10 ปี พ.ค.53: ผาสุข ทาบุดดา - เมีย ‘ดีเจต้อย’ ผู้ต้องโทษตลอดชีวิต คดีเผาศาลากลางอุบลฯ

10 ปี พ.ค.53: ธนูศิลป์ ธนูทอง ติดคุกฟรีปีกว่า “ต้องยกเลิกระบบกล่าวหา”
10 ปี พ.ค.53 : คำพลอย นะมี อิสรภาพพร้อมความทุพพลภาพ

ผาสุข ทาบุดดา ภรรยาของพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย ซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ตอบสั้นๆ ว่า “มันเคยมีไหมล่ะ?” เมื่อถูกถามถึงความยุติธรรมสำหรับคนเสื้อแดง

จากนั้นเธอก็พรั่งพรู

เธอเล่าว่า หลังจากเจอกันตอนไปทำงานที่สิงคโปร์ ปี 2526 ได้ 6 เดือน สาววัย18 จากอยุธยาอย่างเธอก็ตกหลุมรักกับหนุ่มวัย 28 ชาวอุบลราชธานีที่เป็นหัวหน้าคนงานบริษัทญี่ปุ่น ผาสุขแต่งงานกับพิเชษฐ์ตั้งแต่ปี 2527 และต่อมามีลูกชายด้วยกัน 2 คน

“เขาเป็นคนห้าวๆ ตรงไปตรงมา ไม่เคยเอาเปรียบใคร ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ ส่วนใหญ่มีแต่คนมาเอาเปรียบเขา ตอนอยู่สิงคโปร์เขาเคยพาคนงานประท้วงบริษัทด้วย เป็นคนมีความคิดก้าวหน้าแต่ไม่มีสายป่าน และสนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

“อย่างตอนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 เขาเสียดายมากที่ไม่ได้เข้าร่วมเพราะทำงานอยู่ต่างประเทศ ส่วนเราก็ได้แต่ฟังและรับรู้ ไม่คิดว่าจะไปมีส่วนร่วมอะไร”

เธอเล่าว่า เมื่อมาตั้งหลักที่อุบลราชธานีประมาณปี 2544 ตอนนั้นประเทศไทยเริ่มอนุญาตให้มีการจัดตั้งวิทยุชุมชน เขาไปจัดรายการวิทยุที่สถานี FM 91.0 MHz คุยกันเรื่องไก่ชน เรื่องพระ สารพัดเรื่องและเริ่มพูดเรื่องการเมืองตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

“เพราะเขาเป็นคนคุยสนุกและมีบทวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา ช่วงเช้าสรุปข่าวประจำวันที่ผ่านมา ตอนเย็นเป็นการรับเรื่องราวร้องทุกข์และแสดงความคิดเห็น ทำให้คนติดตามฟังเยอะมาก จัดรายการก็จะมีคนโทรศัพท์เข้ามาคุยตลอด ตอนนั้น ‘ดีเจต้อย’ เป็นที่รู้จักของคนฟังจำนวนมาก ขนาดจัดงานพบคนฟังที่ศาลาประชาคมจังหวัด คนมาเต็มห้องประชุมเลย”

นาทีสุดท้าย เปิดใจ ‘ดีเจต้อย’ ผู้ต้องขังตลอดชีวิตคดีเผาศาลากลางอุบล ก่อนเข้าเรือนจำ
ด่วน! ฎีกาพลิกคดีเผาศาลากลางอุบล จำคุกตลอดชีวิต 'ดีเจต้อย' และอีกหลายราย

“แต่ก่อนแกชอบสนธิ ลิ้มทองกุล มากเลยนะ เพราะสนธิเป็นคนฉลาด รอบรู้ พูดจาฉาดฉาน แต่พอสนธิเริ่มตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อไล่ทักษิณ ชินวัตร ทุกวิถีทางนี่ แกเริ่มไม่เห็นด้วย แกบอกเสียดายคนมีความรู้อย่างสนธิไม่น่าคิดและทำอย่างนี้เลย”

“ที่เป็นเสื้อแดงก็เพราะตอนนั้นพันธมิตรฯ เริ่มทำอะไรไม่ชอบมาพากล พอเกิดคนเสื้อเหลือง แกก็เลยจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์คนเสื้อเหลืองและเชิญชวนกลุ่มพลังเงียบให้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางรายการวิทยุและเกิดเป็น ‘กลุ่มพลังเงียบ’ แสดงความไม่พอใจต่อการยุบพรรคไทยรักไทย ก่อนจะกลายมาเป็น ‘กลุ่มชักธงรบ’ ที่เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯในปี 2552 และ 2553”

ผาสุขเล่าว่า ระหว่างที่ดีเจต้อยกำลังเป็นที่รู้จักและกำลังเป็นแกนหลักของพลังเงียบที่ไม่เอาด้วยกับพันธมิตรฯ นั้น เธอทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวกับเทศบาลนครอุบลราชธานี และได้แต่สังเกตความเป็นไปของสามี เธอคิดแต่เพียงว่า ที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องปกติ เขาเป็นแบบนี้มาตลอดตั้งแต่รู้จักกัน โผงผาง ตรงไปตรงมา วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เกรงใจใคร แม้จะเริ่มเข้าไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่เธอก็ไม่ได้ห้ามปราม เพราะทุกอย่างมันเป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพธรรมดา

“ก็ห่วงแค่ความปลอดภัยของแก แต่ไม่ได้ห่วงเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิดอยู่แล้ว เขาแค่วิพากษ์วิจารณ์ แม้บางครั้งการแสดงออกทางการเมืองเป็นการเผาหุ่น เผาโลงศพประท้วงหรือเผายางรถยนต์ที่คนบอกว่าเป็นความรุนแรงนั้น มันก็แค่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ต่อต้านการฆ่าคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯเท่านั้น”

“ตอนศาลากลางจังหวัดถูกเผา (19 พฤษภาคม 2553) แกก็ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ เพียงแต่มีคนโทรเข้ามาในรายการว่ามีคนถูกยิงที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัด เขาก็จัดรายการวิทยุอยู่จึงประกาศให้คนออกไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัด และศาลากลางก็มีไฟลุกไหม้ก่อนที่คนเสื้อแดงจะเข้าไปถึงตัวอาคารซะอีก เขาไม่ได้ทำผิดอะไรในคดีเผาศาลากลาง ตำรวจรู้ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดตอนนั้นก็น่าจะรู้ดี”

ตอนที่พิเชษฐ์ถูกจับเข้าคุกครั้งแรกในฐานะผู้ต้องหาคดีความมั่นคงกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 ผาสุขยังเชื่อมั่นว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาไม่ได้เผาศาลากลาง และสักวันเขาจะต้องได้รับความเป็นธรรม

“ก็ไม่ห่วงกังวลอะไรมาก เขาขึ้นศาลแทบทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ก็ไปเจอกันหน้าบัลลังก์ศาล ใต้ศาล เขาซะอีกที่บอกให้เราเข้มแข็ง กลายเป็นว่าคนติดคุกห่วงคนนอกคุกมากกว่าและพยายามทำให้เราสบายใจ แต่ลูกชายคนเล็กซึ่งตอนนั้นเรียนมัธยมปลาย ไม่ยอมเรียนหนังสือ”

ในที่สุดเขาก็ออกจากคุกรอบแรก หลังจากศาลตัดสินเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 โดยมีผู้จำคุก 33 ปี 12 เดือน จำนวน 4 คน ส่วนเขาถูกปล่อยตัว แต่ก็ปล่อยช้ากว่าคนอื่น 1 วัน เพราะศาลอายัดตัวไว้ ต้องยื่นประกันตัวในวันรุ่งขึ้น

“เขาออกมาก็มาลุยการเมืองเต็มตัวเลย จัดรายการวิทยุเข้มข้นกว่าเดิม และในที่สุดก็ลงสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2555 แม้จะแพ้คนเก่าคือ พรชัย โควสุรัตน์ แต่คะแนนเขาได้ถึง 129,313 คะแนนเลยนะ”

เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นก็ยิ่งทำให้ครอบครัวทาบุดดามีความหวังว่าจะเดินหน้าชีวิตด้วยการลงทุนทำธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อ ‘ชักธงรบ’ และสินค้าอื่นเช่น สบู่ ยาสีฟันและกาแฟ

ปี 2557 พิเชษฐ์ให้ผาสุขลาออกจากการเป็นลูกจ้างเทศบาลมาทำธุรกิจค้าขายสินค้ายี่ห้อ ‘ชักธงรบ’ แต่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาก็ได้กลับคำตัดสินเพิ่มโทษเป็นจำคุกพิเชษฐ์ตลอดชีวิต รวมทั้งเพิ่มโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือนกับจำเลยอีก 3 คน ทำให้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองกรณีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีรวมทั้งสิ้น 8 คน โดยในจำนวนนี้ 7 คนต้องรับโทษ 33 ปี 12 เดือน

