ว แต่สามียังไม่ทำวีซ่าแต่งงานให้ ผู้หญิงไทยเหล่านี้ต้องออกนอกประเทศมาเลเซียทุกเดือนเพื่อ “จ็อปพาสปอร์ต” หลายรายเมื่อตั้งครรภ์ใกล้คลอดก็จะกลับมาคลอดที่ประเทศไทย เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด 19 คนเหล่านี้หากมีสถานะ “overstay” หรือ “พาส/พาสปอร์ตตาย”  ก็จะไม่สามารถกลับประเทศไทยด้วยช่องทางตามที่เป็นทางการได้ สถานภาพการสมรสที่ไม่สมบูรณ์นี้ยังนำมาสู่การพลัดพรากของครอบครัวด้วย มีกรณีที่ผู้เป็นภรรยา/แม่เดินทางกลับมาประเทศไทยช่วงก่อนที่มาเลเซียประกาศใช้มาตรการ MCO ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาเลเซียเพื่อไปหาสามีและลูกได้อีกอย่างไม่มีกำหนด บางรายกลับมาประเทศไทยพร้อมลูกที่มีสัญชาติมาเลเซียก็จะกลับเข้าประเทศมาเลเซียได้เฉพาะลูกเท่านั้น รวมทั้งมีกรณีที่แม่สัญชาติไทยลงทะเบียนกับสถานทูตเพื่อเดินทางกลับไทยได้แล้วแต่ไม่สามารถพาลูกซึ่งเป็นสัญชาติมาเลเซียกลับมาด้วยกันได้

ปัจจุบัน คนที่ “overstay” หรือ “พาส/พาสปอร์ตตาย” แต่ยังต้องการอยู่ต่อในประเทศมาเลเซียมีความกังวลว่า เมื่อประเทศมาเลเซียสิ้นสุดการใช้มาตรการ MCO แล้วนั้น จะยังสามารถอยู่ต่อไปในมาเลเซียได้หรือไม่ ทั้งนี้ ทางการมาเลเซียอาจจัดระเบียบแรงงานต่างชาติครั้งใหญ่เนื่องจากโควิด 19 มีการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติแบบคลัสเตอร์ใหญ่ โดยแรงงานต่างชาติจำนวนมากจากหลากหลายประเทศเป็นผู้ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และกลายมาเป็นภาระแก่รัฐบาลมาเลเซียในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19  นอกจากนั้นการที่ร้าน “ต้มยำ” ของผู้ประกอบการชาวไทยจำนวนไม่น้อยเปิดกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตหรือ license ก็ยิ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากที่ทางการมาเลเซียอาจเข้ามาจัดระเบียบใหม่อันจะมีผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างมากด้วย    

4. การทำงานของคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.)

4.1 การแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา คณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ยังคงทำงานต่อเนื่องมาจากช่วงก่อนหน้านี้ในการประสานงานและแจกจ่ายสิ่งของยังชีพบรรเทาทุกข์ให้แก่คนไทยที่ตกค้างในมาเลเซีย โดยนอกจากได้ประสานงานส่งรายชื่อผู้เดือดร้อนที่ลงทะเบียนกับ คฉ.จม. ให้แก่ทางสถานทูตแล้ว คฉ.จม.ยังได้จัดหาถุงยังชีพของตนเองจากเงิน 100,000 บาทที่ได้รับจาก ศอ.บต. รวมทั้งเงินที่ได้รับบริจาคจากการระดมทุนเพิ่มเติมอีก 100,000 บาท อีกทั้งยังได้ลงนามความความร่วมมือ (Letter of Agreement)  กับองค์กรพัฒนาเอกชน Pertubuhan Gabungan Bantuan Bencana NGO Malaysia (BBNGO) (NGOs) ในมาเลเซียให้ช่วยจัดการนำเงินที่ได้ไปจัดหาถุงยังชีพมอบให้แก่คนไทยที่ลงทะเบียนกับ คฉ.จม.ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือเป็นผู้ตกหล่นที่การช่วยเหลือจากทางอื่นยังเข้าไปไม่ถึง ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คฉ.จม. ได้ช่วยเหลือแจกถุงยังชีพให้คนไทยในมาเลเซียแล้วรวม 400 ราย ในพื้นที่รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐปาหัง รัฐเคดาห์ รัฐเปอร์ลิส และรัฐปีนัง  

