Skip to main content
sharethis

'เสื้อแดง-เสื้อเหลืองเขาขัดแย้งอะไรกัน' คนรุ่นหลังหลายๆ คนน่าจะมีความสงสัยนี้เมื่อเห็นการเมืองในปัจจุบันยังคงผูกอยู่กับความขัดแย้งเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยมี 'ทักษิณ' ชื่อที่หลายคนเกลียดกลัวเป็นองค์ประกอบแทบทุกเรื่องไป

ทักษิณมาได้ยังไงและทำอะไรในการเมืองที่ผ่านมา เรื่องราวจุดกำเนิดและบาดแผลการต่อสู้ของ 'คนเสื้อแดง' ที่ถูกเรียกว่าเป็น 'ขี้ข้าทักษิณ' รวมถึง 'คนเสื้อเหลือง' ที่ต่อต้านทักษิณเต็มสูบเติบโตขึ้นมาอย่างไร มีปัจจัยอะไรที่แทรกซ้อนทำให้ความขัดแย้งธรรมดานี้กลายเป็นความไม่ธรรมดาบ้าง ฯลฯ

ในวาระ 10 ปีของความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เราชวนมาอ่านเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้นอันแสนอิรุงตุงนัง

การย่นย่อสิบกว่าปีในสิบกว่าภาพย่อมไม่สมบูรณ์ แต่น่าจะทำให้เห็นเค้าโครงบางประการ เพื่อเป็นแนวในการศึกษา ทำความเข้าใจต่อ แล้วเราจะ "อ่าน" การเมืองไทยได้อย่างสนุกขึ้น

เสื้อเหลือง-เสื้อแดงขัดแย้งอะไรกัน

เสื้อเหลือง = กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นในปี 2549 พัฒนามาจากการชุมนุมเมืองไทยรายสัปดาห์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2548 นับเป็นขบวนประชาชนกลุ่มแรกในความขัดแย้งสีเสื้อ และพวกเขากลับมาอีกรอบในปี 2551

แกนนำในช่วงแรกคือ สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และพิภพ ธงไชย หัวขบวนใหญ่ในแวดวงเอ็นจีโอ

เป้าหมายคือ ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้อกล่าวหา “เผด็จการรัฐสภา” “ระบอบทักษิณ” “การขายหุ้นไม่เสียภาษี” “ประชานิยม” “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กระทั่งช่วงท้ายเริ่มมีข้อหา “ล้มเจ้า” ด้วย

พธม.เป็นม็อบที่ขับไล่รัฐบาลสำเร็จทั้งสองช่วง โดยในปี 2549 จบที่การรัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ส่วนปี 2551 จบที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะมีคำตัดสินยุบพรรค วันที่ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ถูกสลายการชุมนุม มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (พ.ต.ท. เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบที่รถยนต์เกิดการระเบิด อีกรายหนึ่งคือ น้องโบว์ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ จากแก๊สน้ำตา โดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานศพของน้องโบว์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ด้วย)

เมื่อรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมามีอำนาจหลังจากนั้นในช่วงปี 2552-2553 เกิดม็อบเสื้อแดงขึ้นมาขับไล่เพราะมองว่ากองทัพอยู่เบื้องหลังของการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และที่ผ่านมาระบบยุติธรรมมี “สองมาตรฐาน” ยุบแต่พรรคที่พวกเขาเลือก แต่ม็อบนี้นอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จ แกนนำยังถูกดำเนินคดีและจำคุก ถูกสลายการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง ในครั้งหลังมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

กระทั่งมีการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ เป็นนายกฯ คราวนี้ไม่มีม็อบพันธมิตรฯ (เนื่องจากสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกลอบยิงเมื่อกลางปี 2552 จนต้องวางมือทางการเมือง ต่อมาถูกจำคุกในคดีค้ำประกันกู้กรุงไทยในปี 2559) แต่มีกลุ่ม กปปส.แทน

กปปส. น่าจะเป็นม็อบที่ชื่อยาวที่สุดในประเทศไทย “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ลาออกจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์มานำชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2556-2557 มีการ shut down Bangkok และทำได้สำเร็จ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในที่สุด

ส่วนกลุ่มเสื้อแดงจะกล่าวในภาพถัดๆ ไป

อาจกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งของเสื้อแดง-เหลืองในตอนนั้น เป็นความขัดแย้งต่อระบบและตัวบุคคลตามอุดมการณ์ที่แต่ละกลุ่มเชื่อ โดยชนวนขัดแย้งที่สำคัญหนีไม่พ้น “ทักษิณ ชินวัตร”

ทักษิณ มาได้ยังไง?

ทักษิณเป็นคนเชียงใหม่ เกิดในครอบครัวนักธุรกิจและนักการเมือง ตัวเขาเคยเป็นตำรวจอยู่พักหนึ่ง กระทั่งลาออกมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยธุรกิจโทรคมนาคมของเขาได้รับสัมปทานจากรัฐ จากนั้นเริ่มลงเล่นการเมืองครั้งแรกกับพรรคพลังธรรม

แต่นั่นเป็นแค่ส่วนเดียว พูดให้สั้นที่สุด รัฐธรรมนูญ 40 นี่แหละที่ทำคลอด “ทักษิณ” แบบที่เรารู้จัก ดังนั้น เราจะพูดกันเรื่องรัฐธรรมนูญ 40 ยาวหน่อย

ที่มาของรัฐธรรมนูญ 40 เกิดจากความไม่พอใจของประชาชนต่อคณะทหาร คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 และร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ จนนำไปสู่การนองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2535

จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองดังกล่าว แม้คณะ รสช.จะพ่ายแพ้และนำกองทัพกลับเข้ากรมกองไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมายังมีผลใช้บังคับและมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่เอื้อต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรมเพราะมีที่มาจากคณะรัฐประหาร จึงมีเสียงเรียกร้องและแรงกดดันจากภาคประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ ตลอดจนนักการเมืองบางส่วนให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ฉบับประชาชน”

รัฐสภาสมัยนั้น มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดจึงตั้งคณะกรรมาธิการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) มีหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน ทำการศึกษาการปฏิรูปการเมือง จัดทำข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อมามีการยุบสภา บรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ คนต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เพื่อจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 เปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน เป็นผู้ยกร่างโดยไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

โจทย์ใหญ่ที่เสนอโดย คพป. ก็คือ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง และทำให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็งด้วย เพราะที่ผ่านมาเลือกตั้งเสร็จพรรคเล็กรวมตัวกันเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีเสถียรภาพ ส.ส. มีมุ้งมากมาย เกิด “งูเห่า” เป็นว่าเล่น ผลักดันนโยบายอะไรก็ลำบาก นโยบายทั้งหมดจึงมักจะมาจากข้าราชการหรือสภาพัฒน์ฯ ซึ่งไม่สะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและเกิดสิ่งที่เรียกว่า “นายกฯ เข้มแข็ง” (Strong Prime Minister)

ทำยังไงล่ะ ก็ต้องออกแบบการเลือกตั้งกันใหม่

รัฐธรรมนูญปี 40 ออกแบบระบบเลือกตั้งให้มี 2 แบบ คือ บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ กับ แบบแบ่งเขต เพราะว่ามองว่า ส.ส. แบ่งเขตมักจะตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แลกคะแนนเสียงชาวบ้าน การมีปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่เป็นที่รู้จักได้รับโอกาสเข้าไปร่วมบริหารกับพรรคการเมือง เช่น กลุ่มนักวิชาการ เทคโนแครตต่างๆ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติที่เอื้อให้เกิดการยุบหรือควบรวมพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ กำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค 90 วันก่อนเลือกตั้ง จึงทำให้ ส.ส.ไม่สามารถลาออกย้ายพรรคในระหว่างยุบสภา อำนาจต่อรองจึงอยู่ที่หัวหน้าพรรคหรือว่าที่นายก ฯลฯ