“ก่อนขึ้นศาลครั้งสุดท้าย เขาบอกว่า ถ้าศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ เขาก็จะบวช เราก็ไม่ได้ไปศาลด้วย แต่พอตัดสินออกมาแบบนี้ เขาก็โทรมาจากใต้ถุนศาลก่อนจะถูกนำตัวเข้าเรือนจำว่า ‘ติดคุกตลอดชีวิตนะ’ เราก็เสียใจร้องไห้ คิดว่าทำไม่มันขนาดนี้ มันคืออะไร พวกฆ่าคนตายก็ไม่โทษหนักปานนี้ เรื่องเผาศาลากลางเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์อยู่แล้ว จะว่าเชือดไก่ให้ลิงดูก็ไม่น่าจะใช่ ลูกก็บอกว่า ถ้าไม่หยุดร้องไห้ลูกจะไม่เข้าบ้าน ก็เลยหยุดร้องไห้ ในที่สุดเราก็คิดได้ว่า เสียใจมาก คิดมาก ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา บั่นทอนเปล่าๆ”

สามีติดคุก ธุรกิจเครื่องดื่ม ‘ชักธงรบ’ ที่วางแผนไว้ก็มีอันพับไปด้วย แรกๆ ที่พิเชษฐ์ถูกขังที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี ผาสุขก็ไปเยี่ยมประจำ จนต้นเดือนมกราคม 2559 พิเชษฐ์และผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางจังหวัดรวม 4 คน ถูกนำตัวไปเรือนจำกลางคลองไผ่ อำเภอสิคิ้ว นครราชสีมา เพราะอัตราโทษหนัก (จำคุกเกิน 30 ปี) โดยที่เขาไม่ได้มีโอกาสแจ้งข่าวให้ครอบครัวรู้

“ตั้งแต่เขาไปอยู่คลองไผ่ เราก็เขียนจดหมายไปหา 10 ฉบับได้มั้ง ไปเยี่ยมปีละ 2 ครั้ง ไปคนเดียวบ้าง ไปกับลูกบ้าง ถ้าจะไปต้องเดินทางออกจากอุบลคืนวันอาทิตย์ หรือไม่ก็วันพุธ (เพราะวันพุธ เสาร์ และอาทิตย์ห้ามญาติเยี่ยม) ไปถึงเช้าวันจันทร์หรือวันพฤหัส เราจะได้เยี่ยมกันสองวัน ไปแต่ละครั้งก็ไม่เอาความทุกข์ไปฝากกัน เรารู้ว่าเขาก็มีทุกทข์แต่พยายามให้เราสบายใจ พูดจาสนุกสนานยิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนใหญ่จะเป็นคนในคุกทำให้เราสบายใจขึ้น ซึ่งก็เป็นบุคลิกของเขาอย่างนี้ตลอดมาอยู่แล้ว”

รวมคดีเผาศาลากลางอีสาน โทษทัณฑ์ของมวลชนผู้โกรธเกรี้ยวที่ถูกลืม ?
ข่าว/บทความเกี่ยวกับคดีเผาศาลากลางอุบลฯ

ทุกวันนี้ ผาสุข วัย 55 ปี อาศัยอยู่คนเดียวในตึกที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์เสื้อแดงให้อาศัยอยู่ แต่ต้องรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟเอง ก่อนหน้านี้เธอทำงานรับจ้างล้างจานในร้านอาหารเพื่อเลี้ยงชีพด้วยค่าจ้างวันละ 300 บาท ส่วนลูกชายคนโตมีครอบครัวและมีลูกอยู่ที่กรุงเทพฯ ลูกชายคนเล็กเพิ่งปลดประจำการจากทหารเกณฑ์ก็ทำงานในร้านกาแฟที่สัตหีบ

ในห้วงวิกฤตโควิด–19 ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เธอไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ มีเพียงเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง (RedFamFund) เดือนละ 2,000 บาทที่พอช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ และตอนนี้ก็พยายามเปิดแผงร้านขายหมูย่างได้ประมาณสองสัปดาห์ และหวังว่ามันจะเป็นรายได้หลักให้กับเธอ

ความหวังเดียวลึกๆ ของเธอคือ อยากให้เขาได้รับอิสรภาพ เพราะเขาอายุมากแล้ว (65 ปี) เมื่อถามถึงความถึงความยุติธรรมสำหรับคนเสื้อแดงตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เธอตอบว่า “มันมีไหมล่ะ?”

