Skip to main content
sharethis

โควิดระบาด เดินเข้าแบงก์เข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแค่วัดไข้ เอ๊ะทำไม โควิดใกล้ศูนย์ กลับต้องสแกน “ไทยชนะ”

พอเข้าใจนะ ถ้าใช้วัดคนเช็กอินเช็กเอาท์เข้าห้าง ป้องกันแออัด หรือบันทึกประวัตินั่งร้านอาหาร ไว้ตามตัวเผื่ออีก 14 วันพบคนติดเชื้อ แต่มิตรสหายหลายท่านบอกว่า ถ้าเข้าห้างใหญ่ๆ แล้วเดินไปแต่ละซูเปอร์ ก็ยังต้องสแกนจนคิวยาวเหยียด

หลายคนกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่แน่ใจว่าข้อมูลจะอยู่ในมือสาธารณสุข เพราะเห็นๆ กันว่า สมช. กองทัพ กุมอำนาจเหนือหมอใน ศบค. แล้วทำไมต้องเก็บข้อมูล 60 วัน ในเมื่อระยะออกอาการแค่ 14 วัน

แต่ยังไม่ต้องถึงขั้นนั้น ก็มีข้อสังเกตว่า มาตรการของรัฐแม้ดูเหมือนจำเป็น แต่มัก “รุงรัง” สร้างความยุ่งยากเกินเหตุ ทั้งที่อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “ข้อมูลขยะ” ยิ่งบางแห่ง ให้คนที่ไม่ได้พกมือถือจดชื่อ คงกองกระดาษเป็นตั้งๆ คล้ายตั้งด่านวัดไข้ที่ กทม.ตรวจ 4-5 แสนคน จับไวรัสไม่ได้สักตัว

พูดอย่างนี้เดี๋ยวก็ว่าประมาท ถ้าระบาดรอบสอง Super Spreader แบบสนามมวยทำไง พบใครติดเชื้อไปสยามพารากอนวันที่ 17 ก็เรียกตรวจทั้งห้างหรือ มันไม่กว้างขนาดนั้นหรอก ต้องใกล้ชิดกันนานพอควร ต้องตะโกน ต้องไม่ใส่หน้ากาก จึงระบาดกว้าง จุดที่พอมีโอกาสคือร้านอาหาร ให้สแกนเข้าร้านมีเหตุผล แต่ทำไมเข้าแบงก์เข้าซูเปอร์ต้องสแกนทั้งที่ก่อนนี้ไม่ต้อง

เพียงแต่ทุกคนอยากเป็นเด็กดีตามคำขวัญ เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์เชื่อฟังรัฐบาลเชื่อคำแนะนำของหมอ ทำอะไรก็อุ่นใจไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน หน่วยงานรัฐยิ่งยิบย่อย กลัวความผิด กลัวโดนด่า ทั้งนายด่าทั้งประชาชนด่า ว่าไม่ระมัดระวังพอ

พูดอย่างนี้ไม่ได้ปฏิเสธเสียหมด แต่เป็นข้อสังเกตว่า มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโควิด ยิ่งตัวเลขเหลือศูนย์ ยิ่งคลายล็อก ก็ดูเหมือนยิ่งจุกจิกจู้จี้ ของเก่าไม่ยอมเลิก ของใหม่ก็ประดามี ทำไมต้องเลื่อนเคอร์ฟิวเป็นห้าทุ่มถึงตีสี่ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น แต่กลับเห็นเป็นความเคยชิน งั้นก็คงไว้ ไม่ปกติสักที

การเดินทางข้ามจังหวัด เหลือพื้นที่เสี่ยงน้อยมาก ก็ไม่ยอมเปิดเสียที ทั้งที่คนอึดอัด อยากเที่ยวพักผ่อนกันเต็มกลั้น โรงแรมรีสอร์ตสถานที่ท่องเที่ยวจะพอมีรายได้บ้าง ก็ไม่ไฟเขียว

เช่นเดียวกับโรงเรียน ซึ่งจำเป็นกว่าเสียอีก โรงเรียนในชนบท ในจังหวัดสีเขียว นักเรียนก็น้อย ไม่แออัด ทำไมต้องให้เรียนออนไลน์ ผลักภาระผู้ปกครอง ต้องซื้อมือถือหาซื้อเน็ตหรือติดจานดาวเทียม ปล่อยให้จังหวัดให้โรงเรียนตัดสินใจร่วมกับสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ไม่ได้หรือ

ปัญหาคือความคิดชี้นำของ ศบค. ต้องให้โควิดเหลือศูนย์ให้ได้ ศูนย์แล้วก็ยังกลัวระบาดรอบสอง กลัวจำนวนพุ่งขึ้นใหม่ คิดมาตรการอะไรได้ก็เพิ่มเข้ามาๆ แล้วก็คงจะไม่เลิก จนกว่าโลกนี้จะมีวัคซีน หรือโควิดหายไปเอง

ศบค.ไม่ยอมรับความจริงว่า เราต้องอยู่กับโควิด ต้องเปิดเศรษฐกิจ เปิดโรงเรียน และต้องมีผู้ติดเชื้อ แต่ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับมือได้ มีคนตายให้น้อยที่สุด เหมือนไข้เลือดออกที่ระบาดทุกปีจนเป็นปกติ

ตัวเกร็งตั้งเป้าเป็นศูนย์ นึกว่าศูนย์แล้วจะคลาย ศูนย์แล้วยิ่งเกร็งเข้าไปใหญ่ กลัวระบาดใหม่ โฆษกก็ยกตัวอย่างทุกวัน เดี๋ยวที่นั่นที่นี่โควิดกลับมา สรุปคือประเทศไทยที่เป็นศูนย์ก่อนเพื่อน คงจะปลดล็อกช้ากว่าเพื่อน รอจนชาวโลกเขาเปิดหมด แล้วเราค่อยเปิดได้

ถึงตอนนั้นไม่รู้เศรษฐกิจจะวอดวายขนาดไหน อย่าลืมนะว่า เงินชดเชยห้าพันจ่ายแค่สามเดือน หมดก๊อกเมื่อไหร่ยังตั้งตัวไม่ติด จะยิ่งวิกฤติ

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/363699

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net