เมื่อรัฐธรรมนูญ 40 สร้างนายกฯ เข้มแข็งก็ย่อมออกแบบระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งด้วย จึงเกิดองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล โดยฝ่ายบริหารห้ามเข้าไปแทรกแซง เช่น ปปช., กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ผู้ตรวจการรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ยังมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น บทบัญญัติเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การรวมตัว การล่ารายชื่อถอดถอนนักการเมือง และพ.ร.บ.ประชาพิจารณ์

ในช่วงเวลานั้นมีการกล่าวหาว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลทักษิณ ส่วนในปัจจุบัน องค์กรอิสระเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่า เป็นเครื่องมือของทหารและชนชั้นนำในการทำลายพรรคการเมืองของประชาชน

ครั้งแรกในประเทศไทย รัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี

ทักษิณ ตั้งพรรคไทยรักไทยเป็นทางเลือกใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จัดการเลือกตั้งพอดี เขานำเสนอนโยบายที่หวือหวา แตกต่าง จนได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่า 11 ล้านเสียง ประกอบกับไปรวบรวม ส.ส.ของพรรคต่างๆ มาไว้ในฝ่ายตัวเองด้วย นั่นทำให้เขาได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลในปี 2544 ในที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น พอเป็นนายกฯ แล้วสามารถทำนโยบายขายฝันให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, พักหนี้เกษตรกร, OTOP ฯลฯ หรือกระทั่งนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ก็เป็นที่ถูกใจคนชั้นล่างอย่างมากเนื่องจากเห็นผลจริงว่าลูกหลานหลุดออกจากวงโคจรยาเสพติด ขณะที่นักวิชาการและอีกหลายส่วนมองว่าเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเนื่องจากส่งผลให้มีการ “ฆ่าตัดตอน” ไปจนถึงการฆาตกรรมผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด "อย่างเป็นระบบ" เกิดขึ้นจำนวนมาก อีกทั้งการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ในปี 47 ที่กรือเซะและตากใบ ซึ่งก็เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทักษิณ เป็นรัฐบาลที่อยู่ครบเทอม 4 ปีเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมกับควบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยมาไว้ในสังกัดอย่างต่อเนื่อง พอหมดวาระแล้วเลือกตั้งอีกหนในปี 2548 ก็ชนะถล่มทลาย หลายคนบอกว่าเป็นเพราะเขาทำให้ “ประชาธิปไตยกินได้” ความสำเร็จนี้เป็นทั้งความสามารถของผู้นำพรรคไทยรักไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้น by design หรือโดยการออกแบบของรัฐธรรมนูญ 40 ด้วย

ในวาระที่ 2 ของรัฐบาลทักษิณนี้เองที่เกิดการชุมนุมขับไล่ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อต่อต้านทักษิณและนำพาไปสู่การเกิดรัฐประหารในที่สุด

คะแนนเลือกตั้งปี 2544 และ 2548

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2544 เป็นครั้งแรกที่ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 40 ถูกนำมาใช้ ระบบเลือกตั้งนี้แบ่ง ส.ส.เป็น 2 แบบ คือ บัญชีรายชื่อ 100 คน และแบ่งเขต 400 คน ไทยรักไทยได้ 248 ที่นั่ง เมื่อควบรวมกับพรรคชาติไทยและความหวังใหม่ก็ทำให้เสียงเกินครึ่งและเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล

ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนที่มากกว่าเดิม สูงถึง 18,993,073 เสียง จนทำให้ได้ที่นั่งไปทั้งหมด 377 ที่นั่ง ได้เป็นพรรครัฐบาลเสียงข้างมาก

‘ระบอบทักษิณ’

‘ระบอบทักษิณ’ เป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นในช่วงทักษิณมีอำนาจ หมายถึงระบอบประชานิยมที่มีคนยากจนได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง และทำให้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทุกครั้ง จนสามารถบริหารประเทศได้ด้วยเสียงพรรคเดียว บ้างก็นิยามว่า เป็นระบบเผด็จการเสียงข้างมาก เหตุผลนี้ถูกนำมาใช้เพิ่มความชอบธรรมให้กับการขับไล่ทักษิณในปี 2548-2549

เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ให้นิยามคำ ‘ระบอบทักษิณ’ ว่า เป็นระบอบอาญาสิทธิทุนนิยมจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism) โดยคำนิยามดังกล่าวสามารถแยกอธิบายองค์ประกอบออกเป็นสองส่วนคือ มีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิทุนในแง่อำนาจการเมืองและมีหัวหน้าฝ่ายบริหารการเมืองของชนชั้นนายทุน

แก้วสรร อติโพธิ อดีตส.ว.เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ นิยามคำนี้ไว้ 4 ข้อคือ ยักยอกรัฐธรรมนูญ ยึดครองประชาธิปไตย แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับธุรกิจหรือผลประโยชน์เพื่อหมู่คณะของตนเอง, หลงใหลทุนนิยมใหม่จนลืมประเทศชาติ, ฉ้อราษฎร์บังหลวง และทำให้บ้านเมืองสิ้นความสงบสุข เป็นตัวการสร้างความแตกแยก

ตัวอย่างข้อกล่าวหาของระบอบทักษิณ เช่น แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเปลี่ยนเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), การแก้สัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี, การควบรวมพรรคชาติพัฒนาและพรรคเสรีธรรม เข้ากับพรรคไทยรักไทยจนสมาชิกสภาราษฎรไม่กล้าโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและต้องทำตามมติพรรคไทยรักไทย, กระจายเงินงบประมาณให้ประชาชนในต่างจังหวัดเพื่อรักษาความนิยมถูกมองว่าเป็นการซื้อเสียงระยะยาว ฯลฯ

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นวาทกรรมที่จงใจผสมปนเปทางความคิดด้วยการจับเอาระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 2540 ตลอดจนสถาบันการเมืองประชาธิปไตยทั้งหมด มาผูกติดกับตัวบุคคลนักการเมือง แล้วตั้งฉายาแบบเหมาโจมตีว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย โดยผู้คนไม่ทันคิดว่าการโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" แบบที่ว่านั้นเป็นการโค่นล้มประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ และรื้อฟื้นระบอบเผด็จการอำนาจนิยม

พันธมิตรฯ สีเหลือง

กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ “สีเหลือง” เป็นสัญลักษณ์จนคนเรียกติดปากว่า กลุ่มคนเสื้อเหลือง ประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม เช่น เอ็นจีโอ เครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ สหภาพการรถไฟ ฯลฯ นอกเหนือจากแกนนำหลักแล้ว มีองค์ประกอบที่สำคัญอย่างระพี สาคริก, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ รวมไปถึงคนจากองค์กรประชาธิปไตยและองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น พิภพ ธงไชย, พิทยา ว่องกุล, เรวดี ประเสริฐเจริญสุข รสนา โตสิตระกูล นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแนวร่วมเป็นทางการคือ กลุ่ม สุเทพ อัตถากร, กลุ่มวุฒิสภาเพื่อการปฏิรูปการเมือง เช่น น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, การุณ ใสงาม, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการปฏิรูปการเมือง นำโดยปริญญา เทวานฤมิตรกุล และบรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์หลักแล้ว ยังมี “มือตบ” มีผ้าโพกหัวที่มีคำว่า "กู้ชาติ" และผ้าพันคอสีฟ้า โดยหลายครั้งสนธิมักให้ข้อมูลที่สื่อว่าการเคลื่อนไหวของตนเองเชื่อมโยงกับสถาบัน

การเคลื่อนไหวมี 2 ระลอก คือ ช่วงปี 2548-2549 ขับไล่ทักษิณ และกลับมาอีกครั้งในปี 2551 หลังพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง เพื่อกดดันให้สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการยึดทำเนียบ ปิดล้อมสนามบินหลายแห่ง กระทั่งศาลวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค จากกรณีทุจริตเลือกตั้งของยงยุทธ ติยะไพรัช จากนั้นแกนนำพันธมิตรฯ พันธมิตรฯ จึงได้ประกาศยุติการชุมนุม

คณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ระบุว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีลักษณะแบบฟาสซิสต์และเปิดโอกาสให้นายทหารและข้าราชการระดับสูงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