“มันไม่มีเลยความยุติธรรมสำหรับคนเสื้อแดง เห็นแต่การตามล่าตามล้าง คนเสื้อแดง คนตัวเล็กตัวน้อยโดนเล่นงานตลอด ขณะที่พวกเสื้อเหลืองเป็นคนละเรื่อง ถึงถูกจับเข้าคุกก็ไม่รู้ทันได้นับเสาเรือนจำไหมว่ามีกี่ต้น เพราะจะถูกปล่อยตัวออกมาเร็วมาก”

เราจบการสนทนาไว้เพียงเท่านี้

 

ข้อสังเกตจากรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

การออกหมายจับและการจับกุม

"คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ (รวมถึงคดีอื่นๆ ในจังหวัดอุบลฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมปี 2553) ไม่มีการจับกุมผู้ต้องหาในที่เกิดเหตุ ดังนั้น การจับกุมผู้ต้องสงสัยจึงเป็นการจับตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายกลับไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่่ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิด คณะกรรมการสอบสวนทำการรวบรวมหลักฐานจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เจ้าหน้าที่หรือนักข่าวถ่ายในวันเกิดเหตุ หาพยานบุคคลยืนยันบุคคลในภาพว่าอยู่ในเหตุการณ์ แล้วเสนอต่อศาลออกหมายจับ กระบวนการดังกล่าวมีปัญหา เนื่องจากออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในบริเวณศาลากลาง โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ แม้จะมีพยานบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถ่ายภาพ ยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้นอยู่ในเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าร่วมก่อเหตุด้วยหรือไม่

“นอกจากนี้ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานบางภาพเป็นภาพถ่ายระยะไกล บางภาพมืด มองไม่เห็นชัดเจน บางภาพปิดหน้าตาบอกไม่ได้ว่าเป็นบุคคลใด บางภาพอยู่ในบริเวณศาลากลางขณะยังไม่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ บางคนมีภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินใส่ป้อมยามเท่านั้น บางคนยืนอยู่ด้านนอกและไม่ได้มีพฤติการณ์อื่นใด กระทั่งจำเลยบางคนในคดีนี้ถูกออกหมายจับโดยภาพถ่ายการชุมนุมครั้งอื่นที่ไม่ใช่การชุมนุมในปี 2553"

"ในคดีนี้ผู้ต้องหาถูกละเมิดสิทธิ โดยหลายคนถูกจับกุมโดยตำรวจไม่แสดงหมายจับ หรือไม่แจ้งข้อกล่าวหา หลายคนถูกหลอกล่อให้มาที่สถานีตำรวจ เช่น ตำรวจบอกให้มาตัดหญ้า หรือให้มาให้ปากคำในคดีอื่น หรือให้มาเป็นพยาน แต่เมื่อไปถึงสถานีตำรวจกลับถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหา บางคนถูกจับโดยใช้กำลังประทุษร้าย เช่น จำเลยที่ 5 ถูกตำรวจจับกดศีรษะลงกับพื้น เอาปืนจ่อศีรษะและลากคอเสื้อขึ้นรถ นอกจากไม่แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาในขณะจับกุมแล้ว ยังมีการบังคับข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพและให้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับว่าเป็นภาพตน ผู้ต้องหาบางคนถูกขู่ว่าจะจับเพื่อน หรือยัดยาบ้าให้ หากไม่รับสารภาพ...การลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นคนเดียวกับบุคคลในภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับเป็นหลักฐานที่ศาลรับฟัง แต่ผู้ต้องหาไม่รู้ เพราะไม่มีทนายความให้คำปรึกษา และไม่ได้รับการแจ้งสิทธิดังกล่าว"

การปล่อยชั่วคราว

"วันที่ 6 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 20 มีอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีก จนเรือนจำจังหวัดอุบลฯ ต้องส่งตัวออกมารักษาที่รพ.สรรพสิทธิประสงค์ แพทย์วินิจฉัยว่า เส้นเลือดในสมองตีบเพราะเครียด จำเลยนอนพักรักษาตัวที่ รพ.จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2554 อาการทุเลาจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ วันต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 20 โดยอ้างเหตุจากอาการเจ็บป่วย พร้อมทั้งขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 14 โดยอ้างเหตุเรื่องที่ตำรวจจับผิดตัว ซึ่งมีหลักฐานคำให้การของ พ.ต.อ.ไอยศูรย์ สิงหนาท รอง ผบก.ตร.ภ.เมืองอุบลราชธานี ต่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ผู้พิพากษาได้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 14 ที่ว่าเป็นการจับผิดตัวนั้น ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก ส่วนจำเลยที่ 20 นั้น การที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากรพ.มาพักรักษาตัวได้ เชื่อว่าอาการคงจะดีขึ้น และหากอาการถึงขั้นต้องพบแพทย์อีกทางเรือนจำก็มีหน้าที่ดำเนินการให้อยู่แล้ว อีกทั้งเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยดูแลอยู่ด้วย หรือไม่อีกทางหนึ่งสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ดังเช่นที่ผ่านมา จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำเดิม ให้ยกคำร้อง”

“ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 20 ถูกต้องส่งเข้า รพ.อีก ทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง สุดท้ายศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 20 ในสภาพเป็นอัมพาต เดินไม่ได้ และตามองไม่เห็น เขาเป็นจำเลยเพียงรายเดียวที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี ก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาไม่นาน"

คำพิพากษา (ศาลชั้นต้น)

“ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย 9 คน เนื่องจากหลักฐานที่โจทก์มีอยู่ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง .... ขณะที่ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลย 4 คนเป็นเวลา 2 ปี ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมั่วสุมก่อความวุ่นวาย เนื่องจากโจทก์มีหลักฐานที่แสดงว่าจำเลยเข้าไปในบริเวณศาลากลาง แม้จะไม่มีพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมในการเผาศาลากลาง แต่ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าเข้าร่วมการชุมนุม”

“ส่วนจำเลยอีก 4 คนซึ่งโจทก์มีเพียงหลักฐานว่าอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่ทุบทำลายอาคารหรือใกล้ชิดอาคารขณะมีไฟลุกไหม้นั้น ศาลพิพากษาจำคุกถึง 33 ปี 12 เดือน ในความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เป็นโรงเรือน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวาย และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะของตัวการร่วมพร้อมที่จะช่วยเหลือ มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับกลุ่มคนที่เผาศาลากลาง”

“จากการใช้ดุลพินิจขอผู้พิพากษาในการพิจารณาพยานหลักฐานว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ดังกล่าว มีข้อสังเกตดังนี้

(1) ศาลมักให้น้ำหนักต่อปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เป็นพยานฝ่ายโจทก์ ด้วยการให้เหตุผลว่า "ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความและจัดทำพยานหลักฐานขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ได้เห็นและรับรู้มา จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำให้จำเลยต้องรับโทษ" โดยไม่คำนึงถึงบริบททางการเมืองภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้ายกันเอง

(2) ศาลมักให้น้ำหนักต่อคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมากกว่าคำเบิกความในศาล ด้วยเหตุผลว่า "ในชั้นศาลจำเลยมีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งข้อเท็จจริงให้ตนเองพ้นผิด" โดยไม่ตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการสอบสวน ทั้งที่คำเบิกความของพยานบางคนแสดงถึงกระบวนการสอบสวนไม่ชอบ เช่น ในกรณีของจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ด้วยนั้น จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมและในการสอบสวนครั้งแรก (จำเลยเล่าว่าเพราะถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่) แต่จำเลยปฏิเสธในการสอบสวนครั้งที่ 2 และในชั้นศาลว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการเผาศาลากลาง โดยนำสืบว่าจำเลยได้ยินประกาศว่าทหารยิงคนตาย จึงรู้สึกโกรธ เมื่อมีคนชี้ว่าทหารอยู่ในอาคารชั้นล่าง จึงเข้าไปทุบกระจกและปาก้อนหินเข้าไปในอาคาร ต่อมามีคนยื่นขวดน้ำมันให้ขว้างเข้าไปในศาลากลาง จำเลยก็ไม่ได้ขว้าง ทนายจำเลยยังนำสืบให้เห็นด้วยว่า ขวดน้ำมันดังกล่าวถูกนำไปวางทิ้งไว้ข้างหน้าต่างของอาคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาในการร่วมวางเพลิงเผาศาลากลาง อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ใช้น้ำหนักต่อหลักฐานและคำให้การดังกล่าว

(3) แม้ว่าศาลจะให้น้ำหนักต่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มากกว่าของฝ่ายจำเลย แต่เมื่อพยานโจทก์เบิกความที่เป็นคุณต่อจำเลย ศาลกลับไม่หยิบมาเป็นเหตุผลประกอบการวินิจฉัย อย่างกรณีที่ จ.ส.อ.พัสกร อุ่นตา เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของ กอ.รมน. เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังจากเห็นบุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามทำการเผาตัวอาคารธนารักษ์ เขากับบุคคลหนึ่งซึ่งร่วมอยู่ในการชุมนุมได้เข้าไปในตัวอาคารเพื่อช่วยดับไฟ ซึ่งบุคคลดังกล่าวคือ จำเลยที่ 12 แต่สุดท้ายศาลก็ยังพิพากษาว่า จำเลยที่ 12 มีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์

ฯลฯ

กรุณาอ่านรายงานฉบับเต็ม ในหัวข้อ ‘คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี’ หน้า 71-90

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท