กป.อพช.-เครือข่ายภาคปชช. เสนอให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชน รวม 70 องค์กร ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอการมีส่วนร่วมของภาคประชาชาชนและกำลังทางสังคมอื่น ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และขอนัดหมาย สศช. ปรึกษาหารือ

20 พ.ค. 2563 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และ องค์กรภาคี เครือข่ายภาคประชาชน รวม 70 องค์กร ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชาชนและกำลังทางสังคมอื่น ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม และขอนัดหมายปรึกษาหารือ โดยมีใจความระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนและประเทศชาติจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งซ้อนทับกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5 การจัดการขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งการที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

กป.อพช. และ องค์กรภาคี เครือข่ายภาคประชาชน จึงเสนอให้ 1) ขยายเวลาสำหรับหน่วยงานของรัฐในการจัดทำรายละเอียดโครงการ และสำนักงานสภาพัฒน์ฯในการรวบรวมและจัดทำความเห็น โดยเพิ่มขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม การประชาพิจารณ์ อย่างกว้างขวาง แทนการทำงานอย่างรีบด่วน เร่งรัด

2) เสนอให้สำนักงานสภาพัฒน์ฯ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเปิดการมีส่วนร่วมขององค์การภาคประชาชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และพลังทางสังคมอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อออกแบบและร่วมดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการตรวจสอบและประเมินผล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีใครตกหล่น

3) กป.อพช.และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้ขอนัดหมายเพื่อประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒน์ฯและทีมงานเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องกระบวนการพัฒนาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

 

18 พฤษภาคม 2563

เรียน ศพ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์
เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เรื่อง ข้อเสนอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19

จากการที่รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายละเอียดโครงการที่มีความสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเสนอสำนักงานสภาพัฒน์ฯ เพื่อรวบรวมและจัดทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพิจารณาภายใน 10 วันนั้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือ มีความเห็นดังนี้

1) ผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนและประเทศชาติจากการระบาดของโรคโควิด-19 นี้เป็นวิกฤตที่ใหญ่กว่าครั้งใดๆ ที่สังคมไทยเคยเผชิญมา ไม่ใช่เป็นพียงแต่วิกฤตด้านสุขภาพเท่านั้น เพราะวิกฤตนี้ไม่ใช่เป็นวิกฤตเชิงเดี่ยว แต่เป็นวิกฤตเชิงซ้อนที่เกิดขึ้นบนสถานการณ์ที่สังคมไทยมีวิกฤตเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงอยู่แล้วแต่เดิม ในขณะที่วิกฤตของโลกสมัยใหม่กำลังทยอยเกิดขึ้นและเพิ่มความรุนแรง ทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5 การจัดการขยะอุตสาหกรรม รวมทั้งการที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รุนแรงทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้นการทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยครั้งนี้จึงต้องมีการวิเคราะห์และพิจารณาอย่างลึกซึ้ง รอบด้าน และใช้เวลา

กป.อพช.และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้เสนอให้ขยายเวลาสำหรับหน่วยงานของรัฐในการจัดทำรายละเอียดโครงการ และสำนักงานสภาพัฒน์ฯในการรวบรวมและจัดทำความเห็น โดยเพิ่มขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม การประชาพิจารณ์ อย่างกว้างขวาง แทนการทำงานอย่างรีบด่วน เร่งรัด

2) เพราะวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง หลากหลายอาชีพ หลายกลุ่มคน ทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความเปราะบางอยู่แล้วแต่เดิม อันได้แก่ แรงงานนอกระบบ พนักงานบริการ คนจนเมือง คนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ ครอบครัวยากจนพิเศษ แม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมามักจะตกหล่นและเข้าไม่ถึงการพัฒนาของรัฐ แม้กระทั่งล่าสุดในการเยียวยาจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อรัฐบาลออกแบบการเยียวยาผลกระทบ ทั้งการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดจำนวนเงิน และออกแบบช่องทาง วิธีการในการสมัครรับการเยียวยา โดยลำพัง ขาดการมีส่วนร่วม ส่งผลให้ในที่สุดมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึง เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกถูกทอดทิ้ง และในหลายกรณีนำไปสู่การทำร้ายตนเองและครอบครัว กลายเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งหนึ่งของสังคมไทย ทำให้องค์กรของประชาชนกลุ่มเปราะบางเอง องค์การพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการจำนวนมากที่ทำงานร่วมกับผู้เปราะบางมาอย่างต่อเนื่องได้ออกมาร่วมขับเคลื่อนในการระดมทุนมาทำกิจกรรมเยียวยา พร้อม ๆ กับการสะท้อนปัญหาและการมีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานของรัฐ

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กป.อพช.และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้เสนอให้สำนักงานสภาพัฒน์ฯ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเปิดการมีส่วนร่วมขององค์การภาคประชาชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และพลังทางสังคมอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อออกแบบและร่วมดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการตรวจสอบและประเมินผล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีใครตกหล่น ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการและแผนงานในการฟื้นฟูจะตอบสนองปัญหาและความต้องการของกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

3) ด้วยเครือข่ายอันกว้างขวางของการทำงาน ทั้งในมิติที่ตอบสนองต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มต่าง ๆ มิติการทำงานพัฒนาเชิงประเด็น การทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศน์ และด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมของสังคมไทยมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่การฟื้นฟูหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 หลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ.2547 และ ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554

กป.อพช.และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้มีความมั่นใจ และความพร้อมที่จะเป็นองค์กรภาคีหุ้นส่วนในการร่วมกับรัฐบาลและพลังอื่น ๆ ในสังคม ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครั้งนี้ เพื่อให้มีการปรึกษาหารือภายใต้แนวคิดและข้อเสนอดังกล่าว กป.อพช.และองค์กรผู้ลงนามท้ายหนังสือนี้จึงขอนัดหมายเพื่อประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒน์ฯและทีมงานเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องกระบวนการพัฒนาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

(นายประยงค์ ดอกลำใย)
ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

องค์กรร่วมลงนาม
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ภาคใต้
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือตอนล่าง
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพประเทศไทย
เครือข่ายผู้บริโภค ภาคเหนือ
เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขต1 เชียงใหม่
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพประเทศไทย
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
คณะทำงานเสียงผู้หญิง
เครือข่ายเสียงผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ
เครือข่ายองค์กรชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ เขต 10 อุบลราชธานี
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม
เครือข่ายช้างป่าต้น ฅนสุพรรณ
เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี
ไคลเมทวอชท์ ไทยแลนด์
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว (มคค.)
มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.)
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HomeNet)
มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
มูลนิธิพิทักษ์สิทธิสตรีและเด็ก
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิข้าวขวัญ
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
มูลนิธิอันดามัน
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
มูลนิธิเพื่อนหญิง
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิศักยภาพชุมชน
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดปทุมธานี
ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จังหวัดพิษณุโลก
ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง
ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา
ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดปทุมธานี
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์
ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัดหนองคาย
ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจ.สุพรรณบุรี
ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชนจังหวัดจันทบุรี
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI)
สถาบันชุมชนอีสาน
สมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (สพร.)
สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย)
สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
สมาคมรักทะเลไทย
สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน
สมาคมพหุภาคีพัฒนาประชาสังคมจันทบุรี
สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา
สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส)
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)
หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตร 50 (5) อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท