Skip to main content
sharethis

กรมโยธาฯ ส่งจดหมายชี้แจงเหตุสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม จ.สงขลา ถึง 'ประชาไท' ย้ำ 16 ปี กัดเซาะเข้ามา 9–24 เมตร ขณะที่การล่าชื่อค้านใน Change.org ได้กว่า 400 แล้ว พร้อมเปิด 3 เหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ

สภาพพื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7,8,9 ต.ม่วงงาม (บริเวณโครงการออกแบบระยะที่ 2)ถ่ายเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 (ที่มาจากเอกสารแนบประกอบคำชี้แจงของกรมโยธาฯ)

19 พ.ค.2563 จากกรณีที่ประชาชนใน ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม จนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงและยื่นศาลปกครองพิจารณาคดีกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมเจ้าท่านั้น

วันนี้ กองบรรณาธิการข่าวประชาไทได้รับหนังสือจาก จินตนา อุดมพลานุรักษ์ ผู้อำนวยการกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยอ้างอิงถึงบทความที่เผยแพร่ทางประชาไทที่ชื่อ 'ในสถานการณ์โควิด 19 สิทธิและเสรีภาพไม่ควรหายไปจากการพัฒนา' ของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา (ดู) ที่ชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีการตอกเสาเข็มลงไปบนชายหาด โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากชายหาดม่วงงามไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใดว่าเป็นหนึ่งในโครงการของภาครัฐที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการเร่งรัดงบประมาณและตัดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป นั้น

จดหมายชี้แจงจากกรมโยธาฯ

กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า 1. เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2560 เทศบาลเมืองม่วงงาม ได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เนื่องด้วยบริเวณชายหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ได้รับผลกระทบจากเหตุคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นประจำทุกปีสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการเป็นจำนวนมากด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณของเทศบาลเมืองม่วงงามจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งดังกล่าว

2. จากรายงานฐานข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 2558 พบว่า พื้นที่หมู่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จัดเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งระดับพื้นที่เร่งด่วน และจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ระหว่างปี 2545-2561 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่า บริเวณชายฝั่งโครงการ หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีอัตราการกัดเซาะอยู่ในช่วง 0.56-1.49 เมตรต่อปี หรือกัดเซาะเข้ามา ในแผ่นดินแล้วประมาณ 9– 24 เมตร ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราการกัดเซาะไม่รุนแรง อยู่ในช่วงกัดเซาะน้อยถึงกัดเซาะปานกลาง แต่เนื่องจากมีแนวถนนเลียบชายหาดซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของชุมชน ปัจจุบันแนวชายหาดถูกกัดเซาะขยับเข้าประชิดแนวถนนเลียบชายหาด บางช่วงกัดเซาะถึงแนวถนนแล้วซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อการสัญจร หากไม่เร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

3. ก่อนการดำเนินโครงการในระยะศึกษาออกแบบ กรมฯ ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการ โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ ดังนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7  ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (ระยะที่ 1) มีการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ร้อยละ 78 และเห็นด้วยแต่มีข้อวิตกกังวลร้อยละ 11.8 และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ร้อยละ 92.7 โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7,8.9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (ระยะที่ 2) มีการการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ร้อยละ 75.5 และเห็นด้วยแต่มีข้อวิตกกังวลร้อยละ 14.4 และการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ร้อยละ 84

ล่าชื่อค้านใน Change.org กว่า 400 แล้ว เปิด 3 เหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ

ขณะที่ใน Change.org  พบการตั้งแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม โดย Beach for life ถึงศาลปกครองสงขลา โดยมีผู้ร่วมลงชื่อ 466 รายชื่อแล้ว  

ผู้ตั้งแคมเปญระบุว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น ดำเนินการบนชายหาดม่วงงาม ซึ่งผู้ดำเนินเคมเปญนี้ มองเห็นว่าโครงการดังกล่าวนั้น มีความเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเชิงเนื้อหา และเชิงกระบวนการ ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหา เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง เนื่องจากเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นจะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ทำให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ จึงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากชายหาดม่วงงามในพื้นที่โครงการนั้น ไม่มีได้มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพของสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชนยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ คือ 1. การดำเนินการโครงการนั้นมีความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน  และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน 2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่นนั้น มีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเลที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านด้านน้ำของโครงการ จากบทเรียนในประเทศและต่างประเทศพบว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้นได้ทำให้พื้นที่ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านท้ายน้ำ เป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้ถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่เนื่องจาก ในทางกฎหมายนั้น การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้อง คำนึกถึงหลักพึงระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยต้องทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบครอบ รอบด้าน ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

3. โครงการดังกล่าวนั้น มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ อันได้แก่ การขออนุญาตเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และ การขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน

การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลหมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7,8 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา (ระยะที่ 2) หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ชายฝั่งทะเลม่วงงามเกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนม่วงงามและพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยอาศัยใช้ประโยชน์หาดทรายในการนันทนาการ การประมงริมชายฝั่ง ไม่สามารถที่จะดำเนินตามวิถีชีวิตอันเป็นปกติได้ มิหนำซ้ำการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้จะเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหาทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง

ณ ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 5 คน ได้ยืนฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา พร้อมผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 541 คน เพื่อให้ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7 และ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7,8 และ 9 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

"เราจึงอยากเชิญชวนพลเมืองผู้รักสิ่งแวดล้อม รักหาดทรายร่วมกันลงชื่อเพื่อสนับสนุนการเพิกถอนโครงการดังกล่าว  เพื่อคงรักษาวิถีชีวิตชุมชนริมชายฝั่งที่จะพึงพิงอิงอาศัยหาดทราย รักษาหาดทราย สิ่งแวดล้อมชายฝั่งม่วงงามให้ยั่งยืนสืบไป" Beach for life ผู้ล่ารายชื่อระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net