4.2 การช่วยเหลือการลงทะเบียนกลับไทย

นอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านการบรรเทาทุกข์ด้วยการแจกถุงยังชีพแล้วนั้น คฉ.จม. ยังได้อาสาช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ แต่ประสบปัญหาไม่สามารถลงทะเบียนในระบบออนไลน์ของกระทรวงการต่างประเทศได้ เนื่องหลายรายอุปกรณ์ไม่พร้อม ลงทะเบียนไม่เป็น หรือบางรายไม่เข้าใจระบบการตอบรับและการดาวน์โหลดและอัพโหลดเอกสารต่างๆ ทั้งนี้ โดยมีอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ชาวไทยทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและในประเทศมาเลเซียจำนวนกว่าสิบคน หมุนเวียนมาช่วยเป็นอาสาสมัครรับลงทะเบียนให้ โดยได้ช่วยคนไทยลงทะเบียนจนสำเร็จและได้คิวเดินทางกลับไทยไปแล้ว 394 ราย 

4.3 การประสานงานช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน

คฉ.จม.ได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คนไทยมาเลเซียรายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินได้เดินทางกลับประเทศไทยได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นหญิงตั้งครรภ์ท้องแก่ หญิงแท้งลูก หรือผู้ป่วยที่โรคประจำตัวกำเริบ ดังกรณีของหญิงท้องแก่ชาวจังหวัดนราธิวาสรายหนึ่งที่สามารถเดินทางกลับไทยได้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เธออาศัยอยู่ที่อำเภอหนึ่งในรัฐกลันตัน ในอำเภอดังกล่าวไม่มีคลินิกที่จะออกใบรับรองแพทย์ให้ได้ ขณะที่ตำรวจมาเลเซียก็ไม่อนุญาตเดินทางระยะไกลเพื่อไปหาใบรับรองแพทย์ได้ เธอรู้สึกสิ้นหวังอย่างมากและได้ขอความช่วยเหลือมายัง คฉ.จม. ซึ่ง คฉ.จม.ได้ประสานงานกับทางเอกอัครราชทูต ในที่สุดกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูได้รับเธอและลูกวัยสามขวบมายังด่านฝั่งมาเลเซีย (ด่านชายแดนรันตูปัน ฝั่งตรงข้ามอำเภอสุไหงโกลก) ช่วยหาห้องพักให้หนึ่งคืนก่อนข้ามแดน และจัดหาใบรับรองแพทย์ให้ หรืออีกกรณีตั้งครรภ์ได้  8 เดือน เป็นชาวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ทำงานที่ร้านต้มยำในรัฐปีนัง ก่อนหน้านี้เธอได้พยายามลงทะเบียนแต่ไม่สำเร็จและในที่สุดทีมงาน คฉ.จม.ได้ช่วยประสานงานกับสถานกงสุลใหญ่ประจำรัฐปีนังและได้วันเดินทางกลับในวันที่ 29 เมษายน 2563 ผ่านด่านเบตง นอกจากนั้นก็ยังมีอีกสองรายที่ติดต่อ คฉ.จม. ให้ช่วยประสานงานให้กับทางสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอเดินทางกลับฉุกเฉินแบบพิเศษ และเมื่อข้ามแดนมาถึงฝั่งไทยได้ก็ถูกนำไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำคลอดทันที โดยทั้งสองรายได้คลอดบุตรเป็นที่ปลอดภัยแล้วและผู้เป็นแม่กำลังเข้ารับการกักตัว 14 วันอยู่ในโรงพยาบาล[13]

4.4 การจัดทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในรายงานฉบับที่ผ่านมา ฉค.จม. ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาคนไทยในมาเลเซีย และได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะผ่านทางสื่อสาธารณะ รวมทั้งจัดส่งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานเอกอัครราชทูตฯ ศอบต. รวมทั้ง ส.ส.ในพื้นที่ ข้อเสนอสำคัญอันหนึ่งของ คฉ.จม. ก็คือ การเสนอให้ยกเลิกการใช้ใบรับรองแพทย์ fit to travel พร้อมเสนอทางออกเฉพาะหน้าว่า หากไม่สามารถยกเลิกได้ ทางการไทยอาจประสานให้มีแพทย์อาสาสมัครจากไทยไปช่วยตรวจและออกใบรับรองแพทย์ให้ที่หน้าด่านฝั่งมาเลเซีย นอกจากนั้น คฉ.จม. ยังได้อาศัยเครือข่ายทางการแพทย์ในการประสานจัดหารายชื่อคลินิกในมาเลเซียที่สามารถออกใบรับรองแพทย์ fit to travel ในเมืองที่ยังขาดแคลนมาแจ้งให้ทางคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับได้ทราบเพิ่มเติมจากรายชื่อที่ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประกาศไว้ด้วย 

