Skip to main content
sharethis

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ ผู้หญิง คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานนอกระบบ เปิด 7 มาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในช่วงการระบาด และการฟื้นฟูระยะยาวหลังการระบาด ถึง พล.อ.ประยุทธ์

18 พ.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ออมสิน บุญเลิศ ผู้ประสานงานโครงการ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (มพส.) ว่าเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้สูงอายุ ผู้หญิง คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานนอกระบบ จัดให้มีการเสวนาออนไลน์ “เสียงจากกลุ่มเปราะบางและประชากรกลุ่มเฉพาะ: สถานการณ์และผลกระทบโควิด – 19” เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนปัญหาโดยรอบด้านและระดมความคิดเพื่อเสนอมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคโควิด-19 ที่เกิดผลกระทบแม้มาตรการต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่มาตรการด้านอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังขาดความละเอียดอ่อนในมิติหญิงชาย และไม่ได้คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของสังคม นำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบแก่ทุกคนอย่างถ้วนหน้ารวมทั้งผู้สูงอายุ ที่มีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อ

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ได้นำเสนอต่อภาครัฐในรูปแบบจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วยประเด็นปัญหาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  1. ขาดรายได้เนื่องจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2. เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ 3. มาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อในสังคมที่ไม่ทั่วถึง และ 4. ความเครียดและความเสี่ยงจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ส่วนข้อเสนอสำหรับมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในช่วงการระบาด และการฟื้นฟูระยะยาวหลังการระบาด นั้นประกอบด้วย 1. ดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน และรวดเร็ว โดยช่วยเหลือเยียวยาทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผ้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงต้องจัดให้มีหลากหลายช่องทางเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างแท้จริง

2. ปรับปรุงระบบสวัสดิการสำหรับกลุ่มเฉพาะ เนื่องจากความช่วยเหลือจากรัฐที่จัดสรรให้ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต 2.1 ปรับเปลี่ยนเบี้ยคนพิการให้เป็นแบบถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียม โดยเพิ่มจากปัจจุบันที่ได้รับ 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน 2.2 ปรับเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผ้สูงอายุ ให้เป็น “บำนาญแห่งชาติ” หรือ “บำนาญพื้นฐาน” โดยเพิ่มจากปัจจุบันที่ได้รับ 600–1,000 บาท ตามแบบขั้นบันไดอายุ เป็นอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน  2.3 สนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อายุ 0-6 ขวบเป็นแบบถ้วนหน้าและเพิ่มจำนวนเงินให้เพียงพอ

3. รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรที่จะต้องมีข้อมูลความต้องการและข้อเสนอแนะของคนในชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง 4. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองและจัดการอบรมให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องให้แก่อสม. ที่ต้องทำงานในชุมชน จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเพื่อแจกจ่ายแก่กลุ่มเปราะบางในชุมชน เพิ่มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในชุมชนเมือง ชนบท และในชุมชนชาติพันธุ์ รวมถึงจัดให้มีการช่วยเหลือดูแลในช่วงการกักตัว ทั้งที่พักอาศัยและการจัดอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

5. จัดให้มีคณะที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำเรื่องผลกระทบในมิติทางสังคมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควดิ 19 และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงองคก์รภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการวางแผนช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟู โดยคำนึงถึงมิติเพศภาวะและความแตกต่างของกลุ่มประชากร  6. กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวต่อผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยผู้นำชุมชน อสม. และอาสาสมัครในชุมชน ต้องมีบทบาทในการเฝ้าระวังปัญหาและช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาให้เข้าถึงความคุ้มครอง รวมถึงมีมาตราการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลในครอบครัวที่เข้าไม่ถึงบริการของรัฐ โดยเฉพาะในชุมชนแออัดในเมือง และพื้นที่ห่างไกล

และ 7. ให้กรุงเทพมหานครฯ จัดพื้นที่ส่งเสริมการทำมาหากิน และผ่อนปรนมาตรการการควบคุมของเทศกิจ โดยให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะขายของบริเวณริมทางเท้า หรือจัดหางานที่สามารถทำที่บ้านได้ ตามทักษะและความชำนาญของผู้สูงอายุ

จดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายดังกล่าว :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net