Skip to main content
sharethis

ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นปช. ย้ำในวาระครบ 10 ปี 'เราจะไม่ยอมให้การลอยนวลพ้นผิดดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ'

โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม สำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff (แฟ้มภาพ)

19 พ.ค.2563 เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จากสำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัมแอนด์พาร์ทเนอร์ส อดีตทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร และอดีตทนายความที่ผลักดันให้มีการฟ้องร้องคดีสลายการชุมนุมดังกล่าวให้เข้าสู่ศาอาญาระหว่างประเทศ เผยแพร่บทความ "ยังคงรอคอยความยุติธรรม: 10 ปีหลังเหตุสังหารหมู่กรุงเทพ" โดยเขาเล่าถึงประสบการณ์ที่อยู่ในเหตุสลายการชุมนุมนี้ ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายกับ นปช. และความสูญเสียจากการสลายการชุมนุมนั้น แต่ผู้ฆ่า ผู้อุปถัมภ์ และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงลอยนวลพ้นผิดและไม่ได้รับผลกระทบใด 

อัมสเตอร์ดัม ระบุตอนท้ายด้วยว่า เรามีหน้าที่จะต้องจดจำทุกชีวิตที่สูญเสียไป ถือเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะเตือนผู้มีอำนาจให้รู้ว่าเราจะไม่ยอมให้การลอยนวลพ้นผิดดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ อาชญากรรมของพวกเขาจะไม่ถูกลบเลือน เรามีพันธสัญญาที่จะยกย่องและให้เกียรติทุกชีวิตที่อาศัยในประเทศที่สวยงาม อันแสนซับซ้อนและสำคัญนี้ อนาคตอยู่ในกำมือคนรุ่นใหม่และเราหวังว่าความจริงนี้จะถูกเปิดเผยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ยังคงรอคอยความยุติธรรม: 10 ปีหลังเหตุสังหารหมู่กรุงเทพ

โดย โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม

ในระหว่างช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของปี 2553 ผมอยู่หลังแบริเออร์บนถนนในกรุงเทพฯ ร่วมกับผู้ประท้วงเสื้อแดง ซึ่งเป็นเวลาทั้งหมด 66 วันแล้วที่กลุ่มชุมนุมปิดยึดพื้นที่ในส่วนกลางของกรุงเทพฯ และเป็นที่สนใจไปทั่วโลก

ผมถูกส่งไปอยู่ที่นั่นโดยอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่จ้างวานให้สำนักงานกฎหมายของผมคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) รวมถึงให้ช่วยเหลือหาหนทางด้านกฎหมายเพื่อจะปลดล๊อครัฐบาล เนื่องจากในขณะนั้นประเทศกำลังตกอยู่ในกำมือรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม เข้ามาอยู่ในตำแหน่งโดยการร่วมมือกับศาลเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกของประชาชน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์อันโหดร้ายนั้น เหตุการณ์นำไปสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผมยังจดจำทุกอย่างได้ดี กลิ่นควันไฟรวมถึงเสียงปืนดังตลอดทั้งคืน ผมอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่เสธแดงถูกซุ่มยิง เขาเป็นหนึ่งในแกนนำเสื้อแดงซึ่งถูกยิงที่ศีรษะขณะกำลังให้สัมภาษณ์นักข่าวจากนิวยอร์คไทม์ พวกเขาฆ่า ฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพจากสำนักข่าวรอยเตอร์อย่างเลือดเย็น พวกเขาฆ่าเด็กที่ไม่มีอาวุธ พยาบาล แม้กระทั่งคนที่หลบภัยอยู่ในวัด พวกเราแจ้งไปยังรัฐบาลอย่างชัดเจนและหนักแน่นว่าให้หลีกเลี่ยงเหตุการณ์นองเลือด โดยสัญญาว่าจะยุติการประท้วงทันทีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว ข้อเสนอนั้นถูกเพิกเฉยและตอบกลับมาด้วยความเงียบ นั่นเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเป้าหมายของรัฐบาลไม่ใช่แค่การสลายการชุมนุม แต่คือการใช้ความรุนแรงกดปราบกลุ่มผู้ชุมนุมและสร้างความหวาดกลัวให้คนไทยต้องยอมจำนน

การกวาดล้างจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม โดยกลุ่มชายชุดดำใช้ปืนยาวซุ่มยิงมาจากบริเวณรางรถไฟบีทีเอส มีรถถังและรถติดอาวุธเคลื่อนมายังบริเวณด่านกีดขวางของผู้ชุมนุม ผมโชคดีที่หลบหนีไปฮ่องกงได้ทัน แต่มีหลายคนที่โชคร้าย มีคนถูกทหารไทยสังหารมากกว่า 98 คน ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่วัน และกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการทางการทหารซึ่งสั่งการโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งทำรัฐประหารและกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ในเวลาครบรอบสิบปีการสังหารหมู่กรุงเทพฯ ซึ่งน่าเศร้าโศกนี้ ผมอยากถือโอกาสเผยแพร่สมุดปกขาวที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ไว้อีกครั้ง “A Call for Accountability” ซึ่งเผยแพร่ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 น่าเศร้าที่แม้เวลาผ่านมาสิบปีแล้วแต่บริบทในรายงานนี้ก็ยังคงร่วมสมัยอยู่
 
หลายครอบครัวต้องโศกเศร้ากับการตายของคนในครอบครัวที่ถูกทหารไทยพรากชีวิตไป พวกเขายังคงไม่ได้รับความยุติธรรม ความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อยังคงดำเนินต่อไปในทุกๆ วัน ความทรงจำเหล่านั้นยังคงไม่จางหาย ขณะที่ผู้ฆ่า ผู้อุปถัมภ์ และผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงลอยนวลพ้นผิดและไม่ได้รับผลกระทบใด ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะปั้นแต่งความจริงและกระบวนการปรองดองก็เกิดขึ้นอย่างน่าขบขันและไร้ซึ่งแก่นสารหรือความหมายใด

เหตุการณ์ครั้งนี้มีหลายสิ่งให้ได้เรียนรู้ว่าทำไมโลกจึงปล่อยให้ประชาธิปไตยในไทยถูกทำลายลงไป หากมองกลับไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย นับแต่ที่เราได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างประเทศของอเมริกาซึ่งทำให้ไทยแบ่งแยกออกเป็นสองฝักฝ่าย ความล้มเหลวในการเรียกร้องความรับผิดชอบในเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 2516 ปี 2519 และปี 2535 แม้กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้จากนโยบาย "ปักหมุดเอเชีย" (Pivot to Asia) ของรัฐบาลโอบามา ที่มีข้อบกพร่องมากมายและให้ผลในทางตรงกันข้าม
 
การรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศและท่าทีของแวดวงเอ็นจีโอในการรัฐประหาร 2549 ตุลาการภิวัตน์ปี 2551 หรือกระทั่งเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 2553 และเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมา ได้สร้างความชอบธรรมอย่างสมบูรณ์ให้กับฝ่ายเผด็จการ ทำไมพวกเขาจึงเข้าใจอะไรได้ผิดพลาดขนาดนั้น?
 
ข้อสรุปในความผิดพลาดครั้งนี้คือการสูญเสียชีวิตผู้คน สูญเสียอาชีพ คนนับพันถูกจับเข้าคุกและคนนับล้านสูญเสียสิทธิทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ

ในวันนี้ซึ่งครบรอบสิบปีหลังจากการสังหารหมู่ เรามีหน้าที่จะต้องจดจำทุกชีวิตที่สูญเสียไป ถือเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะเตือนผู้มีอำนาจให้รู้ว่าเราจะไม่ยอมให้การลอยนวลพ้นผิดดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ อาชญากรรมของพวกเขาจะไม่ถูกลบเลือน เรามีพันธสัญญาที่จะยกย่องและให้เกียรติทุกชีวิตที่อาศัยในประเทศที่สวยงาม อันแสนซับซ้อนและสำคัญนี้ อนาคตอยู่ในกำมือคนรุ่นใหม่และเราหวังว่าความจริงนี้จะถูกเปิดเผยมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net