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ฉค.จม.ยังได้ทำจดหมายส่งถึงรัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซีย Dato’ Seri Ismail Sabri bin Yaakob เพื่อนำเสนอถึงชีวิตที่ยากลำบากของแรงงานไทยในช่วงการใช้มาตรการ MCO และได้ขอร้องให้ทางการมาเลเซียผ่อนคลายความเข้มงวดและอนุญาตให้แรงงานไทยสามารถเดินทางสัญจรในระยะทางที่ไกลว่า 10 กิโลเมตร เพื่อไปหาใบรับรองแพทย์ fit to travel  ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทางการไทยกำหนดสำหรับการเดินทางกลับประเทศไทย

4.5 การติดตามความเป็นอยู่ของผู้เดินทางกลับในสถานกักตัว Local Quarantine

เมื่อแรงงานไทยในมาเลเซียได้ทยอยเดินทางกลับประเทศ และเข้ารับการกักตัวใน local quarantine ตามสถานที่รัฐบาลจัดไว้ ทาง คฉ.จม. ก็มักได้รับการร้องเรียนถึงความไม่พร้อมของสถานที่กักตัว ที่มีปัญหาเรื่องความสะอาด การเตรียมสถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการรักษาระยะห่าง อาหารที่ไม่มีคุณภาพและไม่เพียงพอ ซึ่งทาง คฉ.จม. ก็ได้รับเรื่องและประสานหน่วยงานในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเป็นกรณีๆ ไป 

5. ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย

ที่ผ่านมาคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อร่วมช่วยเหลือคนไทยในประเทศมาเลเซีย (คฉ.จม.) ได้มีข้อเสนอแนะหลายประการต่อหน่วยงานภาครัฐของไทย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยประสานความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในการช่วยกระจายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยอย่างทั่วถึงในสถานการณ์ความเข้มงวดของมาตรการจำกัดการสัญจร (MCO) การขอให้ยกเลิกการใช้ใบรับรองแพทย์ fit to travel การเพิ่มโควต้าการเดินทางกลับประเทศ การจัดรถบัสฟรีรับผู้เดินทางกลับไทยจากจุดต่างๆ ในมาเลเซียมายังด่านพรมแดน ข้อเสนอให้รัฐจัดหาสถานที่กักตัวที่พอเพียง รวมทั้งข้อเสนอให้รัฐจ่ายเบี้ยเลี้ยงเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ที่กักตัวด้วย ทั้งนี้ บางข้อเสนอ ทางภาครัฐได้มีการดำเนินการไปแล้วแม้อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก อาทิ การจัดหารถบัสรับคนมายังด่านพรมแดนฟรีหรือการหาสถานที่กักตัวที่เพียงพอ ขณะที่ข้อเสนออีกหลายข้อยังไม่ได้รับการแก้ไข  ในรายงานฉบับที่  3 นี้ คฉ.จม. ได้ปรับปรุงข้อเสนอแนะเพื่อให้ทันสถานการณ์มากขึ้น และขอแนะนำให้ภาครัฐของไทยดำเนินการดังต่อไปนี้ 

5.1 ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แรงงานไทยที่ยังตกค้างในมาเลเซียอย่างทั่วถึง ทันต่อสถานการณ์ และด้วยความใส่ใจ

รัฐบาลไทยต้องให้ความช่วยเหลือด้านสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่แรงงานไทยที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซียต่อไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความทั่วถึงในการช่วยเหลือ นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องตระหนัก เข้าใจ มีความใส่ใจในรายละเอียดความเดือดร้อนของแรงงานไทยเหล่านี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่ยังตกค้างอยู่ในมาเลเซีย นั่นคือ ปัญหาด้านสุขภาพจากการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ในสถานกาณ์ปกติคนไทยในมาเลเซียที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า จะเดินกลับเมืองไทยเป็นระยะๆ เพื่อพบหมอและรับยา  รวมทั้งในการคลอดบุตร การทำฟัน และอื่นๆ ก็จะมารับการรักษาในฝั่งไทย ที่เป็นเช่นนี้ นอกจากจะเป็นเพราะคนไทยมีสิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในมาเลเซียแพงเกินกว่าจะจ่ายได้แล้วนั้น ยังเป็นเพราะแรงงานจำนวนมาก “คุยกับหมอไม่เป็น” คือ ไม่สามารถสื่อสารอาการป่วยกับหมอในคลีนิคหรือโรงพยาบาลในประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่รู้ภาษาอังกฤษและไม่ถนัดใช้ภาษามลายูกลาง เมื่อมีการปิดพรมแดนและไม่สามารถเดินทางกลับได้จึงประสบเดือดร้อน อาการป่วยกำเริบ รัฐบาลไทยควรหาทางช่วยเหลือแก้ไขในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

5.2 ให้เงินเยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งคนที่อยู่ในมาเลเซียและคนที่เดินทางกลับไทย

เนื่องจากแรงงานไทยในมาเลเซียทั้งหมดคือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 และจากมาตรการ MCO ของมาเลเซีย พวกเขาไม่มีงานทำและไม่มีรายได้  อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ในมาเลเซียยังไม่ได้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรเข้าไปช่วยเหลือจัดการให้เงินเยียวยาแก่พวกเขาเช่นเดียวกับที่รัฐเยียวยาประชาชนอื่นๆ ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่ว่าพวกเขาจะยังคงอยู่ในมาเลเซียและหรือที่เดินทางกลับไทยแล้วก็ตาม

5.3 ปรับแนวทางการบริหารจัดการคนไทยกลับประเทศจากการสร้างเงื่อนไขเพื่อชะลอการเดินทางกลับมาเป็นการอำนวยความสะดวก และต้องหาแนวทางช่วยเหลือการเดินทางกลับประเทศแก่แรงงานไทยในมาเลเซียที่ overstay หรือเข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย

การกลับประเทศคือที่พึ่งของคนไทยในมาเลเซียที่หมดหนทางในการประกอบอาชีพที่นั่น รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องโอบรับคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และต้องอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่พวกเขาในการเดินทางกลับประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจำนวนผู้เดินทางกลับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 ถึง  14 พฤษภาคม 2563 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 9,824 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพียง 1 รายเท่านั้น[14] อันแสดงให้เห็นแรงงานที่เดินทางกลับจากมาเลเซียไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสำคัญของโรคโควิด 19 ดังนั้น คฉ.จม. จึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยปรับแนวทางจากการสร้างเงื่อนไขเพื่อชะลอการเดินทางกลับประเทศของคนไทยในมาเลเซียมาเป็นการอำนวยความสะดวกแทน รัฐบาลไทยควรทำให้ระบบการลงทะเบียนกลับประเทศเป็นเรื่องง่าย ขยายโควต้าการกลับประเทศ ที่สำคัญรัฐต้องออกแบบระบบการพาคนไทยกลับบ้านให้ครอบคลุมแรงงานไทยในมาเลเซียที่ overstay หรือเข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ให้สามารถกลับเข้าประเทศไทยได้โดยถูกต้องและไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ต้องหาในข้อหา “ลักลอบเข้าประเทศของตัวเอง”  รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องพิจารณาการอนุญาตให้คนไทยในมาเลเซียที่มียานพาหนะรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์สามารถนำยานพาหนะเหล่านี้ซึ่งเครื่องมือทำมาหากินของพวกเขากลับประเทศไทยได้ รวมทั้งต้องปรับปรุงสถานที่กักตัว local quarantine ให้มีคุณภาพ สะอาด มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอ และต้องทำให้ผู้กักตัวมีความภูมิใจในฐานะผู้เสียสละที่ร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19

5.4 ทำข้อตกลงกับรัฐบาลมาเลเซียในการจัดการให้แรงงานไทยในมาเลเซียมีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย 

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่การแพร่ระบาดส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์ของแรงงานต่างชาติและการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มของแรงงงานต่างชาติที่ทำได้ยาก จึงมีแนวโน้มมากที่รัฐบาลมาเลเซียอาจผลักดันแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกนอกประเทศ ประกอบกับการที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียได้มีประกาศที่ชัดเจนออกมาแล้วเมื่อวันที่  8 พฤษภาคม  2563 ที่ผ่านมา ว่าหลังการยกเลิก MCO แรงงานที่ overstay ก่อนวันที่  1 มกราคม 2563 จะต้องไปรายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายในที่นี้มีทั้งการจำคุก การปรับ และการเฆี่ยน ก่อนส่งกลับประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรดำเนินการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในสองส่วน คือ 1) การเจรจาขอให้แรงงานไทยที่ overstay หรือไม่มีเอกสารการเดินทางตั้งแต่ก่อน 1 มกราคม 2563 สามารถเดินทางกลับไทยได้โดยไม่ต้องรับโทษทั้งในช่วงนี้และช่วงที่มาเลเซียยุติมาตรการ MCO แล้ว และ 2) การจัดการระยะยาวในการทำให้แรงงานไทยในมาเลเซียเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตทำงาน 

5.5 เตรียมแผนรองรับเรื่องอาชีพและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของแรงงานที่กลับบ้าน 

สืบเนื่องจากแนวโน้มที่รัฐบาลมาเลเซียอาจผลักดันแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายออกนอกประเทศ แรงงานไทยคงไม่สามารถทำงานในมาเลเซียในแบบเดิมที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานได้อีกต่อไป แรงงานไทยจำนวนมาหศาลจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทางการมาเลเซียและต้องกลับมาใช้ในประเทศไทยตามเดิม รัฐบาลไทยจะต้องเตรียมรับมือในการหาอาชีพรองรับแรงงานไทยจากมาเลเซียเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีพในประเทศไทยได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 


[1] เนื้อหาในหัวข้อนี้เรียบเรียงมาจากข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2563 ในเพจ Royal Thai Embassy, Kuala Lumpur เพจ Malaysia News Network

[2] หนังสือจากกระทรวงมหาดไทย เลขที่ มท. 0230/5718 10 เมษายน 2563

[3] ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เรื่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ฉบับที่ 19/2563 วันที่ 13 เมษายน 2563

[4] รวบรวมจากกลุ่มเฟซบุ๊ก ชื่อ “ช่วยพี่น้องในมาเลย์” ในช่วงระหว่างกลางเดือนเมษายน ถึง ต้นเดือนพฤษภาคม 2563

[5] “รายงานพิเศษ : สถานทูตไทยในมาเลเซีย เร่งช่วยคนไทยหลังโควิดพ่นพิษ” ใน  https://www.matichon.co.th/foreign/news_2167787 เผยแพร่วันที่ 4 พฤษภาคม 2563 เข้าถึงวันที่   7  พฤษภาคม 2563

[6] ข้อมูลจาก สำนักข่าวอามาน

[7] ศูนย์ข่าวภาคใต้. “มท.2 ระดมสมองช่วยแรงงานต้มยำกุ้ง จ่อแจกเงินยังชีพ” ใน https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/87568-money.html เผยแพร่ 13 เมษายน 2563 เข้าถึง 9 พฤษภาคม 2563 และ

“ 'นิพนธ์' เตรียมเสนอ ครม.หามาตรการเยียวยา 8 พันคนไทยตกค้างในมาเลย์” https://www.naewna.com/local/486197 

เผยแพร่ 13 เมษายน 2563 เข้าถึง 9 พฤษภาคม 2563

[8] “ทบทวนมาตรการเข้ม มท.-ชายแดนใต้ เปิดด่านรับคนไทยกลับบ้าน”  https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/87617-review.html เผยแพร่ 14 เมษายน 2563 เข้าถึง 9 พฤษภาคม 2563

[9] ข้อมูลจากเพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/prdthailandyala/posts/2807592352679904

เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2563 เข้าถึง 8 พฤษภาคม 2563

[10] สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส http://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG200504173734103

เผยแพร่ 4 พฤษภาคม 2563 เข้าถึง 8 พฤษภาคม 2563

[11] นอกจากนแรงงานไทยแล้ว มีคนไทยบางส่วนที่ไม่ใช่แรงงานที่ตกค้างอยู่ในมาเลเซียในช่วงที่ผ่านมาด้วย บางคนเป็นนักท่องเที่ยว บางคนมาเยี่ยมญาติ  บางคนเข้ามาจัดการธุระเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลาน รวมทั้งพระสงฆ์ ฯลฯ

[12] (ข้อมูลจากสำนักข่าวอามาน

[13] สำนักข่าวอามาน - Aman News Agency “คลอดแล้วหญิงตั้งครรภ์จากกูวามุซัง รัฐกลันตัน ที่ขอกลับไทยในกรณีพิเศษ สร้างความดีใจกับทุกคนที่ค่อยให้การช่วยเหลือ”  https://www.facebook.com/AMANNEWSAGENCY/posts/2987200001374532?__tn__=K-R  เผยแพร่ 5 พฤษภาคม เข้าถึง 9 พฤษภาคม 2563

[14] ข้อมูลจากสำนักข่าวอามาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net