Skip to main content
sharethis

ยังคงสับสนว่าจ่ายซ้ำซ้อนได้หรือไม่ ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ บอก 'ข้าราชการ' ที่ 'ทำเกษตร' ได้รับเงินเยียวยา แนะข้าราชการบำนาญหากถูกตัดสิทธิ์ให้อุทธรณ์ ขณะที่รองโฆษกฯสำนักนายกฯ บอก มติ ครม.เดิม จ่ายเยียวยาเกษตรกรต้องไม่ให้ซ้ำซ้อน 'ข้าราชการบำนาญ' แต่ไม่ได้เขียนถึง 'ข้าราชการประจำ' ที่มีเงินเดือนอยู่ และเมื่ออังคารที่ผ่านมาไม่ได้นำประเด็นนี้มาพิจารณา

แฟ้มภาพเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ มอบโอวาท นปร. รุ่น 9 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2560  

21 พ.ค.2563 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนัก เช่น ข่าวสดออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์  รายงานตรงกันว่า อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดย เดือนละ 5,000 บาท จ่าย 3 เดือน รวม 15,000 บาท ในส่วน ข้าราชการจำนวนประมาณ 9.1 หมื่นคน ที่ประกอบอาชีพเสริม ทำการเกษตร สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลด้วย ดังนั้น สำหรับข้าราชการบำนาญ หากถูกตัดสิทธิ์ แนะนำให้ดำเนินการอุทธรณ์ เพื่อรักษาสิทธิ์ ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สื่อเหล่านี้รายงานด้วยว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึง การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. ว่า เริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว กรณีที่กระทรวงการคลังตรวจพบว่า หัวหน้าทะเบียนเกษตรกรกว่า 90,000 คน เป็นข้าราชการประจำ ขณะนี้ยังไม่มีการโอนเงินให้ อย่างไรก็ตาม ในมติ ครม.เดิม เขียนไว้ว่า การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรต้องไม่ให้ซ้ำซ้อนข้าราชการบำนาญ ไม่ได้เขียนถึงกรณีข้าราชการประจำที่มีเงินเดือนอยู่แล้วไว้ การประชุม ครม.วันที่ 19 พ.ค. ยังไม่ได้นำประเด็นนี้มาพิจารณา และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม.ด้วยเพราะมีอาการป่วย

นอกจากนี้ยังรายงานด้วยว่า สำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ตามมติ ครม. ยังไม่ได้บอกว่าข้าราชการไม่ได้รับสิทธิเยียวยา ซึ่งขอเรียนว่า ข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้รับสิทธิของมาตรการนี้

คลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับฐานข้อมูลข้าราชการ

ส่วน คมชัดลึกออนไลน์ รายงานท่าทีของกระทรวงการคลังผ่าน ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง ซึ่งเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเกษตรกรที่ขอรับเงินเยียวยาเกษตรกร กับฐานข้อมูลการจ่ายเงินเยียวยาตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน และฐานข้อมูลข้าราชการและข้าราชการบำนาญตามที่ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้กระทรวงการคลังตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว และ กระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลเกษตรกรที่ขอรับเงินเยียวยาที่ผ่านการตรวจสอบให้กระทรวงเกษตรฯเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรเป็นไปตามกำหนด ที่จะเริ่มโอนเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรในวันที่ 15 พ.ค.2563

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับกระทรวงการคลังถึงทะเบียนเกษตรกรที่ตรวจความซ้ำซ้อน ก่อนรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 8.33 ล้านราย พบว่า มีผู้ผ่านสิทธิเพียง 6.77 ล้านรายเท่านั้น ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะทยอยโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดประกอบด้วย 

ชุดที่ 1 จำนวน 3.34 ล้านราย ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับฐานประกันสังคม จำนวน 329,114 ราย ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย และซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย นอกจากนี้ยังมีทะเบียนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการ 91,426 ราย และอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์และเงินไขของกระทรวงการคลัง รวมที่ซ้ำ 601,149 ราย จะเริ่มจ่ายเงินในวันที่ 15 พ.ค.63 วันละ 1 ล้านราย

ชุดที่ 2 เหลืออีก 3.43 ล้านราย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินของโครงการเราไม่ทิ้งกันในล๊อตสุดท้ายก่อนส่งข้อมูลให้ กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

หากดูรายละเอียในวิดีโอคลิปการแถลงข่าว ประมาณนาทีที่ 52.30 อลงกรณ์ กล่าวถึง คำถามที่มาจากใน Call Center และในภูมิภาคว่า "ข้าราชการบำนาญไปทำเกษตรเข้าเกณฑ์โครงการเยียวยาหรือไม?" นั้น อลงกรณ์ ตอบว่า ประเด็นนี้ได้สอบถามไปหน่วยที่รับผิดชอบเรียนว่า ในระบบของประกันสังคมและระบบของบำเน็จบำนาญ ซึ่งมีระบบรองรับในการดูแลช่วยเหลือในส่วนนี้ก็จะไม่ได้ในการเยียวยา นี่ก็ต้องสร้างความชัดเจน แต่ว่าอย่างไรก็ตามตนก็ให้คำแนะนำว่าให้ท่านยื่นอุทธรณ์เพราะว่ามันมีประเด็นเหมือนกันว่า ในส่วนข้าราชการประจำแล้วเป็นเกษตรกรด้วย แต่ว่าได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีฟาร์มบุ๊คแล้วทำเกษตรจริง อันนี้ได้ เพราะฉะนั้นก็จะมีคำถามว่าแล้วข้าราชการบำนาญและทำเกษตรจริง ขึ้นทะเบียนจริง ทำไมไม่ได้ อันนี้ผตนคิดว่าถ้าท่านยังประสงค์ที่จะทวงสิทธิก็ขอให้ยื่นอุทธรณ์จะได้ให้กรรมการอุทธรณ์พิจารณา

ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า พื้นฐานของการพิจารณาจะอยู่ที่ว่า ถ้าทำประกันสังคมอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะถูกออกไปเพราะท่านจะได้สิทธิการช่วยเหลือทางด้านนั้นอยู่ ส่วนเรื่องของกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการต่างๆ  ก็ถือว่ามีอยู่ เพราะว่ารัฐเองก็มีเงินจำกัดก็จะพยายามดูว่าคนที่ไม่มีระบบรองรับ เช่นอาชีพอิสระโครงการเราไม่ทิ้งกัน แล้วมาดูว่าอีกกลุ่มที่ไม่มีระบบรองรับก็คือเกษตรกรก็จะมาดู

ทั้งนี้ไทยรัฐออนไลน์ยังรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับแถลงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ของอลงกรณ์ ด้วยว่า อลงกรณ์ ระบุว่า ในส่วนของการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร จำนวน 10 ล้านราย รายละ 5,000 บาท 3 เดือน วงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งสิ้นสุดการขึ้นทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา 

กลุ่มที่ 1 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง ปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย กรมสรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล และได้รับการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรปี 2562/63 (ตัดยอด ณ วันที่ 30 เม.ย.63) จำนวน 8.33 ล้านราย ซึ่งผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อน เหลือประมาณ 6.3 ล้านราย โดย ก.เกษตรฯ ได้ส่งข้อมูลที่ผ่านการคัดกรองแล้ว ไปที่ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินให้เกษตรกรได้ในวันที่ 15-25 พ.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้โอนไปแล้ว 14,812 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ก่อนปี 2562 แต่ยังทำการเกษตรอยู่ และเกษตรกรรายใหม่ ที่มีการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 พ.ค.63 จำนวน 1.57 ล้านราย คาดว่าจะทำการจ่ายเงินได้ 30-31 พ.ค.นี้

กลุ่มที่ 3 คือ เกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ แต่มีการขอขึ้นทะเบียนเกษตร ภายในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะได้ให้มีการเพราะปลูกจริงก่อน ภายในวันที่ 30 มิ.ย.63 หลังการปลูกพืช 15 วัน ให้มาแจ้งยืนยันการเพาะปลูกกับเจ้าหน้าที่ เพื่อบันทึก และตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ คาดว่า จะทำการจ่ายเงินได้ ประมาณวันที่ 27-31 ก.ค.63

สำหรับการเปิดให้เกษตรกรยื่นอุทธรณ์นั้น อลงกรณ์ ระบุว่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.2563 ถึง 5 มิ.ย.2563 ในเวลาราชการ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งเกษตรกรในกลุ่มที่ 3 ซึ่งยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกนั้น การยื่นเรื่องอุทธรณ์ ก็จะทำได้หลังจากที่มีการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว เบื้องต้น สามารถตรวจสอบสถานะอุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร ได้ผ่านเว็บไซต์ www.อุทธรณ์เงินเยียวยาเกษตรกร.com ทั้งนี้ หากสงสัยเกี่ยวกับสิทธิ์ของตนเอง สามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วน 1170 โดยยืนยันว่าจะให้การเยียวยาทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net