ท้ายที่สุด พธม.ประกาศยุติบทบาทตัวเองที่ห้องส่งเอเอสทีวี ในวันที่ 23 ส.ค.2556

นายกมาตรา 7 และ ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’

การเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งแรกของพันธมิตรฯ 11 ก.พ.2549 ส่งผลให้รัฐบาลทักษิณประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่พวกเขามองว่าการเลือกตั้งนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือซักฟอกตัวเอง จึงยืนยันชุมนุมขับไล่ให้ทักษิณออกจากตำแหน่งอย่างไม่มีเงื่อนไขและต้องปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ดี แม้จะมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ก็ยังไม่ประสบผล จึงอาศัยมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 รณรงค์เรียกร้องขอนายกฯ พระราชทานจากในหลวง

มาตรา 7 ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทต่อผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม รวมถึงศาลปกครอง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มีความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ามีความเดือดร้อนมาก ที่เอะอะอะไรก็ขอพระราชทานนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่ใช่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญก็เป็นการอ้างที่ผิด”

กระนั้นพิภพ ธงไชย แกนนำก็ยังยืนยันว่า มาตรา 7 เป็นมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ หากยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตย การเดินตามมาตรา 7 จะไม่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร

ประเด็นนายกฯ พระราชทาน เป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลายกลุ่มที่เคยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลทักษิณหันหัวกลับ ไม่ร่วมขบวนกับพันธมิตรฯ อีกต่อไป เพราะเห็นว่า ปลายทางของการเรียกร้องนั้นออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวเพื่อไล่ทักษิณดำเนินต่อไปทั้งกิจกรรมชุมนุมและการปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ร่วมบอยคอทการเลือกตั้ง ไม่ส่งส.ส.ลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ระบบยุติธรรมที่ช่วงนั้นซึ่งเรียกกันว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ยังตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ เกิดสุญญากาศทางการเมือง ขณะที่ก็เริ่มมีม็อบฝ่ายสนับสนุนพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นด้วย ในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

 

รัฐประหารปี 2549

หลังจากมีทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน สื่อประโคมข่าวความเสี่ยงในการปะทะกันของทั้งสองกลุ่ม จนทำให้กลายเป็นข้ออ้างหนึ่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 23.50 น. โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า

รัฐประหารปี 2549 ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี และเกิดก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนถัดไป (ตุลาคม) หลังประกาศยึดอำนาจ ประชาชนถูกสั่งห้ามประท้วงและจัดกิจกรรมการเมือง มีการควบคุมสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึกและจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

พล.อ.สนธิ เปิดเผยว่าใช้เวลาเตรียมรัฐประหารประมาณ 7 เดือน หมายความว่า เริ่มวางแผนในราวเดือน ก.พ.2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พันธมิตรฯ ชุมนุม ทั้งที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 พลเอกสนธิเคยรับประกันว่าทหารจะไม่ยึดอำนาจ เดือนสิงหาคมมีรายงานว่ารถถังเคลื่อนเข้าใกล้กรุงเทพฯ แต่กองทัพระบุว่าเป็นการฝึกซ้อมตามกำหนดการ

ประกาศฉบับที่ 1 ของคณะรัฐประหาร ระบุเหตุผลว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล(ขณะนั้น)ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย ทำลายสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่างฝ่ายมุ่งหวังเอาชนะ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงการบริหารราชการแผ่นดินอันส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ หน่วยงานและองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ จนทำให้กิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง .....

บทวิเคราะห์จากหลายฝ่ายชี้ให้เห็นสาเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุผลของ คปค. ที่นำมาสู่รัฐประหาร เช่น ความขัดแย้งทางอำนาจจากการโยกย้ายนายทหารประจำปี รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับประธานองคมนตรี

หลังรัฐประหาร คปค.จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ต่อมามีการเลิกใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 ใน 41 จังหวัด แต่ยังคงไว้ 35 จังหวัด

แม้รัฐประหารปี 2549 ไม่มีการเสียเลือดเนื้อและไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาแสดงความผิดหวังและระบุว่า รัฐประหาร "ไม่มีเหตุผลยอมรับได้”

การรัฐประหารในไทย

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 นับรวมเป็นเวลา 88 ปี แล้ว กระนั้น ระบอบประชาธิปไตยของไทยกลับต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะการทำรัฐประหาร รวมแล้วมากถึง 13 ครั้ง เริ่มครั้งแรกในปี 2476 หรือ 1 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเลยทีเดียว

การรัฐประหารที่ยาวนานที่สุด อันดับแรกคือ สมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนกระทั่งมีเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 รวมเวลา 10 ปี 3 เดือน 21 วัน

อันดับสองคือ รัฐประหารโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนกระทั่งจัดเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 รวมเวลา 4 ปี 10 เดือน 2 วัน

88 ปีที่ผ่านมา การรัฐประหารใช้เหตุผลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 10 ครั้ง เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาลในขณะนั้น 14 ครั้ง เรื่องรัฐธรรมนูญ 8 ครั้ง เรื่องกองทัพ 6 ครั้ง เรื่องคอร์รัปชัน 6 ครั้ง เรื่องคอมมิวนิสต์ 6 ครั้ง เรื่อง ส.ส. และนักการเมือง 2 ครั้ง เรื่องประเทศเป็นของประชาชน เอกราชเป็นของชาติ 2 ครั้ง เรื่องนักศึกษา 1 ครั้ง และเรื่องการเลือกตั้ง 1 ครั้ง

กลุ่มต่อต้านรัฐประหาร

การต่อต้านรัฐประหารมีมาก่อนที่จะเกิด “เสื้อแดง” มีลักษณะเป็นกลุ่มอิสระต่างๆ ปราศรัยกันที่ท้องสนามหลวง เป้าหมายการโจมตีไม่ใช่แค่ คมช.ที่ยึดอำนาจ แต่พุ่งเป้าไปที่ “กลุ่มอำมาตย์” ผู้วางแผนล้มทักษิณ

กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่นัดเจอกันทุกวันเสาร์ที่สนามหลวง ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ คนในเว็บบอร์ดราชดำเนิน (พันทิป) ในปี 2550 กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการล่ารายชื่อถวายฎีกาถอดถอนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในสมัยนั้นโดยใจความหนึ่งในหนังสือ “ลับ ลวง พราง” ระบุว่ามีการกล่าวว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของพล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน

อีกกลุ่มที่สำคัญคือ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษา นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง ก่อนการปฏิรูปการเมือง

ต้นปี 2551 สุรชัย แซ่ด่าน ตั้งกลุ่มสภาประชาชนต่อต้านเผด็จการ ส่วน ดา ตอร์ปิโด ตั้งเวทีเสียงประชาชนกลางท้องสนามหลวง นอกจากนี้กลุ่มอิสระที่ใช้พื้นที่สนามหลวงยังมีอีกหลากหลาย เช่น ชุมชนคนแท็กซี่ นำโดยชินวัตร หาบุญพาด ผู้อำนวยสถานีวิทยุชุมขนคนแท็กซี่ 92.75, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข, กลุ่มพิราบขาว, ชูชีพ ชีวสุทธิ์ ฯลฯ

กลุ่มแท็กซี่ถือเป็นอีกกลุ่มอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารในขณะนั้น โดยนอกจากมาเป็นกลุ่มอย่างวิทยุชุมขนคนแท็กซี่ฯ แล้ว 'นวมทอง ไพรวัลย์' คนขับแท็กซี่ที่ใช้ตัวเองเข้าประท้วงการรัฐประหารก็เป็นอีกภาพจำ โดยเฉพาะภาพรถแท็กซี่ โตโยต้า สีม่วงที่ขับชนรถถังเบาและภาพการผูกคอเสียชีวิตของนวมทอง

สุรชัยระบุว่า ตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อจัดระบบประชาชนไม่ให้เกิดความรุนแรง เน้นการต่อต้านพันธมิตรฯ และรวมกันเป็นสภาประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐประหาร เพราะพันธมิตรฯ เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น โดยข้อเรียกร้องที่มีต่อผู้ชุมนุมคือ 1.อย่าอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถาบันฯ ถูกหยิบยกมาเป็นข้ออ้างอย่างล่อแหลม 2.อย่าพูดปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรุนแรง 3.ไม่เน้นโจมตีรัฐบาล และการต่อสู้กับทุนนิยมนั้นจะต้องต่อสู้ในระดับจิตสำนึกทางสังคมของประชาชน ไม่ใช่การต่อสู้ในระบบการผลิต

วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ดา ตอร์ปิโด หรือดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการปราศรัยที่สนามหลวง โดยการชี้เป้าของสนธิ ลิ้มทองกุล ต่อมาศาลลงโทษจำคุกถึง 15 ปี

ระยะหลัง กลุ่มสภาประชาชนต่อต้านเผด็จการที่ท้องสนามหลวงเปลี่ยนเป็น “กลุ่มตาสว่าง” แกนนำยุคแรกไม่ว่าจะเป็นสุรชัย แซ่ด่าน และชูชีพ ชีวสุทธิ์ หลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน และกลายเป็นผู้ถูกทำให้หายสาบสูญทั้งคู่เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มตาสว่างมักถูกมองว่าเป็น “แดงเวทีเล็ก” และถูกกีดกันไม่ให้มีบทบาทเนื่องจากข้อเรียกร้องของกลุ่มไปไกลกว่าการโค่นเผด็จการทหาร

กำเนิดเสื้อแดง

สีแดงเริ่มใช้เป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่ช่วงรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์ "แดงไม่รับ" ซึ่งเป็นสีตรงข้ามกับ “สีเขียว” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรับร่างรัฐธรรมนูญ นี่ทำให้ผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารเริ่มใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน

กลุ่มคนเสื้อแดงมีแนวร่วมหลายเครือข่าย เครือข่ายหลักคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเดิมชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ก่อตั้งราวปี 2550 มีฐานมวลชนที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร และมีการใช้ “ตีนตบ” ล้อไปกับ “มือตบ” ของพันธมิตรฯ

เป้าหมายคือ ต่อต้านรัฐประหารปี 2549 และขับไล่ คมช. รวมทั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี การชุมนุมยุติไปในช่วงสิ้นปีหลังจากที่พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้นในปี 2551 จึงกลับมารวมตัวกันอีกเพื่อต่อต้านการชุมนุมของพันธมิตรฯ จนเกิดเหตุการณ์ปะทะครั้งหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตด้วย 1 คน คือ ณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง

แกนนำเสื้อแดงเปลี่ยนผ่านหลายต่อหลายรุ่น ที่เป็นที่รู้จักคือวีระ มุสิกพงศ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์, นพ.เหวง โตจิราการ, ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ฯลฯ ปลายปี 2551 หลังการเปลี่ยนขั้วของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มของเนวิน ชิดชอบ ส่งผลให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2552 นปช.นัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกเพื่อขับไล่รัฐบาล เกิดการปะทะกับทหารที่สามเหลี่ยมดินแดง สุดท้ายแกนนำยุติการชุมนุมเองเมื่อ 14 เมษายน 2552

ปี 2553 นปช.จัดชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา กระทั่งถูกสลายการชุมนุมจนต้องยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค.2553 มีผู้ถูกดำเนินคดี จำคุกจำนวนมาก

ข้อสรุป ศปช.-คอป.

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บ 1,500 ราย ตามตัวเลขของผู้รับการเยียวยาของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และไม่มีรายงานว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการควบคุมผู้ชุมนุม ขณะที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย และระบุว่าทหารใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมก่อน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการควบคุมผู้ชุมนุม อย่างไรก็ดี ผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลพบ 18 รายเสียชีวิตด้วยกระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ /ทหาร

การสูญเสียผ่านมาสิบปี ปัจจุบันยังไม่มีคดีใดขึ้นศาล และไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

 

อ้างอิง : 

หมายเหตุ : ประชาไทดำเนินการปรับแก้ข้อมูล 2 ส่วนด้วยกัน คือเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร, นวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 และข้อมูลเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงที่กรือเซะและตากใบ รวมทั้งเพิ่มข้อมูลส่วนของสงครามยาเสพติด  เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net